ทุกๆ ปี กระทรวงกิจการในครอบครัวของมาเลเซีย จะประกาศรายชื่อของหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าในประเทศ ด้วยเหตุผลด้านศีลธรรมและวัฒนธรรม และในจำนวนนั้นก็คือ หนังสือการ์ตูน สปองค์บ็อบ (Spongebob Squarepants) ตัวการ์ตูนสุดฮิตของเด็กๆ จากดิสนีย์
กันยายน ปี 2002 เวียดนามไม่อนุญาตให้นักร้องชื่อดังลูกครึ่งเวียด-อเมริกัน นาม จิมมี เหงียน ได้จัดแสดงคอนเสิร์ตในประเทศอีก ภายหลังจากที่เขาเคยแสดงคอนเสิร์ต 2 ครั้ง เมื่อปี 1997และในคราวนั้นเขาร้องเพลงที่ไม่ได้จดทะเบียนกับทางการและเนื้อหาเพลงไม่ได้ผ่านการเซ็นเซอร์
มีนาคม 2009 รัฐบาลกัมพูชาแบนเพลงจำนวน 4 เพลงเหตุเพราะเพลงเหล่านั้นกล่าวถึงเรื่องเพศ หนึ่งในนั้น มีเพลงชื่อ “คนทำขลุ่ย” มีเนื้อร้องย่อๆ ว่า "ฉันเป็นคนทำขลุ่ย และฉันรู้ดีกว่าจะทำขลุ่ยให้ดีได้อย่างไร ถ้าเธอสนใจขลุ่ยของฉัน โทรหาฉันที่เบอร์.....ผู้ชายบางคนอาจรู้วิธีทำเสื่อ บางคนรู้วิธีหาเงิน แต่ฉัน ในฐานะคนทำขลุ่ย ฉันรู้ว่าจะทำขลุ่ยที่จะสร้างความพอใจให้แก่เธอได้อย่างไร"...(อ่านเนื้อร้องฉบับเต็มได้จากเว็บ).....
เรื่องราวการ “แบน” เหล่านี้ถูกรวบรวมอยู่ในhttp://seaofdangerouswords.org/ นิทรรศการการเซ็นเซอร์เสรีภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยองค์กรพันธมิตรสื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีป้า (The Southeast Asian Press Alliance -SEAPA) ซึ่งรวบรวมสถานการณ์การเซ็นเซอร์และคุกคามเสรีภาพในการพูด การสื่อสาร และการแสดงความคิดเห็นที่เกิดกับสื่อและบุคคลที่ทำหน้าที่สื่อสารในรูปแบบของการแบน การลงโทษตามกฎหมาย รวมถึงการจับกุมคุมขัง โดยวัตถุแห่งการแบนประกอบไปด้วย หนังสือ เว็บไซต์ วิทยุ การแสดง และคน
พรมแดนแห่งการแบนนั้น จำเพาะเจาะจงที่ประเทศต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และบรูไน
สำหรับกรณีของประเทศไทย http://seaofdangerouswords.org/ ถูกนำเสนอในส่วนของการแบนเว็บไซต์ และหนังสือ โดยระบุว่า ประเทศไทยมีการแบนเว็บไซต์กว่า 4,000 เว็บ ในจำนวนนี้รวมถึงการแบน www.youtube.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมที่กว้างขวางเว็บหนึ่งของโลก และยังระบุถึงการแบน www.prachatai.com, www.midnighuniv.org และ www.pantip.com เนื่องจากการสนทนาเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้เว็บไซต์อย่างพันทิพและประชาไทเลือกเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการมอนิเตอร์ความคิดเห็นอย่างเข้มข้น ขณะที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเลือกการส่งคำร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ในส่วนของหนังสือที่ถูกแบน http://seaofdangerouswords.org/ ระบุว่าประเทศไทยแบนหนังสือซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2006 คือ The King Never Smile ซึ่งเขียนโดยอดีตนักข่าวที่ประจำอยู่ในประเทศไทยนาม พอล แฮนด์ลีย์
ไม่เพียงภาพ และเนื้อหาที่รวบรวมมาอย่างครอบคลุมและเข้าใจง่าย เสียงเพลงภาษาอินโดนีเซียจากวงดนตรีแดนอิเหนาจะช่วยขับกล่อมอย่างเพลิดเพลินด้วยเพลง “I’m in jail” หรือ “ฉันอยู่ในคุก” ที่ส่งกลิ่นอายบุปผาชน ไปตลอดการรับชมนิทรรศการ