วันที่ 26 พ.ค. เมื่อเวลา 12.20 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมและมอบนโยบายแก่เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลกประจำปี 2551 ว่า ได้เล่าสถานการณ์การเมืองในอดีตและปัจจุบันให้กับเอกอัครราชทูตฟังเพื่อเป็นพื้นฐาน และทูตหลายประเทศก็แสดงความวิตกว่าสิ่งที่ทำกันมาจะถูกทำลายย่อยยับในพริบตา อย่างน้อย 3 ประเทศ บอกว่าจะมีผู้ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งทำการนัดหมายไว้ในสัปดาห์หน้า ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่นัดหมายไว้ประเทศดังกล่าวจะยกเลิกหรือไม่ และท่านทูตจากประเทศหนึ่งบอกว่านอนไม่หลับ ดูข่าวแล้วก็ถามว่าทำไมบ้านเมืองเราเป็นแบบนี้ แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป จะให้ตนยืนยันได้หรือไม่ว่าจะยุติเมื่อไหร่ เลยบอกว่าตนก็เห็นถึงความไม่มีเหตุผลถึงเรื่องนี้ และเสียดายและเสียใจแทนท่านทูตทุกท่านที่อุตส่าห์ทำงานที่จะให้บ้านเมืองกลับสู่สถานะเดิมแต่ก็มีเรื่องพรรค์อย่างนี้ออกมา
“นพดล” ชี้นายกฯเน้นดึงนักลงทุน
ทางด้านนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมเอกอัครราชทูตไทย (ออท.) และกงสุลใหญ่ไทย ทั่วโลกประจำปี 2551 โดยมีนายสมัคร เป็นประธานมี ออท. และกงสุลใหญ่ของไทยจากทั่วโลกร่วมประชุม 92 คน ทั้งนี้ เพื่อรับทราบนโยบายด้านการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อประยุกต์เป็นแผนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ และทำให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย นอกจากนี้นายกฯได้มอบนโยบายการสร้างความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การหาโอกาสทางการค้าการลงทุนโดยเฉพาะโครงการศูนย์ข้อมูลธุรกิจของสถานทูตเพื่อให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนในแต่ละประเทศ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการนำกระแสพระราชดำรัสเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาใช้ รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ย้ำดัน พ.ร.ก.ประชามติเสี่ยงขัด รธน.
เมื่อเวลา 17.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองเลขาธิการพรรคพลังประชาชนให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอในการออก พ.ร.ก.ทำประชามติว่า ในการประชุม ครม.ในวันที่ 26 พ.ค. นี้นายกรัฐมนตรีจะหยิบยกมาหารือกัน แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าจะเป็นสุ่มเสี่ยงเกิน ที่จะออกเป็น พ.ร.ก.เพราะจะต้องถูกนำส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเข้าเงื่อนไขเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยของประเทศหรือไม่ ทั้งนี้เท่าที่ตนได้ตรวจสอบและพบมานานแล้วเห็นว่าขณะนี้ยังมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการประชามติปี พ.ศ.2541 ที่ออกมาสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เพราะเคยมีคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทยว่าเมื่อไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นผลบังคับ ก็ย่อมหมายถึงว่า พ.ร.บ.ฉบับนั้นยังมีผลบังคับใช้ ต่อมาก็ไม่มีประกาศ คปค.ให้ยกเลิก หากมีการประสานงานกับทางสภาฯแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนก็อาจจะมีความเป็นไปได้ ที่จะเร่งพิจารณา 3 วาระรวด แต่ถ้าเห็นว่าไม่มีกฎหมายฉบับเก่าอยู่ ก็ต้องไปเร่งรัดในการร่างกฎหมายใหม่โดยต้องหารือกับ กกต.ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นคนร่างกฎหมายจัดทำประชามติ
หนุนแช่แข็งญัตติรอทำประชามติ
เมื่อถามว่า แต่ขณะนี้กลุ่มพันธมิตรฯยื่นคำขาดให้ถอนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเดียวหากบรรจุวาระเมื่อไรจะมีการปิดล้อมสภาฯทันที นายชูศักดิ์ตอบว่า อย่างนั้นก็เกินไป เมื่อรัฐบาลมีทางออกให้ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นสมควรแก้ไขก็เป็นทางออกของสังคม หากบอกว่าไม่ควรแก้ก็จบไป การจะถอนญัตติหรือไม่ ขึ้นอยู่ดุลพินิจของ ส.ส.ที่ใช้สิทธิตามมาตรา 291 เขาไม่ได้ทำอะไรเกินเลย อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลต้องหารือกับประธานสภาฯและวุฒิสภาด้วยว่าเห็นควรอย่างไร เป็นไปได้ถ้าจะมีการเสนอญัตติเข้าสู่สภาฯ แต่ยังไม่พิจารณา โดยประธานสภาฯเอามาหารือสอบถามความเห็นจากรัฐสภาก่อนคือขอเลื่อนไปก่อนแล้วค่อยมาถามประชามติก็ได้
พลิกสู้เล่นอาญา “ประสพสุข-ปชป.”
ทางด้านนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรค พลังประชาชนกล่าวถึงกรณีที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตยได้ยื่นถอดถอนสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าสมาชิกรัฐสภาที่ลงชื่อทำตามรัฐธรรมนูญแต่ปัญหาเกิดจากกลุ่มพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ที่มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายพยายามล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ได้ยื่นถอดถอนพวกตน ดังนั้น ส.ส.ส่วนหนึ่งที่ลงชื่อ จึงได้หารือกันแล้วพบว่ามีพยานหลักฐานชัดเจนว่า พรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ จึงเตรียมทำหนังสือร้องเรียนต่อนายชัย ชิดชอบ ในฐานะประธานรัฐสภา ภายในสัปดาห์นี้เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มดังกล่าว รวมไปถึงนายประสพสุข บุญเดช ประธานสมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นผู้รับเรื่องถอดถอนด้วย อย่างไรก็ตาม ได้ปรึกษานายชัยถึงกระบวนการร้องเรียนดังกล่าวที่เป็นความผิดอาญาต่อตัวบุคคล รวมถึงการยุบพรรคด้วย
กกต.ไม่ขวาง พ.ร.ก.ประชามติ
วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวถึงการที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะออก พ.ร.ก.มาใช้รองรับการออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่ารัฐบาลจะสามารถออก พ.ร.ก.มาบังคับใช้ได้ หรือไม่ ส่วนการออก พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติของ กกต. นั้น วิธีการอาจล่าช้าบ้าง เพราะต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แต่ กกต.ในฐานะหน่วยปฏิบัติเมื่อมีกฎหมายออกมาบังคับ กกต.ก็ต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บ้านเมืองเรากำลังมีปัญหา ทุกฝ่ายควรช่วยกันแก้ไขความขัดแย้งมากกว่า
เดินหน้ายกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ
ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะออก พ.ร.ก.ประชามติว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ขณะนี้กฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติยังไม่มี และรัฐธรรมนูญมาตรา 165 กำหนดให้ออก เสียงประชามติต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติและในมาตรา 302 วรรคท้าย ระบุให้ กกต.จัดทำร่าง พ.ร.บ. หากให้บททั่วไปออกเป็น พ.ร.ก.อาจจะมีปัญหาในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ กกต.ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาพรรคการเมืองดูแลในเรื่องการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งตามกรอบเวลาจะครบกำหนด 1 ปี ในเดือน ส.ค. และ กกต.กำลังเร่งยกร่างซึ่งต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องที่จะเป็นปัญหาเรื่องที่ไม่ชอบโดยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ จะใช้กฎหมายเก่าของปี 2541 เป็น ต้นแบบพิจารณาประกอบกับรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจากกฎหมายเปลี่ยนไป
ปชป.ตามจิก พ.ร.ก.ประชามติ
วันเดียวกัน ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ รัฐบาลเตรียมจะเสนอให้ออก พ.ร.ก.ออกเสียงประชามติ ว่า รัฐบาลกำลังเล่นบทตีสองหน้า โดยก่อนหน้านี้อ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของสภาไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แต่วันนี้รัฐบาลกลับออกมาบอกว่าต้องดำเนินการ โดยการทำประชามติ และออกเป็น พ.ร.ก.โดยรัฐบาล พรรค ประชาธิปัตย์เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรดึงดันเรื่องการออก พ.ร.ก.เพราะตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 302 ระบุชัดเจนว่าการออกเสียงประชามติต้องให้ กกต.จัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ดังนั้น วิธีการอื่นไม่น่าจะทำได้ นอกจากนี้ ในมาตรา 184 วรรค 2 ยังได้ ระบุไว้ชัดเจนว่า การตรา พ.ร.ก.วรรค 1 ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อ ครม.เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติไม่ใช่เป็นเรื่อง จำเป็นเร่งด่วน ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะดึงดันต่อไป และควรยุติและถอนญัตติการแก้รัฐธรรมนูญออกทันที ถ้ายังดึงดัน จะนำประเทศไปสู่วิกฤติปัญหาทางการเมืองได้
“จุรินทร์” ชี้ออก พ.ร.ก.ผิด ก.ม.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐ-มนตรี ยืนยันที่จะออก พ.ร.ก.ออกเสียงประชามติว่า รัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่ากฎหมายออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จะออกเป็น พ.ร.ก.ไม่ได้ ต้องออกเป็น พ.ร.บ.เท่านั้น และไม่ใช่ พ.ร.บ.ธรรมดา แต่ต้องเป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะมีการระบุไว้ ชัดเจนในมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกระบวนการในการดำเนินการแตกต่างไปจาก พ.ร.บ.ปกติธรรมดา คือในการเสนอต้องมีผู้เสนอไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ไม่ใช่ ส.ส.แค่ 20 คน เหมือนกฎหมายปกติ นอกจากนี้ ในการพิจารณาวาระที่ 3 จะต้องผ่านเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ จำนวน ส.ส. ไม่ใช่ใช้แค่เสียงข้างมากปกติ อย่างไรก็ตาม ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบความชอบโดยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติก่อน ดังนั้น การที่จะออก พ.ร.ก.เพื่อให้ชอบโดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันย่อมทำไม่ได้
ส.ว.รับถูกกดดันหนักบีบถอนชื่อ
นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร หนึ่งในผู้ลงชื่อใน ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ยังมีการกดดันทุกทางให้พวกที่เหลืออีก 9 คน ถอนชื่อจากญัตติเสนอ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ล่าสุดได้รับข้อความผ่านมือถือ แต่ตนยังยืนยันว่าไม่ถอนชื่อ และได้หารือร่วมกับ ส.ว.ที่เหลือถึงสถานการณ์ที่เกิดการปะทะกันของม็อบ 2 กลุ่ม และ แนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่เสนอให้มีการทำประชามติ ทางกลุ่มเห็นว่าควรจะรอดูสถานการณ์ก่อน โดยเฉพาะการ ประชุม ครม.ในวันที่ 27 พ.ค. ว่า จะมีมติให้มีการทำประชามติ หรือไม่ หากมีมติออกมาอาจต้องชะลอญัตติออกไปก่อน เมื่อถามถึงกรณีที่ทางกลุ่มพันธมิตรฯยื่นถอดถอน ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อ นายยุทธนาตอบว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้สิทธิ์ ส.ส. ส.ว. เข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น ตนจึงมีสิทธิตามกฎหมาย การกล่าวหาว่า ส.ว.ที่ลงชื่อมีความผิดตามมาตรา 122 นั้น เป็นการตีความเข้าข้างตัวเอง พูดแบบกำปั้นทุบดิน การยื่นญัตติดังกล่าวไม่ได้ ไปเพิ่มอำนาจ ส.ว.เลือกตั้ง และไปยุบ ส.ว.สรรหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ส.ว. 9 คน ที่ยังไม่ ถอนชื่อคือ นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว.ขอนแก่น นายบวรศักดิ์ คณาเสน ส.ว.อำนาจเจริญ นายมงคล ศรีกำแหง ส.ว.จันทบุรี นาย จิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี นางสมพร จูมั่น ส.ว.นครสวรรค์ นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์
เลขาฯมัชฌิมาธิปไตยเสียวโร่ถอนชื่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเย็นของวันที่ 26 พ.ค. หลังจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ยื่น ถอดถอน ส.ส. ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อในญัตติเสนอแก้รัฐธรรมนูญนั้น ปรากฏว่า นางพรทิวา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท และเลขาธิการพรรคมัชฌิมาธิปไตย ได้แจ้งถอนชื่อออกจากญัตติดังกล่าวเช่นกัน