ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าถือได้ว่า เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ชาวอเมริกันจับตามอง และฝากความหวังไว้มากที่สุดคนนึงในประวัติศาสตร์ สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากภาพลักษณ์ของตัวโอบาม่าเองที่ถูกนำเสนอมาโดยตลอดว่า เขาเป็นตัวแทนแห่งความหวัง และเป็นผู้ที่สามารถนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้โอบาม่ายังเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงที่สหรัฐฯ เสื่อมทรุดลงจนถึงจุดต่ำสุดในช่วงสามสิบปีที่ผ่าน สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับสงครามที่ยืดเยื้อในอิรัก และอัฟกานิสถาน เศรษฐกิจที่ล่มสลาย และภาพพจน์ของการเป็นชาติอันธพาลในสายตาของนานาประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาชนชาวอเมริกันจึงเพรียกหา และพร้อมจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่โอบาม่าชูเป็นประเด็นหัวหอกในการหาเสียง ส่วนทางประธานาธิบดีโอบาม่าเองก็ทราบดีถึงความต้องการของชาวอเมริกัน และพยายามรักษาสัญญาด้วยการริเริ่มนโยบายต่างๆ ที่ดูจะสามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ ถึงระดับฐานราก อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไปเรื่อยๆ ความร้อนแรงของประธานาธิบดีโอบาม่าในการริเริ่มนโยบายกลับลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่อุปสรรคในการผลักดันนโยบายกลับมีแต่จะเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแรงต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเขา และมติมหาชนที่เริ่มหันมาตั้งคำถามกับบรรดานโยบายที่เขาเสนอว่า แท้ที่จริงแล้วมันมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ผลลัพธ์ในท้ายที่สุดจึงเป็นความไม่เชื่อมั่นในตัวประธานาธิบดีโอบาม่าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ในบรรดานโยบายต่างๆ ที่ประธานาธิบดีโอบาม่าพยายามผลักดัน ข้อเสนอว่าด้วยการปฎิรูประบบการประกันสุขภาพถือเป็นนโยบายสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงทางการเมืองของเขามากที่สุดนโยบายหนึ่ง ประธานาธิบดีโอบาม่าได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า การปฏิรูประบบการประกันสุขภาพนั้นเป็นนโยบายธงที่เขามุ่งมั่นผลักดัน แต่ในขณะเดียวกันนโยบายดังกล่าวก็ได้กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหลายๆ ฝ่าย
หากจะอธิบายอย่างรวบรัดมากๆ ระบบการประกันสุขภาพของสหรัฐฯ ในปัจจุบันนั้นถือได้ว่า เป็นปริมณฑลที่ภาคเอกชนจัดการกันเอง การดำเนินการทั้งหลายเป็นไปตามกลไกตลาดเป็นสำคัญ ประชาชนส่วนน้อยที่มีฐานะดีจะนิยมเลือกซื้อประกันสุขภาพที่บริษัทประกันต่างๆ เสนอขายโดยตรง ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่จะพึ่งพาประกันสุขภาพที่นายจ้างของตนเป็นผู้จัดหาให้จากบริษัทประกัน ซึ่งก็ก่อให้เกิดภาระทางการเงินชิ้นใหญ่แก่บรรดาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่มักไม่สามารถแบกรับต้นทุนในจัดหาประกันสุขภาพให้แก่ลูกจ้างของตน สำหรับบทบาทของภาครัฐนั้นจะอยู่ที่การจัดการประกันสุขภาพผ่านระบบที่เรียกว่า “Medicare” “Medicaid” และ “SCHIP” เป็นหลัก โดยจะเน้นดูแลประชาชนบางกลุ่ม อาทิ ผู้ไม่มีงานทำ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทหารผ่านศึก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การประกันสุขภาพที่อยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐนั้นมีสัดส่วนที่เล็กกว่าการประกันสุขภาพที่อยู่ในการดูแลของภาคเอกชนมาก และในบางกรณีประชาชนที่พึ่งพาประกันสุขภาพของภาครัฐยังอาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วนด้วยตนเอง
นโยบายปฏิรูประบบการประกันสุขภาพของประธานาธิบดีโอบาม่านั้นมีแกนสำคัญอยู่ที่การเสนอให้ภาครัฐขยายบทบาทของตนในการจัดการประกันสุขภาพให้แก่ประชาชน เนื่องจากประธานาธิบดีโอบาม่าถือว่า การสาธารณสุขเป็นสวัสดิการที่ประชาชนทุกคนพึ่งได้รับ ระบบการประกันสุขภาพจะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของการบริการประชาชนมากกว่าการแสวงหากำไร ภาครัฐจึงควรเข้ามาเสนอการประกันสุขภาพให้แก่ประชาชนในลักษณะเดียวกับบริษัทประกัน โดยประชาชนจะสามารถเลือกได้ว่า ตนต้องการจะอยู่ในระบบการประกันสุขภาพของภาครัฐ หรือของภาคเอกชน ทั้งนี้ประธานาธิบดีโอบาม่าเชื่อว่า การดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างภาครัฐ กับภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การประกันสุขภาพที่มีราคาถูก ทำให้ประชาชนชาวอเมริกันทุกคนสามารถเข้าถึงการประกันสุขภาพ นอกจากนี้นโยบายปฏิรูประบบการประกันสุขภาพยังเสนอให้ขยายขอบเขตของผู้มีสิทธิได้รับการประกันสุขภาพจากภาครัฐผ่านระบบ “Medicaid” และ “SCHIP” ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็จะจัดให้มีการประกันสุขภาพแบบบังคับแก่เยาวชนทุกคนอีกด้วย ท้ายที่สุดแล้ว หากนโยบายของประธานาธิบดีโอบาม่าประสบผลสำเร็จ ระบบการประกันสุขภาพของสหรัฐฯ จะถูกเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม คือ เปลี่ยนจากระบบที่อยู่ภายใต้การจัดการดูแลของภาคเอกชนเป็นหลักไปสู่ระบบที่ภาครัฐเข้ามามีบทบาทสำคัญเคียงคู่ไปกับภาคเอกชน
แม้ว่าประธานาธิบดีโอบาม่าจะรับรองนโยบายปฏิรูประบบการประกันสุขภาพอย่างเต็มตัว นโยบายดังกล่าวก็ยังต้องเผชิญกับแรงต่อต้านจำนวนมาก โดยเฉพาะจากผู้ที่เคลือบแคลงสงสัยในผลลัพธ์ที่จะติดตามมาจากการปฏิรูป เพราะเมื่อพิจารณาในเชิงหลักการแล้ว หลายฝ่ายก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบการประกันสุขภาพจะนำมาซึ่งความล่าช้า และคุณภาพที่ลดลงในระบบดังกล่าว เพราะการดำเนินการแบบไม่แสวงหากำไรจะนำไปสู่การทำงานแบบเช้าชามเย็นชามที่ขาดแรงจูงใจ และความกระตือรือร้น ซึ่งจะทำให้คุณภาพในการให้บริการประชาชนตกต่ำลง นอกจากนี้ในระยะยาวบทบาทของภาครัฐยังอาจทำลายแทนที่จะช่วยส่งเสริมการแข่งขันในระบบการประกันสุขภาพ เนื่องจากภาครัฐมีความได้เปรียบเหนือกว่าภาคเอกชนอย่างมากตรงที่สามารถแบกรับ และดำเนินการในสภาวะขาดทุนได้เป็นระยะเวลายาวนาน ภาครัฐจึงอาจยอมขาดทุนในเบื้องต้น และแข่งขันด้วยการทุ่มตลาด เพื่อบีบให้ภาคเอกชนต้องเผชิญกับการขาดทุน และถอนตัวออกจากตลาด ซึ่งจะนำไปสู่การผูกขาดโดยภาครัฐ และทำลายการแข่งขันในระบบการประกันสุขภาพลงโดยสิ้นเชิง
นอกเหนือไปจากนี้ นโยบายของประธานาธิบดีโอบาม่ายังถูกวิจารณ์อีกว่า อาจก่อภาระทางการเงินจำนวนมหาศาลให้แก่ภาครัฐในระยะยาว นำไปสู่การขาดดุลงบประมาณทั้งในระดับรัฐบาลกลาง และรัฐบาลมลรัฐ ซึ่งอาจบีบให้ต้องมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากประชาชน
ปัญหาต่างๆ ในข้างต้นถือเป็นปัญหาสำคัญในเชิงหลักการที่ก่อความวิตกกังวลอย่างยิ่งในหมู่ชาวอเมริกันว่า การปฏิรูปของประธานาธิบดีโอบาม่าจะทำให้ระบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ มีคุณภาพตกต่ำลงจนกลายสภาพเป็นเหมือนกับระบบสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดาอันเป็นประเทศที่ภาครัฐมีบทบาทนำในการจัดการประกันสุขภาพ ทั้งนี้ชาวอเมริกันมักคุ้นเคยกับเรื่องราวอันน่าหดหู่ในทำนองที่ว่า ชาวแคนาดาจำนวนมากต้องเดินทางไปยังต่างประเทศเพื่อรับการรักษาพยาบาล เนื่องจากความล่าช้าของระบบสาธารณสุขในประเทศตัวเอง โดยเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มในสหรัฐฯ ได้เผยแพร่โฆษณาทางโทรทัศน์เกี่ยวกับเรื่องราวของชาวแคนาดาคนหนึ่งที่พบเนื้องอกในสมอง แต่ถูกกำหนดให้ต้องรอเป็นเวลานานถึง 6 เดือนจึงจะได้รับการรักษา ซึ่งท้ายที่สุดผู้ป่วยคนดังกล่าวก็ได้เดินทางมารักษาตัวในสหรัฐฯ แทน โฆษณาชิ้นนี้พยายามตอกย้ำความหวาดกลัวที่ชาวอเมริกันจำนวนมากมีต่อความเป็นไปได้ที่การปฏิรูปของประธานาธิบดีโอบาม่าอาจนำมาซึ่งความพังพินาศในระบบสาธารณสุขของประเทศ
นอกจากปัญหาในทางหลักการแล้ว นโยบายปฏิรูประบบการประกันสุขภาพของประธานาธิบดีโอบาม่ายังต้องเผชิญกับปัญหาในทางการเมือง โดยเฉพาะการต่อต้านจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ และนักการเมืองของพรรครีพับลิกันที่นับวันมีแต่จะยิ่งแข็งข้อกับประธานาธิบดีโอบาม่ามากขึ้น ในอนาคตข้างหน้า ความพยายามในการปฏิรูประบบการประกันสุขภาพของประธานาธิบดีโอบาม่าจึงน่าจะยิ่งเจอกับอุปสรรคที่เพิ่มพูนขึ้น และอาจต้องประสบกับความล้มเหลวเหมือนกับข้อเสนอให้ปฏิรูประบบสาธารณสุขของฮิลลารี่ คลินตันเมื่อปี ค.ศ. 1994
นโยบายปฏิรูประบบการประกันสุขภาพของประธานาธิบดีโอบาม่าดูเหมือนว่า กำลังจะกลายเป็นบทเรียนชิ้นสำคัญที่ช่วยปลุกให้ชาวอเมริกันหันมามองข้อเท็จจริงที่ว่า การเปลี่ยนแปลงที่ประธานาธิบดีโอบาม่าเคยเสนอขาย และใช้สร้างกระแสความคลั่งไคล้ในหมู่ชาวอเมริกันอาจจะไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าโดยปราศจากข้อสงสัยเสมอไป แม้ว่ามันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนก็ตาม ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงก็ยังต้องเผชิญกับแรงต่อต้าน และไม่อาจได้มาอย่างง่ายดาย
นอกเหนือไปจากนโยบายปฏิรูประบบการประกันสุขภาพแล้ว นโยบายอื่นๆ ที่ประธานาธิบดีโอบาม่าพยายามผลักดันภายใต้ร่มธงแห่งการเปลี่ยนแปลงก็กำลังเผชิญกับมรสุมในลักษณะเดียวกัน อาทิ นโยบายปฏิรูปการศึกษา และนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมพลังงานที่ต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาทั้งในทางหลักการ และในทางการเมือง จึงอาจกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมกราคมเป็นต้นมา ประธานาธิบดีโอบาม่าต้องประสบกับความยากลำบากในการดำเนินนโยบายนานับประการ และถึงแม้ว่าเสน่ห์ที่เคยช่วยให้เขาชนะการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์จะยังคงมีอยู่อย่างเหลือเฟือก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็เริ่มจะชี้ให้เห็นแล้วว่า เสน่ห์ดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะรักษามนต์ขลัง หรือคะแนนนิยมที่ชาวอเมริกันเคยมอบให้แก่เขา ท่ามกลางการดำเนินนโยบายที่นับวันมีแต่จะต้องเผชิญกับปัญหาที่เพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