วานนี้ (25 พ.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ NBT ว่า จะประชุมเรื่องโครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงที่ได้เริ่มทำกันไปแล้วหลายเรื่อง และส่งต่อไปยังหน่วยงานต่างๆได้ร่วมออกความเห็นกัน ก่อนหน้านี้มี ผศ.คนหนึ่งเขียนลงหนังสือพิมพ์ว่า การผันน้ำมาใช้ในการเกษตรในภาคอีสานใครคิดก็โง่แล้ว ได้จำคำนี้ไว้ แต่ก็ยอมโง่ เพราะเราอยากได้น้ำมาใช้ในการเกษตรในภาคอีสาน ทั้งนี้ เมื่อดูจากภูมิศาสตร์ก็จะเห็นว่า เรามีเขื่อนใหญ่อยู่ทางตะวันตกคือเขื่อนอุบลรัตน์ ส่วนทางตะวันออกมีแม่น้ำใหญ่ 2 สายคือ แม่น้ำชีและมูล ขณะที่เส้นทางที่แม่น้ำโขงสัมผัสกับไทยมีประมาณ 700 กม. ดังนั้น จึงต้องเอาน้ำจากภาคเหนือ จ.เลย ที่เชียงคาน เข้ามาในไทยเพื่อเข้าอุโมงค์ที่จะสร้างมาเชื่อมเขื่อนอุบลรัตน์ ถ้าเปิดออกก็จะไหลลงลำน้ำพอง ส่งไปลำน้ำชี และส่งลงลำตะคองเพื่อเลี้ยงภาคอีสาน
นายสมัครกล่าวต่อว่า ส่วนอีกโครงการหนึ่งคือประตูน้ำ ที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย หากแม่น้ำโขงลึก 12 เมตร ระดับน้ำจะสูงพอดี ไม่ท่วมล้น แต่หากมีระดับน้ำ 13 เมตร จะท่วมที่หนองคาย 1 เมตร ดังนั้น จึงมีการทำประตูน้ำไว้ไม่ได้เปิดใช้ เนื่องจากบริเวณนั้นยังมีปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดิน แม้ว่าที่บริเวณนี้จะยังไม่เคยขึ้นมาถึง 6 เมตรที่ระดับสูงสุด เพราะมีเขื่อนคอยเฉลี่ยน้ำ ให้ระดับน้ำต่ำกว่าธรรมดา ดังนั้น รัฐก็จะเข้าไปดูแลและตกลงกันเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวนั้น แม่น้ำ โขงนี้สามารถส่งไปถึงลำปาว แต่เนื่องจากจีนได้สร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 3 แห่ง อยู่ทางตอนเหนือ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงไม่มาก ดังนั้น จึงตกลงกันว่าถ้าจะทำง่ายที่สุดคือปิดประตูน้ำ แล้วสูบน้ำมาถึงลำปาวมาใช้ แต่ที่น่าสนใจคือเขื่อนไฟฟ้าของจีน ที่ต้องปล่อยน้ำตลอด เมื่อปล่อยลงมาก็เข้าแม่น้ำโขงที่จะติดฝั่งลาว 1,400 กม. และฝั่งไทย 700 กม. อีกทั้งไทยและลาวได้ลงนามทำความตกลงร่วมมือในการทำฝายแม้วสูง 18 เมตร 3 จุด กั้นแม่น้ำโขง ร่วมกับลาวไปแล้ว เพื่อต้องการให้น้ำจากสันเขื่อนถอยหลังไปยาวเต็มลำน้ำโขง ก็จะทำให้เราเปิดประตูน้ำ ส่งมาใช้ในการเกษตรได้ อีกอันที่กำลังคำนวณอยู่คือที่ลำน้ำงึมที่มีน้ำมาก หากลาวปล่อยน้ำจากน้ำงึม เข้าแม่น้ำโขง เราก็จะขอน้ำที่มาจากน้ำงึม ส่งเข้าอุโมงค์ฝั่งไทย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง ตามกฎหมายทั้งของไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งการหาแหล่งเงินทุนและวิธีการ