หลังจากเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมสังหารหมู่ชาวบ้านในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2552 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 11 คน และบาดเจ็บ 10 ราย
เป็นที่ทราบโดยทั่วกันสำหรับผู้ที่ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าได้เกิดสงครามนอกระบบแล้วในดินแดนแหลมทองแห่งนี้ ซึ่งขณะนี้เต็มไปด้วยองค์ประกอบของสงครามอย่างสมบูรณ์แบบ นั่นคือ การมีอาวุธยุทโธปกรณ์ร้ายแรงและกองกำลังติดอาวุธจำนวนมากห้ำหั่นกันระหว่างรัฐกับประชาชนที่ตัดสินใจจับอาวุธในการต่อสู้เพื่อไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรม ซึ่งทางด้านของรัฐนั้นได้รับการคุ้มครองความชอบธรรมในการทำสงครามครั้งนี้โดยอำนาจของกฎหมายพิเศษ คือกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ทั้งนี้ จะเห็นได้ชัดว่าเป็นที่ล้มเหลวอย่างชัดเจนของนโยบายการเมืองนำการทหาร ที่เน้นการแย่งชิงมวลชนมาอยู่ข้างรัฐ โดยการนำของชุดพัฒนาสันติภายใต้กองกำลังผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท.43) ซึ่งกระจัดกระจายตามพื้นที่สีแดงตามที่รัฐกำหนด มีทั้งหมด 217 หมู่บ้าน ทั่วทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพราะว่าความสงสัยของชาวบ้านที่ไม่ใช่เฉพาะในหมู่บ้านไอร์ปาแยเท่านั้น แต่รวมถึงพี่น้องประชาชนมุสลิมในทุกสังคมทั้งในและต่างประเทศ สงสัยว่าจากสภาพแวดล้อมของสถานที่เกิดเหตุและสภาพการก่อเหตุของคนร้ายนั้นน่าจะมีเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องพัวพัน แต่ความสงสัยเหล่านั้นถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิงโดยภาครัฐ เพราะหลังเหตุการณ์ได้แค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ทาง พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์และโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลว่า “ไม่ใช่ฝีมือเจ้าหน้าที่แน่นอน” และหลังจากนั้นไม่กี่วัน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ สัมภาษณ์สื่อมวลชนเชิงให้ความหวังกับสังคมมุสลิมว่า ”จะตรวจสอบให้ความเป็นธรรมอย่างตรงไปตรงมา”
ท่าทีของรัฐที่ไม่ฟังเสียงข้อสงสัยข้อเคลือบแคลงใจของสังคมมุสลิมที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมที่ไอร์ปาแยในครั้งนี้ เสมือนว่ารัฐต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ในการดำเนินการตามนโยบายการเมืองนำการทหารที่เน้นการแย่งชิงมวลชน สิ่งที่รัฐสั่งสมมาตลอดระยะเวลาที่ได้ดำเนินการแย่งชิงมวลชนมานั้นมีค่าเท่ากับศูนย์โดยทันที เพราะการแสดงท่าทีไม่ฟังเสียงประชาชนก็เหมือนเป็นการปฏิเสธแม้แต่การรับไปพิจารณาพิสูจน์ผ่านกระบวนการยุติธรรมแห่งนิติรัฐที่เป็นกลาง ท่าทีเช่นนี้ของรัฐเกิดขึ้นพร้อมๆ กับท่าทีของโอไอซี (OIC) และ 11 องค์กรภาคประชาสังคมในประเทศมาเลเซียกดดันให้รัฐไทยให้ความเป็นธรรมอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งปรากฏการณ์อย่างนี้ถือว่าอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อพัฒนาการความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ขณะนี้ค่อนข้างก้ำกึ่งระหว่างเป็นปัญหาภายในประเทศหรือเป็นปัญหาในระดับสากล
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ได้มีองค์กรนักศึกษาทั่วประเทศซึ่งเรียกตัวเองว่า เครือข่ายนักศึกษาผู้กระหายต่อสันติภาพ นำโดยสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย(สนมท.) สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม (สนท.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน(คพช.) เครือข่ายสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (คสตส.) และชมรมนักศึกษามุสลิมในหลายๆสถาบัน อาทิเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ม.เกษมบัณฑิต ม.รามคำแหง และอื่นๆ อีกมาก และในวันเดียวกันทางองค์กรนักศึกษาในประเทศมาเลเซียหลายๆองค์กรได้เคลื่อนไหวที่หน้าสถานทูตไทยประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อกดดันรัฐบาลไทยให้ความเป็นธรรมกับผู้สูญเสียอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน
ส่วนที่ประเทศไทยองค์กรนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า เครือข่ายนักศึกษาผู้กระหายต่อสันติภาพ ได้มีการเคลื่อนไหวที่หน้าทำเนียบรัฐบาลโดยมีมวลชนนักศึกษาจำนวนกว่า 300 คน เพื่อทำการยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า “ขอให้รัฐบาลนำเหตุการณ์ไอร์ปาแยเป็นจุดเริ่มต้นในการพิสูจน์ความจริงใจต่อการดำเนินการให้ความเป็นธรรม โดยการแต่งตั้งคณะกรรการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา ตามหลักการ ที่ปราศจากการถูกแทรกแซงจากภาครัฐ เพราะสันติภาพขึ้นอยู่กับความมั่นคงของประชาชนซึ่งสัมพันธ์กับกระบวนการยุติธรรมแห่งนิติรัฐที่เป็นธรรมจริงๆ”แต่ท่านนายกฯก็ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา
จากการบอกเล่าของหนึ่งในห้าคนตัวแทนนักศึกษาที่ได้พบปะกับท่านนายกฯขณะยื่นจดหมายเปิดผนึกในทำเนียบรัฐบาลนั้น เขาได้อธิบายถึงความสำคัญของการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อท่านนายกฯ ว่า “มีความจำเป็นมากเลยทีเดียวในท่ามกลางบรรยากาศที่ชาวบ้านและสังคมมุสลิมมีความหวาดระแวงและไม่เชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนการยุติธรรมของรัฐ เพราะจะสามารถขจัดซึ่งความรู้สึกว่าภาครัฐนั้นไม่ได้เป็นกลาง แต่ไม่ใช่ว่าชาวบ้านและสังคมมุสลิมกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด แค่อยากให้รัฐพิสูจน์ความจริงใจเท่านั้นเอง โดยได้ยกตัวอย่างกรณีเหตุการณ์กรือเซะกับเหตุการณ์ตากใบยังมีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงเลย แต่ท่านนายกฯ กลับตอบว่า เหตุการณ์กรือเซะและตากใบเทียบกับเหตุการณที่ไอร์ปาแยนั้นแตกต่างกันมาก จะไปยึดเป็นมาตรฐานเดียวกันนั้นไม่ได้ เพราะทั้งกรือเซะและตากใบเป็นที่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่เป็นคนทำ แต่ที่ไอร์ปาแยนั้นไม่ใช่เจ้าหน้าที่เป็นคนทำ ฉะนั้นแล้วไม่จำเป็นจะต้องมีคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา เพราะตอนนี้เองทางกระบวนการยุติธรรมแบบปกติได้ออกหมายจับแล้ว 1 คน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้”
เป็นที่ชัดเจนว่าความรู้สึกเคลือบแคลงใจของประชาชนในสายตาของผู้นำประเทศนั้นไร้ความหมาย ทั้งๆ ที่หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวบ้านโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ไร้วินัยก็มาจากการใช้ความรู้สึกนำหน้าความจริงและความถูกต้อง ท้ายที่สุดก็เกิดวัฒนธรรมของการไม่ต้องรับผิด เพราะมีกฎหมายพิเศษคุ้มครองอยู่
ทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่การให้ความหวังลมๆ แล้งๆ ต่อความยุติธรรมแห่งนิติรัฐผ่านคำพูดหวานๆของท่านนายกฯ แต่สุดท้ายก็ปล่อยให้ความหวังของชาวบ้านหายไป... หายไปพร้อมกับเสียงปืน อย่างที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วกับเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ ที่จนถึงทุกวันนี้ความเป็นธรรมก็ยังเป็นแค่... ความหวังลึกๆ ของประชาชนที่ชายแดนใต้ ในเมื่อรัฐยังให้ความยุติธรรมกับประชาชนไม่ได้ ก็อย่าหวังเลยว่า... สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดขึ้นด้วยผักชีโรยหน้าของผู้นำประเทศ