โดย อาจารย์และนักศึกษา
วิชาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เป็นเวลากว่าสี่สิบปีมาแล้วที่ผืนดินอันประกอบด้วยไร่นา หมู่บ้าน วัดวาอารามจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนสองหมื่นห้าพันไร่ ต้องจมอยู่ภายใต้ท้องเขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี นับแต่สำนักงานพลังงานแห่งชาติมีมติให้สร้างเขื่อนภายใต้นโยบาย ‘การพัฒนา’ ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ขีดเส้นชะตาชีวิตของคนจนมาตั้งแต่มีแผนพัฒนาฯฉบับแรกในปี 2504 จนปี 2552 คนจนเหล่านี้ก็นับวันจะจนมากยิ่งขึ้น เพราะการพัฒนาภายใต้แผนฯ นั้นแท้ที่จริงคือการแย่งชิงทรัพยากรไปจากคนจนอย่างที่นักวิชาการวิจารณ์ไว้
เป็นเวลาสิบห้าปีนับแต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรเข้าร่วมกับสมัชชาคนจนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมอันเนื่องจากการพัฒนาของรัฐจนได้รับเงินชดเชยจำนวนหนึ่งพันสองร้อยล้าน หลังจากที่ชุมนุมกดดันหลายครั้งหลายครา ผ่านการประชุม ครม. ถึงสิบครั้ง ผ่านนักการเมืองผู้รับผิดชอบนับสิบคน ผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมา 10 แผน เมื่อเทียบกับการประชุมของรัฐมนตรีเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่อนุมัติงบประมาณนับแสนล้านเพื่อกระตุ้น ‘เศรษฐกิจ’ ที่พังพินาศเพราะระบบทุนนิยมภายใต้แผนฯ ที่ตอบสนองผลประโยชน์เพียงไม่กี่ตระกูลแล้ว ช่างห่างไกลจนยากจะอธิบาย
1
‘ทองปาน: ตำนานคนค้านเขื่อน’
ดังนั้น 7-8 กุมภาพันธ์ 2552 คนจนจากเขื่อนสิรินธรจึงฉลองชัยชนะครั้งสำคัญ พร้อมจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่เพื่อส่งกุศลถึงกัลยาณมิตรบนสวรรค์ เช่น วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ นันทโชติ ชัยรัตน์ บุญกุ้มข้าวใหญ่ในวันนั้นมีนักศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเข้าร่วมการเฉลิมฉลองชัยชนะด้วย ก่อนที่จะเดินทางไปดูผลกระทบจากปัญหาการสร้างเขื่อนจริงๆ นักศึกษาได้มีโอกาสดูหนังเรื่องทองปาน ที่มี ‘ดารานำ’ อย่าง ศ.เสน่ห์ จามริก และ ส.(สุลักษณ์) ศิวลักษณ์ นักคิดนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของสังคม
“ … แม้ไม่ใช่ ส.อาสนจินดา ดาราหนุ่มหล่อเจ้าบทบาทในยุคนั้น แต่ทั้งสองสอก็ตีบท ‘คนค้านเขื่อน’ และนักรัฐศาสตร์ ‘ทวนกระแส’ ได้กระจุยดังชีวิตจริง” นอกจากนี้ยังมีหงา คาราวาน นักดนตรีเพื่อชีวิตที่ถ่ายทอดความทุกข์ของคนจนผ่านเส้นเสียงดนตรี เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินอาวุโส เจ้าของผลงาน ร่างพระร่วง ผู้ชิงกวีซีไรท์ ซึ่งหากใครได้ผ่านไปซอยวัดอุโมงค์หรือ bevery hill (ในอดีต)ของเชียงใหม่จะมีโอกาสได้ดื่มด่ำผลงานชั้นเทพจากรั้วศิลปากรใน gallery อันร่มรื่นที่รอบล้อมได้ไม้ไผ่ ยังมีใครอีกหลายคนที่ผู้เขียนคุ้นชื่อแต่ไม่คุ้นหน้าที่สวมบทฝรั่งจากธนาคารโลก นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ของรัฐ... บัดนี้คนเหล่านั้นยังโลดแล่นอยู่บนสายธารการต่อสู้ของคนทุกข์
‘ทองปาน’ คือชายหนุ่มคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เป็นหนังที่สะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านจนๆ จำต้องยอมรับชะตากรรมอันเกิดจากการพัฒนาไม่ว่าในรูปแบบใด เพราะเขาไร้อำนาจการต่อรองทางการเมือง
สำหรับนักรัฐศาสตร์แล้ว ‘ทองปาน’ บรรจุทฤษฎีการเมืองเล่มใหญ่ไว้ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบอุปถัมภ์ มาร์กซิสต์ การรวมศูนย์อำนาจรัฐ ทฤษฎีพึ่งพิงที่สะท้อนให้เห็นถึงการจัดลำดับประเทศพัฒนาและประเทศ ‘ด้อยพัฒนา’ โดยธนาคารโลก (พ่อมดทุนนิยม) การพึ่งพิงที่ดูดซับทรัพยากรจากประเทศ ‘ด้อยพัฒนาหรือประเทศโลกที่สาม’ ไปปรนเปรอประเทศที่เรียกตัวเอง ‘พัฒนา’ แล้ว ตลอดจนทฤษฎีการ(ไม่)มีส่วนร่วมทางการเมือง(ที่แม้แต่ตัวละครนักวิชาการในเรื่องก็มองไม่เห็น) ภาษาและถ้อยคำของตัวละครใน ‘ทองปาน’ ล้วนสะท้อนปัญหาคนจนในระดับรากเหง้าเชื่อมโยงให้เห็นถึงปัญหาระดับโครงสร้างของสังคมการเมืองไทย เป็นต้นว่า “หมออนามัยหน้าตาเป็นจั๋งใด๋ยังบ่เคยเห็น” ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่าประชาธิปไตยคืออะไร รู้แต่ว่าเมื่อวาน “รถสัมปทานไม้เฉี่ยวคนตกถนน ตอนนี้นอนอยู่โรงพยาบาล เป็นตายยังไม่รู้” “… เราสามารถถอดทฤษฎีการเมืองไทยหลายๆ เรื่องได้จากทองปานเพียงเรื่องเดียว ขณะนี้ ‘ทองปาน’ จำนวนมากกำลังรอนักศึกษาอยู่ที่บ้านดอนโจด อำเภอสิรินธร
2
ยามอุษาของดอกไม้บาน’
เรา ทั้งหมดราวร้อยยี่สิบชีวิตออกเดินทางจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในเช้าตรู่วันเสาร์ที่ 7 ท่ามกลางลมหนาวปลายฤดูเมืองดอกบัว หากพูดด้วยท่วงทำนองของ หงา คาราวาน ก็ต้องบอกว่า เยาวชนคนหนุ่มสาวผู้แสวงหากำลังมุ่งสู่หมู่บ้านเพื่อหาคำตอบของชีวิต นักศึกษาหนุ่มสาวคึกคักกันแต่เช้า อาจารย์กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น เจ้าของรางวัลวิทยานิพนธ์เพื่อสร้างองค์ความรู้เพื่อคนจน กองทุนวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์/สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ และอาจารย์ญาเรศ อัครพัฒนานุกุล อาจารย์สาขาวิชาปกครอง ผู้เป็นศิษย์ของ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่งและ ดร.นฤมล ทับจุมพล แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ประสานงานให้นักศึกษาและคนยากจนจากการพัฒนาได้พบกัน ในขณะที่เจ้าของวิชาตัวจริงคืออาจารย์ ปิยะมาศ ทัพมงคล และอาจารย์เพียงกมล มานะรัตน์ วุ่นวายกับการเตรียมเดินทางเพื่อศึกษาต่อ แต่ได้โทรศัพท์มาสอบความความเคลื่อนไหวตั้งแต่เช้า
งานบุญวันนี้จะมี ‘คนค้านเขื่อน’ จากปากมูน ราศีไศล ลำคันฉู โป่งขุนเพชร มาร่วมฉลองชัยชนะกับชาวสิรินธรหลังจากที่ได้ต่อสู้ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ‘ทองปาน’ หลายคนเริ่มชรา “… ในขณะที่ ‘ทองปาน’ รุ่นเยาว์หลายคนเติบโตเป็นหนุ่มสาว เช่นติ๊ก สาวน้อยร่างเล็กตากลม ผมยาว นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ที่มีคนบอกว่าเธอเป็นผลผลิตของซัมเมอร์ฮิลล์...” โรงเรียนทางเลือกที่มี พิภพ-รัชนี ธงไชย เป็นเจ้าของไอเดีย เธอเป็นมือขวาการทำวิจัยของอาจารย์กิ่งกาญจน์ เราไม่ได้พบตัวจริงเสียงจริงของเปาโล เด็กที่โตมากับ ‘ม็อบ’ จำได้ว่าเป็นเด็กหนุ่มรุ่นฝีปากกล้าที่เคยปะทะคารมกับนายกฯทักษิณ ชินวัตร ครั้งหนึ่ง ในการพบกันระหว่างทักษิณกับสมัชชาคนจนที่ได้รับการถ่ายทอดสดจาก iTV (ในสมัยนั้น)
ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่นักศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและท้องถิ่นลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงของความยากจนอันเนื่องมาจากการกำหนดนโยบายการพัฒนาของรัฐส่วนกลางที่ไม่คำนึงถึงคนจำนวนหนึ่งที่ต้องเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสและยาวนาน จากการสร้างเขื่อน หากอธิบายด้วยภาษาในภาษาวิชานี้ก็คือ...นี่คือปัญหาของรัฐรวมศูนย์ อันเป็นอุปสรรคสำคัญของการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น....ปัญหาอันแสนจะคลาสสิคของนักรัฐศาสตร์
‘แม้ว่าเขื่อนจะพรากหลาย
สิ่งหลายอย่างจากเราไป’
‘...แต่....’
ครั้งแรก เราไปที่ปากมูนเมื่อมกรา 51 คราวนั้นปุ๋ย นันทโชติ ชัยรัตน์ ที่เพิ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมื่อปี กลายได้เป็นวิทยากรบรรยายให้แก่นักศึกษา และพาชมพื้นที่หลายแห่ง เหมือนที่ปุ๋ยเคยทำเมื่อสมัยที่เป็นนักศึกษา มาครั้งนี้ไม่มีปุ๋ย แต่มีหลายคนสืบทอดอุดมการณ์ แม้หลายชีวิตจะร่วงโรยไปตามเวลา แต่การจากไปของกัลยาณมิตรคนจนเหล่านั้นกลับเป็นแรงผลักดันให้ขบวนยิ่งแข็งขันจากรุ่นสู่รุ่น “ ..เราหวังว่าปัญญาชนอย่างพี่มดหรือพี่ปุ๋ยจะเป็นแบบอย่างหรือแรงบันดาลใจของนักรัฐศาสตร์รุ่นหลังได้เรียนรู้โลกที่กว้างใหญ่กว่าห้องเรียนสี่เหลี่ยมของ ม.อุบลฯ ได้เรียนรู้ทฤษฎีการเมืองเล่มใหญ่จากตำราที่พูดได้... ” อย่างแม่สมปอง เวียงจัน พ่อสมเกียรติ พ้นภัย หรือพ่อบุญมี คำเรือง
ทันทีที่รถบัสทหารของมณฑลทหารบกที่ 22 และรถบัสมหาวิทยาลัยพาเรามาถึง พ่อบุญมี คำเรือง ขมีขมันออกมาต้อนรับเราเข้าสู่ห้องเรียนการเมืองภาคประชาชนด้วยตนเอง วันนี้พ่อสวมเสื้อรณรงค์ที่จัดทำขึ้นเพื่อรำลึกถึง พี่มด วนิดา คงไม่ต้องอธิบายถึงความผูกพันใดๆ ที่มีต่อเธอ งานถูกจัดขึ้นบริเวณริมน้ำ ที่พ่อใหญ่บอกว่าตรงนี้เป็นลำโดมน้อย เราไม่รู้ว่าตรงไหนคือลำโดมน้อยเพราะบัดนี้เบื้องหน้าคือเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ ทอดสายตาไปไกลกว่านั้น ทุ่งนา วัดวาอาราม ชีวิตและวัฒนธรรม ที่ซ่อนอยู่ใต้ท้องน้ำอันสงบนิ่งผุดขึ้นมาในมโนสำนึก ทุ่งนา วัดวาอาราม ชีวิตวัฒนธรรมกำลังร่ำไห้...ไม่มีวันหวนคืน
เสียงหมอลำจากเครื่องกระจายเสียงกระหึ่มสมกับเป็นงานบุญ ในขณะที่นักรัฐศาสตร์น้อยๆ ที่เรียกตัวเองว่า ‘ชาวสิงห์แสดแห่งที่ราบสูง’ กว่าร้อยยี่สิบชีวิตเดินกระจัดกระจายไปทำความรู้จักกับพ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่เพิ่งเดินทางมาถึง โจทย์สำหรับการมาครั้งนี้คือการสวมวิญญาณนักข่าว และกลับไปรายงานข่าวในเวบไซต์ความยาวเพียงคลิปวีดีโอ ซึ่งกว่าจะผ่านกระบวนการนี้ออกมาได้เล่นเอาคนสอนเหงื่อไหลไคลย้อย อย่างแรกต้องใช้เวลาราวสองครั้งหรือหกชั่วโมงเพื่อทำความเข้าใจก่อนลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อถกเถียงเกณฑ์การให้คะแนน เพื่อรื้อความคิดจากการทำรายงานทั่วๆ ไป ที่พบปัญหาเมื่อปีที่แล้วเพราะข้อมูลในรายงานที่ส่งมานั้น ส่วนใหญ่ download มาจาก website ต่างๆ เราบอกนักศึกษาว่า ถ้าต้องการให้ download ข้อมูลชนิดตัดแปะมาส่ง โดยไม่รู้เลยว่าตรงไหนเป็นความคิดของเขาเอง เราจะเสียเงินงบประมาณคราวละเกือบสองหมื่นลงพื้นที่เพื่ออะไร
นักศึกษาได้พบ ‘ทองปาน’ รุ่นพ่อใหญ่แม่ใหญ่หลายคนที่เคยเข้าร่วมกับสมัชชาคนจน เคยชุมนุมครั้งแล้วครั้งเล่า เคยปะทะคารมกับนักการเมือง เคยปืนรั้วทำเนียบ หลายคนมีคดีติดตัว การค้นพบโจทย์ในวันนี้มีเรื่องมากมายให้นักเรียนวิชาการเมืองภาคประชาชนได้ขบคิด ทั้งเรื่องกระบวนการยุติธรรม เรื่องผลประโยชน์ระหว่างกันในหมู่คนจน เมื่อกลับมาเล่าให้นักศึกษาหลักสูตร อบต. ฟัง เราก็ได้เห็นมุมของผลประโยชน์ที่แยบยลมากขึ้นจากข้อมูลของฝ่ายที่เรียกตนเองว่า ‘องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ ซึ่งไม่มีเวลาที่จะอธิบายในที่นี้
หลังจากพบพ่อใหญ่แม่ใหญ่ตามอัธยาศัยในช่วงเช้าแล้ว วงเสวนาอย่างเป็นทางการก็เริ่มขึ้นในช่วงบ่าย สดใส สร่างโศก วนิดาคนที่สองเป็นผู้ดำเนินรายการ บรรยากาศใต้ร่มไม้ดำเนินไปอย่างเป็นกันเอง “ … แม้จะร้อนอบอ้าว(ในช่วงบ่ายแก่ๆ) แต่ก็อบอวลด้วยความรักของคนจนที่มีให้กัน ความอบอ้าวจึงอบอุ่นไปโดยปริยาย นี่กระมังที่เป็นคำอธิบายที่ว่า ,แม้ว่าเขื่อนจะพรากหลายสิ่งหลายอย่างจากเราไป ... แต่เราได้ความรักกลับคืนมา ... ”
3
แต่อยู่เฉยๆ ‘ ทุกข์กว่า’
ขณะอยู่ในวงเสวนา ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ นักสังคมวิทยา มานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่คลุกและขลุกกับปัญหาปากมูล สิรินธร และคนจนอื่นๆ โทรมาถามข่าวเป็นระยะๆ พร้อมฝากความคิดถึงมายังแม่สมปอง เวียงจันทร์ อาจารย์พานักศึกษาลงมาทำวิจัย และมีส่วนสำคัญในการผลักดันงานวิจัยไทบ้าน ผลงานการวิจัยที่ตอบโต้ข้อเท็จ(จริง)จากภาครัฐและ กฟผ. เมื่อการเสวนาจบลง อาจารย์ กิ่งกาญจน์ มอบหมายให้วัฒนา บุตรสอง หนุ่มหน้าซื่อจากเมืองยโสฯ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 กล่าวขอบคุณพ่อใหญ่แม่ใหญ่ด้วยภาษาอิสาน ภารกิจสำคัญกำลังสิ้นสุดลง
เมื่อกลับมาถึงคณะฯ....เราได้งานจำนวน 43 ชิ้นจากนักศึกษาทั้งหมด มีนักศึกษา 43 กลุ่มส่งตัวแทนมานำเสนอหน้าชั้นเรียน และมีกรรมการสิบคนให้คะแนน กรรมการไม่มีสิทธิให้คะแนนตัวเอง เมื่อกรรมการออกรายงาน อาจารย์เจ้าของวิชาจะเป็นกรรมการสำรอง เกณฑ์ในการให้คะแนนถูกกำหนดมาจากทุกคน แต่กระนั้นก็ตาม ถึงเวลารายงานจริงๆ เกณฑ์ยังถูกปรับใหม่จนทุกคนพอใจ หลายคนบอกเสียเวลา บอกว่าวุ่นวาย ให้อาจารย์กำหนดไปเลย แต่เราอยากสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมขึ้นมาแบบที่ภาษาปฏิรูปการศึกษาเรียกว่า child center (ไม่ใช่ควายเซ็นเตอร์อย่างที่ประชดประชันกัน !) เราไม่อยากให้ครูเปรียบเสมือนการรวมศูนย์อำนาจรัฐ “ … ครูคือผู้ใช้อำนาจรัฐ นักศึกษาคือประชาชน คะแนนหรือเกรดคือผลประโยชน์ทางการเมืองหรือทรัพยากรทางการเมืองที่ในอดีตรัฐเป็นผู้มีอำนาจจัดสรรแต่เพียงผู้เดียว ... ” เราบอกกับนักศึกษาว่าประชาธิปไตยคือความวุ่นวาย ภายหลังความวุ่นวายคือความสงบสุขของสังคม เพราะว่าเมื่อคะแนนนำเสนอข่าวหน้าห้องออกไป ไม่มีใครไม่พอใจกับคะแนนของตัวเองที่มาจากกรรมการสิบคนที่อาสาสมัครขึ้นมา ขอขอบคุณลูกศิษย์ที่น่ารักที่เสนอตัวเป็นกรรมการทั้งที่ต้องวุ่นวายกับการเตรียมสอบของตนเอง อันได้แก่ บัณฑิต วงค์มั่น เอกรัฐ ทาตาสุข ฉัตร แก้วเจียง จุรีภรณ์ โสภาจันทร์ วนิษฐา ฦาปัญญา สุณีพร แสงนนท์ นงนุช ป้อมหิน กรรณิกา กุแก้ว ปุณยภา งามล้ำ และอภิญญา จึงตระกูล
หลายคนรายงานข่าวราวกับเรียนนักเรียนวิชาสื่อสารมวลชน หลายคนมีวรรคทองทั้งจากตัวเองและจากบทสัมภาษณ์มานำเสนอ เช่น “ .... เบื้องหลังชีวิตที่สวยหรูคือการเสียสละของคนลำโดมน้อย , ผู้เสียสละต้องเสียสละทั้งชีวิต, ขบวนการต่อสู้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่รวมตัวกัน, ไป(ชุมนุม)แล้วทุกข์ แต่อยู่เฉยๆ ทุกข์กว่า,อำนาจอันถูกกฎหมายแต่ไม่ชอบธรรมของรัฐ , ต่อสู้กับความจริงที่ถูกมองว่าไม่จริง, ชัยชนะที่เหนือสิ่งอื่นใดคือชัยชนะที่ได้จากตัวเอง .... ” ถ้อยคำเหล่านี้กลั่นกรองมาจากเบื้องลึกของหัวใจ บ่งบอกถึงบทเรียนที่ได้มาด้วยประสบการณ์ ไม่เสียแรงที่คาดหวัง บีบคั้นให้ลูกศิษย์ได้ทำในสิ่งที่หลายคนคิดว่าตนเองทำไม่ได้ สิ่งเหล่านี้คือศักยภาพหรือพรสวรรค์ในตัวนักศึกษาที่รอระบบการศึกษาขุดค้นและเจียรนัย เราเห็นแววของอนาคตนักข่าวการเมืองหลายคนในตัวเขาเหล่านั้น
สำหรับการสัมภาษณ์ที่น่าประทับใจคงจะเป็นการสัมภาษณ์ ‘ทองปาน’ วัย 70 ตอนปลาย .....ซึ่งถามอย่างตอบอย่าง จนคณะล่ามลูกศิษย์แปลภาษาอิสานให้ฟังก็งงไปตามๆ กัน ภายหลังจึงรู้ว่าแกหูหนวก (ทำให้เรานึกถึงเพลงของเพลิน พรมแดน ราชาเพลงพูดที่มีบทสนทนาระหว่างคนหูดีกับคนหูหนวก)....เอกรัฐ ทาตาสุข เล่าอย่างขบขันให้เพื่อนๆ ฟังถึงบทส่งท้ายการให้สัมภาษณ์ของ ‘ทองปาน’ จิตวิญญาณขุนแผนว่า พ่อใหญ่มีเมียบ่หลายดอก.....พ่อใหญ่มีสี่คนเอง......เมื่อเล่าเสร็จนักศึกษาหนุ่มจากอำนาจเจริญก็หัวเราะเอิ๊กอ๊ากชอบใจ แต่ สาวๆ รัฐศาสตร์หลายคนกลับค้อนขวับ !
หวังว่ากิจกรรมการเรียนการสอนเช่นนี้จะมีประโยชน์กับใครหลายๆ คน ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้