โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (sopon@thaiappraisal.org)
ผมได้อ่านข่าวพบว่ารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติแล้ว ผมจึงเขียนมาแสดงความเห็นโดยสุจริตเพื่อประโยชน์ต่อทางรัฐบาลและประเทศชาติโดยรวม
รายชื่อคณะกรรมการประกอบบุคคลและตำแหน่งต่อไปนี้คือมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่นายกฯ มอบหมายเป็นประธาน รมต.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) เป็นรองประธาน มีปลัดกระทรวง 4 กระทรวงคือ กระทรวงการคลัง กระทรวง พม. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าส่วนราชการ 5 แห่งคือ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ นอกนั้นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอีก 9 ท่าน โดยมีรองปลัดกระทรวงการ พม. เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งชุดมี 21 ท่าน
สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิได้แก่ ศาสตราจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน ซึ่งรองประธานกรรมการคนที่สองด้วย รวมทั้ง นายไกร ตั้งสง่า นายชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย นายปรีดิ์ บุรณศิริ ศาสตราจารย์พิเศษประสิทธิ์ โฆวิไลกูล นายพรศักดิ์ บุณโยดม นายพิจิตต รัตตกุล นายสมชัย ฤชุพันธุ์ และนางสาวสมสุข บุญญะบัญชา บุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้มีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ และในวงการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์
ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็มีการตั้งสภาที่อยู่อาศัยเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2548 แต่แล้วก็เงียบหายไป ไม่ได้มีผลงานอะไรออกมาเลย ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเราก็เคยมีคณะอนุกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัย ซึ่งขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ในภายหลังก็ยุบเลิกไปเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน
ผมเชื่อมั่นในตัวกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่อ้างถึงข้างต้นเพราะล้วนแต่ เป็นผู้ที่ผมเองก็เคารพนับถือ อย่างไรก็ตาม ผมขออนุญาตวิจารณ์ที่มาของกรรมการ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ในการตั้งคณะกรรมการทั้งหลาย รัฐบาลย่อมตั้งผู้ที่มีความรู้ความสามารถและที่ทางรัฐบาลรู้จักมาช่วยงานอยู่แล้ว แต่ในอีกแง่หนึ่ง ผมเห็นว่า ในยามที่เราต้องการความร่วมมือและการระดมสมองจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจึงควรมาจากผู้แทนของสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรง
อย่างในฝ่ายผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินนั้น ผมไม่พบว่ามีผู้แทนของกลุ่มนี้เป็นกรรมการด้วย ทั้งที่ท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ การนี้อาจทำให้เข้าใจผิดไปว่ารัฐบาล ‘ตั้งป้อม’ ไม่เอาฝ่ายผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน ซึ่งผมเชื่อว่าการนี้รัฐบาลคงไม่ได้มีความคิดดังกล่าว
ในความเป็นจริง มีสมาคมผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินเฉพาะในเขตนครหลวงถึง 3 สมาคม นอกจากนั้นยังมีสมาคมและชมรมในจังหวัดภูมิภาค รวมกันก็คงเกือบ 10 องค์กร นักวิชาชีพด้านสถาปนิก วิศวกร ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ผู้บริหารทรัพย์สิน นายหน้า ก็ควรมีโอกาสไปเป็นกรรมการด้วย เพื่อที่รัฐบาลจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในภาวะที่ประเทศชาติต้องการ ความสมานฉันท์เช่นนี้
และสำหรับในรายละเอียดแล้ว ยังสมควรใส่ใจต่อการเป็นผู้แทนของกลุ่มที่ชัดเจน เช่น แม้ว่าในประเทศไทย จะมีสมาคมผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินหลายแห่ง แต่สมาชิกของสมาคมก็มีจำนวนไม่มากนัก ผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมยังมีอีกเป็นจำนวนมากหรือเป็นส่วน ใหญ่ของผู้ประกอบการ ผลการศึกษาของผมก็พบว่า ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินในกรุงเทพมหานครมีไม่ต่ำกว่า 600 ราย หากนับรวมต่างจังหวัดด้วย ก็คงมีไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการผู้แทนของฝ่ายนักพัฒนาที่ดิน ก็ควรจัดประชุมผู้ประกอบการทั่วประเทศ และให้มีการคัดเลือกกันเองโดยตรงไปเลย ในวงการอื่น ๆ ก็เช่นกัน รัฐบาลสามารถจัดประชุมและให้มีการคัดเลือก ลงคะแนนกันในวันเดียวเลย
การดำเนินการเช่นนี้ ไม่ใช่การคัดเลือกกันเองแบบสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่เป็นการคัดเลือกโดยตรงจากแต่ละสาขาธุรกิจหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจะทำให้เกิดบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศชาติต่อไป และทำให้นโยบายและความปรารถนาดีของรัฐบาลสามารถปรากฏเป็นจริงได้ในที่สุด
เอาไว้กรรมการชุดนี้หมดอายุแล้ว ค่อยดำเนินการก็ได้ครับ ไม่ต้องรีบร้อน!