บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เหตุฉุกเฉิน

จะทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่...ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน แม้ว่าขณะนี้ยังไม่รู้ว่าพลังประชาชนและรัฐบาลจะตกลงกันได้หรือไม่ก็ตาม เพราะการทำประชามตินั้นรัฐธรรมนูญปี 50 ได้บัญญัติเงื่อนไขเอาไว้พอสมควร

ม. 302 ในวรรคท้ายระบุว่าให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียง ประชามติเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยให้นำความในวรรค 3 วรรค 4 และวรรค 5 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ก็หมายความรัฐบาลจะทำประชามติเองไม่ได้จะต้องให้ กตต. ไปยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการลงประชามติให้เสร็จเสียก่อน

หากว่ากันไปตามกระบวนการนี้กว่าจะเสร็จคงอีกนานและอาจไม่ทันกาลได้

เมื่อกระบวนการนี้ไปได้ล่าช้าจึงมีความพยายามที่จะจัดทำประชามติให้เร็วขึ้นก็คือการออก พ.ร.ฎ.หรือออกเป็น พ.ร.ก. ซึ่งนายกฯ สมัครพูดทำนองว่าจะออกเป็น พ.ร.ก.เพื่อให้รวดเร็วและทำได้ง่าย

แต่เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการก็หมายความว่าไม่ต้องการให้ฝ่ายบริหารเข้าไปยุ่งเกี่ยว

นอกจากนั้น ใน ม. 184 วรรค 2 ยังระบุด้วยว่าการตราพระราชกำหนดตามวรรค 1 ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มี ความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้

กรณีนี้คงจะต้องตีความกันแหละว่า การทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นกรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่

ซึ่งแน่นอนว่าหากรัฐบาลขืนดึงดันอ้างความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อผ่าทางตัน ทางการเมืองก็คงจะต้องเจอการยื่นตีความ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่ากรณีนี้เร่งด่วนหรือฉุกเฉินหรือไม่ และรัฐบาลมีอำนาจที่จะออกพ.ร.ก.ประชามติหรือไม่

หากมีการเสนอให้ตีความประเด็นนี้ก็คงใช้เวลาอีกพอสมควร นั่นจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญช้าออกไป ไม่ทันใจ ไม่ทันเรื่องยุบพรรคหรือคดีทุจริตต่างๆ

เพราะว่ากันจริงๆแล้วความเร่งด่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ประเด็นนี้มากกว่า อีกทั้งแนวคิดเรื่องประชามติก็เพิ่งจะโผล่ออกมาหลังจากที่มีการยื่นญัตติแก้ไข รัฐธรรมนูญไปแล้ว นั่นคงจะเห็นได้ว่าเมื่อยื่นญัตติไปแล้วเกิดแรงต่อต้าน

เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าก็เลยต้องให้ประชาชนเผชิญหน้ากันเอง ด้วยการจัดทำประชามติให้ประชาชนตัดสินใจว่าควรจะแก้ไขหรือไม่ และเชื่อว่าเมื่อประชาชนตัดสินใจแล้วพวกที่คัดค้านหรือต่อต้านต้องยอมรับ

พูดง่ายๆพยายามลดเพดานความขัดแย้ง ซึ่งนายกฯ เชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกิดการเผชิญหน้าและนำไปสู่ความรุนแรง

หรือจะพูดว่ามันเป็น “เหตุฉุกเฉิน” ของรัฐบาลและพลังประชาชน

แต่เหตุฉุกเฉินของประเทศขณะนี้คือ ปัญหาปากท้องของชาวบ้านเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ข้าวยากหมากแพง น้ำมันขึ้นพรวดๆ สินค้า อาหาร ค่าโดยสาร ต้นทุนสินค้าต่างๆพุ่งขึ้น อย่างต่อเนื่องและไม่มีทางที่จะเยียวยาได้ง่ายๆ

ยิ่งเรื่อง “น้ำมัน” ต้นทุนสำคัญของประเทศนี้ ซึ่งไม่มีทางที่ราคาจะไหลลงอย่างที่วาดหวัง มีแต่จะขึ้นไปเรื่อยๆโดยที่รัฐบาลยังไม่มีทาง ออกแต่อย่างใด คงจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมคือช่วยตัวเองเพราะรัฐบาล ก็ยังคิดไม่ออกและไม่เห็นนายกฯจะวิตกทุกข์ร้อนแต่อย่างใด

เยี่ยงนี้คือ สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขก่อนที่จะไปว่ากันเรื่อง รัฐธรรมนูญหรือจะพูดว่ารัฐธรรมนูญกินไม่ได้ก็ว่ากันไป

ครับ...กลัวมันจะยุ่งจนอยู่กันไม่ได้แล้วประเทศนี้.

"สายล่อฟ้า"


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker