บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2552

ดิอีโคโนมิสต์ : ดับเปลวไฟ

ที่มา ประชาไท

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากทีมนักแปลอาสาสมัครที่อยากให้สาธารณชนได้บริโภคข่าวสารอย่างรอบด้าน เนื่องเพราะเห็นว่าสื่อสารมวลชนของไทยมีปัญหาเรื่องการทำงานในสถานการณ์วิกฤตินี้ เราจึงเลือกแปลข่าวของสื่อต่างชาติที่ยังสามารถทำงานตามหลักการวิชาชีพได้ โดยไม่มีอคติต่อฝ่ายใด และไม่มีอำนาจรัฐมาครอบงำ

ทีมแปลข่าวเฉพาะกิจ

ที่มา : แปลจาก Dousing the flames, The Economist (print edition), Apr 16th 2009 http://www.economist.com/world/asia/displaystory.cfm?story_id=13496330

16 เมษายน 2552 กรุงเทพฯ

ความสงบชั่วคราวบนท้องถนนอาจไม่ใช่สันติภาพทางการเมืองที่ยั่งยืน

ผู้ที่จะมาเที่ยวผับบาร์ในประเทศไทยได้รับการเตือนว่า การทะเลาะกันเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจทำให้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายภายในพริบตาเดียว ทำนองเดียวกับความรุนแรงทางการเมือง ในช่วงสี่วันแห่งความวุ่นวาย ประเทศไทยเข้าสู่สภาพที่กลุ่มฝูงชนได้บุกเข้าไปยังที่ประชุมสุดยอดระดับภูมิภาคที่พัทยา ไปจนถึงการใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ประท้วงที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งมีการเจรจาเพื่อมอบตัวกับเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 14 เมษายน การฟื้นฟูความสงบกลับมาได้ทำให้รัฐบาลที่กำลังเข้าตาจนและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เริ่มหายใจคล่องคอขึ้นมาหน่อย

แต่การหยุดยิงไม่ใช่ข้อตกลงสันติภาพ ความร้าวลึกยังดำรงอยู่ และเป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมืองที่สืบเนื่องมายาวนาน นักการเมืองพูดถึงการปฏิรูป แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรดี กองทัพบกแสดงความสนับสนุนนายอภิสิทธิ์อย่างเต็มที่ในตอนนี้ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าพวกเขามีแรงจูงใจเบื้องหลังอะไร ความโกรธเกรี้ยวและขุ่นเคืองครอบคลุมทั่วกลุ่มการเมืองที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน ความขัดแย้งยังถูกกระพือฮือโหมด้วยสื่อที่ชอบยุให้แตกแยก แม้แต่มาตรฐานการแก้ปัญหาแบบไทย ๆ ด้วยการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็อาจดูจะใช้ไม่ได้ผล เป็นเรื่องธรรมดาที่พรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลจะกลัวว่า ถ้ามีการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งก็คงเลือกรัฐบาลที่จงรักภักดีกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างที่เคยเป็นมาในการเลือกตั้งสามครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาก็คงเผชิญการประท้วงของพวกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สวมเสื้อเหลืองและชิงชังรังเกียจนายทักษิณ

ความปั่นป่วนวุ่นวายล่าสุดที่กรุงเทพฯ เป็นผลงานของผู้ประท้วงเสื้อแดงที่ถูกปลุกเร้าจากวิดีโอลิงก์ของนายทักษิณ นักโทษหนีคดีที่อยู่ระหว่างลี้ภัย เป็นเวลาสามสัปดาห์ ชาวเสื้อแดงหลายหมื่นคนซึ่งเรียกตัวเองว่า แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและให้ฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

เมื่อวันที่ 8 เมษายน พวกเขาได้ไปปิดล้อมบ้านพักของเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาหลักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารเพื่อขับไล่นายทักษิณเมื่อปี 2549 สามวันต่อมา ในขณะที่เจ้าหน้าที่แสดงความหละหลวมในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเห็นได้ชัด ผู้ประท้วงกลุ่มนปช.หลายร้อยคนที่ปราศจากอาวุธ ได้บุกเข้าไปในรีสอร์ทริมชายหาดระหว่างที่ผู้นำกลุ่มประเทศในเอเชียกำลังประชุม ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ต้องเสียหน้าเพราะต้องบอกยกเลิกการประชุม วันต่อมา เขาประกาศสภาวะฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ เพื่อขับไล่ผู้ประท้วง

เป็นการพนันที่แพงด้วยเดิมพันสูงของนายอภิสิทธิ์ แต่ก็ให้ผลตอบแทนกับเขา ต่างจากนายกรัฐมนตรีสองคนที่แล้ว ซึ่งเผชิญกับการประท้วงอย่างยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปีที่แล้ว นายอภิสิทธิ์ได้รับผลตอบรับดีกว่ามากจากการทำหน้าที่อย่างกล้าๆ กลัวๆ ในตอนต้น ทหารที่พร้อมรบก็สามารถควบคุมการก่อจลาจลประปราย รวมทั้งการต่อสู้กันเองระหว่างฝ่ายเสื้อแดงกับชาวบ้านในพื้นที่ ส่งผลให้มีประชาชนบาดเจ็บกว่าร้อยคนและเสียชีวิตสองคน จากนั้น ทหารได้เข้าปิดล้อมที่ชุมนุมหลักในขณะที่ยังมีผู้ประท้วงกลุ่ม นปช.ไม่กี่พันคนหลงเหลืออยู่ ด้วยความที่มีกำลังน้อยกว่าและถูกแยกโดดเดี่ยว ผู้นำการชุมนุมประกาศสลายการชุมนุมในวันที่ 14 เมษายน ในขณะที่ผู้ชุมนุมระดับล่างต่างพากันเดินอย่างเหนื่อยอ่อนผ่านแนวรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ แต่ยังคงเปล่งเสียงด้วยความทะนงว่า เรายังไม่แพ้ เราจะทำอีกครั้งก็ได้ถ้าอยากทำ เจือ แสงรัตนา แม่ครัวสูงอายุกล่าว

แต่การเรียกชุมนุมคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ อีกครั้งคงยากลำบากขึ้น ภาพของผู้ประท้วงที่โจมตีรถนายอภิสิทธิ์และจุดไฟเผารถเมล์ทำลายความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อผู้เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างสงบ ทั้งยังเผยให้เห็นโฉมหน้าที่หลอกลวงของนายทักษิณ ซึ่งพร้อมจะยุยงให้เกิดการปฏิวัติจากฐานที่มั่นชั่วคราวของเขาที่ดูไบ ผู้มีสิทธิออกเสียงจากชนชั้นกลางซึ่งยกย่องฝีมือและความเป็นผู้นำของนายทักษิณ อาจเกิดความเบื่อหน่ายมากขึ้นต่อฝูงชนที่มาจากชนบทและเขตเมืองซึ่งสนับสนุนเขา และต่อจากนี้อาจยอมรับแนวทางอนุรักษ์นิยมของกลุ่มพันธมิตรฯ มากขึ้น การพุ่งเป้าโจมตีนายอภิสิทธิ์และผู้สนับสนุนจากในวัง เป็นการทุ่มเดิมพันของผู้นำ นปช.ที่จะสร้างความแตกแยกในฝ่ายเจ้าหน้าที่ และทำให้พวกเขายอมเห็นแก่นายทักษิณ แต่สิ่งนั้นกลับไม่เกิดขึ้น และมีแนวโน้มว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมในรัฐบาลและกองทัพดูจะเป็นผู้กุมอำนาจสำคัญในตอนนี้

เป็นธรรมดาที่ชาวเสื้อแดงจะมองเหตุการณ์นี้ต่างไป พวกเขากล่าวหาว่าทหารยิงและทำให้ผู้ประท้วงเสียชีวิตหลายราย และมีการซ่อนซากศพไว้ (กองทัพบกได้ปฏิเสธข่าวนี้) พวกเขาอ้างว่า การก่อจลาจลเป็นฝีมือของฝ่ายติดอาวุธซึ่งสนับสนุนรัฐบาลและทหารนอกเครื่องแบบ เป็นการกระทำเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของขบวนการคนเสื้อแดง ในอดีต ในคู่มือของทหารมีการระบุถึงยุทธวิธีแบบนี้ แต่วิธีจัดการกับผู้ประท้วงเสื้อแดงคราวนี้แสดงถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นมืออาชีพพอสมควร ถึงอย่างนั้นก็ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดทหารจึงปฏิเสธที่จะใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อปีที่แล้ว เพื่อขับไล่ผู้ประท้วงกลุ่มพันธมิตรฯ ออกจากสนามบินที่กรุงเทพฯ ซึ่งการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ ดูจะส่งผลกระทบกับความมั่นคงมากยิ่งกว่าการประท้วงของสามัญชนแบบม้วนเดียวจบเที่ยวนี้

การปฏิบัติแบบสองมาตรฐานยังเกิดขึ้นกับผู้นำการประท้วง ผู้นำนปช.สองคนได้ถูกจับกุมและตั้งข้อหา และมีการออกหมายจับผู้ที่ไม่ยอมมอบตัว ในขณะที่การดำเนินคดีทางกฎหมายต่อผู้นำกลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงชะงักงันในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แม้แต่คนไทยที่ชิงชังผู้ใส่สีเสื้อทั้งสองฝ่ายก็ยังรู้สึกฉงนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ชาวเสื้อแดงซึ่งเชื่อมั่นว่าพวกอำมาตยาธิปไตยรวมหัวกันกดขี่พวกเขา คงใช้เหตุการณ์นี้เป็นหลักฐานยืนยันข้อกล่าวหา ความโกรธเกรี้ยวของพวกเขาคงไม่จางหายไปง่าย ๆ และอาจปะทุขึ้นได้ไม่ยาก และรวดเร็วเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมา

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker