“ขวดละ 5 บาทค่ะ น้ำดื่มเย็นๆ! ”
ต้นเสียงมาจากสาวเอวบางร่างน้อย เชิญชวนคนเดินไปมาหน้าร้านอย่างได้รส ได้อารมณ์ กลางอุณหภูมิอันอบอ้าว คนไม่น้อยจึงแวะเข้าไปใช้บริการ
เธอประกาศเสียงแจ้วๆต่อไปว่า ให้คนรีบซื้อดื่มก่อนที่โอกาสทองจะหมดไปในวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552
เสียงคนขายของยังมีจากร้านอื่นๆอีกมากมาย ในงาน “มหกรรมสินค้าราคาถูก ผูกรอยยิ้ม” จัดให้ขายสินค้าบริโภคอุปโภคทั้งวันและทั้งคืน ระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม
เจ้าภาพจัดงานคือ กรุงเทพมหานคร โดยผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ผู้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
ดังนั้น เสียงแม่ค้าที่ตะโกนขายของ วันแรกๆก็ต้องตะโกนแข่งกับเสียงอภิปรายไม่ไว้วางใจของรัฐบาลไปด้วย
“อยู่ๆตลาดนี้ก็ผุดขึ้นมาดื้อๆ ผมไม่รู้หรอกว่า เขาจะมาขายของกันช่วงอภิปรายนี้” เสียงของสมศักดิ์ หนุ่มชาวที่ราบสูงพูดขณะคิดเงินค่าบริการ
แล้วเสริมมาอีกพร้อมกับเงินทอนในมือว่า “ตลาดนี้แปลกๆนะ”
สิ่งที่สมศักดิ์ต้องการสื่อสารคือ ชี้เงื่อนงำการเกิดขึ้นของตลาดผูกรอยยิ้ม ที่เกิดขึ้นมาช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม และลงมติกันในวันที่ 21 แต่ตลาดผุดขึ้นมาขายของในสนามหลวง ระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม ตรงกับวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เมื่ออภิปรายเสร็จ ตลาดก็เลิกกันพอดี
ตลาดแห่งนี้เปิดขายทั้งกลางวันและกลางคืน
ถ้าต้องการขายของให้กับประชากรผู้ยากไร้ หรือผู้มีรายได้น้อย ทำไมไม่ขายเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดงาน ทำไมต้องเปิดขายวันศุกร์ด้วย
เมื่อเดินดูสินค้าที่นำมาขาย และบริษัทที่เข้ามาร่วมขายในมหกรรมสินค้าราคาถูก ผูกรอยยิ้มมีมากมาย ส่วนใหญ่เป็นสินค้ายี่ห้อดังๆ
ตลาดสินค้าราคาถูก ผูกรอยยิ้มตามคำขวัญของ กทม.นั้น จัดขายหนาแน่นอยู่ซีกตรงข้ามกับวัดพระแก้ว เสื้่อผ้าสวยๆ ส่วนใหญ่เป็นสินค้ายี่ห้อดังระดับโลก
พลิกดูราคาต้องตกใจเล็กๆ เพราะกางเกงยีนส์ 1 ตัวราคากว่า 1,000 บาท เสื้อยืดราคาเฉียด 1,000 บาท ลดลงมาเหลือกว่า 300 บาท
สินค้าราคาสูง แม้จะลดลงจากป้ายเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ประชากรที่มีรายได้น้อยอย่างไรก็ไม่อาจยิ้มได้อยู่นั่นเอง สินค้าที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเป็นสินค้าบริโภค ไม่ว่าจะเป็นของบริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด เจ้าของสบู่ ผงซักฟอกหลายตรา และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มีผลิตภัณฑ์จากการเกษตรไม่ว่าจะเป็นไก่ และสินค้าอื่นๆอีกมากมาย
หน้าร้านของเครือเจริญโภคภัณฑ์ แต่ละสินค้ามีผู้คนให้ความสนใจแน่นขนัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งไก่ย่าง 5 ดาว มีคนเรียงรายรอคิวกันเป็นทิวแถว คนที่มาเลือกซื้อของใช้ในงาน ส่วนใหญ่แวะเวียนเข้ามาซื้ออาหารไปอิ่มท้องที่บ้าน
เลยร้านยักษ์ใหญ่เข้ามา เป็นร้านขายรองเท้าผ้าใบ เป็นสินค้าของประชากรผู้มีรายได้น้อยที่มีคนให้ความสนใจเป็นพิเศษ รองเท้าในร้านทั้งหมดราคา 199 บาท
“ขายได้เรื่อยๆค่ะ จะดีหรือไม่ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้หรอก ต้องดูวันเลิกงาน” เจ้าของร้านวัยกว่า 30 ปีเปรยๆ ก่อนเดินไปรับลูกค้าอย่างขะมักเขม้น
บริษัทใหญ่ๆ ที่นำของมาขาย จะอยู่ในบัญชีรายชื่อ 60 บริษัทที่เคยถูกเพ่งเล็งหรือไม่ก็ตาม การผุดขึ้นมาเพื่อขายของยามนี้ ต้องยอมรับว่าเหมาะเหม็งกับบรรยากาศทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจพอดิบพอดี
ท้องสนามหลวงในปัจจุบัน กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการเมืองไปแล้ว เพราะสถานที่กว้างขวาง รถเมล์ผ่านหลายสาย เป็นสถานที่ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก สามารถเป็นจุดนัดพบได้ดี นัดแนะชุมนุมกันได้ง่าย
ในสถานการณ์ล่อแหลมของการอภิปรายที่ผ่านมา เมื่อเปิดตลาดนัดราคาถูก ผูกรอยยิ้มขึ้นมา จึงกลายเป็นว่า เป็นการเปิดเพื่อการเมือง เพื่อ ชิงพื้นที่ในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงไป ทั้งๆที่แท้จริงผู้ว่าฯ กทม.อาจมีจิตเจตนาบริสุทธิ์ก็ได้
ย้อนไปดูประวัติศาสตร์ ท้องสนามหลวงเคยเป็นแหล่งการชุมนุม นองเลือดทางการเมือง และกิจกรรมอื่นๆมากมาย
แต่เดิมใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ จึงเรียกขานกันว่า ทุ่งพระเมรุ
สืบมา พ.ศ. 2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็นท้องสนามหลวง
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ทำนาที่สนามหลวง เพื่อแสดงให้ปรากฏแก่นานาประเทศว่า เมืองไทยบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร มีไร่นาไปจนใกล้ๆ พระบรมมหาราชวัง และไทยเอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นกำลังของบ้านเมืองด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล มีกำแพงแก้วล้อมรอบบริเวณ ข้างในสร้างหอพระพุทธรูปสำคัญเป็นที่ประดิษฐานพระสำหรับพิธี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสนามหลวงจากเดิม และรื้อพลับพลาต่างๆ ที่สร้างในรัชกาลก่อนๆ แล้วใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพิธีต่างๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี
ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ประกอบพระราชพิธีต่างๆ ใช้เป็นสนามแข่งม้าและสนามกอล์ฟ
ในรัชกาลปัจจุบันมีการใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก รวมทั้งงานพระเมรุมาศเจ้านายระดับสูง
สนามหลวงโบราณสถานสำคัญของชาติ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2520 มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา
สนามหลวงนอกจากเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแล้ว ยังเคยเป็นตลาดนัดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย
สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2491 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้จัดตั้งตลาดนัดขึ้นในทุกจังหวัด สำหรับกรุงเทพฯนั้น ได้เลือกสนามหลวงเป็นสถานที่จัดตลาดนัด
ตลาดนัดสนามหลวงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากพ่อค้า แม่ค้า และประชาชนไม่ว่าจะเป็นคนไทยในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด รวมทั้ง นักท่องเที่ยงต่างชาติด้วย เพราะว่าสนามหลวงมีพื้นที่กว้างใหญ่ มีสถานศึกษา และสถานที่สำคัญๆล้อมรอบ
เคยเป็นแหล่งหนังสือดี ราคาถูก
ในปี พ.ศ. 2521 สมัยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะใช้สนามหลวงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และจะใช้สนามหลวงเป็นสถานที่จัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และงานรัฐพิธีต่างๆ
ซึ่งขณะนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มอบที่ดิน ที่สวนจตุจักรเพื่อใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 42 ล้านบาทเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ให้กรุงเทพมหานคร ทำการปรับพื้นที่ สร้างถนน และก่อสร้างอาคารชั่วคราว
ในช่วงแรก ได้ให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและได้พยายามย้ายผู้ค้าจากสนามหลวงมา แต่ได้รับการคัดค้านจากผู้ค้าตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 2 มกราคม 2525 จึงสามารถทำได้สำเร็จ
หลังจากตลาดสนามหลวงสิ้นไปตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ต่อมามีการจัดขายสินค้าเป็นระยะ แล้วแต่โอกาส และล่าสุด กทม.ก็เนรมิตตลาดสินค้าราคาถูกขึ้นมาโดยประกาศว่าเพื่อต้องการ “ผูกรอยยิ้ม”