บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2552

ศูนย์ราชการใหม่ หนีเสือปะจระเข้

ที่มา ไทยรัฐ

เฉลิมพระเกียรติฯริมถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่ อลังการงานสร้างมูลค่ากว่า 1.9 หมื่นล้านบาท เปิดให้หน่วยราชการบางแห่งเข้าไปใช้พื้นที่แล้วเป็นบางส่วน

สถานที่ดังกล่าว มีชื่อเรียกเต็มๆว่า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550ประกอบด้วยอาคารใหญ่ 2 หลัง คือ อาคารเอ กับ อาคารบี

พื้นที่ส่วนใหญ่ของอาคารเอ ใช้เป็นที่ทำการของศาลและอัยการ ส่วนอาคารบี ใช้เป็นที่ทำการขององค์กรอิสระ และหน่วยราชการหลายสังกัด

ศูนย์ราชการแห่งนี้ เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด ต้องการให้เป็นศูนย์ราชการขนาดใหญ่และทันสมัย ประชาชนสามารถเข้าไปติดต่อกับหลายหน่วยราชการได้อย่างสะดวกภายในอาคารเดียว

เป็นที่น่าสังเกตว่า รูปแบบการระดมทุนเพื่อใช้ก่อสร้างที่ทำการของหน่วยราชการ และการบริหารจัดการภายในศูนย์ราชการแห่งนี้ มีความแปลกแหวกแนวกว่าที่เคยเป็นมา

ในอดีตการก่อตั้งที่ทำการของส่วนราชการ ซึ่งยังไม่มีสถานที่เป็นของตนเอง มักใช้วิธีไปขอเช่าสถานที่จากเอกชน เพื่อใช้เป็นที่ทำการชั่วคราวจนกว่าจะหาที่ดินเปล่าได้ และมีงบประมาณเพียงพอ จึงจะเริ่มก่อสร้างสถานที่ทำการเป็นของตนเอง

ไม่เช่นนั้นก็ใช้วิธีไปขอใช้ที่ราชพัสดุ (ขอใช้ที่ดินเปล่าฟรี) จากกรมธนารักษ์ จากนั้นกระทรวงต้นสังกัด จัดสรรงบประมาณให้ไปก่อสร้างที่ทำการกันตามมีตามเกิด

แต่แนวคิดใหม่ในการก่อตั้งศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ใช้ รูปแบบและวิธีบริหารจัดการที่แตกต่างจากในอดีตทั้ง 2 วิธี

กล่าวคือ ใช้วิธีระดมทุนในการก่อสร้างทั้งหมด ผ่านโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ภายใต้พระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจ เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540

รูปแบบการระดมทุน จัดตั้งขึ้นมาเป็น บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นเต็ม 100%

จากนั้นให้ ธพส.ทำการเสนอขาย หุ้นกู้ (หุ้นซึ่งผู้ถือหุ้นไม่มีสิทธิในการบริหาร) ให้แก่ผู้ลงทุน สถาบันการเงิน และผู้ลงทุนรายย่อย เพื่อนำทุนที่ระดมได้ไปใช้ก่อสร้างโครงการทั้งหมด แทนที่จะใช้งบประมาณแผ่นดินดังเช่นที่ผ่านมา

ระยะเวลาในการออกหุ้นกู้มีกำหนด 30 ปี เมื่อ ธพส.ระดมทุนได้แล้วเสร็จ จะนำเงินส่วนหนึ่งไปจ่ายเป็นค่าเช่าที่ดิน แปลงซึ่งจะใช้ก่อสร้างศูนย์ราชการ ให้แก่กรมธนารักษ์เจ้าของพื้นที่

เมื่อลงมือก่อสร้างศูนย์ราชการเสร็จแล้ว ธพส.ซึ่งมีบทบาทเหมือนผู้จัดการอาคาร และมีหน้าที่ต้องรวบรวมเงินค่าเช่าไปชำระหนี้เงินกู้ จะนำสินทรัพย์ทั้งหมดมอบให้แก่กรมธนารักษ์เป็นผู้จัดสรรให้หน่วยราชการแต่ละแห่ง เช่าพื้นที่

