เมื่อม็อบเสื้อแดงประกาศถอยทัพกลับไปตั้งหลัก หลังยกขบวนมาปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลได้เพียง 3 วัน
ระหว่างนั้นมีการดาวกระจายไปปาไข่ เผาหุ่น ปิดถนนหน้ากระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.
แต่ก็ทำแบบพอเป็นพิธีตามสูตรการชุมนุมประท้วงทั่วไป
จะด้วยสาเหตุเรื่องเงินทุน บวกกับสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ หรือเป็นเพราะกระแสสังคมเบื่อหน่าย
เป็นเรื่องที่แกนนำเสื้อแดงต้องนำกลับไป วิเคราะห์เป็นการบ้าน
ว่าอะไรคือสาเหตุแท้จริงทำให้เสื้อแดงไม่แรงฤทธิ์เท่าที่ควร
อย่างไรก็ตามถึงแม้ม็อบเสื้อแดงจะถอยทัพไปชั่วคราว
แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ต่างๆ ของประเทศจะสงบนิ่งจนรัฐบาลวางใจได้
อย่างน้อยภายในเดือนมี.ค.นี้ รัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ยังต้องเจอศึกหนักในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน
แน่นอนว่าด้วยจำนวนเสียงส.ส.ในสภาน่าจะมีส่วนสำคัญช่วยให้รัฐบาลผ่านพ้นศึกนี้ไปได้
แกนนำพรรคเพื่อไทยเองยังยอมรับ ว่าการอภิปรายที่กำลังจะมีขึ้นไม่น่ามีผลให้รัฐบาลต้องล้มคว่ำลงไปในทันที แต่ก็เชื่อว่าจะสร้างความเสียหายให้กับรัฐบาลได้ในระยะยาว
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย หัวหน้าทีมอภิปรายขู่ว่า หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ รัฐบาลอย่างเก่งก็อยู่ต่อได้อีกไม่เกิน 3 เดือน
ตามความคาดหมายศึกอภิปรายน่าจะระเบิดขึ้นราวปลายเดือนมี.ค.
นั่นเท่ากับว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ยังมีเวลาพักหายใจประมาณ 4 เดือนจากปัญหาทางการเมือง
กระนั้นก็ตามได้มีคลื่นแทรกเตือนออกมา ว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่พัฒนาขีดความรุนแรงมากขึ้นอย่างรวดเร็วแบบวันต่อวัน
กำลังกลายเป็นปัจจัยสร้างความเหนื่อยยากให้กับรัฐบาลมากยิ่งกว่า
สัญญาณเลวร้ายด้านเศรษฐกิจถูกส่งออกมาอย่างถี่ยิบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
เริ่มจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้วซึ่งหดตัวลงถึง 4.3 เปอร์เซ็นต์
ติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2552 การขยายตัวเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ติดลบ 1-0 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและส่งผลกระทบต่อไทย
มากและรวดเร็วกว่าที่คาดคิด
ตามมาด้วยบทวิเคราะห์ของมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ที่ระบุเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบอยู่ที่ 2.4 เปอร์เซ็นต์
แม้จะไม่ใช่ตัวเลขเลวร้ายที่สุดในเอเชีย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาคุยอย่างภาคภูมิใจได้
ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี"52 ว่า น่าจะมีโอกาสติดลบมากกว่า 4.3 เปอร์เซ็นต์ ของไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และหดตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2 และ 3 ส่วนไตรมาส 4 จะเป็นช่วงเวลาการชี้เป็นชี้ตาย
เศรษฐกิจไทยจะฟื้นหรือฟุบยาวไปถึงปีหน้า
จากการวิเคราะห์ของ 3 หน่วยงานดังกล่าว
ถึงจะให้น้ำหนักกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ว่าเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เศรษฐกิจของไทยได้รับผลสะเทือนอย่างหนัก
ไม่ว่าจะเป็นในภาคการส่งออก ภาค อุตสาหกรรม การผลิต การลงทุน ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ภาคการเกษตร ฯลฯ รวมถึงภาคแรงงาน ที่กำลังขยายตัวเป็นไฟลามทุ่งขณะนี้
มีการประเมินไว้เบาะๆ ว่าตัวเลขคนว่างงานในปีนี้อาจสูงถึง 1 ล้านคน
แต่ในบทวิเคราะห์ก็ไม่ได้ตัดทิ้งประเด็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายใน
อันนำมาสู่การบุกยึดสนามบินเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ว่าได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจเอกชนลดลง มีผลต่อเนื่องต่อการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน
ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจให้เสื่อมทรุดกว่าความเป็นจริง
อย่างเป็นที่รับรู้กันว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาบริหารประเทศบนเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมือง และปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ
ซึ่งทั้งสองเรื่องมีผลกระทบเชื่อมโยงถึงกันอย่างแยกไม่ออก
กล่าวถึงปัญหาทางการเมืองนั้น
ด้วยความสามารถเฉพาะตัวของ พรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่าน่าจะเอาตัวรอดได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับม็อบเสื้อแดง หรือการยื่นซักฟอกของฝ่ายค้าน
แต่กับวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ ซึ่งประเมินกันว่ามีความใกล้เคียงกับวิกฤตฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 นั้น
ตลอดเวลาที่ผ่านมา 2 เดือนเศษ ดูเหมือนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ให้ความสำคัญน้อยกว่าการตอบโต้ทางการเมือง
จนหลายคนหวั่นเกรงจะเป็นความจริงที่ว่า ลำพัง"เด็กสองคน" อาจนำพาประเทศชาติฝ่าออกจากวิกฤตเศรษฐ กิจครั้งนี้ไม่ได้ จนส่งผลให้รัฐบาลต้องพังพาบเร็วกว่าที่คิด ภายใน 2-3 เดือนอย่างที่ใครบางคนทำนายเอาไว้
แต่หลังจากสัญญาณอันตรายทางการเมืองเริ่มแผ่ว ม็อบเสื้อแดงยอมถอยให้กับการประชุมอาเซียนซัมมิต รัฐบาลเริ่มหมดข้ออ้างที่จะปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัว
ในจังหวะที่สัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจที่เริ่มส่งเสียงเตือนดังมากขึ้นเรื่อยๆ
ถือเป็นโอกาสดีที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้พิสูจน์ตัวเองให้ประชาชนทั่วประเทศได้เห็น ว่าไม่ได้มีกึ๋นแต่เฉพาะด้านการเมืองอย่างเดียว
แต่ยังมีกึ๋นด้านการแก้เศรษฐกิจอีกด้วย