เหล็กใน
เหมือนการส่งสัญญาณกลายๆ ว่ารัฐบาลชุดนี้คิดอยู่ยาว
การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการสร้างความสมานฉันท์ทางการเมือง
รัฐธรรมนูญปี 2550 ถึงจะได้รับการโปรโมต ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ผ่านการทำประชามติจากประชาชน ทั่วประเทศ
แต่เนื่องจากมี"ที่มา"ไม่ค่อยสง่างามเพราะยกร่างขึ้นจากคนของคณะปฏิวัติ จุดมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม
และโอบอุ้มนักการเมืองในฝ่ายของตน ตามแผนบันได 4 ขั้นของหัวหน้าคณะปฏิวัติในสมัยนั้น
รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าหลายอย่างขัดกับหลักการประชาธิปไตย
เป็นสาเหตุให้นักการเมืองและคนบางกลุ่มใช้เป็นเงื่อนไข ในการเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลจนถึงทุกวันนี้
แม้แต่นายอภิสิทธิ์ครั้งหนึ่งก็เคยยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2550 นั้นมีบางประเด็นต้องแก้ไข
อีกหลายพรรคก็เห็นด้วยเช่นกัน
เพราะจากการเลือกตั้งครั้งหลังสุด ทุกพรรครู้ซึ้งแล้ว ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ไม่สามารถใช้เป็นอาวุธเผด็จศึกพรรคการเมืองของ"ทักษิณ"ได้
หนำซ้ำยังย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองอย่างในกรณีของพรรคชาติไทย
หลังเหตุการณ์สงกรานต์เลือด นายอภิสิทธิ์เปิดช่องให้มีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ขึ้นมา หน้าที่หนึ่งคือศึกษาประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่เมื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ทำหน้าที่ของตัวเองเสร็จลุล่วง เสนอรายงานถึงมือนายกฯเป็นที่เรียบร้อย นายกฯ ก็นำเรื่องนี้ไปหารือในครม. แจ้งให้พรรคร่วมรัฐบาลช่วยกันคิดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะเห็นด้วยกับการตั้งส.ส.ร.3 ส่วนระยะสั้นคือการแก้ไขเร่งด่วน 6 ประเด็นนั้น ไม่มีการ พูดถึง
เพราะยิ่งแก้รัฐธรรมนูญเสร็จช้าเท่าไหร่ รัฐบาลก็ยังอยู่ได้ยาวไปอีกเท่านั้น
ทำให้กล่าวกันว่านอกจาก"ทักษิณ"และ"กลุ่มเสื้อแดง"แล้ว
การแก้ไขรัฐธรรมนูญคืออีกประเด็นหนึ่งที่จะมาเติมความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภา 1 ส.ค.นี้เป็นต้นไป
ให้ร้อนแรงขึ้นอีกเป็นทวีคูณ