บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

รธน. มีที่มาจากรัฐประหาร มักจะอายุสั้น


หากไม่นับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหาร ที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2502 จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2511 เป็นระยะเวลา 9 ปี 4 เดือน 23 วัน แล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหารทุกฉบับ มักจะมีอายุสั้น

ที่มีอายุการใช้บังคับยาวนานที่สุด ก็เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหารของคณะ รสช. มีอายุการใช้บังคับนาน 5 ปี 10 เดือน 2 วัน

รองลงมาได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ซึ่งจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร และใช้เวลาร่างถึง 9 ปีเศษ แต่ใช้บังคับได้เพียง 3 ปี 4 เดือน 21 วัน

รองลงมาอีกคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหาร ภายใต้การนำของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ มีอายุการใช้บังคับเพียง 2 ปี 7 เดือน 6 วัน

นอกนั้นก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหาร และมีอายุการใช้บังคับค่อนข้างสั้น คือ ไม่ถึง 2 ปีบ้าง ปีครึ่งบ้าง ปีเศษบ้าง 1 ปีพอดีบ้าง หรือแค่ 9 เดือนก็ยังมี

ดังนั้น ถ้าไม่นับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ที่กล่าวข้างต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร จำนวน 9 ฉบับ ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหาร ปรากฏว่ามีอายุการใช้บังคับเป็นเวลารวมกันเพียง 17 ปี 1 เดือน 13 วัน

ต่อให้เอาอายุการใช้บังคับของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 มารวมด้วยเป็น 10 ฉบับ ก็จะมีอายุการใช้บังคับรวมกันแค่ 26 ปี 6 เดือน 6 วัน ทั้งนี้ ไม่นับพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งมีอายุการใช้บังคับเพียง 5 เดือน 13 วัน เพราะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรมาประกาศใช้

ในทางกลับกัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีที่มาโดยวิถีทางของกฎหมาย หรือมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามกระบวนการของรัฐสภา กลับมีอายุการใช้บังคับค่อนข้างยาวนานเกือบทุกฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น และเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้นั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุการใช้บังคับยาวนานที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ 13 ปี 4 เดือน 29 วัน

ส่วนอันดับสอง เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ มีอายุการใช้บังคับยาวนานถึง 12 ปี 2 เดือน 1 วัน

อันดับสาม คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนและรัฐสภาร่วมกันเลือก เป็นผู้จัดทำขึ้นและเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ มีอายุการใช้บังคับยาวนานถึง 8 ปี 11 เดือน 9 วัน

และอันดับสี่ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรทำการแก้ไขปรับปรุงจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 จนสมบูรณ์ขึ้นมาก แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ มีอายุการใช้บังคับเป็นเวลา 6 ปี 7 เดือน 12 วัน

เพราะฉะนั้น เฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งมีที่มาโดยวิถีทางของกฎหมาย หรือผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามกระบวนการของรัฐสภา ก็มีอายุการใช้บังคับรวมกันเป็นเวลานานถึง 41 ปี 1 เดือน 21 วัน ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหาร อย่างมีนัยสำคัญทีเดียว

จะมีรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาโดยวิถีทางของกฎหมาย หรือผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีอายุสั้นหน่อยก็แค่ 2 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ซึ่งใช้บังคับเป็นเวลา 2 ปี พอดี และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งใช้บังคับเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน แต่รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ก็สิ้นสุดอายุการใช้บังคับโดยการรัฐประหาร

นอกจากนั้น ถ้าเปรียบเทียบอายุการใช้บังคับของรัฐธรรมนูญซึ่งจัดทำขึ้นโดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ด้วยกัน ที่ผ่านมา 3 ฉบับ ก็ยังจะเห็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญอยู่ดี โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร ภายใต้การนำของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ มีอายุการใช้บังคับเพียง 2 ปี 7 เดือน 6 วัน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2502 ซึ่งจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีอายุการใช้บังคับเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน 29 วัน

ในขณะที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนและรัฐสภาร่วมกันเลือก จัดทำขึ้นโดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามวิถีทางของกฎหมาย มีอายุการใช้บังคับยาวนานถึง 8 ปี 11 เดือน 9 วัน ซึ่งถ้าไม่ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เสียก่อน โอกาสที่จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุการใช้บังคับยาวนานที่สุดของประเทศไทย ก็ไม่น่าจะไกลเกินฝัน

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารเป็นผู้ตั้งขึ้น โดยไม่นำไปขอความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือผ่านกระบวนการทางรัฐสภา จะมีอายุการใช้บังคับได้ยาวนานสักเท่าใด เพราะยังไม่ทันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีอายุการใช้บังคับได้ถึงปีดี สัญญาณอันตรายในรูปแบบต่างๆ ก็มีปรากฏให้เห็นหลายอย่าง จนชักไม่แน่ใจแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไปรอดหรือไม่ และถ้าไปไม่รอด อะไรจะเกิดขึ้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่อยากจะเตือนสติทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารซึ่งคุมกำลังในกองทัพของชาติว่า การรัฐประหารไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะสามารถคลี่คลายปัญหาวิกฤติ การเผชิญหน้า หรือความรุนแรงใดๆ ในทางการเมืองได้ ตรงกันข้าม กลับจะทำให้ความไม่แน่นอน ความขัดแย้ง และความรุนแรงต่างๆ ดำรงอยู่และขยายตัวจนกลายเป็นวิกฤติระลอกแล้วระลอกเล่า อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ขณะเดียวกัน ก็อยากจะเตือนสตินักการเมืองทั้งฝ่ายที่พยายามสร้างเงื่อนไขปฏิวัติ จะโดยจงใจหรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม และฝ่ายที่พยายามจุดชนวนยุยงให้ทหารปฏิวัติ หรือยุให้คนไทยตีกันทุกวันด้วยว่า “ขอให้ยุติพฤติกรรมทำลายชาติ” เสียที

คณิน บุญสุวรรณ


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker