บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สงคราม"เฟซบุ๊ก"ไทย ความแตกแยก(จริง)ในโลกเสมือน

ที่มา ข่าวสด

ศักดิ์สกุล กุลละวณิชย์ / รายงาน



จากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ปะทุลากยาวหลายปี กระทั่งลุกลามกลายเป็นโศกนาฏกรรมนองเลือดในสังคมไทย เป็นหลักฐานยืนยันว่าความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของคนไทยด้วยกันได้เกิดขึ้นแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ขณะนี้การปะทะกันโดยตรงอาจยุติลงชั่วคราว พร้อมๆ กับคำสั่งยกเลิกมาตรการ "เคอร์ฟิว" ของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. แต่แนวรบของแนวร่วมทั้งสองฝ่าย (หรือหลายๆ ฝ่าย) ยังไม่หยุดอยู่แค่ในสังคมปกติทั่วไป แต่กลับยิ่งร้อนแรงทบเท่าทวีใน "โลกเสมือน" หรือ "โลกอินเตอร์เน็ต"

อีกทั้งอาจกล่าวได้ว่า ระดับความชิงชัง-เคียดแค้น-อำมหิตในชุมชนอินเตอร์เน็ตนั้น บางกรณีร้าวลึกไม่แพ้การศึกบนท้องถนน

ดังจะเห็นจากการอุบัติขึ้นของ "แนวร่วม" สารพัดกลุ่มซึ่งเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดใน "เว็บไซต์ เครือข่ายสังคมออนไลน์" (Social Network Sites : SNSs)

ล่าสุด สมาชิกในสังกัดกลุ่มต่างๆ เหล่านี้เริ่มพัฒนาการ "จัดตั้ง" ตัวเองอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อน พร้อมจะเคลื่อนไหวออกมาทำกิจกรรมตามหมากที่ "นักเล่นเกมอำนาจ" กำหนดไว้ ซึ่งเป้าหมายของกิจกรรมดังกล่าวมีทั้งที่เป็นโครงการสร้างสรรค์สังคม ไปจนถึงเพื่อรวบรวม "ไพร่พล" ไปสู้รบต่อต้านกับกลุ่มอื่นๆ ที่คิดต่าง

และแน่นอน ในเมื่อ "เฟซบุ๊ก" ครองสถานะเจ้าเว็บไซต์ SNSs ฉะนั้นจึงกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่กลุ่มคนสวมเสื้อ "สารพัดสี" ในบ้านเรารุกคืบเข้าไปสร้างพื้นที่เผยแพร่ความคิดทางการเมือง รวมถึงตั้ง "ลัทธิล่าแม่มด" จองล้างจองผลาญทำลายคนเห็นต่าง

อย่างไรก็ตาม สำหรับชุมชนเฟซบุ๊กหนุนรัฐบาลดูจะได้เปรียบหลายขุม ท่ามกลางภาวะเฟซบุ๊กคนเสื้อแดงและผู้เรียกร้องประชา ธิปไตยถูก "แบน-เซ็นเซอร์" เป็นว่าเล่น!

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 "เฟซบุ๊ก" เปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไปเป็นครั้งแรก มีข้อกำหนดเบื้องต้นแค่ผู้สมัครต้องมีอายุเกิน 13 ปี

จุดเริ่มต้นของเว็บเขย่าโลกที่มีสมาชิกกว่า 400 ล้านคน เว็บนี้ มาจากมันสมองของนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด "มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก" ที่เพิ่งอกหัก และโพสต์ไว้ใน "บล็อก" ของตนว่าต้องการหาอะไรทำเพื่อให้สมองยุ่งๆ เข้าไว้ ด้วยการสร้างเว็บหนังสือรุ่น "เฟซบุ๊ก" ขึ้นมา

ช่วงเริ่มต้นเฟซบุ๊กจำกัดให้ใช้กันเฉพาะนักศึกษาฮาร์วาร์ดเท่านั้น ก่อนจะเพิ่มเป็น 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำในกลุ่ม "ไอวี่ลีก" ตามมาด้วย เด็กไฮสคูลทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา

สุดท้ายก็เปิดบริการทั่วโลกในที่สุด

ที่ผ่านมา แม้แต่ในสหรัฐเองก็มีการใช้เฟซบุ๊กเป็น "ฐานที่มั่นในการสร้างกลุ่มก้อนทางการเมือง" ซึ่งมีทั้งการแสดงความคิดเห็นของบุคคลทั่วไป

กลุ่ม "แฟนคลับ" ของพรรคการเมืองหลักสองพรรค

ไปจนถึงกลุ่มที่มีแนวคิดการเมืองทางเลือกนอกกระแสอีกมาก มาย ที่น่าสนใจก็เช่น "อเมริกัน ที ปาร์ตี้ เฟซบุ๊กส์" เป็นต้น

นอกเหนือจากแง่มุมทางการเมืองแล้ว เฟซบุ๊กเองยังเคยตกเป็นเป้าโจมตีในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของ "ชนชั้น" อันเนื่องมาจากการตั้งข้อสังเกตของนักคิดนักเขียนอเมริกันหลายคนที่เสนอความเห็นว่า

เฟซบุ๊กเป็น "ชุมชน (จำลอง) ของพวกอภิสิทธิ์ชน" ในขณะที่คนธรรมดา หรือกลุ่มด้อยการศึกษากับคนต่างด้าว (ในสหรัฐ) มักเลือกใช้เว็บอื่น เช่น "มายสเปซ"

ซึ่งเหตุผลสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวก็วกกลับมาจากจุดกำเนิดของตัวเฟซบุ๊กเอง ที่กำหนดให้สมาชิกส่วนใหญ่ต้องเป็นคนผ่านการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น



สำหรับในประเทศไทย

ปัจจุบันมีสถิติสมาชิกผู้นิยม "เล่น" เฟซบุ๊ก เกือบ 4 ล้านคน

และจากเดิมที่เคยใช้เป็นแหล่งติดต่อสื่อสารเรื่องราวระหว่างเพื่อน

ก็เริ่มเปลี่ยนบทบาทมาเป็นแหล่งระบายแนวคิดทางการเมืองอย่างแพร่หลาย อันเนื่องมาจากความสะดวกรวดเร็ว และผู้ใช้สามารถเห็นคนที่ "เห็นด้วย" หรือ "เห็นต่าง" กับความคิดของตนได้ทันทีทันใด

โดยกลุ่มก้อนทางการเมืองของไทยในโลกเฟซบุ๊กที่เห็นชัดเจนผ่านการตั้งชื่อ อาทิ

1. กลุ่มสนับสนุนนายกฯ อภิสิทธิ์ เช่น กลุ่มเฟซบุ๊กมั่นใจคนไทยเกินล้านต่อต้านยุบสภา และชาวเฟซบุ๊กไม่เอาตำรวจมะเขือเทศ

2. กลุ่มสนับสนุนคนเสื้อแดง-นปช. เช่น www.facebook.com/ UDDThailand และกลุ่มคนที่ตั้งชื่อเฟซบุ๊กด้วยคำว่า เสื้อแดง หรือ red shirts


ปรากฏการณ์เฟซบุ๊กการเมืองต่างสีของไทยยังสร้างความฉงนฉงายให้กับสื่อยักษ์ใหญ่แดนสหรัฐอเมริกาอย่าง "หนังสือพิมพ์คริสเตียนไซเอินซ์มอนิเตอร์" ด้วยเช่นกัน

ไซมอน มอนต์เลก นักข่าวคริสเตียนฯ ซึ่งเกาะติดข่าวม็อบแดงในกรุงเทพฯ เขียนรายงานเรื่อง "Thailand"s red shirts and yellow shirts battle it out on Facebook." มีเนื้อหาระบุว่า

ในแง่การใช้เฟซบุ๊กเป็นกลไกปลุกระดมทางการเมือง ฝ่ายเสื้อแดงดูจะเสียเปรียบ เนื่องจากฐานมวลชนหลักของเสื้อแดงอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดและมีฐานะยากจน โอกาสเข้าถึงอินเตอร์เน็ตจึงน้อยกว่าหลายเท่า เมื่อเทียบกับฝ่าย "เสื้อเหลือง" ซึ่งหนุนรัฐบาลและประกอบด้วยมวลชนคนชั้นกลาง-พนักงานออฟฟิศ


มอนต์เลกชี้ว่า ในโลกตะวันตกไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะเข้ามาแสดงความเห็นและจัดตั้งกลุ่มการเมืองในเว็บไซต์

แต่สำหรับเมืองไทย เฟซบุ๊กถูกกลุ่ม "ขวาจัด" ใช้เผยแพร่ความเกลียดชังทางการเมือง และตามล่าคุกคามทำลายล้างกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับพวกตน

ความรุนแรงในเฟซบุ๊กการเมืองไทยยังโหดร้ายถึงขั้นมีคนจัดตั้งกลุ่ม "เสพศพคนเสื้อแดง" ขึ้นมา เพื่อโพสต์ภาพศพคนเสื้อแดง 80 กว่ารายที่เสียชีวิตขณะร่วมชุมนุม และส่วนใหญ่เป็นแค่พลเรือนธรรมดา!

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กเสื้อแดงยังตกเป็นรองเพราะถูกทางการไล่บล็อก- ปิดอย่างต่อเนื่อง

สฤนี อาชวานันทกุล ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเครือข่ายพลเมืองเน็ต ชี้ว่า

ในอดีตเว็บ เช่น เฟซบุ๊กถูกใช้เป็นแหล่งโพสต์รูปตลกๆ และ เล่นเกม

แต่นับตั้งแต่สถานการณ์การเมืองเริ่มรุนแรงมากขึ้นในเดือนมีนาคมเป็นต้นมา

กลุ่มผู้สนับสนุนายกฯ อภิสิทธิ์ได้ใช้เว็บเฟซบุ๊กของตัวเองแสดงน้ำเสียงต่อต้านม็อบแดงและจัดตั้งกลุ่มการเมือง

ซึ่งหนึ่งในกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวในโลกแห่งความจริง คือ "กลุ่มเสื้อหลากสี"

"เมื่อเราติดต่อกับเพื่อนผ่านเฟซบุ๊ก ตามสัญชาตญาณแล้วก็มีแนวโน้มจะเชื่อความเห็นของเพื่อนๆ อยู่แล้ว ซึ่งถือว่าอันตรายมาก ถ้าคนในเครือข่ายของเรามีมุมมองเพียงด้านเดียว" สฤนีกล่าว





พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

มองปรากฏการณ์"เฟซบุ๊ก"


"ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การรวมกลุ่ม แต่อยู่ที่รวมกลุ่มกันแล้วยกพวกไปตีคนอื่น ไปถล่มกลุ่มอื่น แตกต่างจากเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้ความไว้เนื้อเชื่อใจมันหายไป คนไว้ใจไม่ได้เหมือนแต่ก่อน"



เกี่ยวกับ "กระแสการต่อสู้ทางการเมือง" ในโลกสังคมออนไลน์ "เฟซบุ๊ก" ของไทยนั้น

ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์แสดงทรรศนะผ่าน "ข่าวสดหลาก & หลาย" ดังนี้

อาจารย์เล่นเฟซบุ๊ก หรือเว็บเครือข่ายสังคมอะไรบ้างรึเปล่า เช่น ใช้สร้างกลุ่มของอาจารย์ หรือกลุ่มนักศึกษาในวิชาที่สอน

เล่น ผมเล่นอยู่แล้ว มีเพื่อนเป็นพันคน แต่ส่วนตัวมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองที่ใช้ในการติดต่อกับคนทั่วไป

ปัจจุบันมีการใช้เฟซบุ๊กและเว็บเครือข่ายสังคมเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น ใช้โจมตีกลุ่มที่เห็นต่าง หรือสร้างกลุ่มที่มีความคิดเห็นเหมือนกันขึ้นมา อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

มันเป็นเรื่องของการพยายามสร้างเครือข่าย จริงๆ แล้วการมีกลุ่มก้อนมันก็ดี ไม่ใช่เรื่องไม่ดี

แต่บางทีมันไม่ใช่การสร้างเครือข่ายทั่วไปไง

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การรวมกลุ่ม แต่อยู่ที่รวมกลุ่มกันแล้ว "ยกพวก" ไปตีคนอื่น ไปถล่มกลุ่มอื่น แตกต่างจากเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้ความไว้เนื้อ เชื่อใจมันหายไป คนไว้ใจไม่ได้เหมือนแต่ก่อน

ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อนเรามี "เว็บบอร์ด" ก็ฮิตกันอยู่พักหนึ่ง ดูแล้วเหมือนกับตอนนี้ที่มีการใช้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง มีเลือกข้างเหมือนตอนนี้เลย แต่ที่ต่างกันก็คือ พอเถียงในเว็บบอร์ดจนไปกันใหญ่ก็จะมีเว็บมาสเตอร์มาปิดบอร์ด ยกกระทู้ออกไป

แต่กับเฟซบุ๊กนี่มันตามตัวได้ รู้ว่าใครเขียน พอรู้ตัวก็ตามไปถล่มกันต่อ ไม่จบไม่สิ้น

แถมบางทีมีการหลอกเข้ากลุ่มด้วย เพื่อเพิ่มจำนวนคน

ปรากฏการณ์นี้มีน้ำหนักเพียงใดต่อสังคม และถ้ามีการลง "ใต้ดิน" จะมีผลกระทบต่อโลกออนไลน์อย่างไรบ้าง รัฐจะมีการกำกับดูแลได้มากน้อยเพียงใด

มีน้ำหนักอย่างมาก เพราะมันจะเกิดการรวมตัวของคน

ยกตัวอย่างเช่น เกิดเหตุการณ์ที่เด็กไม่เข้าเรียน เพราะไม่พอใจความคิดเห็นทางการเมืองของผู้สอน

หรือมีการบีบให้ออกจากงานเพราะแนวคิดทางการเมืองไม่ตรงกับหัวหน้า เป็นต้น

ผมคิดว่าเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ขาดความเชื่อใจกัน อาจจะอ่านความคิดเห็นแค่ไม่กี่ประโยคก็เหมารวม ตีตราอีกฝ่าย จนสุดท้ายก็ไว้ใจใครไม่ได้ ระแวงไปหมด ผมขอถามว่า คุณจะไว้ใจใครได้อย่างไร?

และที่สำคัญคือ เมื่อก่อนเข้าเว็บด่ากันเดี๋ยวก็ปิด เลิก แต่เดี๋ยวนี้มันถึงตัว มันมาถึงตัวเราจริงๆ อาจเป็นเพราะคนเรามันเปราะบางก็เป็นได้

เราควรจะใช้ SNSs อย่างไร ถ้าอยากจะแสดงความคิดเห็นทาง การเมืองต่อไป

ก็คงต้องสร้างกลุ่มเพื่อนที่ไว้ใจ แอ็ดเพื่อนเฉพาะคนที่รู้จัก

กับคำถามที่แล้ว เรื่องการจัดการของรัฐ ผมมองว่ามี 2 ประเด็นที่น่า สนใจตรงจุดนี้ กล่าวคือ

เรื่องแรกคือการโพสต์อะไรแรงๆ มันไม่ถึงขั้นผิดกฎหมาย

แต่มัน "ผิดใจ" กัน

และสุดท้ายก็โดนยกพวกถล่ม

เรื่องที่สอง คือ กรณีนี้มันไปไกลกว่า รัฐแล้ว รัฐทำอะไรไม่ได้ แต่มันจะเกิดปรากฏการณ์สังคมเล่นกันเอง ตรวจสอบอีกฝ่ายอยู่ตลอด และก็จัดทีมตีกันในเว็บไปตามเรื่อง

ส่วนตัวผมเองก็เคยเจอกรณีเพื่อนที่คบกันมาเป็นสิบปี ผมเพิ่งมารู้แนวคิดทาง การเมืองของเขาเมื่อเร็วๆ นี้ ในเฟซบุ๊ก ก็แปลกดี

บางคนเลิกคบเราไปเลยก็มี ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทะเลาะกันด้วยซ้ำ

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker