บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

แฉ!นายทุนหนุน ‘พันธมิตร’ชุมนุม

* ‘เหวง’ฉะกลืนน้ำลายขวางประชามติ
คปพร.หนุนทำประชามติแก้ รธน. ร้องขอ “ลุงชัย” เปิดช่องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกรรมาธิการวิสามัญ พร้อมผลักดันร่าง รธน.40 ก. ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ เล่นแรง ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 9 อ้างสถาบันชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ ปลุกคนร่วมชุมนุมบนถนนราชดำเนิน “เหวง” อัดพวกดื้อด้าน ดันทุรังสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง กลืนน้ำลายตัวเองที่เคยขอให้ทำประชามติ เชื่อเจตนาที่แท้จริงต้องการโค่นล้มรัฐบาล แฉมีนายทุนหนุนหลังการเคลื่อนไหว ขณะที่ สตช. ปรับแผน “กรกฎ” พร้อมรับมือม็อบป่วนเมือง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากกลุ่ม ส.ส.-ส.ว. ได้ร่วมกันลง
ชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภา รวมไปถึงการที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาประกาศว่า จะให้มีการทำประชามติเลือกรับร่างรัฐธรรมนูญ

ล่าสุดในวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่รัฐสภา นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำคปพร. ได้เข้าแสดงความยินดีโดยมอบกระเช้าดอกไม้ให้กับ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในโอกาสรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นประธานสภาฯ โดย นายจรัล และ นพ.เหวง ได้แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์การเมืองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

พร้อมกันนี้ยังได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกเสนอข้อเรียกร้อง 5 ประการ คือ ประการแรกเรียกร้องให้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมรายชื่อจำนวน 1 แสนห้าหมื่นรายชื่อนำเสนอต่อ ส.ส.และส.ว. เพื่อนำร่างดังกล่าวเป็นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกทั้งสองส่วนตามรัฐธรรมนูญ 291 (1)

คปพร.ขอประชาชนมีส่วนร่วม
ประการต่อมาให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2544 ในหมวดที่ 6 ข้อที่ 91 โดยขอให้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่จากเดิมมีเฉพาะส.ส.-ส.ว. ให้เพิ่มประชาชนผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เพื่อประชาชนจะได้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และขออนุญาตใช้ห้องประชุมของสองตึกรัฐสภาเพื่อดำเนินการทำประชาพิจารณ์ ในเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยคปพร.จะเป็นกองประสานงานและอำนวยความสะดวก เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมของสภาประกอบการพิจารณาแก้ไข

รวมไปถึงเรียกร้องให้มีการถ่ายทอดสดการทำประชาพิจารณ์ผ่านทางสถานีวิทยุของรัฐสภา และประการสุดท้าย หลังจากที่มีการบรรจุญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว ขอให้ประธานรัฐสภาเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนเลือกระหว่าง รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 เพื่อป้องกันการเผชิญหน้าอันจะนำไปสู่ความรุนแรง

นอกจากนี้กลุ่ม คปพร. ยังขอสนับสนุนกลุ่ม ส.ว. และ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 164 คนที่ร่วมลงชื่อยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมาด้วย

“ลุงชัย”รับปากเร่งบรรจุวาระแก้รธน.
ทั้งนี้ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา กล่าวภายหลังได้รับจดหมายเปิดผนึกว่า จะเร่งทำการพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยจะดำเนินการตามครรลองโดยขอเวลาในการตรวจสอบรายชื่อกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคนให้เสร็จสิ้น ส่วนการยื่นญัตติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญภายหลังมี ส.ส.-ส.ว. ลงชื่อ จำนวน 164 คนนั้น ขณะนี้ต้องรอการประชุมก่อนแล้วจึงจะสามารถบรรจุเป็นวาระ ซึ่งเป็นเมื่อใดยังไม่สามารถกำหนดได้

สำหรับการทำประชามตินั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่สามารถทำได้ตามมาตรา 165 ในรัฐธรรมนูญแต่ความเห็นส่วนตัวก็คือต้องเป็นกลาง หากมองตามกฎหมายแล้วรัฐบาลก็มีช่องทางในการทำประชามติ

นายชัย กล่าวด้วยว่าไม่ต้องเป็นห่วงสถานการณ์ เชื่อว่าคงไม่มีการทำรัฐประหารแน่นอน เพราะทหารคงไม่ออกมาปฏิวัติอีกแล้ว ทหารส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการแสวงหาอำนาจ และเชื่อว่าผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันคงไม่ยอมให้มีการปฏิวัติ

ยันทำประชามติไม่ต้อถอนญัตติ
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้ทำประชามติเพื่อขอความเห็นประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของภาคประชาชน และส.ส.ที่ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ จะต้องถอนญัตติก่อนหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า การดำเนินการจะเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2544 โดยจะต้องบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมภายใน 15 วัน การทำประชามติเป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการให้บ้านเมืองมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และต้องการฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะการทำประชามติที่ผ่านมามีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

“ส.ส.และภาคประชาชนไม่จำเป็นต้องถอนญัตติ ขณะนี้มีความเข้าใจไขว้เขวกัน หากดูข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 44 จะเห็นว่าต้องบรรจุญัตติเข้าสู่วาระการประชุมภายใน 15 วันเมื่อมีการเปิดสมัยประชุมสภา ไม่ใช่นับจากวันยื่นญัตติ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องถอนญัตติ” นายชัย กล่าว

เมื่อถามว่าหากมีการทำประชามติก่อนการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญจะไม่มีปัญหากับญัตติใช่หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ญัตติยังคงอยู่เพราะยังไม่ได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ ถึงบรรจุแล้วก็ยังอยู่ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีการเสนอญัตติซ้อนญัตติ

ข้อเสนอนายกฯ เป็นไปตาม ม.165
ส่วนจำเป็นต้องเร่งรีบบรรจุวาระหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ เพราะขณะนี้ยังไม่ได้เปิดสมัยประชุม และยังไม่รู้ว่าจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญเมื่อใด ตราบใดที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมเราบอกไม่ได้ เมื่อเปิดแล้วก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ ไม่จำเป็นต้องรอให้ทำประชามติก่อน การแก้ไขกฎหมายต้องใช้เวลา ส่วนหากประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ก็ต้องฟังเสียงประชาชน และคงไม่ยกมือผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่

เมื่อถามว่า การไม่ชะลอนำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม แสดงให้เห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารมีความเห็นขัดกันหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ไม่มีนายกรัฐมนตรีเคยบอกว่าสถาบันทั้ง 3 แยกกันทำหน้าที่ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย นายชัย กล่าวอีกว่า การเสนอให้ทำประชามติของนายกรัฐมนตรีไม่ใช่การคิดนอกลู่นอกทางแต่เป็นการเสนอตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเป็นคนกลางคงให้ความเห็นในเรื่องนี้ไม่ได้

“เหวง”ฉะพันธมิตรกลืนน้ำลายตัวเอง
ด้าน นพ.เหวง กล่าวถึงการที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ว่ารัฐบาลประกาศจะทำประชามติแล้วก็ตาม ว่าตนอยากขอทวงถามสัจจะของกลุ่มพันธมิตรฯ หลังที่ประกาศจะจัดการชุมนุมครั้งใหญ่ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลบอกแล้วว่าจะทำประชามติ ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มพันธมิตรฯเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการมาโดยตลอด และเหตุใดจึงทรยศกับสัจวาจาของตนเอง

เมื่อขณะนี้มีการทำตามเสียงเรียกร้องทุกประการ แล้วทำไมจึงยังคงสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก ส่วนที่จะมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรนั้น โดยหลักประชาธิปไตยก็มีสิทธิ แต่ทั้งนี้ควรเป็นไปตามครรลองรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

“การที่พันธมิตรฯ จะเคลื่อนไหวชุมนุมครั้งใหญ่ ทั้งๆ ที่รัฐบาลจะทำประชามตินั้น สะท้อนถึงจิตวิญาณที่ไม่เคารพครรลองประชาธิปไตย เมื่อรัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้อง ยังดื้อด้าน ดันทุรังในการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง แสดงว่าไม่มีความจริงใจในระบอบประชาธิปไตย ท้ายที่สุดแล้วคุณต้องการปั่นสถานการณ์เพื่อโค่นล้มรัฐบาล และระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นเอง ทำไมไม่ไปเคลื่อนไหวในกลุ่มของตนเองล่ะว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 50 ดีเลิศ มาสร้างกระแสทำไม” นพ.เหวง กล่าว

พร้อมหยุดหาก ปชช.ไม่แก้ รธน.
พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนการทำประชามติ โดยระบุว่าจะทำให้ยุติความรุนแรง ทั้งนี้ หากมีการทำประชามติ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยควรยุติการเคลื่อนไหว หยุดความรุนแรง หยุดดึงฟ้าต่ำ หยุดเอาสถาบันมาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหว และหากความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญกลุ่มตนก็พร้อมจะหยุดการเคลื่อนไหวต่างๆเช่นกันเพราะกลุ่มเคารพการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่

ด้าน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 กล่าวว่า การทำประชามติว่าจะแก้ไขหรือไม่ถือว่าเป็นเรื่องดี และพันธมิตรฯ ก็เรียกร้องให้ทำประชามติ แต่พอรัฐบาลจะทำกลับไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่รู้จะมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญหรือไม่ ถ้าจะเปิดเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 อาจจะเปิดเพียง 3 วันเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการ ก็ได้ ซึ่งตนก็ยังไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับรัฐบาล

มท.1โต้แก้รธน.ฟอกผิดไม่ได้
“การทำประชามติผมไม่ทราบรัฐบาลจะทำลักษณะไหน จะตั้งหัวข้อว่าแก้หรือไม่แก้ ผมคิดว่าควรจะตั้งเป็นหัวข้อมันจะได้ชัดเจน เช่น ส.ว.ควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือเปล่า ยกมาเป็นประเด็นเลย และถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่ ผมคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับมัดมือชก ผมยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร” พ.อ.อภิวันท์ กล่าว

ทางด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดในการทำประชามติ ก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจะลดปัญหาความขัดแย้ง ส่วนการทำประชามติแล้ว กลุ่มพันธมิตรฯ จะยังคงชุมนุมอยู่ คงไม่สามารถจะไปห้ามได้

ร.ต.อ.เฉลิม ยังยืนยันอีกครั้งว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่สามารถช่วยฟอกความผิดหรือยกเลิกคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้

กกต.เร่งยกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ
ทางด้าน กกต.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต. เห็นควรให้เร่งยกร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติให้เร็วขึ้น จากเดิมจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม เพื่อส่งให้ทางรัฐสภาพิจารณา หลังจากนายกรัฐมนตรีระบุว่าต้องการให้มีการทำประชามติในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ซึ่งตนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และคงต้องขึ้นอยู่กับทางสภาด้วย

ขณะที่ นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ระบุว่า หากมีการนำพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติปี 2547 มาเป็นหลักในการพิจารณาและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ก็คาดว่าจะเสร็จภายในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมเชื่อว่า หากมีการออกเสียงประชามติก็จะเห็นชอบจากประชาชนเกิน 70%

นายโสภณ เพชรสว่าง อดีต ส.ส. จ.บุรีรัมย์ และอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีรัฐบาลประกาศจะทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายโสภณกล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยเพราะการทำประชามติมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ทางที่ดีรัฐบาลควรประกาศยุบสภา และให้ทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่คดค้านทำการชี้แจงถึงสาเหตุที่แต่ละฝ่ายเสนอ และให้ประชาชนตัดสิน เพื่อลดอุณหภูมิทางการเมือง เพื่อไม่ให้เป็นไปอย่างที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่าจะเกิดการรัฐประหาร เพราะตนเองก็ไม่ชอบการรัฐประหารและไม่อยากเห็นการนองเลือด

ค้านเพราะกลัวไม่มีที่ซุกหัวนอน
อย่างไรก็ดี ขณะที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังเดินหน้าท่ามกลางความยินดีของหลายฝ่าย ขณะเดียวกันกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย และ นายสุริยะใส กตะศิลา กลับไม่สนกระแสเรียกร้องความสงบสุข ออกแถลงการณ์ปลุกปั่นฉบับที่ 9 นัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 25 พฤษภาคม โดยหยิบยกเอาทั้งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาเป็นข้ออ้าง ในขณะที่เรื่องราวต่างๆ ล้วนเป็นเรื่องเก่าและจับต้องไม่ได้ สอดรับกับข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าในบรรดาแกนนำเสียงแตก เนื่องจากบางคนเห็นว่ายังไม่มีมูลเหตุเพียงพอที่จะอ้างการออกมาชุมนุม

ต่อกรณีดังกล่าว นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชาชน แกนนำกลุ่มมหาประชาชนร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตย กล่าวว่า เป็นพฤติกรรมที่ใช้ข้ออ้างเหมือนเช่นเคย ตนรู้สึกเวทนากลุ่มพันธมิตรฯ แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องออกมาปกป้อง รธน.50 ที่มาจากเผด็จการ เพราะถ้าไม่เคลื่อนไหวก็จะไม่มีที่ซุกหัวนอน เนื่องจาก รธน.50 และรัฐประหารครั้งที่ผ่านทำให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจและบทบาทในสังคม

เชื่อมีกลุ่มนายทุนอยู่เบื้องหลัง
“มีกลุ่มนายทุนอยู่เบื้องหลัง เป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการจะเสียผลประโยชน์ และมักใหญ่ใฝ่สูง การกล่าวหาพาดพิงถึงบุคคลอื่นโดยอ้างว่าเป็นการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง คนกลุ่มนี้ต่างหากที่เป็นเอง นายสนธิก็เคยมีคดีเกี่ยวกับการกล่าวอ้างเบื้องสูง ตอนนี้คดีอยู่ในศาล หรือการแสดงออกของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ว่าจะเป็นผูกผ้าสีเหลือง หรืออะไรก็แล้วแต่ มองว่าได้กระทำการหมิ่นและลบหลู่เบื้องสูงทั้งนั้น” นายป

พร้อมระบุถึงเหตุผลที่พันธมิตรฯ ใช้อ้างออกมาเคลื่อนไหวไม่มีเรื่องอะไรใหม่ การออกมาพูดหรือปลุกระดมไม่มีความชอบธรรม ไม่มีข้ออ้างที่ฟังแล้วมีน้ำหนัก มีเหตุผล มันเป็นสันดานของคนกลุ่มนี้ไปแล้ว ดีแต่ออกมาสร้างความวุ่นวายในสังคม ส่วนประชาชนที่คิดจะออกมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ หากคิดว่าออกมาแล้วจะช่วยให้เรื่องปากท้องหรือความเป็นอยู่ของตนดีขึ้น ก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าคิดว่าออกมาแล้วไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ก็หยุดเถอะ อย่าได้ออกมาสร้างความวุ่นวายเลย

นายประชา กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในตอนนี้สังคมก็ไม่มีความน่าเชื่อถือแล้ว หยุดเคลื่อนไหวได้แล้ว อย่าให้คนภายนอกมองว่าคนกลุ่มนี้อยู่เหนือประชาธิปไตย มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นมากมาย เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ไม่ไปใช้สิทธิ ส่วนที่ออกมากล่าวหาว่าการแก้ไข รธน. เป็นการฟอกความผิดให้กับคนในกลุ่มของตัวเองนั้น อยากจะย้อนถามกลับแล้วที่พันธมิตรฯ ออกมาคัดค้านการแก้ รธน. ปกป้องผลประโยชน์ให้กับใครหรือเปล่า

เข้าชื่อประณามพวกทำลายชาติ
“หยุดอ้างประชามติ 14 ล้านเสียงเสียที หน้าไม่อาย การเลือกตั้งที่ผ่านมาได้แสดงเจตจำนงอยู่แล้วว่าต้องการให้มีการแก้ไข รธน.50 พูดไปก็เท่านั้นเหมือนสีซอให้ควายฟัง เพราะคนกลุ่มนี้ไม่รับฟังอะไรทั้งสิ้น รู้อย่างเดียวว่าจะต้องออกมาสร้างความวุ่นวายให้กับสังคม หวังให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ เปิดทางให้กลุ่มอำนาจเก่า พฤติกรรมที่พยายามปกป้องทายาทเผด็จการ คือ รธน.50 เพราะถ้ามีการแก้ไขสำเร็จจริง ตัวเองจะไม่มีแผ่นดินอยู่” แกนนำกลุ่มมหาประชาชนฯ กล่าว

พร้อมระบุถึง พฤติกรรมก่อนหน้านี้ก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลต้องทำประชามติ มาถึงตอนนี้ก็ออกมากล่าวหาต่างๆ นานา ไม่มีสัจจะ ไม่มีเครดิตที่จะไว้ใจได้ คนไม่กี่คนพยายามทำตัวเองว่ามีอำนาจเรียกร้องให้รัฐบาลทำตาม ฉะนั้น จึงอย่าได้ไปให้ความสำคัญอะไรกับคนกลุ่มนี้ ทั้งนี้ กลุ่มริบบิ้นเขียวจะเฝ้าติดตามพฤติกรรมและใช้มาตรการทางสังคม เปิดเวทีระดมความคิดเห็นสาธารณะ และเปิดช่องทางให้ประชาชนแสดงความคิดทางไปรษณีย์เพื่อประณามและเนรเทศคนกลุ่มนี้ให้พ้นจากความเป็นคนไทย อีกทั้งจะรณรงค์ให้คนไทยร่วมกันอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องสังคม

พันธมิตรทำไมไม่รอประชามติ
ด้าน นายภิรมย์ พลวิเศษ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ย้อนถามว่าจะออกมาชุมนุมทำไม ทั้งที่ควรจะรักษากติกา ทางที่ดีควรรอฟังเสียงประชามติเสียก่อน และควรต่อสู้กันในระบบของสังคม ทั้งนี้ หากไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ควรที่จะรณรงค์เฉพาะกลุ่มของตนเองเพื่อชี้แจงต่อประชาชนว่ารัฐบาลไม่ควรแก้ไข รธน. นี้เพราะเหตุใด มันไม่มีเหตุผลที่ดีพอ เป็นการฉุดให้เศรษฐกิจที่กำลังจะเดินหน้าของรัฐบาลต้องสะดุด

ทั้งที่มีเหตุผลที่แท้จริงคือ ต้องการเรียกร้องผลประโยชน์และอำนาจที่ตนเองกับพวกพ้องได้รับหลังการรัฐประหารกลับคืนมาเท่านั้น เกือบ 2 ปีที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร องค์กรต่างๆ ที่เป็นผลผลิตของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ไม่ว่าสมาชิกสภาสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือแม้แต่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ก็ล้วนไม่มีผลงานที่โดดเด่นและเป็นประโยชน์เลย

“สสร. หรือ แม้แต่ สนช. ทำอะไรได้บ้าง ร่าง พ.ร.บ. ที่ออกไปก็ถูกยกเลิก กฎหมายเป็นโมฆะ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ผลงานของ คตส. ก็เช่นกันมีแต่เรื่องทุจริตที่ดินรัชดาฯ ที่ตะแบงกันทำ ชี้ให้เห็นว่ามาเพื่อทวงอำนาจ เงินทอง ที่ตัวเองเสพสุขคืน ไม่ใช่เพื่อประชาธิปไตย แต่เพื่อเผด็จการ” ส.ส. พรรคพลังประชาชนกล่าว

พันธมิตรอ้างสถาบันลูกไม้เก่า
พร้อมระบุทางตนและ ส.ส. ในพรรคจะช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้กับพี่น้องประชาชนว่า ควรแก้ รธน.50 เพราะเหตุใด เป็นการต่อสู้ตามกติกาและให้ประชาชนตัดสินโดยการลงประชามติ

เช่นเดียวกับ นายอภิศักดิ์ สุขเกษม กรรมการบริหารภาคกลางสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2551 กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า ก่อนหน้าที่จะมีการทำประชามติรับร่าง รธน.50 นายสุริยะใสและพรรคพวกก็เคยออกมากล่าวถึงที่มาของ รธน. นี้ไม่ชอบ เพราะมาจากการรัฐประหารและให้ประชาชนรับไปก่อนเพื่อให้มีการเลือกตั้งแล้วค่อยกลับมาแก้ไข

“ขณะนี้ พันธมิตรฯ กำลังส่อเจตนาปกป้อง รธน. ที่มาจากเผด็จการ และกลัวระบอบทักษิณจะกลับมาอีกมากเกินไป และสุดท้ายการกล่าวอ้างเรื่องหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ก็เนื่องจากว่ามีน้ำหนักพอที่จะให้ทหารเข้ามายึดอำนาจและทำการปฏิวัติได้ เป็นลูกไม้เดิม ที่แม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) เคยโดนมาเช่นกัน” กรรมการ สนนท. กล่าว

งัดแผน “กรกฎ”สยบม็อบพันธมิตร
ทั้งนี้ มองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เหมือนกับการที่พันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหวให้เกิดรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำมาก เพราะต่างชาติไม่ไว้วางใจในการลงทุน ส่วนการเสนอให้มีการทำประชามตินั้น เป็นเรื่องที่ดีที่จะได้แสดงออกในความคิดเห็นของประชาชน และอย่าไปเชื่อคำพูดของนักกิจกรรมทางการเมืองบางท่านที่มีจุดยืนไม่ชัดเจน คนกลุ่มนี้ก็เป็นคนที่มาร่วมร่าง รธน.50

อย่างไรก็ดี ทาง สนนท. จะแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร และไม่เอา รธน.50 และนำ รธน.40 กลับคืนมา และหวังว่าการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร จะไม่นำไปสู่ชนวนให้เกิดรัฐประหารอีกครั้ง วันนี้ระบอบประชาธิปไตยบอบช้ำเหลือเกิน

ในอีกด้านหนึ่ง พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมความพร้อมรับมือกับการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมมาตรการ “แผนกรกฎ” ดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น และมั่นใจจะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย



ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker