บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

"หมอบรรลุ"แถลงผลสอบไทยเข้มแข็งจี้4นักการเมือง-8ขรก.รับผิดชอบส่อโกง "วิทยา-มานิต-แม่เลี้ยงติ๊ก-กฤษดา"

ที่มา มติชน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.บรรลุ ศิริพานิช ในฐานประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และกรรมการ ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็งของ สธ. และมอบหลักฐาน จำนวน 4,733 แผ่น ให้นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้กรรมการตรวจสอบฯ หลังใช้เวลาสอบสวนนานร่วม 2 เดือน


จากนั้นเวลา 14.20 น. นพ.บรรลุ ได้เปิดแถลงข่าวรายงานผลการตรวจสอบให้สื่อมวลชนรับทราบ โดยนพ.บรรลุ แถลงว่า ผลการสอบสวนโดยภาพรวมพบว่า การจัดตั้งงบประมาณ มีพฤติกรรมและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า “ส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตจริง” ที่น่าจะยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ได้แก่ การขอตั้งงบประมาณทั้งสิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์การแพทย์ และรถพยาบาล มีความผิดพลาดมากมาย การกระจายตัวไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และราคาที่ตั้งไว้สูงเกินสมควร โดยหลายรายการตั้งราคาไว้สูงมาก และมีพฤติกรรมบางประการที่ส่อเจตนาการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หากไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง แทนที่จะทำให้ ไทยเข้มแข็ง สมเจตนารมณ์ จะกลับทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง


นพ.บรรลุ กล่าวว่า สรุปประเด็นสำคัญดังนี้


1.งบประมาณสิ่งก่อสร้าง มุ่งเน้นการสร้างความเจริญในตัวจังหวัด แทนที่จะกระจายสู่อำเภอรอบนอก ทำให้ช่องว่างของคุณภาพบริการสาธารณสุขระหว่างตัวจังหวัดและอำเภอรอบนอกถ่างกว้างขึ้น ประชาชนต้องหลั่งไหลเข้าไปรับบริการในตัวจังหวัดมากขึ้น สร้างทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และ เพิ่มความเสี่ยงระหว่างเดินทาง โดยเฉพาะกรณีป่วยหนัก
2.งบประมาณสิ่งก่อสร้าง มีความกระจุกตัวในบางจังหวัด ในลักษณะ มือใครยาวสาวได้สาวเอา เช่น จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีโรงพยาบาลระดับจังหวัดอยู่แล้วถึง 3 โรง และยังมีโรงพยาบาลศูนย์อยู่อีก 1 โรง ทั้งที่ส่วนใหญ่ จังหวัดหนึ่งมีโรงพยาบาลระดับจังหวัดเพียงแห่งเดียว ขณะที่ บางจังหวัดซึ่งขาดแคลนกลับได้รับการจัดสรรน้อย
3.งบประมาณครุภัณฑ์การแพทย์ มีการจัดซื้อสิ่งไม่จำเป็น และราคาแพงจำนวนมาก นอกจากเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแล้ว ยังเป็นภาระในการบำรุงรักษาในอนาคต ครุภัณฑ์บางอย่าง หน่วยงานมิได้ต้องการหรือขอมา กลับจัดสรรให้โดยส่อเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ นอกจากนั้น ครุภัณฑ์การแพทย์เหล่านี้ล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น 4.งบประมาณส่วนใหญ่ มุ่งเน้นที่สิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์การแพทย์ โดยงบประมาณสำหรับการสร้างและพัฒนาบุคลากรไม่ได้สัดส่วน ทำให้สิ่งก่อสร้างและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เงินจำนวนมากจัดซื้อจัดจ้างไว้ ใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่า


นพ.บรรลุ กล่าวว่า สาเหตุของความบกพร่องผิดพลาด ส่อไปในทางจะทำให้เกิดทุจริต สรุปสาระใหญ่ๆ ได้ 2 ประการ ได้แก่ 1.ข้าราชการประจำอ่อนแอ ปลัดกระทรวงและรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายขาดความรับผิดชอบ ไม่ให้ความสำคัญกับโครงการนี้เท่าที่ควร โครงการใหญ่ขนาดนี้ ปลัดกระทรวงควรลงไปดูแลเอง และควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นดำเนินการ รวมทั้งควรมีการกำหนดนโยบาย และหลักเกณฑ์การพิจารณา ทั้งในเรื่องการกระจายงบประมาณอย่างเหมาะสม และการพิจารณากำหนดราคาที่สมควร กลับปล่อยปละละเลย ให้รองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย (รองปลัดฝ่ายบริหาร) ซึ่งอ่อนประสบการณ์ และมีความรู้ความสามารถไม่พอเพียง


“รวมทั้งไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่เท่าที่ควร ปล่อยให้เป็นภาระของสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค(สบภ.) ซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานภายใน มีผู้ปฏิบัติงานเพียง 53 คน มีแพทย์คนเดียว รับผิดชอบงานใหญ่ขนาดนี้ ในขณะที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบการกำกับดูแลของรองปลัดกระทรวงฝ่ายบริหาร มีข้าราชการปฎิบัติงานทั้งสิ้น 283 คน กลับปัดความรับผิดชอบ อ้างว่ามีหน้าที่เพียงตรวจสอบยอดและหมวดเงินให้ตรงตามที่ได้รับจัดสรรเท่านั้น” นพ.บรรลุ กล่าว


นพ.บรรลุ กล่าวว่า การที่ผู้บริหารระดับสูงไม่เป็นผู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ด้วยตนเอง ประกอบกับการไม่มีคณะกรรมการมาร่วมพิจารณา และไม่มีเกณฑ์วางไว้ งานจึงไม่มีระบบ ใครจะของบอย่างไรก็ขอจะเปลี่ยนอย่างไรก็เปลี่ยน ตามใจของผู้มีอำนาจ นอกจากแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบและขาดความรู้ความสามารถแล้ว ยังส่อเจตนาไม่สุจริต เอื้อให้มีการกระทำตามใจชอบ และเปิดทางให้มีการทุจริตด้วย


นพ.บรรลุ กล่าวว่า สำหรับนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่อาจปัดความรับผิดชอบในความบกพร่อง ส่อเจตนาไม่สุจริต และการเปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นในสธ. ได้ ส่วนนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการไทยเข้มแข็ง และไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่มีพฤติกรรมก้าวก่าย ล้วงลูก กดดัน ให้มีการจัดสรรงบประมาณเกินจำเป็นลงพื้นที่ของตน รวมทั้งน่าเชื่อว่าอาจพัวพันเรื่องการฮั้วรถพยาบาลด้วย


นพ.บรรลุ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีข้อเสนอ ดังนี้

1.ควรมีการทบทวนการพิจารณาโครงการใหม่ทั้งหมด ทั้งรายการสิ่งก่อสร้าง รายการครุภัณฑ์การแพทย์ และรายการรถพยาบาล ทั้งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมอื่นๆ โดยเฉพาะกรมการแพทย์ รวมทั้งโครงการพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะต้องได้สัดส่วนเหมาะสมกัน ทั้งนี้ ควรดำเนินการโดยมุ่งคุณภาพ เพื่อให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งของประเทศอย่างแท้จริง มิใช่ทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง และสร้างปัญหาในระยะยาว โดยปลัด สธ. จะต้องลงมาเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง มีหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างสมเหตุสมผล โปร่งใส ใช้บุคลากร สธ. ที่มีคุณภาพซึ่งมีอยู่มากช่วยกันทำ เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน
2.ควรมีการสอบสวนข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องทั้งที่ยังรับราชการและที่เกษียณอายุไปแล้วในกรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายว่าเป็นความผิดที่ได้ทำมา เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป
3.ควรพิจารณาดำเนินการกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องตาม “กฎเหล็ก 9 ข้อ” ของ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ที่แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะในข้อ 2 ที่ “เน้นให้ยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด” และข้อ 9 ที่ระบุว่า “ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้นมีมาตรฐานที่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย”

“ในการรายงานข้อมูลในนายกฯ รับทราบ ท่านได้สนใจซักถามข้อมูลเพิ่มเติมนานถึง 30 นาที ซึ่งท่านบอกว่าจะนำรายงานสรุปผลไปอ่านช่วงปีใหม่นี้ ส่วนจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ หรือส่งเรื่องให้ปปช. สอบสวนต่อในเรื่องใดบ้างนั้น เป็นดุลยพินิจของท่านนายกฯ ว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป เชื่อว่าท่านมีวิจารณญาณตัดสินได้ ซึ่งคงจะได้เห็นหลังจากเทศกาลปีใหม่นี้ว่าท่านนายกฯ จะสั่งให้สธ. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบใครบ้าง เชื่อผมเถอะว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” นพ.บรรลุ กล่าว

นพ.วิชัย โชควิวัฒน เลขานุการและกรรมการฯ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีความผิดชัดเจน แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือฝ่ายข้าราชการการเมือง มี 4 ราย ได้แก่
1.นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกรทะรวงสาธารณสุข ฐานความผิดบกพร่องต่อหน้าที่และไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นในสธ.ในฐานะเจ้ากระทรวง
2.นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดมีพฤติกรรมที่ส่อในการทุจริต คือ ไม่ดูแลโครงการไทยเข้มแข็งแต่ล้วงลูกดึงงบเข้าจังหวัดราชบุรี และนัดทานข้าวกับบริษัทเจ้าของรถยนต์ผู้ผลิตรถพยาบาล รวมถึงเครื่องพ่นฆ่ายุงลาย
3.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตโดยนัดทานข้าวร่วมกับนายมานิต และผู้ประกอบการผลิตรถพยาบาล และ
4.นพ.กฤษดา มนูญวงศ์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดเป็นผู้ล็อบบี้ให้มีการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลตแบบระบบปิด(ยูวี แฟน)


นพ.วิชัย กล่าวว่า ส่วนข้าราชการประจำ มี 8 ราย ได้แก่
1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดสธ. ฐานความผิดบกพร่องต่อหน้าที่ เพราะโครงการใหญ่ที่มีงบประมาณมากระดับ8.6 หมื่นล้านบาทกลับไม่ดูแลด้วยตนเอง เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้
2.พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดสธ. ฐานความผิดไม่เอาใจใส่ต่อโครงการที่มีงบประมาณมาก โดยให้สำนักงานสาธารณสุขภูมิภาคที่มีผู้ทำงานกว่า 50 คนดูแล โครงการใหญ่ขนาดนี้ เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้
3.นายกสินทร์ วิเศษสินธุ์ อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขณะนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ฐานความผิดที่มีการปรับปรุงแบบแผนทำให้เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้
4. นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ ฐานความผิดจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ราคาแพงผิดสังเกต
5.นพ.สุชาติ เลาบริพัตร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารสาธารณสุขภูมิภาค(สบภ.) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยูวีแฟน

นพ.วิชัย กล่าวว่า ส่วนรายที่ 6-8 พบว่า บกพร่องต่อหน้าที่แต่ไม่มีหลักฐานว่ามีการทุจริต คือ
6.นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ในปัจจุบัน ฐานความผิดที่สมัยเป็นรองปลัดสธ.รับผิดชอบสบภ. แต่โครงการดังกล่าวเป็นหน้าที่ของพญ.ศิริพรดูแล แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้
7.นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ฐานความผิดที่รับผิดชอบการดำเนินการโครงการไทยเข้มแข็งแต่ปัดความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น อ้างว่าทำหน้าที่เพียงการตรวจสอบยอดการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น
8.นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 6 สมัยนั้นดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ ฐานความผิดให้โรงพยาบาลจัดซื้อเครื่องยูวีแฟนราคาแพง

พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ รองประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า นักการเมือง โดยเฉพาะเป็นเจ้ากระทรวงต้องดูแล และรับผิดชอบภาระงานทุกอย่าง มีความรับผิดชอบระดับนี้แล้วจะนั่งดูดายไม่ได้ หากทำถูกต้องทุกอย่างจะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 10,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ความรับผิดชอบของแต่ละคนก็ม่เหมือนกัน แต่นายกฯ ต้องรับผิดชอบดำเนินการลงโทษคนผิดด้วยเพราะ นายกฯ เป็นคนแต่งตั้งคนเหล่านี้มาทำงาน ตั้งได้ก็ต้องถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ด้วยเช่นกัน ส่วนรัฐมนตรี หากหน้าบางก็ต้องลาออก อย่างสมัยตนมีปัญหาในรัฐสภา ผมก็ต้องลาออกเพราะไม่เหมาะสม ทั้งที่ตนทำไปเพื่อการป้องกันตัว

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker