ที่มา ไทยรัฐ
ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
อุณหภูมิการเมืองร้อนแรง เข้าขั้นปรอทแตก
จากสถานการณ์ท้าทายภาวะผู้นำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในกรณีว่าด้วยการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร.คนใหม่
ปัญหาท้าทายภาวะผู้นำในครั้งนี้ เริ่มต้นจากปมที่นายกฯต้องการเปลี่ยนดุลอำนาจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อันเนื่องมาจากการที่หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำใหญ่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ส่งสัญญาณตรงถึงนายอภิสิทธิ์ว่าเกิดปัญหาเจอตอ ส่อเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนดำเนินคดี
จนนำมาสู่ปฏิบัติการปรับเปลี่ยนดุลอำนาจในสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้การสอบสวนดำเนินคดีเดินหน้าต่อไปได้
พ่วงไปถึงเรื่องการปรับเกลี่ยตำแหน่งนายตำรวจตาม โครงสร้างใหม่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ถึงขั้นมีการกดดันให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ลาราชการไปต่างประเทศ และตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ปรึกษา สบ 10 มานั่งรักษาการ ผบ.ตร. อยู่หลายวัน
จากนั้นก็ตามมาด้วยการออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ลงไปตรวจงาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งตั้งรักษาการ ผบ.ตร.รอบสอง ในห้วงเวลาสั้นอีก 2-3 วัน
ท่ามกลางกระแสข่าวครึกโครมว่า ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายการปรับย้ายข้าราชการตำรวจ
จนมีการตอบโต้จากนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ คนสนิทของนายกฯอภิสิทธิ์ว่า
นายตำรวจใกล้ชิด ผบ.ตร.มีพฤติการณ์เรียกรับผลประโยชน์ ซื้อขายตำแหน่งในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราช-การตำรวจ
ส่งผลให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อ เท็จจริงกันวุ่นวายไปหมด
จากปมเหตุดังกล่าวได้กลายเป็นปัญหาลากยาวมาถึงการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ แทน พล.ต.อ.พัชรวาท ที่จะเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือนกันยายนนี้
โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นายอภิสิทธิ์ในฐานะประธาน ก.ต.ช. ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ ให้ ก.ต.ช.พิจารณาเห็นชอบ เป็น ผบ.ตร.คนใหม่
แต่ปรากฏว่า ก.ต.ช.5 ต่อ 4 เสียง คัดค้าน และขอให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน โดยอ้างว่าควรจะเสนอชื่อมากกว่า 1 คน และอยากฟังวิสัยทัศน์แคนดิเดต ผบ.ตร.คนอื่นๆ
นายกฯถูกฉีกหน้ากลางที่ประชุม
ภาวะผู้นำถูกเขย่าอย่างแรง
เพราะเป็นนายกรัฐมนตรี และประธาน ก.ต.ช. แต่เมื่อตัดสินใจเลือก ผบ.ตร.คนใหม่แล้ว ฝ่ายที่อยู่ใต้บังคับบัญชากลับแสดงอาการคัดค้านขวางลำ
สถานการณ์สั่นสะเทือนถึงขั้นมีข่าวว่านายกฯจะตัดสินใจยุบสภา
แต่ก็มีการปฏิเสธออกมาจากแกนนำรัฐบาลว่าเป็นเพียงข่าวลือ
ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการตั้งลำ เพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งในการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่
ชนิดที่เรียกว่า ต้องต่อสายเคลียร์รอบด้าน
ทั้งนี้ จากปรากฏการณ์ในการเปลี่ยนดุลอำนาจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการเสนอชื่อแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่
ทำให้เกิดภาพของความขัดแย้งรุนแรง ทั้งระหว่างนายกฯอภิสิทธิ์กับข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ โยงไปถึงความขัดแย้งระหว่างนายกฯกับกองทัพ และความขัดแย้งระหว่างพรรคแกนนำรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาล
แน่นอน เมื่อมีภาพของความขัดแย้งระหว่างนายกฯกับ พล.ต.อ.พัชรวาทปรากฏขึ้น ก็ย่อมกระทบไปถึง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พี่ชาย ที่เป็นพี่ใหญ่ ของกองทัพ
ขณะเดียวกัน การที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว. มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โหวตสวนนายกฯอภิสิทธิ์ ที่เสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ ในที่ประชุม ก.ต.ช.
ก็เป็นภาพของความเคลื่อนไหวที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย ให้ถ่างขยายมากขึ้น
จากที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาขัดแย้งปะทุให้เห็นกันมาแล้วหลายระลอก ทั้งปัญหาการดึงเรื่องอนุมัติโครงการรถเมล์เช่าเอ็นจีวี ของกระทรวงคมนาคม การล้มประมูลระบายข้าวและข้าวโพดของกระทรวงพาณิชย์ ในกำกับดูแลของรัฐมนตรี จากพรรคภูมิใจไทย
รวมไปถึงการที่นายกฯอภิสิทธิ์ดึงเรื่องการเสนอแต่งตั้งปลัดกระทรวงพาณิชย์ในการประชุม ครม.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
นัยว่าเป็นการเอาคืนที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยโหวตสวน คัดค้านการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่
ขณะที่ล่าสุด นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคภูมิใจไทย ก็ออกมาจุดประเด็น อาจมีการยุบสภาหลังจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ผ่านสภาฯแล้ว
แต่นายกฯอภิสิทธิ์ก็ออกมาปฏิเสธทันควัน ยังไม่คิดเรื่องยุบสภา รัฐบาลยังเดินหน้าทำงานต่อไป เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ปรากฏการณ์เหล่านี้ ทำให้ภาพความขัดแย้งระหว่างตัวนายกฯอภิสิทธิ์กับพรรคภูมิใจไทย ยิ่งดูรุนแรงมากขึ้นเป็นทวีคูณ
ส่งผลให้บรรดาคอการเมืองทั่วไปวิพากษ์วิจารณ์กันแซดในทำนองว่า เมื่อภาวะผู้นำของนายกฯถูกเขย่ารุนแรง ขณะที่พรรคร่วมรัฐ-บาลขัดแย้งกับพรรคแกนนำโจ่งแจ้ง
ไปกันไม่ได้แน่ แววเจ๊งสูง
อย่างไรก็ตาม มาถึงวันนี้ปมปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการโหวตเสนอชื่อแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ เมื่อมีการเคลียร์กันอย่างรอบด้านแล้ว ก็พบว่า
ต้นเหตุเป็นเพราะมีตัวแปรพิเศษ ทำให้การสื่อสารระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลผิดพลาด
เมื่อจูนคลื่นตรงกัน ฝุ่นเริ่มจาง ทุกอย่างก็คลี่คลาย
ดังนั้น เมื่อมีการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่อีกครั้งในการประชุม ก.ต.ช.สัปดาห์หน้า เชื่อได้ว่าทุกอย่างจะลงตัว
อุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยก็จะลดลง
คงไม่เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลรุนแรงถึงขั้นยุบสภา อย่างที่บรรดาคอการเมืองและสภากาแฟคาดการณ์กัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาใหญ่ที่ท้าทายศักยภาพผู้นำของนายกฯอภิสิทธิ์ จ่อคอหอยอยู่อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากเรื้อรัง
นั่นก็คือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่ประกาศดีเดย์ระดมพลคนเสื้อแดงปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 30 สิงหาคมนี้
กดดันให้ยุบสภา ขับไล่รัฐบาล
งานนี้ นายกฯอภิสิทธิ์แสดงภาวะผู้นำ ประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่เขตดุสิต ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน
งัดมาตรการเข้ม ควบคุมสถานการณ์
ป้องกัน รักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ยอมให้ม็อบเสื้อแดงบุกยึดทำเนียบรัฐบาล เหมือนกับที่ม็อบเสื้อเหลืองเคยบุกยึดมาแล้ว
รวมทั้งเป็นการป้องกันเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ความวุ่นวาย กลายเป็นเหตุการณ์จลาจลเหมือนช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา
ที่สำคัญ การที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯในครั้งนี้ มีเสียงขานรับจากสังคมมากพอสมควร
โพลสำนักต่างๆชี้ชัดว่า คนส่วนใหญ่เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการเห็นความวุ่นวายเกิดขึ้นในบ้านเมือง
ในขณะเดียวกัน แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงก็ยังยืนยัน ไม่หวั่นเกรงกฎเหล็ก อ้างใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย
30 สิงหาคมนี้ บุกทำเนียบรัฐบาลแน่
การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายภาวะผู้นำของนายกฯอภิสิทธิ์อย่างยิ่ง
เพราะไม่มีใครคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์จะลุกลามบานปลายไปสู่ความรุนแรงหรือไม่
รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯอภิสิทธิ์จะสามารถควบคุมสถานการณ์ รักษาความสงบเรียบร้อยได้มากน้อยเพียงใด
ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายภาวะผู้นำของ "อภิสิทธิ์" เต็มๆ
อย่างไรก็ ตาม "ทีมข่าวการ เมืองไทยรัฐ" ขอบอกว่า การที่ม็อบเสื้อแดงจะมาเขย่าล้มรัฐบาลคงเป็นไปได้ยาก
แต่สิ่งที่จะชี้เป็นชี้ตายความอยู่รอดของรัฐบาลว่าจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ก็คือพรรคร่วมรัฐบาล ที่ผนึกเป็นเสียงข้างมากในสภาฯ
ถ้าพรรคร่วมเลิกหนุน รัฐบาลก็พัง
แต่จากสภาพการณ์ในขณะนี้ ทีมของเราฟันธงว่า ยังไม่ถึงเวลาแตกหัก
เพราะพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคยังไม่พร้อมที่จะกลับไปสู่สนามเลือกตั้ง
ยังไม่พร้อมทั้งกระแสและกระสุน เสบียงกรัง
ด้านกระแส ผลโพลที่ออกมา ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ยังแน่นในภาคเหนือและภาคอีสาน
ส่วนด้านกระสุน เสบียงกรัง อุปมาอุปไมยเหมือนพรรคร่วมรัฐบาลกำลังหุงข้าว เตรียมเมนูไว้แล้ว รอเพียงเงินไปจ่ายกับข้าวมาปรุงอาหารเท่านั้น
สถานการณ์แบบนี้ คงไม่มีใครทุบหม้อข้าว ทุบสำรับทิ้งดื้อๆ
แม้มีอะไรบีบคั้น ก็ต้องทนกล้ำกลืนกันต่อไป
เพราะรู้ๆกันอยู่ว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์
เมื่อตอนนี้มีอำนาจ และผลประโยชน์อยู่ในกำมือแล้ว
ใครจะยอมปล่อยให้หลุดมือ-ปากแห้ง.
"ทีมการเมือง"