บทบรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกันฉบับล่าสุด (ปีที่7 ฉบับ2 : โทษที่ไม่เป็นธรรม)
ฟองสบู่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
วิกฤตความจงรักภักดีด้อยคุณภาพ
วิกฤตความจงรักภักดีด้อยคุณภาพ
1
เช้าวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ศาลอนุมัติหมายจับ น.ส. ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนเสื้อแดงว่า ดา ตอร์ปิโด บ่ายวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายศาลเข้าจับกุม น.ส. ดารณีทันทีในข้อหากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 หรือที่เรียกกันติดปาก "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" อันเนื่องมาจากคำปราศรัยของเธอ ณ ท้องสนามหลวง ดารณีกล่าวอะไรที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์? เท็จจริงเป็นเช่นไร? และจะพิสูจน์ถูกผิดกันอย่างไร? มาถึงวันนี้สาธารณชนก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้รับรู้ การพิจารณาคดีถูกปิดเป็นความลับ ที่พอจะทราบคือ เธอถูกออกหมายจับอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการออกหมายเรียกใดๆ ก่อนเลย และศาลไม่อนุญาตให้เธอประกันตัวด้วยเหตุผลที่ว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างยิ่ง รวมทั้งเกรงว่าเธอจะหลบหนีหรือกระทำผิดซ้ำอีกหากปล่อยตัวไปชั่วคราว หลังจากที่ดารณีถูกจองจำอยู่กว่า 1 ปี เธอจะได้รับฟังคำพิพากษาในพระปรมาภิไธยปลายเดือนสิงหาคมนี้
2
วันที่ 15 สิงหาคม 2551 ตำรวจออกหมายจับนางบุญยืน ประเสริฐยิ่ง อาชีพรับซื้อของเก่าและรับทำนายดวงชะตา ผู้ผลิกผันตนเองกลายเป็นขาไฮด์ปาร์คหลังการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ในข้อหาหมิ่นรัชทายาทตาม ม. 112 จากกรณีการปราศรัยบนเวทีสนามหลวง บุญยืนเข้ามอบตัวในวันเดียวกันและถูกคุมขังทันทีนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว ต่อมาเธอให้การรับสารภาพด้วยความหวาดกลัวและหวังว่าจะขอพระราชทานอภัยโทษใน ภายหลัง ในที่สุดศาลพิพากษาจำคุกบุญยืน 12 ปี และลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งเนื่องจากเธอรับสารภาพ ปัจจุบัน บุญยืนยังอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ขอลดหย่อนโทษ ขณะที่บ้านและรถที่ใช้ในการประกอบอาชีพของครอบครัวได้ถูกยึดไปหมดแล้ว เนื่องจากขาดผ่อนชำระ เพราะเธอซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัวถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ สามีของเธอจึงต้องหารายได้ด้วยการรับจ้างทั่วไปมาจ่ายเป็นค่าเช่าบ้านและ เลี้ยงดูลูกคนเล็กซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่
3
วันที่ 14 มกราคม 2552 สุวิชา ท่าค้อ วิศวกรในบริษัทขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศเข้า จับกุมขณะกำลังเดินซื้อของกับภรรยาในตลาดอำเภอเมืองนครพนมด้วยข้อหาเผยแพร่ รูปและข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูงทางอินเทอร์เน็ต ก่อนจะถูกควบคุมตัวขึ้นเครื่องบินมาสอบปากคำที่กรุงเทพฯ ในคืนนั้น สองวันต่อมาสุวิชาถูกนำตัวไปฝากขังยังศาลอาญา กระบวนการทั้งหมดกระทำไปโดยที่ผู้ต้องหาไม่มีทนายให้คำปรึกษา ภายหลังถูกจับกุมเพียงไม่กี่วัน บริษัทที่สุวิชาทำงานอยู่ได้มีคำสั่งเลิกจ้างเขาและไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ โดยอ้างว่าการกระทำของเขาทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง ระหว่างที่สุวิชาถูกคุมขัง ญาติของเขาพยายามยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตด้วยเหตุผลว่า สถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนทั้งประเทศ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และกรณีนี้เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง อัตราโทษสูง ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่บอกเขาว่า หากให้ความร่วมมือแล้วจะปล่อยตัวกลับบ้าน สุวิชาอยากกลับบ้าน เขาจึงยอมรับสารภาพตามที่เจ้าหน้าที่ต้องการ แม้จะต้องแต่งเรื่องราวไปตามพล็อตเรื่องขบวนการ ต่อต้านเบื้องสูงดังความเชื่อของเจ้าหน้าที่ก็ตาม ทว่าสุดท้าย ในวันที่ 3 เมษายน 2552 ศาลก็ตัดสินจำคุกเขาจากความผิด 2 กระทง กระทงละ 10 ปี รวม 20 ปี และลดโทษให้คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี สุวิชาถูกพรากจากภรรยา ซึ่งต้องดูแลลูกวัยเรียนอีก 3 คนเพียงลำพัง
4
วันที่ 19 กันยายน 2549 กองกำลังผูกริบบิ้นสีเหลืองเคลื่อนออกมานอกพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของตน และก่อการ "รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ทว่าโดยมิคาดฝัน ปฏิบัติการทางการเมืองของพวกเขากลับส่งผลสะเทือนย้อนไปบ่อนเซาะทำลายตัว เองอย่างถึงราก ท่ามกลางการต่อสู้/ขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวางของบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดี หมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ฯ นับเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีนัยสำคัญยิ่ง กล่าวให้ถึงที่สุด ปรากฏการณ์ "ฟองสบู่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" หลังเหตุการณ์ 19 กันยาฯ จนลุกลามกลายเป็น "วิกฤตความจงรักภักดีด้อยคุณภาพ" นั้น มิได้เกิดจากเพียงปัญหาการตีความ ม. 112 หรือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง หากยังเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากความตึงเครียดครั้งใหญ่ภายในวัฒนธรรมการ เมืองแบบไทยๆ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปัญหาใจกลางที่สังคมไทยต้องเข้าเผชิญหน้าประการหนึ่ง จึงอยู่ที่ว่า ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันประเพณีอันสืบทอด/ ตกค้างมาจากระบอบเก่า ที่จะเหมาะสมสอดคล้องกับสังคมไทย ซึ่งย่อมไม่ย้อนไปเป็นเช่นเดิมก่อนหน้า 19 กันยาฯ อีกแล้วนั้น ควรเป็นเช่นไร สังคมไทยสมัยปลายรัชกาลจะเขยื้อนไปสู่ทิศทางใด ด้วยต้นทุนเท่าไร คงขึ้นอยู่กับระดับวุฒิภาวะและความกล้าหาญที่จะแสวงหาคำตอบดังกล่าว
สารบัญ
คำขบวน
Recuperated Workplaces สถานประกอบการที่แรงงานกอบกู้
ภัควดี วีระภาสพงษ์
Recuperated Workplaces สถานประกอบการที่แรงงานกอบกู้
ภัควดี วีระภาสพงษ์
เงินเดินดิน
ฟองสบู่ เงินเฟ้อ การเงินปืนกล และเงินตราแห่งอนาคต
สฤณี อาชวานันทกุล
ปีกซ้ายไร้ปีก
ข่าวว่ามาร์กซ์จะคืนชีพ ตอนวิกฤตเศรษฐกิจ
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
รายงานพิเศษ
ขวบปีที่ทุลักทุเล ของมรดกโลกพระวิหาร
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
ทัศนะวิพากษ์
ความรุนแรงแห่งโทษที่ไม่เป็นธรรมและการปิดกั้นความจริงในมาตรา 112 แห่งประมวลกฏหมายอาญา
จรัญ โฆษณานันท์
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กับความมั่นคงของรัฐ
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีการถกเถียง/ขัดแย้งกันมากที่สุดในสังคมไทยท่าม กลางความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ปัญหาอันเกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรา 112 ได้กระตุ้นให้องค์กรวิชาการจาก 4 สถาบันการศึกษา ร่วมกันงานสัมมนาว่าด้วยเรื่อง "หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ขึ้น ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ ฟ้าเดียวกัน จึงขอนำเสนอผลงานของนักวิชาการ 2 ท่านที่ได้เข้าร่วมเวทีสัมมนาดังกล่าว เริ่มต้นด้วยข้อเขียนของจรัญ โฆษณานันท์ นักนิติปรัชญาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยปัญหาความรุนแรงแห่งโทษที่ไม่เป็นธรรม การยกสถานะภาพของสถาบันกษัตริย์ให้สูงกว่ากฎหมาย รวมทั้งปัญหาการไม่ยอมรับต่อข้อยกเว้นความผิดและโทษในมาตรา 112 จากนั้น ฟ้าเดียวกัน ได้เรียบเรียงคำอภิปรายของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งชวนเราตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างมาตรา 112 กับระบอบการปกครองและรัฐธรรมนูญไว้อย่างน่าสนใจ มาเผยแพร่ ณ ที่นี้
วิกฤตปัจจุบันในทัศนะฝ่ายซ้าย ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและ ปัญหาอำนาจนำของสหรัฐอเมริกา
ภารุต เพ็ญพายัพ
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก รวมทั้งฝ่ายกระแสรองจำนวนไม่น้อย มักมอง "วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์" โดยพุ่งเป้าไปที่ปัญหาความบกพร่องของการกำกับควบคุมและการเก็งกำไรในภาคการ เงิน นักคิดฝ่ายซ้ายปีกหนึ่งได้วิพากษ์ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ววิกฤตซับไพรมนั้น เป็นเพียง "อาการของโรค" อย่างหนึ่งของระบบทุนนิยมที่แสดงออกในภาคการเงิน อันมีรากฐานมาจากข้อจำกัดของภาคการผลิตที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ผนวกกับพลวัตความเสื่อมถอยทางอำนาจนำของสหรัฐฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบระเบียบของเศรษฐกิจการเมืองโลกในอนาคต
เงื่อนไขความสำเร็จ/ล้มเหลวของยุทธวิธี ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม: ศึกษากรณีขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินจังหวัดลำพูน
กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น
ภาพตัวแทนคนจน ในรายการเกมส์โชว์ทางโทรทัศน์
ขวัญฟ้า ศรีประพันธ์
บทความ 2 ชิ้นจากวิทยานิพนธ์รางวัล "วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์" ครั้งที่ 1 ชิ้นแรกศึกษาขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน จังหวัดลำพูน กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็นได้พยายามตอบคำถามว่าเหตุใดขบวนการฯ จึงเลือกใช้ยุทธวิธีการบุกยึดที่ดิน และด้วยเหตุปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ขบวนการฯ ประสบความสำเร็จ / ความล้มเหลวในแต่ละช่วงเวลา ผ่านแนวคิดชุดยุทธวิธีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและแนวคิดว่าด้วยตัวแบบ กระบวนการทางการเมือง ชิ้นที่สองได้ศึกษารายการโทรทัศน์ "เกมปลดหนี้" โดยใช้กรอบวิเคราะห์ตามแนวทางวัฒนธรรมศึกษา ขวัญฟ้า ศรีประพันธ์ได้ถอดรหัสให้เราเห็นกลยุทธการสร้างภาพตัวแทน ?คนจน? ผ่านการผลิตของสื่อในโทรทัศน์ ซึ่งทำหน้าที่ทางอุดมการณ์เพื่อกลบเกลื่อนความขัดแย้งในสังคม และรักษาสถานภาพความไม่เท่าเทียมกันไว้คงเดิม
บทวิพากษ์ "การเมืองภาคประชาชน" ในประเทศไทย: ข้อจำกัดของแนววิเคราะห์และยุทธศาสตร์การเมืองแบบ "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่"
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ & เควิน ฮิววิสัน
การเกิดขึ้นและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ได้ก่อให้เกิดคำถามต่อสิ่งที่เรียกกันว่า "การเมืองภาคประชาชน" เหตุใดองค์กรและบุคคล "ภาคประชาชน" จำนวนมากถึงเลือกที่จะทำแนวร่วมและเคลื่อนไหวผ่านอุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อประชาธิปไตย ซึ่งลักลั่นข้ดแย้งกับการศึกษาวิเคราะห์การเมืองแบบขบวนการเคลื่อนไหวทาง สังคมในรอบเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เก่งกิจ กิติเรียงลาภได้ลองหาคำตอบและคลี่คลายปมปัญหานี้ โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของยุทธศาสตร์การเมืองกระแสหลักของ "การเมืองภาคประชาชน" รวมทั้งข้อจำกัดของกรอบวิเคราะห์แบบขบวนการทางสังคม โดยเฉพาะทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ซึ่งปฏิเสธการวิเคราะห์และมิติทางชนชั้นของสำนักมาร์กซิสต์