บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ประธานสภาระบุไม่จำเป็นต้องชะลอการบรรจุญัตติแก้ไข รธน.

รัฐสภา 22 พ.ค. – “ชัย ชิดชอบ” เผยไม่จำเป็นต้องชะลอการบรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญลงในระเบียบวาระการประชุม เพราะการทำประชามติ เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร มั่นใจหากประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ส.ส.คงไม่เอาด้วย

เมื่อเวลา 09.30 น. นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) เข้าเยี่ยมคารวะ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในโอกาสรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นประธานสภาฯ โดยนายจรัล และ นพ.เหวง ได้แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์การเมืองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยประธานรัฐสภา กล่าวว่า ไม่ต้องเป็นห่วงสถานการณ์ เชื่อว่าคงไม่มีการทำรัฐประหาร เพราะทหารคงไม่ออกมาปฏิวัติอีก ทหารส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการแสวงหาอำนาจ และเชื่อว่าผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันคงไม่ยอมให้มีการปฏิวัติ

"ถ้าเกิดเหตุเช่นวันที่ 19 กันยา อีก บ้านเมืองจะไปไม่รอด ผมเชื่อว่าพระสยามเทวาธิราช จะคุ้มครองปัญหาต่าง ๆ แก้ด้วยสนามการเมืองคือรัฐสภา สภาจะเป็นสนามระหว่างฝ่ายค้าน และฝ่ายสนับสนุน พันธมิตรก็ต้องมาเล่นตรงนี้ คปพร.ก็ต้องมาเล่นตรงนี้ เอาสนามนี้เป็นหลัก" นายชัย กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้ทำประชามติเพื่อขอความเห็นประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชน และ ส.ส.ที่ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ จะต้องถอนญัตติก่อนหรือไม่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การดำเนินการจะเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ. 2544 โดยจะต้องบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมภายใน 15 วัน เมื่อมีการเปิดสมัยประชุมสภา ไม่ใช่นับจากวันยื่นญัตติ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องถอนญัตติ การทำประชามติเป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการให้บ้านเมืองมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และต้องการฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะการทำประชามติที่ผ่านมามีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องเร่งรีบบรรจุวาระหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ เพราะขณะนี้ยังไม่เปิดสมัยประชุม และยังไม่รู้ว่าจะเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเมื่อใด ตราบใดที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุม ก็บอกไม่ได้ เมื่อเปิดแล้วก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ ไม่จำเป็นต้องรอให้ทำประชามติก่อน การแก้ไขกฎหมายต้องใช้เวลา หากประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ก็ต้องฟังเสียงประชาชน และคงไม่ยกมือผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่

ต่อข้อถามว่าการไม่ชะลอนำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมแสดงให้เห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีความเห็นขัดกันหรือไม่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ไม่มี นายกรัฐมนตรีเคยบอกว่าสถาบันทั้ง 3 แยกกันทำหน้าที่ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย
นายชัย กล่าวว่า การเสนอให้ทำประชามติของนายกรัฐมนตรีไม่ใช่การคิดนอกลู่นอกทางแต่เป็นการเสนอตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเป็นคนกลางคงให้ความเห็นในเรื่องนี้ไม่ได้. -สำนักข่าวไทย


อัพเดตเมื่อ 2008-05-22 11:50:10

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker