บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ค่านิ้วกดปุ่ม รุมทึ้งขุมทรัพย์

วันที่ 7 พฤษภาคมนี้

ถ้าไม่มีโรคเลื่อนเกิดขึ้นอีก ก็จะได้เห็นหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรค ที่ประกอบด้วย

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม หัวหน้าพรรคพลังประชาชน นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน

นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช และนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เลขาธิการพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา

นั่งร่วมโต๊ะรับประทานอาหาร ปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่องการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550

และงานนี้ก็ฟันธงได้เลยว่า พรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน จะต้องลุยแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่ๆ

โดยไม่หวั่นไหวต่อเสียงคัดค้านต่อต้านจากฝ่ายใดทั้งสิ้น

แม้ที่ผ่านมาพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค อย่างพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินยังมีความเห็นแตกต่างเกี่ยวกับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพิมพ์เขียว ของพรรคพลังประชาชนในบางมาตรา

แต่ในหลักการใหญ่ก็เห็นตรงกันทุกพรรคว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องการยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ซึ่งเป็นอุปสรรคขวากหนามสำคัญของทุกพรรคการเมือง

เมื่อเป้าหมายใหญ่ตรงกัน การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย 6 พรรคร่วมรัฐบาลต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ส่วนการแก้ไขในประเด็นอื่นๆที่มีความเห็นแตกต่างค่อยไปว่ากันอีกทีในสภา

ที่สำคัญ ทางพรรคพลังประชาชนในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ได้มีการวางกรอบเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้แล้วว่า จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการพิจารณาวาระแรก ก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้

ทุกอย่างจะราบรื่นดำเนินไปตามปฏิทินเวลาที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องเงื่อนเวลาคงไม่มีปัญหาอะไร

เพราะถึงแม้จะเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทันในสมัยประชุมนี้ ก็สามารถเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว

แต่ปัญหาหลักน่าจะอยู่ที่การคุมเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภามากกว่า

ล่าสุดได้เกิดปรากฏการณ์ กรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช ออกมาประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้เคยแสดงสปิริตมาแล้วด้วยประกาศขอยุติการปฏิบัติหน้าที่ ในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิจารณา เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือแจกใบแดงนายยงยุทธ กรณีแจกเงินให้กลุ่มกำนันอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ทั้งนี้ในการแถลงลาออกจากตำแหน่งประธานสภาฯ นายยงยุทธได้ประกาศชัดเจนว่า

ขอลาออกจากตำแหน่งประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จริงตั้งใจลาออกตั้งแต่วันที่ กกต.มีมติยื่นเรื่องให้ศาลฎีกา แต่ได้รับการทัดทานจากเพื่อนสมาชิกให้อยู่ในตำแหน่งไปก่อน

ซึ่งได้มาคิดไตร่ตรองถึงเหตุผลที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไม่อยากให้มองเห็นว่าหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติต้องไปยืนอยู่กลางศาลและถูกไต่สวน

เพราะเกียรติยศศักดิ์ศรีฝ่ายนิติบัญญัติจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่สง่างาม สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติคนอื่นก็ต้องมารับสิ่งเหล่านี้ด้วย

ยืนยันการลาออกครั้งนี้ไม่มีนัยทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น

ปรากฏการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เป็นการแสดงสปิริตรอบที่ 2 ของนายยงยุทธ

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองลึกลงไปในห้วงที่เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังจะถูกขับเคลื่อน เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภา

ก็ต้องยอมรับว่า การลาออกจากตำแหน่งประธานสภาฯของนายยงยุทธ ที่ต้องทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภาด้วยโดยตำแหน่ง มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง

เพราะในขณะที่นายยงยุทธอยู่ในช่วง ยุติการปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา บุคคลที่ต้องทำหน้าที่แทนในตำแหน่งประธานรัฐสภา ก็คือ

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ส.ว.ระบบสรรหา

ซึ่งก็ชัดเจนว่า ไม่ใช่คนสายตรงของรัฐบาลชุดนี้

การรับลูกส่งลูกในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา ที่มีประธานวุฒิสภาเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภา

อาจจะไม่คล่องตัวเท่ากับให้คนสายตรงของพรรคพลังประชาชน เข้ามานั่งเป็นประธานรัฐสภาคุมเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง

หากมองในมุมนี้ การลาออกจากประธานสภาผู้แทนราษฎรของนายยงยุทธ ก็เท่ากับ

เป็นการเปิดทางให้มีการเลือกประธานสภาฯคนใหม่ ที่เป็นเนื้อแท้ของพรรคพลังประชาชน

เข้ามาคุมเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ลุล่วงเรียบร้อยไปด้วยความรวดเร็ว

ทั้งนี้ สำหรับกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่ละขั้นตอนไว้อย่างละเอียดชัดเจนว่า

ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาฯ หรือจาก ส.ส.และ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคนเข้าชื่อเสนอขอแก้ไข

โดยให้เสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็น 3 วาระ

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

การออกเสียงลงคะแนนวาระที่สอง ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้วให้รอไว้ 15 วัน จากนั้นจึงให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สาม

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ขั้นสุดท้ายให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วย ในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

เมื่อหันกลับมาดูโครงสร้างจำนวนเสียง ในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่ประกอบเป็นรัฐสภา

สภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส. 480 คน แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 6 พรรค มี 316 เสียง ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน 233 เสียง พรรคชาติไทย 34 เสียง พรรคเพื่อแผ่นดิน 24 เสียง พรรคมัชฌิมาธิปไตย 11 เสียง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 เสียง และพรรคประชาราช 5 เสียง ส่วนฝ่ายค้านหนึ่งเดียว พรรคประชาธิปัตย์ มี 164 เสียง

ในขณะที่วุฒิสภา มี ส.ว. 150 คน ประกอบด้วย ส.ว.ระบบสรรหา 74 คน และ ส.ว.จากการเลือกตั้ง 76 คน

สองสภารวมกัน 630 เสียง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ทางฝ่ายรัฐบาลจะให้ ส.ส. จำนวน 1 ใน 5 ของสภาฯ หรือ 126 เสียง เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น เมื่อคำนวณตามหลักเกณฑ์ตัวเลขในการลงคะแนนเสียง เห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรกและวาระที่สาม ที่กำหนดให้ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภา

นั่นก็คือจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 316 เสียง

เท่ากับจำนวนเสียงของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 6 พรรค พอดิบพอดี

แม้จะดูเหมือนเสียงปริ่มน้ำ แต่ในความเป็นจริงคงไม่ถึงกับปริ่ม เพราะยังมีเสียงของ ส.ว.บางส่วนที่เป็นพวกคอยเป็นตัวช่วย พร้อมที่จะเพิ่มคะแนนเสียงให้

อย่างไรก็ตาม “ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ” ขอบอกว่า เมื่อดูจากจำนวนตัวเลขของ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลและแนวร่วม ส.ว.บางส่วนที่พร้อมให้การสนับสนุน

เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ดูแล้วน่าจะราบรื่น

แต่ในความเป็นจริง อาจจะไม่สะดวกง่ายดายอย่างที่คิด

เพราะต้องไม่ลืมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบทั้งฉบับ โดยที่ผ่านมาก็ยังมีรายละเอียดในบางมาตรา และบทเฉพาะกาล ที่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองยังมีความเห็นแตกต่าง

อีกทั้งยังมีแรงกดดันจากนอกสภาของฝ่ายที่คัดค้านต่อต้าน ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้

รวมไปถึงปัญหาต้นทุนทางสังคมของฝ่ายรัฐบาลเอง ที่ถูกมองว่ามุ่งเน้นแต่การแก้เกมการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดพันธนาการให้ตัวเอง

ไม่สนใจแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ปล่อยให้ปัญหาค่าครองชีพสูง ปัญหาข้าวของสินค้าราคาแพง จ่อคอหอยชาวบ้าน จนแทบหายใจไม่ออก

สิ่งเหล่านี้ อาจกลายเป็นแรงเสียดทานให้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคต้องคิดหนัก จนทำให้การโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดความไม่ราบรื่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีเดิมพันสูง

เพราะเกี่ยวโยงกับการปลดล็อกแกนนำกลุ่มก๊วนที่ติดล็อกบ้านเลขที่ 111 การปลดล็อกคดีต่างๆของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงการปลดล็อกการอายัดขุมทรัพย์ เกือบ 6 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น การโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปลดล็อกสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จลุล่วง ย่อมจะต้องมีการต่อรองผลประโยชน์ต่างตอบแทนกันอย่างหนัก

และเมื่อถึงตอนนั้น

ทุกโหวต ทุกคะแนน ก็จะต้องมีค่า มีราคาสูง

ที่ผ่านๆ มาเคยมีเหตุการณ์ฝนตกห่าใหญ่ในการเลือกตั้ง

แต่คราวนี้ จะมีฝนห่าใหญ่ตกในสภา.

"ทีมการเมือง"


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker