เหล็กใน
นักเรียนกลุ่มนี้จึงจำต้องหาหนทางเพื่อเรียนต่อระดับอุดมศึกษาเอาเอง
แม้การสอบเอเน็ตจะไม่ใช่เพียงหนทางเดียวที่จะเข้ามหา วิทยาลัย แต่มันก็เป็นหนทางที่สะดวกที่สุด
เพราะหากหนทางอื่นๆ ทำได้ง่ายๆ ภาครัฐคงไม่จำเป็นต้องจัดสอบ เอเน็ตขึ้นมา
คำสั่งของศาลปกครองนั้นคงต้องละไว้
แต่สิ่งที่ต้องตำหนิคือผู้ใหญ่ในภาครัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กๆ โดยเฉพาะคนต้นคิดเรื่องสอบพิสดารพันลึก และเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาราวกับเป็นของเล่น
เริ่มตั้งแต่สอบโอเน็ต เอเน็ต ใช้คะแนนจีพีเอ จีแพ็ก ฯลฯ
ปีแรกให้ใช้สัดส่วนเท่านั้น เท่านั้น
ปีต่อมาก็ปรับเปลี่ยนเกณฑ์อีก
สักพักนึกสนุกก็ยกเลิกคะแนนส่วนนั้น ส่วนนี้
และนี่ปีหน้าก็จะเปลี่ยนรูปแบบการสอบใหม่อีกแล้ว
หากไม่ใช่คนที่ว่างจัด ก็ต้องเป็นพวก "โลเล" ตัวแม่เลยเชียว
ถามจริงๆ เถอะ ไม่ได้คิดล่วงหน้าหรือไง ว่าควรจะใช้ระบบการสอบแบบไหนเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด คิดถึงข้อดี ข้อเสียให้รอบด้าน
แล้วค่อยประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
ถ้าแค่นี้ยังไม่มีปัญญาคิด ก็ขอย้ายไปทำหน้าที่อื่นดีกว่า
และพูดก็พูดเถอะตั้งแต่ปรับเปลี่ยนวิธีการสอบเข้าจากระบบ "เอ็น ทรานซ์" มาเป็นแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เกิดปัญหาขึ้นได้ทุกปีเช่นกัน
ขณะระบบเอ็นทรานซ์แบบเก่าที่ใช้ต่อเนื่องกันมานานหลายสิบปี แทบไม่เคยเกิดปัญหาร้องเรียนเลยด้วยซ้ำ
ที่อ้างเรื่องแก้ปัญหาโรงเรียนกวดวิชา และต้องการให้นักเรียนตั้งใจเรียนในห้อง ถามจริงๆ เถอะ เคยประเมินผลที่ได้จากการสอบแบบใหม่นี้หรือไม่
เพราะนักเรียนยังไปเรียนกวดวิชาเหมือนเดิม แถมมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
ที่น่าแปลกพวกต้นคิดวิธีการสอบแบบใหม่ ที่ออกมาอ้างว่าจะทำให้ได้เด็กที่มีความสามารถมากขึ้น แต่ผลกลับเป็นว่ามีเด็กถูกรีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัยมากกว่าเก่า!!!
ล่าสุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ออกมาระบุว่านิสิตที่เข้ามาเรียนตามเกณฑ์การสอบแบบใหม่ ถูกรีไทร์ ลาออก หรือขอพักการเรียนเกือบครึ่ง เนื่องจากเรียนไม่ไหว
ทำให้หลายมหาวิทยาลัยเริ่มไม่เชื่อความสามารถของเด็กที่ผ่านเกณฑ์การสอบแบบนี้เข้ามาเรียนต่อ
แม้ไม่พูดออกมาตรงๆ แต่มหาวิทยาลัยก็ใช้วิธีเพิ่มสัดส่วนการรับตรงมากขึ้น ซึ่งวิธีการคัดเลือกก็ใช้การสอบรูปแบบเดียวกับการเอ็นทรานซ์ในอดีตนั่นเอง
ถึงเวลาทบทวนกระบวนการสอบเข้าระดับอุดมศึกษาได้หรือยัง
หรือถ้าไม่ทบทวนก็ช่วยหาคนที่ "โลเล" น้อยกว่านี้มารับผิดชอบจะดีกว่าไหม!??