วิทยา ตัณฑสุทธิ์27/7/2552
จะเป็นประชาธิปไตยแบบไหน
หลายวันก่อน ได้อ่านบทความของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหน้า 5 สยามรัฐเรื่อง “Guided Democracy” บทความนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พูดทางวิทยุรายการ “เพื่อนนอน” เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2506 และนำมาตีพิมพ์ภายหลัง แต่ก็ยังใช้ได้กับเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคปัจจุบัน มีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้แล้ว
อินโดนีเชียเคยตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง ประธานาธิบดีชูการ์โนต่อสู้ปลดแอกได้สำเร็จและนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ แต่หลังจากใช้ไปได้พักใหญ่ก็พบว่าไม่เหมาะสม ไม่สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทำให้อินโดนีเชียทรุดอยู่กับที่และถอยหลัง
ชูการ์โน จึงดัดแปลงให้เป็น “Guided Democracy” ซึ่งแปลว่า “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” เพื่อให้ตรงกับสภาพภูมิประเทศและเหมาะกับโครงสร้างสังคมตลอดจนวิถีชีวิตของคนอินโดนีเชีย ที่ต้องการเพียงแค่การมีระบบรัฐสวัสดิการที่ดี มีบ้านอยู่อาศัย มีอาหารพอกิน มีเครื่องนุ่งห่ม มียารักษาโรค และทุกหมู่บ้านมีสินค้าพอกับการยังชีพและความต้องการของคนใจชุมชน
“ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” ทำให้อินโดนีเซียพัฒนาได้ และเป็นแบบฉบับให้ประเทศอื่นๆในเอเซียเลียนแบบตาม
ฟิลิปปินส์สมัยประธานาธิบดีมาคาปากัลก็ทำเช่นเดียวกัน โดยยกเลิกระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แล้วดัดแปลงให้เป็น “Functional Democracy” ซึ่งแปลว่า “ประชาธิปไตยแบบใช้การได้จริง”
แต่อย่างไรก็ตาม การเป็นประชาธิปไตยแบบดัดแปลงดังกล่าวไว้ข้างต้น ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกว่า แม้จะทำด้วยเจตนาดีและเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ ก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่านี่คือประชาธิปไตย เพราะประชาชนไม่มีอำนาจปกครองตนเองอย่างแท้จริง
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกว่า ประเทศที่มีผู้นำหรือมีฝ่ายบริหารที่ไม่มีผู้ใดสามารถควบคุมได้ จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ และแม้จะอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแบบ ก.แบบข.ซึ่งเหมาะสมกับสภาพจิตใจของประชาชนและเป็นผลดีแก่ประเทศ การอ้างเช่นนี้ก็เป็นได้แค่การเลี่ยงบาลีเท่านั้น
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช สรุปไว้ว่า ประชาธิปไตยแบบที่ให้อำนาจประชาชนปกครองตนเอง และมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ต่างๆไว้อย่างแน่นอนในรัฐธรรมนูญ เห็นมีแต่ประชาธิปไตยแบบประเทศตะวันตกเท่านั้น
ทั้งหมดนั้นเป็นข้อคิดของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ท่านมองว่า การเป็นประชาธิปไตยจะต้องให้ประชาชนมีอำนาจมากกว่าผู้นำหรือคณะผู้บริหารประเทศที่ลอยตัวเป็นอิสระและไม่มีใครสามารถควบคุมได้
ประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย ไม่ว่าจะในแอฟริกาหรือในเอเชียก็ตาม ถ้ายังติดอยู่ในบ่วงของการเป็น “ประชาธิปไตยแบบดัดแปลง” ประเทศเหล่านั้นก็จะเป็นได้แค่ประชาธิปไตยแบบจอมปลอม คือเป็นได้แค่เปลือกส่วนเนื้อในยังเป็นเผด็จการโดยคนกลุ่มน้อย
การเป็นประชาธิปไตยแบบจอมปลอม เป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งและการต่อสู้ ซึ่งในที่สุดแล้วฝ่ายที่เป็นคนส่วนใหญ่ในชาติที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและมีชีวิตทุกข์ยากก็จะรวมพลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตน
เรื่องอย่างนี้มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจถือเป็นสัจจธรรมของสังคมมนุษย์ได้