บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

รายงาน: ‘อภิสิทธิ์’ ลั่นค้าน ‘พ.ร.บ.ความมั่นคง’ (เหตุเกิดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว)

ที่มา ประชาไท

ทัศนะของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” (เมื่อ 2 ปีที่แล้ว) คัดค้านการผ่านร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยเห็นว่าหากนิยาม “ภัยคุกคามความมั่นคง” อย่างไม่แยกแยะ อาจมีการใช้กฎหมายในทางที่ผิด และย้ำว่าการชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมีตราบเท่าที่ไม่ใช้ความรุนแรง การควบคุมต้องต่างจากการก่อการร้าย และย้ำว่าหากกฎหมายผ่าน สนช. ต้องแก้ไข

ทีมข่าวการเมือง

1.
“ปัจจุบัน การกระทำที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงมีความหลากหลายมาก แต่กฎหมายทุกฉบับจะพยายามนิยามให้ครอบคลุมกว้างๆโดยไม่จำแนกแยกแยะ และมักจะใช้เครื่องมือตามกฎหมายโดยไม่มีการแยกแยะเช่นเดียวกัน หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็จะเกิดความเสี่ยงที่ “ภัยคุกคาม” บางชนิดจะป้องกันปราบปรามไม่ได้ ขณะที่อาจมีการใช้อำนาจตามกฎหมายในทางที่ผิด”
“ขณะที่ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองนั้น เป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมีตราบเท่าที่ไม่มีการจงใจที่จะละเมิดกฎหมายในลักษณะของการใช้ความรุนแรง หรือก่อให้เกิดความวุ่นวาย การควบคุมสถานการณ์ในลักษณะนี้ ต้องการการปฏิบัติแตกต่างจากการก่อการร้ายอย่างชัดเจน”
“การตรากฎหมายครั้งนี้ ต้องตระหนักว่า กฎหมายที่ออกมาจะบังคับใช้ไปจนกว่าจะมีการแก้ไข หรือยกเลิกซึ่งคงเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก
ผู้ใช้กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงอย่างแท้จริง การดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ จึงควรกระทำด้วยความรอบคอบ และยึดถือหลักการที่ถูกต้อง สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ,
ในบทความ “กฎหมายความมั่นคงกับสถานการณ์ปัจจุบัน”, 24 มิ.ย. 50
2.
“ต้องรอดูก่อนว่าร่าง พ.ร.บ.นี้จะผ่าน สนช.หรือไม่ หากผ่านมาแล้วไม่ได้มีการปรับแก้ในประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วง รวมถึงกระทบกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องปรับแก้ ต่อไป”
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, 10 พ.ย. 50
3.
“กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามการชุมนุม และกลุ่มผู้ชุมนุมหากจะเคลื่อนไหวในความสงบก็ควรให้ความร่วมมือ เนื่องจากกังวลว่าอาจมีมือที่สามเข้ามา ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ได้เป็นเรื่องการต่อต้านการชุมนุมแต่อย่างใด แต่ต้องการให้การชุมนุมเป็นไปโดยเรียบร้อยและน่าจะเข้าใจกันได้”
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, 26 ส.ค. 52
0 0 0
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยให้มีการประกาศใช้ระหว่างวันที่ 29 ส.ค. - 1 ก.ย. เป็นเวลา 4 วัน ในบริเวณพื้นที่เขตดุสิต โดยให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ [1]
ใครจะไปคิดบ้างว่า คนที่สั่งการให้ใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ในวันนี้ คือคนที่เคยคัดค้านการมีกฎหมาย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ เมื่อ 2 ปีก่อน
0 0 0
พ.ศ. 2550
หากไม่แยกแยะ อาจมีการใช้อำนาจในทางที่ผิด
โดยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2550 ในช่วงรัฐบาล คมช. ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีความพยายามผลักดันกฎหมายความมั่นคงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขณะนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เผยแพร่บทความ “กฎหมายความมั่นคงกับสถานการณ์ปัจจุบัน” ของเขาในเว็บไซต์ www.abhisit.org แสดงความห่วงใยกรณีที่จะมีการเสนอร่างกฎหมายความมั่นคง โดยเกรงว่าหากนิยาม “ภัยคุกคามความมั่นคง” โดยไม่แยกแยะ อาจมีการใช้อำนาจตามกฎหมายในทางที่ผิด [2]
รายละเอียดของบทความมีดังนี้ (ตัวเน้นโดยประชาไท)
กฎหมายความมั่นคงกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 24 มิถุนายน 2550
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราช อาณาจักร พ.ศ. …. ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการทำงานด้านความมั่นคง และเป็นการกำหนดโครงสร้างการทำงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ไปพร้อมๆ กัน โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีการนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
ความจริงความพยายามที่จะตรากฎหมายใหม่ทางด้านความมั่นคงมีมาโดยตลอด หลังจากที่ปัญหาการก่อการร้ายสากลได้ยกระดับความรุนแรงขึ้นหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 และดูจะเป็นปัญหาที่หลายประเทศมีความตื่นตัวและข้อถกเถียงอย่างมาก
รัฐบาลที่แล้วก็เคยตราพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า เป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการคลี่คลายสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้
หลังการรัฐประหาร ก็มีการนำกฎอัยการศึกมาประกาศใช้และยังคงใช้อยู่ในหลายพื้นที่
พร้อมๆ กับการเกิดแนวคิดที่จะใช้ กอ.รมน. เคลื่อนไหวงานด้านมวลชน ซึ่งแยกแยะได้ยากว่า เป็นงานความมั่นคง หรือเป็นงานการเมือง
แม้สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แต่ก็เชื่อว่า การพิจารณากฎหมายฉบับใหม่จะเป็นไปอย่างเข้มข้น และการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้จะมีขึ้นอย่างกว้างขวาง ผมเห็นว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะนอกจากกฎหมายลักษณะนี้จะมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางแล้ว หากกำหนดเครื่องมือความมั่นคงที่ไม่รัดกุม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็จะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการดูแลรักษาความมั่นคงด้วย
ผมจึงอยากเห็นการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างมีกรอบและหลักคิดที่ชัดเจนดังนี้
1. นิยาม “ภัยคุกคามความมั่นคง” ในลักษณะต่างๆให้ชัด ปัจจุบัน การกระทำที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงมีความหลากหลายมาก แต่กฎหมายทุกฉบับจะพยายามนิยามให้ครอบคลุมกว้างๆโดยไม่จำแนกแยกแยะ และมักจะใช้เครื่องมือตามกฎหมายโดยไม่มีการแยกแยะเช่นเดียวกัน หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็จะเกิดความเสี่ยงที่ “ภัยคุกคาม” บางชนิดจะป้องกันปราบปรามไม่ได้ ขณะที่อาจมีการใช้อำนาจตามกฎหมายในทางที่ผิด
ยกตัวอย่างเช่น การก่อการร้าย ซึ่งหมายถึง การมุ่งทำลายล้างชีวิตหรือทรัพย์สินต่างๆ ในปัจจุบันจะอาศัยเครื่องมือ อุปกรณ์ การติดต่อสื่อสารโทรคมนาคม ฯลฯ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการควบคุม หรือ จำกัดสิทธิในบางสถานการณ์ บางครั้งการจำกัดสิทธิอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตของบุคคลทั่ว ไป แต่ก็จำเป็นจะต้องมีการทำความเข้าใจและขอความร่วมมือ
ขณะที่ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองนั้น เป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมีตราบเท่าที่ไม่มีการจงใจที่จะละเมิดกฎหมายในลักษณะของการใช้ความรุนแรง หรือก่อให้เกิดความวุ่นวาย การควบคุมสถานการณ์ในลักษณะนี้ ต้องการการปฏิบัติแตกต่างจากการก่อการร้ายอย่างชัดเจน
อย่าลืมว่าในโลกปัจจุบัน การป้องกันการก่อการร้าย เป็นเรื่องที่โลกประชาธิปไตยยอมรับได้ แต่การจำกัดสิทธิทางการเมือง นอกจากจะไม่เป็นที่ยอมรับแล้ว ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงอีกด้วย
กฎหมายใหม่จึงควรมีการแยกแยะกรณีต่างๆ ออกจากกันอย่างชัดเจน
2. ต้องมีความชัดเจนเรื่องผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ เราอยู่ในช่วงที่กำลังจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เปรียบเสมือนกฎหมายแม่บทรับรองสิทธิ เสรีภาพต่างๆเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 บางมาตราอาจมีความเข้มข้นกว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ด้วยซ้ำ นอกเหนือจากกฎอัยการศึก ซึ่งมักจะมีการเขียนรับรองไว้ กฎหมายอื่นๆ จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ และการจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานในสาระ สำคัญ โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น การตรากฎหมายฉบับใหม่จึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะหากมีข้อความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็จะบังคับใช้ไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาหลายประการตามมา
3. สะสางกฎหมายความมั่นคงให้เกิดเอกภาพ หากมีการใช้กฎหมายฉบับใหม่ควบคู่ไปกับกฎหมายอีก 2 ฉบับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (กฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548) จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและสับสนในเรื่องการใช้อำนาจในทุกระดับ ตั้งแต่การประกาศใช้กฎหมาย การมีอำนาจ การมอบอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรณีของกฎหมายใหม่เป็น กฎหมายในลักษณะที่ให้มีอำนาจถาวรจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้สูง
เมื่อจะตรากฎหมายทั้งที ควรจะจัดระบบกฎหมายความมั่นคงให้เป็นเอกภาพ มิใช่เพื่อประโยชน์ในความเข้าใจของเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่เพื่อให้ประชาชนซึ่งอาจถูกจำกัดสิทธิรับทราบและเข้าใจ
4. ต้องมีกลไกควบคุมหรือถ่วงดุลการใช้อำนาจ แม้ในบางสถานการณ์รัฐจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจเด็ดขาด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีการตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้ การบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ไม่มีความรับผิดก็ดี การยกเว้นคำสั่งและการกระทำมิให้อยู่ภายใต้บังคับศาลปกครองก็ดี ทำให้โอกาสที่จะมีการใช้อำนาจในทางที่ผิดเกิดขึ้นได้มาก ควรยอมรับให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลได้ โดยอาจให้การยกเว้นเป็นเพียงเฉพาะในช่วงเวลาที่จำเป็นในการปฏิบัติการ เป็นต้น นอกจากนี้การควบคุมตัวที่ไม่ถือว่าเป็นการจับกุม ต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เหมือนที่เกิดขึ้นในการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และกลับเป็นการเพิ่มบุคคลที่มีทัศนคติที่เป็นลบต่อรัฐ
5. ใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคง การกำหนดโครงสร้างในกฎหมายใหม่ ยังมีความลักลั่นและความสับสนอยู่ เช่น การคาบเกี่ยวกันของสำนักนายกรัฐมนตรี กองทัพ ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น หากจะมีกฎหมายในเชิงโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคง ก็ควรจะใช้โอกาสนี้ สะสาง และปฏิรูปไปในตัว
การตรากฎหมายครั้งนี้ ต้องตระหนักว่า กฎหมายที่ออกมาจะบังคับใช้ไปจนกว่าจะมีการแก้ไข หรือยกเลิกซึ่งคงเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก
ผู้ใช้กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงอย่างแท้จริง การดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ จึงควรกระทำด้วยความรอบคอบ และยึดถือหลักการที่ถูกต้อง สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน
0 0 0
พร้อมปรับแก้
ต่อมา เมื่อ 10 พ.ย. 2550 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านพ.ร.บ.ความมั่นคงภายในวาระแรกไปแล้ว โดยอภิสิทธิ์เห็นว่าหาก พ.ร.บ.นี้ผ่านแล้วมีประเด็นกระทบกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องปรับแก้
โดยเขากล่าวว่า จุดยืนประชาธิปัตย์ชัดเจนว่ากฎหมายใดก็ตามหากขัดหลักประชาธิปไตย ก็จำเป็นต้องปรับแก้ เพราะไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น เช่น การที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดในการดำเนินการใดๆ รวมทั้งขอบเขตอำนาจหน้าที่ต่างๆ แต่บางเรื่องอาจจะพอเข้าใจถึงหลักการและเหตุผลได้ อาทิ การที่เกรงว่าหากมีการนำเรื่องไปร้องศาลปกครองแล้วศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะทำให้มีปัญหาในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้อาจจะพอรับได้ แต่ต้องมีระยะเวลาที่ชัดเจน ไม่ได้หมายความว่ายกเว้นการตรวจสอบตลอดไป
"อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูก่อนว่าร่าง พ.ร.บ.นี้จะผ่าน สนช.หรือไม่ หากผ่านมาแล้วไม่ได้มีการปรับแก้ในประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วง รวมถึงกระทบกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องปรับแก้ ต่อไป" [3]
0 0 0
คำแนะนำของผมก็คือ สนช.ควรจะพักผ่อน
อีกไม่กี่วันก่อนการลงมติ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดย สนช. เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเชิญไปพูดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยซึ่งจัดในช่วงค่ำ
ในตอนหนึ่ง นายอภิสิทธิ์ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นเป็นภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ บทบาทหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก โดยเฉพาะที่จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ว่า ตอนนี้ สนช.ควรจะพักผ่อนได้แล้ว
"คำแนะนำของผมก็คือ สนช.ควรจะพักผ่อน รอให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง"
นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่าหากกฎหมายความมั่นคงผ่านการพิจารณาของ สนช. และพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคของเขาจะไม่ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว แต่จะแก้ไขในสาระสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.คำจำกัดความของคำว่า "ความมั่นคง" ที่ขณะนี้ดูเหมือนว่าครอบคลุมกว้างขวางเกินไป 2.ปรับแก้โครงสร้างองค์กรที่รับผิดชอบความมั่นคง (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน.) โดยต้องทำให้สามารถตรวจสอบได้ 3.ศาลปกครองจะต้องมีอำนาจเหนือกฎหมายนี้ และสามารถดูแลการละเมิดสิทธิ์ผู้บริสุทธิ์ได้ 4.จะพยายามปรับให้กฎหมายฉบับนี้ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญน้อยที่สุด [4]
โดยถัดมาหลังจากนั้น วันที่ 20 ธ.ค.50 เวลาประมาณ 20.00 น. ที่ประชุม สนช. ก็ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ด้วยมติเห็นชอบ 105 เสียง ไม่เห็นชอบ 8 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดยใช้เวลาในการอภิปรายประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง และไม่มีการแก้ไขสาระสำคัญใดๆ [5]
000
พ.ศ. 2552
ไม่ได้ต่อต้านการชุมนุม แต่ต้องการให้เป็นไปโดยเรียบร้อย

ผ่านมา
1 วัน หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยเมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ชี้แจงสาเหตุ ที่ต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เขตดุสิต ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม-1 กันยายน โดยระบุว่าเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
“สาเหตุที่ประกาศพื้นที่รักษาความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในพื้นที่เขตดุสิต ในช่วงวันที่ 29 สิงหาคม-1 กันยายน เพื่อรับมือการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในวันที่ 30 สิงหาคม เพื่อต้องการให้การชุมนุมเกิดความเรียบร้อย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามการชุมนุม และกลุ่มผู้ชุมนุมหากจะเคลื่อนไหวในความสงบก็ควรให้ความร่วมมือ เนื่องจากกังวลว่าอาจมีมือที่สามเข้ามา ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ได้เป็นเรื่องการต่อต้านการชุมนุมแต่อย่างใด แต่ต้องการให้การชุมนุมเป็นไปโดยเรียบร้อยและน่าจะเข้าใจกันได้
ต้องขอความกรุณาสื่อมวลชนเสนอข่าวสารให้ชัดเจนว่า รัฐบาลใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ แต่ไม่ได้บอกว่าเหตุจะเกิดจากใคร และคิดว่าหากทุกฝ่ายต้องการให้เกิดความสงบ ขอให้ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือก็เท่านั้น กลุ่มผู้ชุมนุมก็ชุมนุมโดยสงบไป ก็ไม่มีอะไร อย่างไรก็ตาม ไม่ได้จับตากลุ่มเคลื่อนไหวใดเป็นพิเศษ แต่จับตาทุกกลุ่ม เพราะกังวลว่าเมื่อเกิดการชุมนุมใหญ่ ก็จะมีความละเอียดอ่อนทั้งหมด เพราะช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเกิดความเสียหายกับประเทศมาก และไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นอีก
รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลให้เกิดความสงบทั้งหมด และหากการชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อยก็ไม่มีปัญหา
อ้างอิง
[1] รัฐบาลประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคง 4 วัน เฉพาะเขตดุสิต สกัดเสื้อแดงชุมนุมใหญ่, ประชาไท, 25 ส.ค. 50, http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25577
[2] กฎหมายความมั่นคงกับสถานการณ์ปัจจุบัน, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 24 มิ.ย. 2550, http://www.abhisit.org/visiondetail.php?cate_id=55
[3] รุมต้านพ.ร.บ.ปกครองชายแดน อจ.จุฬาฯชี้อำนาจยิ่งกว่าพระเจ้า, มติชนรายวัน, 12 พ.ย. 50 http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01p0114121150
[4] “อภิสิทธิ์” ประกาศหากเป็นรัฐบาลจะแก้ "พ.ร.บ.ความมั่นคง" แนะ สนช. พักผ่อนได้แล้ว, ประชาไท, 19 ธ.ค. 50, http://www.prachatai.com/journal/2007/12/15199
[5] ผ่านแล้วกฎหมายรัฐทหาร! สนช.ไฟเขียว พ.ร.บ.ความมั่นคง 105 ต่อ 8, ประชาไท, 20 ธ.ค. 50, http://www.prachatai.com/journal/2007/12/15218

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker