โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
30 ธันวาคม 2552
หมายเหตุ:ศ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ส่ง สคส. ปีใหม่ด้วย เขมรินทร์-อินทิรา ของ ก. สุรางคนางค์ เธอเขียนนวนิยายน้ำดีล้ำยุคไปเพื่อ Make Love not War ก่อนใครต่อใคร (ที่เป็นนักเขียนชาย) ด้วยซ้ำไป
Happy New Year 2010
(1) For the spirit of Siam and ASEAN: Make Love not War with thy Neighbor
(2) For pleasure and friendship with Cambodia, if you can read Thai, read the novel: Khemarin-Inthira, along with Ban Sai Thong..
Regards: Charnvit K.
เขมรินทร์ ~ อินทิรา
ประพันธ์โดย ก.สุรางคนางค์
นิยายรักสองแผ่นดิน
ที่มา : เขมรินทร์ ~ อินทิรา
ประพันธ์โดย ก.สุรางคนางค์
เรื่องย่อ :
อินทิรา วัลลภานุรักษ์ ตัดสินใจเดินทางไปทำงานเป็นครูสอนภาษาไทยให้กับเจ้านายเล็ก ๆ ของเขมรที่พนมเปญ
เพื่อหลบเลี่ยงการถูก'จับคู่' โดยมารดาและพี่ชายของเธอ
ทั้งนี้ก็เพราะเธอมี 'ชายในฝัน' อยู่แล้วในใจของเธอ นับตั้งแต่ที่เธอได้พบกับเขาโดยบังเอิญ ณ ปราสาทเขาพระวิหาร โดยที่เธอไม่มีโอกาสได้รู้จักว่าเขาเป็นใคร...
เธอเฝ้าวิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ได้พบกับเขาอีกครั้ง...
แต่เมื่อเธอได้พบกับเขาจริง ๆ เธอกลับรู้สึกเศร้าใจในชะตาชีวิตของตนเองเพราะชายในฝันที่เธอเฝ้าใฝ่ฝันถึงนั้นกลับกลายเป็นเจ้าชายเขมรินทร์ พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงกัมพูชา...
เจ้าชายเขมรินทร์ทรงแสดงออกอย่างเปิดเผยว่า "โปรด" ครูสาวชาวไทยเป็นพิเศษ และมุ่งมั่นที่จะทำทุกอย่างเพื่อได้เธอมาเป็นคู่ชีวิต
แต่ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ไทยและกัมพูชากำลังมีปัญหาขัดแย้งกันในเรื่องของสิทธิครอบครองปราสาทเขาพระวิหารอยู่และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยอีกด้วย
อินทิราจึงตัดสินใจ...ตัดใจอำลาจากเขมรินทร์กลับเมืองไทยก่อนกำหนด
เขมรินทร์ติดตามอินทิรามาเมืองไทย ท่ามกลางความไม่พอใจของพระญาติพระวงศ์บางส่วน
และทนยอมรับความไม่เข้าใจและความคลางแคลงใจของญาติ ๆ ทางฝั่งอินทิรา...
ทั้งสองพบรักกันที่ปราสาทเขาพระวิหาร.........ฤาจะต้องพรากจากกันด้วย "เขาพระวิหาร" เป็นเหตุ...?
ด้วยความหนาและหนักของหนังสือสองเล่มนี้ ประกอบกับเคยผ่าน ๆ ตาจากละครโทรทัศน์มาบ้าง
ทำให้ก่อนหน้านี้ไม่ได้หยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านอย่างจริงจังนัก...
เพียงแต่เคยพลิก ๆ อ่านบางบทบางตอน
และแน่นอนที่สุด...ตอนจบของเรื่อง
แล้วสรุปในใจตัวเองว่าเป็นนิยายรักแสนเศร้า
จึงทำให้ไม่กล้าอ่านละเอียด
จนเมื่อเกิดกรณี "เขาพระวิหาร" ขึ้นอีกครั้ง
จึงได้อัญเชิญหนังสือเล่มนี้ลงมาจากหิ้ง...และอ่านอย่างจริงจัง
เป็นนิยายรักที่อิงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศคือไทยและกัมพูชาในช่วงนั้น ๆ อย่างสอดคล้อง
ฉากของนิยายเป็นช่วงปีพ.ศ.๒๔๙๕ - ๒๕๐๑ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาในระยะนั้นเป็นไปแบบกระชับแล้วคลาย กระชับแล้วคลายอยู่หลายหน
นิยายรัก โรแมนติกตามแบบฉบับนักประพันธ์ชั้นครู จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสาระและความบันเทิงตลอดถึงรสทางวรรณศิลป์ที่ผู้อ่านจะต้องได้รับแน่นอนจากนวนิยายเรื่องนี้
แต่ที่ได้นอกเหนือไปจากนั้นก็คือเกร็ดทางวรรณคดี ประวัติศาสตร์ รวมทั้งเกร็ดอันเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของราชสำนักฝ่ายในของเขมรที่ผู้ประพันธ์ได้สอดแทรกไว้ประปรายตลอดทั้งเรื่อง จึงทำให้นวนิยายเรื่องนี้ทรงคุณค่า น่าอ่านเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนตัวประทับใจในบุคลิกลักษณะและการวางตัวของตัวละครอย่างเขมรินทร์และอินทิรามาก ๆ เต็มไปด้วยความจริงใจและมีความมั่นคงในอารมณ์สูงพอที่จะไม่กระทำการใด ๆ ให้เกิดความเสียหายให้แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น
รวมถึงแง่คิดและมุมมองต่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ชนชั้นและภาษา....
“ไฉนหนอ เมื่อฟ้าดินบันดาลให้หม่อมฉันเกิดมาเป็นคนไทย แล้วไยจึงให้ฝ่าพระบาทประสูติในราชสกุลของกัมพูชา
เพื่อให้เราแตกต่างกันทั้งเชื้อชาติ ภาษา ทำให้แลดูเหมือนมีทะเลประเพณี วัฒนธรรมกั้นขวางอยู่เบื้องหน้า..."
“เชื้อชาติ ภาษา ทำให้เราแตกต่างกันเพียงภายนอก
แต่หัวใจมิได้เป็นเช่นนั้นไม่ ถ้าคุณมีหัวใจตรงกับผม คุณจะกลัวไปไย
ขอให้เชื่อมั่นในตัวผม ผมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คุณมาเคียงข้าง
และจะทำโดยให้สมเกียรติของคุณที่สุด...
อินทิรา ความรักเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าจะแตกต่างกันเพียงใด
ผิดกันเพียงว่า เราสองคนต้องฝ่าฟันอุปสรรคนั้นให้ได้
และผมเชื่อ…ความรักที่ผมมีต่อคุณ
มากพอที่จะต่อสู้ให้ถึงจุดหมายของเรา”
"...เขมรกับไทยแท้จริงก็มิได้แตกต่างกันมากนัก...เรามีภาษาซึ่งเกือบจะคล้ายคลึงกัน
เรามีศาสนาที่เหมือนกันคือพุทธศาสนา
ของผมจะด้อยกว่าคุณอยู่บ้างมีอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เราเพิ่งจะเป็นอิสระ
เพิ่งตื่นตัวเมื่อไม่นานนักนี่เอง
ผิดกับประเทศของคุณ ซึ่งดำรงความเป็นเอกราชมาตลอดอย่างน่านับถือ...
...เรารักกันด้วยเหตุผล จะเห็นว่าเรื่องคนละชาติคนละภาษาไม่ใช่สิ่งสำคัญ
ผมรักอินทิรา จะว่าผมทรยศต่อชาติบ้านเมืองผมก็หาใช่ไม่
บ้านเมืองของผม ผมก็รักก็เคารพูชา
อินทิราก็เช่นเดียวกัน...เธอเป็นสุภาพสตรีที่รักศักดิ์ศรีของเธอไม่น้อยกว่าคนอื่น เธอภูมิใจและหยิ่งในความเป็นไทย
แต่ทว่าบังเอิญเราทั้งสองมาชอบพอรักใคร่กัน
เราจำเป็นต้องช่วยกันประคับประคองให้ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปจนได้..."
บางส่วนจากคำนำหนังสือโดย นเรศ นโรปกรณ์
"...ผมขอกราบเรียนตรง ๆ ในฐานะแฟนอ่านนวนิยายของ ก.สุรางคนางค์คนหนึ่ง ในช่วงนั้นผมไม่กล้าอ่านนวนิยายของท่านที่มีตัวเอกเป็นเจ้าชายเขมรคือ"เขมรินทร์" นี้
และวิตกแทนก.สุรางคนางค์เงียบ ๆ ด้วยซ้ำว่าประชาชนจะไม่ต้อนรับเรื่องดังกล่าวของท่าน แต่ปรากฏว่า ก.สุรางคนางค์ ได้ใช้ศิลปะการประพันธ์ และความรักอันยิ่งใหญ่ประจำโลกพร้อมด้วยเหตุผล ผ่านเรื่องนี้ด้วยดีเหมือนเรื่องอื่น ๆ ของท่าน
สมกับเป็นนักประพันธ์ใหญ่จริง ๆ ..."
**นิยายเรื่องนี้จบลงก่อนที่ศาลโลกจะได้ตัดสินให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 นับเป็นการเสียดินแดนครั้งสุดท้ายของประเทศไทย โดยบริเวณดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่