ที่มา
ประชาไทอุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา
Shukur2003@yahoo.co.uk
มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลกขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ศาสดามุฮัมมัด ขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม ถึง 20 กันยายน 2552 มุสลิมทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังถือศีลอด
การถือศีลอดนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม (ซึ่งจะนับเดือนตามจันทรคติ) เมื่อรอมฎอนมาถึงวิถีปฏิบัติของมุสลิมมีความแตกต่างจากวันปกติหลายประการและมีประเด็นด้วยกัน
เพราะตามปกติมุสลิมจะรับประทานอาหารเหมือนกับคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นอาหารหนักวันละสามมื้อเช้า เที่ยง เย็นหรือค่ำ อาหารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว ผลไม้ น้ำและอื่นๆก็รับประทานได้ตลอดทั้งวันแต่สำหรับเดือนถือศีลอดจะไม่สามารถโภคได้โดยเฉพาะอาหารหนักจะเน้น ๒ มื้อคือหลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าและตอนดึกถึงใกล้รุ่งสางซึ่งมุสลิมจะตื่นขึ้นรับประทานอาหารโดยเฉพาะแม่บ้านต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี ๒-๓ เพื่อเตรียมอาหารให้สามีและลูกๆสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่มุสลิมทั่วไปจะต้องรู้ถึงหลักการทางศาสนธรรมและบางครั้งมีความสัมพันธ์กับหลักทางการแพทย์โดยเฉพาะการรับประทานยาซึ่งแพทย์ได้สั่งให้ปฏิบัติเช่นกัน
ครับ บทความนี้จะขอกล่าวถึงประเด็นต่างๆดังนี้เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนธรรมกับหลักการแพทย์รวมทั้งสุขภาวะองค์รวม
1. ความหมายการถือศีลอด
บรรดานักปราชญ์ของโลกอิสลามได้ให้คำจำกัดความของการถือศีลอด (ศิยามในภาษาอาหรับ) ไว้ว่า "การถือศีลอดหมายถึงการงดเว้นจากการบริโภคและการกากระทำต่างๆ ที่นำไปสู่การเสียศีลอดนับตั้งแต่แสงรุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า (เวลากลางวัน)"
สำหรับการกระทำต่างๆ ที่นำไปสู่การเสียศีลอดมีดังนี้
1. เจตนาบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม (โดยไม่มีความจำเป็นทางศาสนา)
2. เจตนาทำให้น้ำอสุจิหลั่งออกมา (จะด้วยวิธีใดก็ตาม)และ เจตนาร่วมประเวณี
3. เสียสติ (โดยเป็นบ้า เป็นลมหรือสลบ)
4. เจตนาทำให้สิ่งใดล่วงล้ำเข้าไปภายในอวัยวะที่เป็นรู (เช่นหู จมูก ทวารหนักและ ทวารเบา)
5. เจตนาทำให้อาเจียร
6. ปรากฏมีเลือดประจำเดือน (หัยฎฺ) และเลือดหลังคลอด (นิฟาส)
7. มุรตัด (สิ้นสภาพการเป็นมุสลิม)
การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้าดังที่พระองค์ได้เคยบัญญัติแก่ชนยุคก่อนจากท่านเพื่อว่าสูเจ้าจะเป็นผู้ที่ยำเกรง" (อัลบากอเราะฮ์ : 183)
คำว่าผู้ยำเกรงตามทรรศนะอิสลาม หมายถึงการกระทำความดีและละเว้นความชั่ว
ท่านศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า "การถือศีลอดเป็นโล่ถ้าหากว่าผู้หนึ่งในพวกท่านถือศีลอดในวันหนึ่งแล้ว เขาไม่ทำชั่วและพูดจาหยาบคายเมื่อมีผู้หนึ่งด่าทอต่อเขาหรือระบายความไม่ดีแก่เขา (ผู้ถือศีลอด) จงกล่าวว่าแท้จริงฉันถือศีลอด"
2. การถือศีลอดทำให้เสียสุขภาพหรือไม่
ในระหว่างวันชาวมุสลิมจะละเว้นการกิน การดื่มซึ่งทำให้ร่างกายขาดพลังงานจากสารอาหารที่จะได้รับและต้องสูญเสียน้ำจากการขับถ่ายออกจากร่างกาย จะทำให้รู้สึกกระหายน้ำและเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงก็จะทำให้รู้สึกหิว ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการอดไปแล้วประมาณ 6-12 ชั่วโมง ซึ่งเรียกว่าระยะหิวโหย ระดับน้ำตาลและน้ำที่ลดลงจะกระตุ้นไปที่ศูนย์ควบคุมความหิว
สำหรับคนที่มีร่างกายปกติ มีเจตนา (นียะห์) และมีความเชื่อมั่นต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺ (ศุบหฯ) อย่างแน่วแน่ จะไม่ทำให้ร่างกายถึงขั้นมีอาการหน้ามืดหรือหมดสติไปเพราะระบบต่างๆ ในร่างกายจะช่วยประสานงานกันโดยอัตโนมัติเพื่อที่จะรักษาสมดุลให้เกิดขึ้นโดยในระยะแรกร่างกายจะเริ่มมีการสลายพลังงาน ที่เก็บสะสมไว้ในตับ กล้ามเนื้อ และไขมันมาใช้เป็นพลังงานเพื่อรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายอย่างเหมาะสม ทำให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานีซึ่งทำงานในชุมชนมุสลิมได้ให้ทรรศนะว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน นับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่อวัยวะของระบบทางเดินอาหารจะได้พักผ่อนและถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ล้างสารพิษในร่างกายออกไป เพราะจากการศึกษาพบว่า การอดอาหารในระยะหนึ่งจะเป็นการขจัดสารพิษออกจากร่างกาย เพราะร่างกายจะขับของเสียที่หมักหมมหรือสารอาหารที่มีมากเกินความต้องการของร่างกาย เช่น ไขมันเลือดในเลือด หรือที่เรียกกันว่าคอเรสเตอรอล ออกไป เพราะหากมีมากเกินไปในกระแสเลือดจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด
ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวว่า มีรายงานการศึกษาทางการแพทย์ของ Mansell และ Macdonald ตีพิมพ์ในวารสาร British Medical Journal เมื่อปี 1988 แสดงให้เห็นว่าหญิงที่มีน้ำหนักปกตินั้น หากให้กินอาหารน้อยมาก เป็นเวลา 7 วัน ปรากฏว่า ร่างกายของหญิงเหล่านั้นจะปรับตัวได้ดีไม่มีปัญหาเลยแม้แต่น้อย นักวิทยาศาสตร์กลุ่มเดียวกันนี้ยังศึกษาต่อไปอีกว่า
หากลองให้คนอดอาหารอย่างสิ้นเชิงยาวนานถึง 48 ชั่วโมง แล้วตรวจสอบดูว่าจะส่งผลต่อกลไกการทำงานของร่างกายอย่างไรบ้าง
ผลของการศึกษาพบว่าร่างกายของผู้อดอาหารกลับตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้นด้วยซ้ำ คนที่อดอาหาร 48 ชั่วโมง เมื่อต้องกลับมากินอาหารอีกครั้งหนึ่งปรากฏว่าสมดุลของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ให้ประโยชน์และช่วยทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น
มีรายงานการวิจัยอื่นๆ อีกเหมือนกันที่ยืนยันว่า การอดอาหารอย่างสิ้นเชิงจะทำให้ความดันโลหิตลดลงในขณะที่ปริมาณของเลือดที่เข้าสู่หัวใจไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายความว่าร่างกายปรับตัวโดยลดการทำงานของร่างกายลงในขณะที่ประสิทธิภาพของร่างกายยังคงที่อยู่ร่างกายของมนุษย์จึงอัศจรรย์กว่าที่เราเคยเข้าใจแยะ
ภายหลังผ่านการอดอาหารมาแล้วระบบการย่อยอาหารจะกลับเข้าสู่สภาวะเดิมโดยไม่แสดงผลร้ายหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ก่อผลเสียแต่อย่างใดเลย
กองทัพบกอิสราเอล โดยมีคณะนักวิจัยทางการแพทย์นำโดยนายแพทย์ Maislos แห่งมหาวิทยาลัยเบนกูเรียน อิสราเอล เป็นผู้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ให้กองทัพบก หมอ Maislos ทำการศึกษาพฤติกรรมการถือศีลอดของชนเผ่าทะเลทรายที่เรียกว่า เบดูอิน คนเหล่านี้ถือศีลอดอย่างเคร่งครัดเหมือนกับคนอาหรับถือศีลอดกันในอดีต นั่นคือกินอาหารน้อย ออกกำลังกายหรือทำงานตามปกติ และนอนค่อนข้างน้อย วันเวลาผ่านไปหนึ่งเดือนเมื่อพ้นเดือนรอมฎอน หมอทำการตรวจสอบระดับไขมันของชนเผ่าเบดูอิน
สิ่งที่พบคือ คนเหล่านี้มีสุขภาพทางร่างกายดีขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง ระดับไขมันที่ดีที่เรียกว่า เอชดีแอล เพิ่มระดับสูงขึ้น
บทสรุปก็คือ การถือศีลอดอย่างเคร่งครัด น่าจะช่วยทำให้ผู้ที่ถือศีลอดลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคหัวใจได้
3. ข้อควรปฏิบัติของผู้ที่ถือศีลอดที่จะนำไปสู่สุขภาวะ
สุขภาพ คือ "สภาพของร่างกายและจิตใจ" สุขภาพดีสุขภาพดีจึงหมายถึง สภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ สุขภาพเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของผู้ถือศีลอด การที่จะทำให้สุขภาพทั่งกายและใจแข็งแรง มีหลักที่ทำง่ายๆ คือ หลัก 3 อ. ได้แก่
อาหาร
ความสำคัญของการรับประทานอาหาร มีอยู่ 2 ประการ คือ
1. ต้องเป็นอาหารที่ฮาลาลและมีคุณประโยชน์ครบหมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันวิตามิน แร่ธาตุ และน้ำ
2. ต้องได้รับอารหารในสัดส่วนที่ถูกต้อง
เพราะถ้าร่างกายได้รับสารอาหารมากไปหรือน้อยไปจะส่งผลทำให้ร่างกายเกิดโรคต่างๆ เช่นโรคอ้วน โรคขาดสารอาหาร เป็นต้นเพราะอัลลอฮฺได้ตรัสว้ความว่า "จงกินจงดื่มและจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย" (อัลอะอฺรอฟ : 31)
เป็นที่ทราบกันในหมุ่มุสลิมผู้ที่ถือศีลอดว่าไม่เสมอไปว่าทุกคนที่ถือศีลอดจะมีสุขภาพดีอย่างไรก็แล้วแต่การถือศีลอดจะมีสุขภาพดีและไม่เป็นอันตรายนั้นควรปฏิบัติดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมัน ขนมหวาน และอาหารหนักในปริมาณที่มากจนเกินควร แล้วเมื่อรอมฎอนผ่านไป น้ำหนักตัวของเขาจะลดลงเล็กน้อยและไขมันในร่างกายของเขาก็จะน้อยลงด้วย
2.ควรละศีลอดด้วยอินทผลัม ถ้าไม่มีก็ด้วยอินทผลัมแห้ง และถ้าไม่มีก็ด้วยการดื่มน้ำเล็กน้อย ในขณะที่ผู้ถือศีลอดละศีลอด ร่างกายของเขากำลังต้องการอาหารประเภทน้ำตาล ซึ่งสามารถจะถูกดูดซับเข้าสู่เลือดได้อย่างรวดเร็วและขจัดความหิวโหยให้หมดไปในขณะเดียวกันนั้น ร่างกายของเขาก็ต้องการน้ำด้วย
และการละศีลอดด้วยน้ำและอินทผลัมก็ให้ทั้ง 2 ประการ นั่นคือ การขจัดความหิว และขจัดความกระหาย นอกจากนั้นทั้งอินทผลัมสดและแห้งยังอุดมด้วยเส้ยใย ที่จะช่วยป้องกันการท้องผูกและยังทำให้รู้สึกอิ่ม ดังนั้น ภายหลังจากที่ผู้ถือศีลอดละศีลอดด้วยอินทผลัมแล้ว เขาจึงไม่มีความอยากที่จะรับประทานอาหารอื่นในปริมาณมากๆ อีก
3.จงแบ่งการละศีลอดเป็น 2 ช่วง ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จะรีบละศีลอดด้วยอินทผลัม หรือน้ำต่อจากนั้นก็จะรีบไปละหมาดค่ำ (มัฆริบ) เสร็จแล้ว จึงกลับมารับประทานอาหารหนักละศีลอดต่อการรับประทานอินทผลัมเล็กน้อยและน้ำ จะเป็นการกระตุ้นกระเพาะอาหารอย่างแท้จริง และในขณะที่กำลังละหมาดมัฆริบนั้น กระเพาะก็จะดูดซับสารน้ำตาลและน้ำทำให้ความรู้สึกหิวกระหายเลือนหายไป ครั้นเมื่อผู้ถือศีลอดละหมาดเสร็จ และกลับมารับประทานอาหารปริมาณมากๆ ในคราวเดียวและอย่างเร่งรีบนั้น จะทำให้กระเพาะอาหารโป่งพอง ลำไส้เกิดอาการปั่นป่วนและอาหารย่อยยาก
4. ข้อแนะนำเพื่อไม่ให้ท้องผูก หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มักจะมีอาการท้องผูก ก็ให้รับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากๆ เช่น สลัดผัก ผัก และผลไม้ชนิดต่างๆ และจงหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมหวาน โดยให้รับประทานผลไม้แทน และจงทำละหมาดตะรอเวียห์อย่างสม่ำเสมอและบริหารร่างกายหรือออกกำลังกายอย่างที่เคยปฏิบัติ
5. พึงหลีกเลี่ยงการนอนหลังการละศีลอดผู้ถือศีลอดบางคนชอบที่จะนอนหลังการรับประทานอาหารละศีลอด อันที่จริงการนอนหลังอาหารมื้อใหญ่และมากไปด้วยไขมันนั้นจะเพิ่มความเฉื่อยชาและเกียจคร้านให้มากขึ้น
อารมณ์
เป็นเรื่องราวของสุขภาพจิต ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพภายโดยตรง ดึงข้อความที่ว่า "ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว" อารมณ์ดีส่งผลให้ระบบทางร่างกายทุกระบบทำงานเป็นปกติแต่ถ้าอารมณ์ไม่ดีมีผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ถ้าเครียดจะทำให้น้ำย่อยหลั่งออกมามากกว่าปกติทำให้ ระบบย่อยระบบดูดซึมเสียไป และถ้าเครียดบ่อยๆนานๆ จะเป็นโรคกระเพาะ ได้ อีกทั้งระบบภูมิต้านทานของร่างกายจะลดต่ำลงด้วย เป็นต้น
ต่อไปนี้จะเป็นข้อแนะนำ 2 ประการ เพื่อทำให้อารมณ์ดี สุขภาพจิตดี ได้แก่
1. ทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียด โดยการละหมาด รำลึกถึงอัลลอฮฺ อ่านอัลกุรอาน ทำใจให้รู้จักพอ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง มีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นทั้งนี้เพื่อเป็นการพักผ่อนจิตใจและอื่นๆ " จิตสงบย่อมพบความสุข " " สุขใดเหนือความสงบเป็นไม่มี "
2. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ครั้งละไม่น้อยกว่า 25 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อยการออกกำลังกาย เช่น การบริหารร่างกายด้วยตะบอง การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ การวิ่งเหยาะๆ (จ๊อกกิ้ง) วัดได้จากการเต้นของหัวใจโดยต้องออกกำลังให้หัวใจเต้นที่ 60% ของอัตราการเต้นสูงสุดโดยใช้สูตร 60% ของ (220 - อายุ) เช่น
ถ้าอายุ 20 ปี 60% (220 - 20) = 120 ครั้ง/นาที
ถ้าอายุ 30 ปี 60% (220 - 30) = 114 ครั้ง/นาที
ถ้าอายุ 40 ปี 60% (220 - 40) = 108 ครั้ง/นาที
ระยะเวลานับจากเวลาที่หัวใจเต้นถึง 60% ของอัตราสูงสุดขึ้นไปแล้วต้องไม่น้อยกว่า 15นาที โดยต้องรักษาระดับการเต้นของ หัวใจไม่น้อยกว่า 60% อยู่ตลอดเวลาทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายได้เกิดการหลั่ง growth hormone และสารแห่งความสุขที่เรียกว่า endorphin ทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายมีความสุขก่อให้เกิดสุขภาพแข็งแรง ถ้ารวมเวลา warm up และ warm down อีกอย่างละ 5 นาทีแล้ว รวมเป็นไม่น้อยกว่าวันละ 25 นาที
อากาศ
ในที่นี้หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว อากาศจัดว่ามีความสำคัญมากเช่นกันเพราะคนเราขาดอาหารยังสามารถมีชิวีติอยู่ได้ หลายวัน แต่ถ้าขาดอากาศจะอยู่ได้ไม่กี่นาทีเท่านั้น ถ้าอากาศและสิ่งแวดล้อมดี ย่อมมีผลต่อสุขภาพที่ดีด้วย ดังนั้น จึงควรหาโอกาสทำ
งานในสิ่งแวดล้อมที่ดีโดยช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพสะอาดปราศจากมลภาวะ ถ้าจำเป็นต้องทำงานภายใต้อากาศ หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากชุดออกซิเจนเข้าช่วย ถ้าเป็นไปได้ควรหาโอกาสออกไปใกล้ชิด กับธรรมชาติที่บริสุทธิ์ให้บ่อยครั้ง หรืออย่างน้อยสักเดือนละครั้งก็ยังดี
4. คำแนะนำทางการแพทย์สำหรับบางคน
ข้อแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ก่อนที่หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจะถือศีลอด นางควรปรึกษาแพทย์
หากแพทย์อนุญาต นางจึงถือศีลอดแต่ไม่ควรรับประทานอาหารละศีลอดในปริมาณที่มากเกินไปให้รับประทานแต่พอประมาณและควรแบ่งการรับประทานอาหารละศีลอดเป็น 2 มื้อ มื้อแรกเมื่อได้เวลาละศีลอด และมื้อที่ 2 ให้ห่างกับมื้อแรกประมาณ 4ชั่วโมง และในการรับประทานอาหารสะหูร (มื้อก่อนรุ่งสาง) ควรจะล่าช้ามากที่สุดและควรรับประทานอาหารประเภทนมโยเกิร์ตให้มากและควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและขนมหวาน
นอกจากนั้นหญิงที่ให้นมบุตรยังควรที่จะจัดเตรียมน้ำและอาหารเหลวเพื่อให้เด็กได้รับประทานควบคู่ไปกับการให้นมของนางขณะถือศีลอดและอาหารที่นางรับประทานเองทั้งมือละศีลอด และมื้อก่อนรุ่งอรุณ (สะหูร) ควรเป็นอาหารที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ และถ้าเป็นไปได้ก็ควรให้นมเด็กบ่อยครั้งในช่วงหลังละศีลอดถึงสะหูรและเมื่อใดที่รู้สึกอ่อนเพลียและเหน็ดเหนื่อยก็ให้รีบละศีลอดและปรึกษาแพทย์
สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจจำนวนไม่น้อยที่สามารถถือศีลอดได้ เนื่องจากในช่วงเวลากลางวันเมื่อไม่มีการย่อยอาหารกล้ามเนื้อหัวใจก็ทำงานน้อยลง และได้พักผ่อนมากขึ้น ทั้งนี้เพราะเมื่อมีการย่อยอาหารนั้น ร้อยละ 10 ของเลือดหัวใจสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆของร่างกายจะต้องถูกส่งไปเลี้ยงอวัยวะที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร
สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ปกติแล้วจะสามารถถือศีลอดได้แต่จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและในขณะนี้ก็มียาหลายชนิดที่ผู้ป่วยสามารถจะรับประทานเพียงแค่วันละ 1-2ครั้งเท่านั้นแต่ผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มเปรี้ยวจัดและรับประทานอาหารที่ใส่เกลือสมุทรให้น้อยลง ส่วนผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่รุนแรง และเฉียบพลัน โดยทั่วไปก็สามารถถือศีลอดได้ แต่จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดีก็มีผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางหัวใจบางอย่างที่ไม่สามารถถือศีลอดได้อย่างเช่น ผู้ป่วยด้วยโรคก้อนเลือดแข็งผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นอ่อนอย่างรุนแรงและผู้ที่มีอาการเจ็บเสียดหน้าอกอย่างเฉียบพลัน เป็นต้น
5. วิธีการทานยาสำหรับผู้ถือศีอด
ฝ่ายเภสัชภรรมชุมชน โรงพยาบาลท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราชได้ให้ข้อมูลว่า การปรับเปลี่ยนวิธีการทานยาในเดือนรอมฎอน ในช่วงรอมฎอน
สำหรับผู้ป่วยเล็กน้อยหรือพี่น้องที่ต้องรับประทานยานั้น บางท่านอาจจะสงสัยว่าจะปรับตัวอย่างไรในการถือศีลอดในแต่ละวัน
วิธีรับประทานยาที่ปรากฏบนซองยา ช่วงเวลาที่แนะนำให้รับประทานยาในช่วงเดือนถือศีลอด ทานยาหลังจากละศีลอดแล้วไปละหมาดค่ำ (มัฆริบ) จึงมาทานข้าว/อาหารหลัก หลังจากละศีลอดประมาณ 15-30 นาที 4 ชั่วโมงหลังจากการละศีลอด 30 นาทีก่อนทานมื้อก่อนรุ่งสาง 15-30 นาทีหลังทานมื้อดังกล่าว
6. กิจกรรมของมุสลิม/ การประกอบอาชีพในเดือนรอมฎอน
ในช่วงกลางวัน มุสลิมจะงดเว้นการบริโภคแต่ก็จะปฏิบัติงานตามปกติ ช่วงเวลาละศีลอด ทุกมัสยิดจะจัดการละศีลอดร่วมกันแต่ละบ้านจะมีประเพณีนำข้าวหม้อแกงหม้อหรือนำอาหารหลากหลายชนิด มาบริจาคที่มัสยิดแล้วแต่ศรัทธา เป็นโอกาสให้คนรวยคนจนได้นั่งรับประทานร่วมกัน ประชาชนกับข้าราชการ เจ้านายกับลูกจ้าง โดยจะละศีลอดด้วยผลอินทผลัมตามแบบอย่างศาสดา
ท่านศาสดากล่าวว่า พึงทราบเถิดว่าอินทผลัมนั้นเป็นศิริมงคล อะนัส อิบนฺมาลิก อัครสาวกศาสดากล่าวว่า ความว่า "ปรากฏว่า ท่านนะบีแก้ศีลอดด้วยอินทผลัมที่สุกงอมก่อนที่จะไปละหมาด ถ้าหากไม่มีอินทผลัมสุกงอมก็จะแก้ด้วยอินทผลัมแห้ง ถ้าหากไม่มีอินทผลัมแห้งก็จะจิบน้ำหลายจิบ" บันทึกโดย : อะหมัด อะบูดาวู๊ด อิบนฺคุไซมะฮฺ และอัตติรมิซีย์
ในช่วงกลางคืน มุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา จะไปปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิดของชุมชนตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30-20.30 น.เรียกว่าละหมาดตาราเวียะห์ หลังจากปฏิบัติศาสนกิจเสร็จ เด็กๆ จะเล่นกันที่บริเวณมัสยิดอย่างสนุกสนาน
ผู้ใหญ่ก็จะนั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีอาหารว่างและน้ำชาเป็นตัวเสริม บางมัสยิดจะจัดเวรประจำหมู่บ้านแบ่งหน้าที่รับผิดชอบชัดเจนเช่น ผู้ปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิด ตลอดทั้งคืนด้วยการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานละหมาด เวรยามดูแลความสงบ ปลุกคนให้ตื่นเพื่อเตรียมอาหารช่วงเวลา 0.300 น.-04.00 น. เวลา 04.30-06.00 น. มุสลิมจะไปมัสยิดกันอีกเพื่อปฏิบัติศาสนกิจเรียกว่าละหมาดซุบฮฺ
ในช่วงกลางวันของรอมฎอน ถึงแม้มุสลิมจะถือศีลอดแต่จะต้องประกอบอาชีพตามปกติเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพที่ฮะล้าล (สุจริตตามบทบัญญัติ) แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก ที่มีมุสลิมบางคนไม่ได้ถือศีลอดตามที่ศาสนากำหนด โดยเขาใช้เวลาเกือบตลอดทั้งวันไปกับการนอน และมีอารมณ์โกรธฉุนเฉียวโดยปราศจากสาเหตุอันควร อู้งาน โดยอ้างว่าเพราะเขาถือศีลอด
ผู้ถือศีลอดที่แท้จริงคือผู้มีอวัยวะทุกส่วนของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นบาปและเป็นโทษ ลิ้นของเขาจะต้องระงับจากการพูดเท็จ คำพูดที่ไร้สาระเหลวไหล คำพูดที่หยาบคายลามก ท้องของเขาจะต้องระงับจากการกิน การดื่ม อวัยวะเพศของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นลามก
ถ้าหากเขาพูดจะต้องไม่พูดในสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเขาไร้ผล และถ้าหากเขาจะทำกิจกรรมใดจะต้องไม่กระทำในสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเขาเสียหาย คำพูดของเขาที่ออกมาควรเป็นคำพูดที่ดี และการกระทำของเขาก็เช่นเดียวกัน ควรเป็นการกระทำที่ดีบังเกิดผล
ท่านศาสดาสนับสนุนให้มุสลิมผู้ถือศีลอดทำงานตามปกติ มีมารยาทที่ดีงาม และความประพฤติปฏิบัติเป็นที่ยอมรับและน่าสรรเสริญ และปลีกตัวให้ห่างไกลจากการกระทำที่น่าเกลียดน่าชัง และการพูดจาที่หยาบคายสามหาวลามก อนาจาร คือ การงานที่เป็นผิด เป็นบาป
ถ้าหากมุสลิมถูกใช้ให้ปลีกตัวให้ห่างไกลและละเว้นมิให้ประพฤติปฏิบัติในทุกๆ วัน แน่นอนการห้ามมิให้ปฏิบัติในระหว่างการถือศีลอดก็เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังเป็นที่สุด
จำเป็นแก่มุสลิมผู้ถือศีลอดจะต้องปลีกตัวออกมาจากการกระทำที่จะทำให้การถือศีลอดของเขาต้องสูญเสียไป และเพื่อที่จะทำให้การถือศีลอดของเขาบังเกิดผลและบรรลุสู่การยำเกรง (ตักวา) ซึ่งพระเจ้า (อัลลอฮฺตะอาลา) ได้กล่าวในเรื่องนี้ไว้ ความว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้าดังเช่นได้ถูกบัญญัติแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง" (อัลบากอเราะฮ์:183)
ท่านศาสดากล่าวไว้ความว่า "ผู้ใดไม่ละเว้นการพูดเท็จและการกระทำที่เป็นเท็จอัลลอฮฺก็ไม่ทรงประสงค์การอดอาหารและเครื่องดื่มของเขา" (บันทึกโดย :อิม่ามอัลบุคอรีย์) กล่าวคือเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนใดๆ ท่านศาสดากล่าวไว้อีกความว่า "การถือศีลอดมิใช่ (การละเว้น) จากการกินการดื่มเท่านั้น แต่การถือศีลอด (จะต้องละเว้น) จากการพูดจาหรือการกระทำที่ไร้สาระและการพูดจาหยาบคายด้วย หากมีผู้ใดมาสบประมาทหรือเยาะเย้ยท่าน ก็จงกล่าวแก่เขาว่าฉันเป็นผู้ถือศีลอด ฉันเป็นผู้ถือศีลอด" (บันทึกโดย : อับนคุซัยมะฮฺ และอัลฮากิม) "บางทีผู้ถือศีลอดนั้น ส่วนได้ของเขาจากการถือศีลอดของเขาก็คือ การหิวและการกระหายเท่านั้น" (บันทึกโดย : อิบนุมาญะฮฺและอะหมัด)
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ผู้ใดที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น เนื่องจากเขาไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงของการถือศีลอดที่พระเจ้าทรงใช้ให้เขายึดถือปฏิบัติ ดังนั้น พระองค์จึงลงโทษเขาด้วยการทำให้ผลบุญและการตอบแทนสูญเสียไป
ท้ายนี้ขอให้ทุกท่านโดยเฉพาะประชาชน จังหวัดชายแดนใต้สุขสันต์ ในเดือนรอมฏอน ปี ฮิจเราะห์ศักราช 1430