โดย pegasus
30 กรกฎาคม 2552
*บทความเกี่ยวเนื่อง:การขอให้พระมหากษัตริย์ทำในสิ่งที่ไม่ทรงมีอำนาจ เท่ากับ(ขอ)เพิ่มอำนาจให้พระมหากษัตริย์
มาตรานี้ป้องกันมิให้พระมหากษัตริย์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจผิดพลาด เนื่องจากต้องมีคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีร่วมลงนามเสมอในทุกกรณี สิ่งนี้เป็นหลักการที่ปฏิบัติในประเทศตะวันตกอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้พระมหากษัตริย์ทรงเผลอพระองค์กระทำพระราชภาระขัดกับเจตนาของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มาตรานี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นการบังคับให้ คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องมารับผิดชอบพระราชกรณียกิจแทนพระมหากษัตริย์ เมื่อเกิดความผิดพลาดหรือถูกฟ้องร้องขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็จะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
หมายเหตุไทยอีนิวส์:การถกเถียงเรื่องการถวายฎีกาเพื่อพระราชทานอภัยโทษให้แก่อดีตนายกฯทักษิณ ได้แตกประเด็นไปหลายเรื่อง หนึ่งในข้อโต้แย้งนั้นคือประเด็นเรื่องพระราชอำนาจ ผู้เขียนคือpegasusได้นำเสนอเรื่องพระราชอำนาจของกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญที่เคยระบุไว้ในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับแรกหลังการปฏิวัติ24มิถุนายน2475ว่าเป็นแบบเดียวกับอารยะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่มีกษัตริย์เป็นประมุขว่า ขอบเขตของพระราชอำนาจนั้นมีเพียงใด
***********
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งคณะราษฎรได้ประกาศใช้นั้นเป็นเจตนารมณ์เริ่มแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร
เช่นเดียวกับเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมาต่างก็มีการร่างเนื้อหาของระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยผิดเพี้ยนไปจากจุดเริ่มแรกเป็นอย่างมาก
ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 เมื่อมีการกำหนดให้ประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ได้นำเอาหลักคิดของระบอบประชาธิปไตยในประเทศตะวันตกมาใช้ โดยจะเห็นว่าคณะราษฎรได้ตกลงใจที่จะใช้ระบอบประชาธิปไตยที่เรียกกันว่า Constitutional Monarchy ในยุคสมัยนั้น ซึ่งเป็นทางเลือกระหว่างระบอบสาธารณรัฐที่มีประมุขคือประธานาธิบดีหรือระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักคือในขณะนั้นเป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศไทยเกิดภาวะอดอยาก ข้าวยาก หมากแพง โรคระบาด เงินในท้องพระคลังหมดจนต้องมีการปลดข้าราชการออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ในสมัยนั้นซึ่งหากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต้องประหยัดการใช้จ่าย ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ยุคเคนส์และนิวดีลของประธานาธิบดีรุสเวลในยุคสมัยเดียวกัน ที่ใช้นโยบายอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ สร้างการจ้างงานภายในประเทศสหรัฐ จนในที่สุดกลายเป็นหลักการทางเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่มาจนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามในขณะนั้นทฤษฎีนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับในประเทศไทย พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 7 จึงทรงใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิคคือการงดการใช้จ่าย งดการจ้างงานและประหยัด ประชาชนตกงาน ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เดือดร้อนกันไปทั่วจนเกิดเศรษฐกิจหดตัวตามมาอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุด
เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญและอำนาจของคณะราษฎรและพระมหากษัตริย์นั้น จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ถูกจำกัดพระราชอำนาจโดยรัฐธรรมนูญนั้น พระมหากษัตริย์จะต้องไม่ทรงใช้อำนาจอธิปไตยได้แก่ อำนาจในการบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการในทางตรงหรือทางอ้อม เป็นได้แต่เพียงพิธีการคือ เรื่องการทรงลงพระปรมาภิไธยได้กรณีเดียวเท่านั้น
ในต่างประเทศจะเขียนไว้ชัดเจนว่าการใช้อำนาจบริหารเป็นของพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นและจะต้องทรงลงพระปรมาภิไธยตามที่เสนอมา บางประเทศกำหนดให้แม้แต่การพระราชทานพระบรมราโชวาทหรือการปฏิบัติพระราชกรณียกิจใดๆ ต้องได้รับการลงนามร่วมกับคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
ยิ่งไปกว่านั้นบางประเทศกำหนดให้ก่อนรับพระราชสมบัติ พระรัชทายาทต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภา แล้วต้องเสด็จมา ปฏิญาณต่อรัฐสภาว่า จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้น กรอบดังกล่าวนี้เป็นแนวคิดทั่วๆไปของระบอบการปกครองนี้
เมื่อทราบกรอบความคิดของระบอบการปกครองนี้แล้ว การศึกษาพระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 ต่อไปจึงเหมาะที่จะพิจารณาว่ามีการบัญญัติไว้ใกล้เคียงกับแนวความคิดหลักเรื่องระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ อย่างไร
ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครอง แผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และ โดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำร้องของคณะราษฎร จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้น
ฯลฯ
มาตรา ๑ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎร ทั้งหลาย
มาตรา ๒ ให้มีบุคคลและคณะบุคคลดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในธรรมนูญ คือ
๑. กษัตริย์
๒. สภาผู้แทนราษฎร
๓. คณะกรรมการราษฎร
๔. ศาล
มาตรา ๓ กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่น ๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยฉะเพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์
มาตรา ๔ ผู้เป็นกษัตริย์ของประเทศ คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การสืบมฤดกให้เป็นไปตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรมาตรา ๕ ถ้ากษัตริย์มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้คณะกรรมการราษฎรเป็น ผู้ใช้สิทธิแทน
มาตรา ๖ กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย
มาตรา ๗ การกระทำใด ๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎร ผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
ฯลฯ
สิ่งที่เห็นจากธรรมนูญนี้คือ ในคำปรารภได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจได้ในเชิงพิธีการ เช่นการปรากฏพระองค์ในงานรัฐพิธี การลงพระปรมาภิไธยฯลฯ เป็นต้น
มาตรา 1 กำหนดให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และไม่มีการนำตัวอักษรใดมาทำให้อำนาจนี้ลดน้อยลงเช่นคำว่าอำนาจสูงสุดมาจากประชาชน ซึ่งแปลว่าประชาชนไม่มีอำนาจจริงๆตามที่พบในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมาตราบจนปัจจุบันนี้
มาตรา 2 น่าสนใจที่แบ่งอำนาจที่เป็นจริงในสังคมออกเป็น 4 ส่วนด้วยกันและอาจแบ่งแยกและตรวจสอบกันเองต่อไป ซึ่งหากได้มีการใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรสักระยะหนึ่งก็น่าที่จะทำให้ระบอบการปกครองของไทยมีความมั่นคงไม่มากก็น้อยประชาชนสามารถใช้อำนาจนั้นได้อย่างกว้างขวางและไม่เกิดการผูกขาดอำนาจในแง่มุมใดก็ตาม
มาตรา 3 เป็นเรื่องของพิธีการของการลงพระปรมาภิไธย
มาตรา 4 การสืบราชสันตติวงศ์ ต้องได้รับการประชุม และเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบอบประชาธิปไตยรูปแบบนี้ เนื่องจากกำหนดไว้ว่าประชาชนเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตย และครอบคลุมทุกกิจกรรมในสังคม
มาตรา 5 ในหลายประเทศ ผู้สำเร็จราชการฯ นอกจากเป็นคณะรัฐมนตรีแล้ว บางครั้งก็ให้รัฐสภากำหนดหรือ ประธานสภาฯเป็นเองขึ้นอยู่กับที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย แต่โดยหลักการแล้วได้แก่ฝ่ายประชาชนเป็นผู้กำหนดหรือทำการแทนเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้
มาตรา 6 ในมาตรานี้ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจพิจารณาเรื่องที่พระมหากษัตริย์กระทำผิด แต่ควรจะเป็นเพียงเรื่องสัญลักษณ์เท่านั้น และน่าจะเกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องส่วนพระองค์เท่านั้น ทั้งสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัยความผิดในเรื่องใดยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนพระองค์เท่านั้น
มาตรา 7 ในมาตรานี้ป้องกันมิให้พระมหากษัตริย์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจผิดพลาด เนื่องจากต้องมีคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีร่วมลงนามเสมอในทุกกรณี สิ่งนี้เป็นหลักการที่ปฏิบัติในประเทศตะวันตกอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันมิให้พระมหากษัตริย์ทรงเผลอพระองค์กระทำพระราชภาระขัดกับเจตนาของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มาตรานี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นการบังคับให้ คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องมารับผิดชอบพระราชกรณียกิจแทนพระมหากษัตริย์เมื่อเกิดความผิดพลาดหรือถูกฟ้องร้องขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็จะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปเนื่องจากไม่มีความจำเป็นที่บุคคลใดจะกล่าวว่าร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์เพราะมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องถูกตรวจสอบอยู่แล้ว เป็นต้น
เรื่องที่ควรสังเกตเกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ มีความเป็นประชาธิปไตยสูง และได้นำวิธีการปฏิบัติมาจากระบอบการปกครองเดียวกันในต่างประเทศไว้เป็นส่วนมาก สมควรที่คนรุ่นหลังจะได้ระลึกและนำมาศึกษาอีกครั้งหนึ่ง