สกู๊ปหน้า 1
แม่น่ำส็องแกไหลผ่าเมืองพระตะบองด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำ มีชุมชนชาวกัมพูชาอาศัยอยู่ประปราย ส่วนด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำ มีวัดดำเรียซอ หรือวัดช้างเผือกเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา มีสถานที่ราชการอยู่มากมายฝั่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน พิพิธภัณฑ์ โรงพยาบาล เรือนจำ สถานีรถไฟ และจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบอง
"ผมใคร่ขอแสดงความขอบคุณอย่างยิ่งต่อรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยผ่านทางสมาคมวัฒนธรรมไทย กัมพูชา ที่ได้ช่วยเหลือต่อโครงการซ่อมจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบอง"
นายปราชญ์ จันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบอง กล่าวด้วยเสียงเรียบ นุ่ม ท่ามกลางคณะผู้แทนฝ่ายไทยที่นำเอาเงินช่วยเหลือซ่อมจวนผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวนกว่า 1 ล้านบาทไปมอบให้ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2552 ที่ผ่านมา
ผู้แทนฝ่ายไทยนำโดย นายปกศักดิ์ นิลอุบล ประธานสมาคมวัฒนธรรมไทย กัมพูชา นายชโลทร เผ่าวิบูล อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ และผู้เกี่ยวข้องอีกหลายฝ่าย
โครงการซ่อมจวนผู้ว่านี้ ฝ่ายกัมพูชาบอกว่า จะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2553 งบประมาณที่ใช้ซ่อมเป็นของ
รัฐบาลกัมพูชา และส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ และสมาคมวัฒนธรรมไทย กัมพูชา
นายปกศักดิ์ นิลอุบล นายกสมาคมบอกว่า สมาคมวัฒนธรรมไทย กัมพูชา เห็นว่า การบูรณะซ่อมแซมจวนผู้ว่าฯ จะช่วยกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจระดับประชาชนของทั้งสองประเทศ จึงเห็นควรให้
การสนับสนุนเงินซ่อมแซมจวนผู้ว่าฯเป็นจำนวน 1,069,000 บาท
สิ่งนี้จะเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมืออันดีระหว่างไทยกับกัมพูชา และยังเป็นกิจกรรมหนึ่งของการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ ทางการทูตระหว่างไทย-กัมพูชาในปี พ.ศ. 2553
ทำไมรัฐบาลไทยต้องซ่อมจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบอง คำตอบในเรื่องนี้คือ จวนผู้ว่าฯหลังนี้ สร้างโดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) เมื่อ พ.ศ.2448 สมัยนั้นกัมพูชายังตกอยู่ภายในอาณานิคมของฝรั่งเศส
เหตุการณ์ต่อมา เมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศรย้ายที่พำนักจากจังหวัดพระตะบองมาจังหวัดปราจีนบุรี ท่านได้มาสร้างจวนผู้ว่าฯหลังใหม่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันอยู่ในอาณาบริเวณโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี
จวนผู้ว่าฯหลังเก่านั้น รัฐบาลกัมพูชาใช้เป็นสถานที่ราชการสืบมา
หลังใช้อาคารมานานทำให้ผุพังบางส่วน จึงซ่อมแซมครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2539 และซ่อมอีกครั้ง คือครั้งนี้ เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2551 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 255,000 ดอลลาร์
นายปราชญ์ จันทร์ กล่าวอย่างภูมิใจว่า จวนผู้ว่าราชการจังหวัดหลังนี้ "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯมาเนื่องในวโรกาส เสด็จเยือนพระตะบองเมื่อปี พ.ศ.2549 ครั้งนั้น พระองค์ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ทาง
จังหวัดถวายเลี้ยงพระกระยาหารกลางวัน ณ อาคารด้วย"
สำหรับการยื่นมือให้ความช่วยเหลือของกระทรวงการต่างประเทศ นายปราชญ์บอกว่า เมื่อปี พ.ศ.2549 ได้มีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมการบูรณะ ต่อมาก็มีการช่วยเหลืองบประมาณ
เมื่อบูรณะเสร็จ ประโยชน์ที่จะได้รับ คือ ใช้เป็นสถานที่ราชการ ของหน่วยงานต่างๆของจังหวัดพระตะบอง เหนือจากนั้น คือ แสดงให้เห็นถึงการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่ที่มีมรดกทางศิลปะอันล้ำค่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะสมัยอาณานิยม หรือ "โคโลเนียล สไตล์"
จังหวัดพระตะบอง ชาวกัมพูชาเรียก "บัดด็อมบอง" แปลว่า ตะบองหาย ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของจังหวัดปราจีนบุรีของไทย และตั้งอยู่ทิศตะวันตกของกรุงพนมเปญ ระยะทางจากกรุงพนมเปญมาถึงพระตะบองประมาณ 291 กม.
จังหวัดพระตะบองมีพื้นที่ประมาณ 11,748 ตร.กม. ประชากรประมาณ 1,030,301 คน เป็นแหล่งอารยธรรมอุดมไปด้วยโบราณสถานต่างๆ เช่น ปราสาทวัดเอกพนม ปราสาทเสนง ปราสาทบาแสต ปราสาทพนมส็อมปึว และปราสาทบานอน เป็นต้น
นางสึม มารี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบอง เล่าบรรยากาศการท่องเที่ยวพระตะบองด้วยว่า พระตะบองมีโบราณสถานมาก และมีแหล่งท่องเที่ยวไม่แพ้จังหวัดอื่นใดในกัมพูชา
สถิตินักท่องเที่ยวปีที่ผ่านมา นางสึม มารีบอกว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เป็นญี่ปุ่น รองลงมาเป็นเกาหลี จีน และไทย
สาเหตุที่คนไทยมีจำนวนน้อย ทั้งๆที่เป็นคนในประเทศเพื่อนบ้าน สึมบอกว่า คนไทยมักมาติดต่อธุรกิจการค้าแล้วก็กลับ ไม่ค่อยมาอยู่พักเหมือนชาติอื่นๆ
ในแง่ของความสัมพันธ์ไทย กัมพูชา นายชโลทร เผ่าวิบูล อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ เปิดใจเรื่องการดำเนินกิจกรรมกระชับสร้อยสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาว่า
ไทยกับกัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้าน มีการไปมาหาสู่กันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ดังนั้น เรื่องการไปมาหาสู่กัน เราควรพัฒนาให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น เพื่อให้ความสะดวกสบายต่อประชาชนทั้งสองประเทศ
ดังนั้น "ปี พ.ศ.2553 เรามีโครงการยกเลิกวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวไทย กัมพูชา จะได้รับการยกเว้นเมื่อทำวีซ่าเข้าประเทศถึง 30 วัน"
นอกจากนั้น เพื่อความสะดวกในการเดินทางไปทำวีซ่า "ไทยจะเปิดกงสุลใหญ่ที่จังหวัดเสียมเรียบ เพื่อชาวกัมพูชาที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง ต่อไปก็ไม่จำเป็นต้องไปทำวีซ่าที่สถานทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ"
ทั้งสองโครงการนี้ เมื่อแล้วล่วงย่อมเอื้อความสะดวกสบายระหว่างชาวไทยกับกัมพูชาได้เป็นอย่างมาก
สำหรับเรื่องที่กระทบกระทั่งกัน ปัญหาใหญ่มาจากเรื่องเขตแดน
นายชโลทรบอกว่า ปัจจุบันไทยและกัมพูชากำลังดำเนินการปักปันเขตแดนอยู่ บางช่วงตอนจำเป็นต้องอาศัยความรอบคอบ ยังดำเนินการไปได้ไม่มากนัก สำหรับพื้นที่ทางทะเลจำเป็นต้องรอการปักปันเขตแดนทางบกให้เสร็จสิ้นก่อน
"ถ้าเรามีเจตนารมณ์ทางบวกด้วยกันแล้ว ทุกอย่างก็จะไปได้ด้วยดี"
เรื่องกัมพูชาให้สัมปทานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ นายชโลทรบอกว่า ยังเป็นเพียงโครงการเท่านั้น ยอมรับว่ามีการเจรจากัน แต่ยังไม่มีการขุดเจาะ แต่อย่างใด เพราะต่างฝ่ายยังอ้างสิทธิ์พื้นที่ทับซ้อนอยู่ และขณะนี้ "เราก็มีทิศทางที่ดี ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน
และต้องใช้เวลา"
หลังการกระทบกระทั่งกัน สภาพการลงทุนในกัมพูชาเป็นอย่างไรนั้น นางอมรรัตน์ จตุรภัทร นักธุรกิจร้านอาหารไทยและที่พักบอกว่า ธุรกิจของตนไม่มีผลกระทบแต่อย่างไร
และที่สำคัญ "ธุรกิจเราไม่ได้เน้นไปที่นักท่องเที่ยว เราขายให้กับคนท้องที่ พอมีเรื่องก็มักมีคนถามเหมือนกัน เราก็พยายามชี้แจงว่า ข่าวก็คือข่าว ส่วนใหญ่เขาก็เข้าใจ"
สร้อยสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาไม่ว่าจะเรื่องช่วยซ่อมจวนผู้ว่าฯจังหวัดพระตะบอง หรือเอื้อไมตรีกันด้านใด ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาซึ่งความสงบสุขของคนทั้งสองประเทศทั้งสิ้น
ดังนั้น สิ่งที่เราต้องระมัดระวัง คือ ลิ้นบางลิ้นที่พูดเพื่อประโยชน์ ส่วนตนแล้วทำลายความสัมพันธ์คนทั้งสองประเทศ.