คอลัมน์
บทบรรณาธิการ
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ปีที่ 11 ฉบับที่ 2703 ประจำวัน จันทร์ ที่ 28 ธันวาคม 2009
กรณีคดีเงิน 258 ล้านบาท จากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสียงข้างมากไม่แสดงความชัดเจน แต่โยนเรื่องให้นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. และในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ใช้ดุลยจพินิจในการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามมาตรา 95 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่าจะยุบพรรคประชาธิปัตย์ หรือยกคำร้องนั้น
ไม่ใช่แค่ประเด็นร้อนทางการเมืองเท่านั้น แต่กำลังจะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งของกระบวนการยุติธรรมเรื่องสองมาตรฐาน โดยเฉพาะการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าเป็นไปโดยอิสระ โปร่งใส และยุติธรรม หรือสองมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือรัฐธรรมนูญปี 2550
โดยเฉพาะกรณียุบหรือไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่ง กกต. ให้นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองชี้ขาดคนเดียว ทั้งที่รู้ว่านายอภิชาตมีความเห็นให้ยกคำร้อง จึงทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ของกฎหมายและข้อเท็จจริง รวมทั้งศักดิ์ศรีของ กกต. ซึ่งจะส่งผลถึงองค์กรอิสระอื่นๆไม่มากก็น้อย
ขณะที่พรรคเพื่อไทยและนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ขู่จะฟ้องร้อง กกต. เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องถึง 3 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.เลือกตั้ง และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งกรณี กกต. เป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 (5) และตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีหน้าที่สืบสวนข้อเท็จจริงและข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งมี กกต. หนึ่งเสียงที่ลงมติให้ยุบ อีกหนึ่งเสียงให้ยกคำร้อง ส่วนสามคนที่เหลือยังไม่ได้ทำหน้าที่ เท่ากับจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้น กกต. ต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นความผิดหรือไม่ และเข้าข่ายต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะยุบพรรคหรือไม่ ไม่ใช่ส่งให้นายทะเบียนตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองชี้ขาดคนเดียว
ที่สำคัญกรณีนี้ผ่านการสอบสวนโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว แต่ กกต. ทั้งคณะโยนเรื่องหรือเปิดช่องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองคนเดียวสามารถยกคำร้องได้ จึงทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่าส่อเจตนาช่วยประชาธิปัตย์ไม่ให้ถูกยุบพรรค
แม้ขณะนี้ กกต. จะโต้เถียงว่าตามมาตรา 95 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 และกฎหมายพรรคการเมืองเดิมปี 2541 กรณียุบพรรคการเมืองได้ให้อำนาจนายทะเบียนพรรคการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุม กกต. ก็ตาม
คดีนี้ไม่ใช่ตีความแค่ในแง่ของกฎหมาย แต่ต้องพิจารณาตั้งแต่การลงมติของ กกต. ทั้งคณะ และข้อมูลหลักฐานเส้นทางของเงิน 258 ล้านบาทว่าอัปลักษณ์และอัปยศอย่างไร