จากนั้นกรมธนารักษ์ กับสำนักงบประมาณ ใช้วิธีตั้งและตัดงบประมาณเบิกจ่ายเป็นการภายใน เพื่อหักกลบนำไปชำระเป็นค่าเช่าที่ทำการของหน่วยราชการ ภายในศูนย์ฯ

ด้วยวิธีนี้ ที่ดินที่ตั้งศูนย์ราชการ ยังคงสภาพเป็นที่ราชพัสดุ ส่วนตัวอาคารศูนย์ราชการได้รับการดูแลบริหารโดย บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ฯ

หลังจากสำนักงบประมาณและกรมธนารักษ์หักกลบลบหนี้ผ่อนชำระค่าเช่ากันจนครบอายุโครงการ 30 ปี สินทรัพย์ทั้งหมดจะตกเป็นของกระทรวงการคลัง

จากนั้น ธพส.ก็หมดหน้าที่ หน่วยราชการซึ่งผ่อนค่าเช่าจนครบกำหนด 30 ปี สามารถอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องตั้งและถูกหักงบประมาณในส่วนของค่าเช่าอีกต่อไป

ข้อดีของการสร้างศูนย์ราชการรูปแบบนี้ แทนที่หน่วยราชการแต่ละแห่ง จะนำงบประมาณส่วนซึ่งเป็นค่าเช่าสถานที่ ไปยัดใส่กระเป๋าเอกชนผู้ให้เช่า หรือซูเอี๋ยแบ่งกันกินเปอร์เซ็นต์เงินปากถุงกับเอกชนจนพุงกาง ก็เปลี่ยนโจทย์ใหม่ให้กรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน เข้ามาสวมบทบาทพุงกางแทนเอกชน

แม้การก่อสร้างศูนย์ราชการ ริม ถ.แจ้งวัฒนะ ยังไม่แล้วเสร็จ (คืบหน้าไปแล้ว 90%) อีกทั้งยังไม่ครบกำหนดที่ต้องส่งมอบตัวอาคารให้แก่หน่วยราชการทั้ง 29 แห่ง ใช้เป็นที่ทำการ เพราะก่อนหน้านี้ ครม.มีมติสั่งให้ขยายระยะเวลาส่งมอบอาคารออกไปจนถึงเดือน ส.ค. 2552

แต่ล่าสุด มีหน่วยราชการหลายแห่ง เริ่มทยอยย้ายเข้าไปใช้สถานที่ดังกล่าวกันบ้างแล้ว

เช่น กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานสิทธิมนุษยชนฯ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น

คำถามน่าสนใจก็คือ แต่ละหน่วยงานที่เพิ่งย้ายไปอยู่ใหม่ รู้สึกพออกพอใจกับสถานที่แห่งนี้หรือไม่ และปัญหาการจราจรย่านนั้นได้เพิ่มความปวดเศียรเวียนเกล้าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่อำนวยการจราจรมากน้อยแค่ไหน?

ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง ย่อมมีทั้งผู้ที่พอใจ และไม่พอใจ แต่เรายึดถือประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของ ธพส. ให้ความเห็น

เขาว่า เท่าที่สังเกตข้าราชการระดับบริหาร และข้าราชการรุ่นใหม่ ที่อยากนั่งทำงานในออฟฟิศที่สวยงาม ทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ส่วนใหญ่ พอใจกับสถานที่แห่งนี้

แต่เพราะความต้องการของแต่ละคน และแต่ละหน่วยงาน มีความแตกต่าง การจะให้ทุกคน และทุกหน่วยงานที่เข้าไปใช้สอยพื้นที่แห่งนี้พอใจ จึงเป็นเรื่องยาก

แหล่งข่าวรายนี้บอกว่า นอกจากศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถูกออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน ไม่สร้างมลภาวะ และเป็นมิตรกับธรรมชาติแวดล้อม

ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน อาทิ ทั้งอาคารเอ และอาคารบี มีลิฟต์รวมทั้งสิ้น 108 ตัว มีลิฟต์เพื่อคนพิการรวม 72 ตัว บันไดเลื่อนรวม 56 ตัว ห้องน้ำที่ประชาชนสามารถใช้บริการได้ของชายรวม 20 แห่ง ของหญิง 20 แห่ง ห้องน้ำ คนพิการอีก 17 ห้อง

เฉพาะพื้นที่ส่วนกลางของทั้ง 2 อาคาร มีโทรทัศน์วงจรปิดรวมทั้งสิ้น 1,076 จุด มีโรงแรมซึ่งมีห้องพักทั้งสิ้นจำนวน 204 ห้อง มีสาขาย่อยของธนาคารทั้งหมด 14 แห่ง เฉพาะอาคารเอ มีศูนย์อาหาร 2 แห่งรวม 20 ร้านค้า อาคารบี มี 4 แห่ง รวม 64 ร้านค้า อาคารเอ มีร้านค้าและร้านสะดวกซื้อ 20 ร้าน อาคารบี มีร้านค้าและร้านสะดวกซื้อ 42 ร้าน

ที่สำคัญแหล่งข่าวรายนี้บอกว่า สิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่พึงพอใจศูนย์ราชการมากที่สุด น่าจะเป็นเรื่อง ที่จอดรถ ซึ่งทางศูนย์ฯได้กันพื้นที่ไว้ให้จอดรถถึง 10,000 คัน

ปกติเวลาเราไปติดต่อสถานที่ราชการ อย่างเช่น ที่กระทรวงการคลัง มีคนทำงานและคนไปติดต่อราชการวันละ 6,000-7,000 คน แต่มีที่ให้จอดรถไม่เกิน 2 พันคัน หรือเทียบสัดส่วน 3 คนต่อที่จอด 1 คัน แต่ที่นี่สามารถรองรับคนได้วันละ 15,000 คน กันเป็นที่จอดรถไว้จำนวน 1 หมื่นคัน หรือเทียบสัดส่วน 1.5 คน ต่อที่จอดรถ 1 คัน

แม้พอจะสบายใจหายห่วงได้บ้างกับเรื่องที่จอดรถ แต่คงไม่วายหนีเสือปะจระเข้ ยังมีอีกปัญหาให้น่าห่วงอย่างยิ่ง

หลังจากศูนย์ราชการแห่งนี้เปิดใช้งานเต็มพื้นที่ในราวปลายปี 2552 แต่ละวันมีคนเข้า-ออกหลายหมื่น ถึงตอนนั้นคงหนีไม่พ้นปัญหารถติด

ประเด็นนี้แหล่งข่าวบอกว่า ล่าสุด กำลังอยู่ระหว่างเจรจาขอแบ่งซื้อที่ดินบริเวณรอบตะเข็บ จากสโมสรราชพฤกษ์ หรือนอร์ธปาร์ค และการประปานครหลวง เพื่อนำมาตัดถนนแบ่งเบาการจราจรบน ถ.แจ้งวัฒนะ ไปออกทางถนนโลคัลโรด และถนนประชาชื่น

หากเจ้าของที่ดินทั้ง 2 แปลง เข้าใจถึงความจำเป็น จะช่วยแก้รถติดได้มาก

ขณะที่ พ.ต.ท.วีระศักดิ์ วงศ์วานิช รองผู้กำกับการจราจร สน.ทุ่งสองห้อง ซึ่งรับผิดชอบอำนวยการจราจรในพื้นที่ ให้ความเห็นสั้นๆว่า

หากจะแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ นอกจากต้องหาพื้นที่แห่งใหม่ระบายรถให้ไปออกทางด้านอื่น ไม่มากระจุกตัวอยู่จุดเดียวบนถนนแจ้งวัฒนะ ยังต้องนำระบบขนส่งมวลชนเข้ามาใช้ เช่น จัดให้มีรถไฟฟ้าสายสีชมพู หรือใช้ระบบคาร์พูล รถคันเดียวนั่งมาหลายคน ไม่เช่นนั้นยากที่จะแก้ปัญหาในช่วงที่การจราจรคับคั่งทั้งเช้าและเย็น

เปรียบเทียบราคาประเมินที่ดิน ริม ถ.แจ้งวัฒนะเกือบทั้งเส้น เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เฉลี่ย ต.ร.ว.ละ 3,000 บาท แต่วันนี้มีราคาเฉลี่ย ต.ร.ว.ละ 100,000 บาท

การที่ถนนสายนี้ เนื้อหอมออกอย่างนี้ มีคนบอกว่า ต่อให้ไม่มีศูนย์ราชการแห่งนี้มาตั้ง รถก็ติดหนักเป็นบ้าเป็นหลังอยู่ดี.

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker