บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

แนวรบบ้านภูมิซรอล แพะ! ไม่เปลี่ยนแปลง

ที่มา ไทยรัฐ

กระสุนปืน ระเบิด ไม่ว่าจะตกลงในหมู่บ้านด้วยสาเหตุใด ชาวบ้านภูมิซรอลต้องเป็นแพะรับแรงระเบิดตลอดกาล

บ้านภูมิซรอล ตั้งอยู่เขตตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ติดต่อกัน 3 หมู่บ้านคือ หมูที่ 2 หมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 13 มีครัวเรือนประมาณ 600 ครัวเรือน และประชากรประมาณ 1,800 คน

คำว่า ภูมิซรอล เป็นภาษาเขมร

ภูมิ แปลว่า หมู่บ้าน ซรอล แปลว่า ต้นสน รวมความแล้วแปลว่า หมู่บ้านต้นสน หรือจะเรียกว่าหมู่บ้านสน ก็ไม่น่าจะผิดกติกา ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ ทำนา และหาของป่าขายเป็นอาชีพเสริม เหตุการณ์สู้รบที่เกิดขึ้น นอกจากกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านภูมิซรอล โดยตรงแล้ว ยังมีโดยอ้อม

นั่นคือกับระเบิดที่หลงเหลือจากการสู้รบ เป็นเหตุให้ชาวบ้านเหยียบได้รับบาดเจ็บ ล้มตาย และพิการอยู่เนืองๆ

หนึ่งในเหยื่อกับระเบิดคือ แก้ว” (นามสมมติ) ชายวัย 56 ปี ชาวบ้านภูมิซรอล หมู่ 2 ตำบลเสาธงชัย แก้วเล่าผ่านดวงตาอันปวดร้าวว่า สูญเสียขาไปตั้งแต่ พ.ศ.2541 ด้วยความอยากได้ โดยไม่คิดเรื่องอันตรายใดๆ

ช่วงนั้น วัวจากกัมพูชาทะลักเข้ามาเมืองไทยมาก เพราะเป็นคนพื้นที่ รู้เส้นทางลำเลียงวัวผ่านชายแดนได้ดี จึงผันตัวเองไปเป็นพ่อค้าวัว ข้ามแดน ไม่คาดคิดว่าความอยากได้ใคร่มีนั้นจะทำให้ขาขวาต้องขาดไป

ผมไม่รู้หรอกว่า ระเบิดนั้นฝ่ายไหนวางไว้ ผมรู้แต่ว่า เดินเข้าไปเหยียบมันแล้วก็ขาขาดอย่างที่เห็นแก้วเอ่ยพลางถอนลมหายใจบางๆ

แม้จะสิ้นขาขวา แต่ขาด้านซ้ายยังอยู่ มือยังมี และที่สำคัญ หัวใจนักสู้ยังเต้นไหวอยู่ในอก แก้วจึงยังทำไร่ ทำนาเหมือนเดิม เมื่อมีโอกาสกู้เงินจากธนาคารได้ จึงกู้เงินมา 50,000 บาท

เงินจำนวนนั้นสร้างอาชีพใหม่ให้กับภรรยา นั่นคืออาชีพขายเสื้อผ้าให้นักท่องเที่ยว แต่เหมือนบุญซ้ำกรรมซัด ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา เหตุการณ์ทางการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศ ทำให้ เขาพระวิหารปิด

อาชีพที่หวังว่าจะรุ่งกลายเป็นร่วงอย่างน่าอนาถใจ

เกี่ยวกับการค้าที่เขาพระวิหาร โดยเฉพาะบริเวณบันไดทางขึ้นองค์ปราสาทคือบริเวณตลาดที่ชาวกัมพูชาขายของอยู่ในปัจจุบัน เมื่อก่อนชาวไทยขึ้นไปขายของได้ ต่างฝ่ายต่างตั้งร้านขายของร่วมกันอย่างปกติสุข

แต่เมื่อไม่นานมานี้ คนไทยขึ้นไปขายของไม่ได้แล้ว เหลือไว้ แต่ชาวกัมพูชามาตั้งโรงเรือน และร้านค้าขายอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งก็สร้างความประหลาดใจให้กับคนไทยไม่น้อย

และตลาดนี้เอง ผู้สังเกตการณ์เชิงปราสาทเขาพระวิหารเล่าว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา เห็นชาวกัมพูชาที่เป็นผู้หญิงและเด็กๆ เดินลงเขาไป เมื่อประมาณเวลา 14. 00 น. ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เมษายน เวลาประมาณ 15.00 น. ก็เกิดเพลิงไหม้ตลาด

พื้นที่ตลาดทั้งหมดนั้นมีชาวกัมพูชาอยู่กันอย่างแออัดถึงประมาณ 300 ร้าน เพลิงไหม้ไปประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือ 40 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นโรงเรือนที่มุงด้วยสังกะสี

ตลาดชาวกัมพูชาที่ลุกไหม้เมื่อวันที่ 3 เมษายนนั้น เหมาะเจาะกันพอดี กับเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างทหารไทยและกัมพูชาที่ภูมะเขือ ซึ่งเป็นเนินเขาใกล้ๆกับปราสาทเขาพระวิหาร

สำหรับเหตุการณ์ปะทะกัน ระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา สำหรับชาวบ้านภูมิซรอลอย่างแก้ว แก้วบอกว่า เขมรคุยได้แค่เช้าถึงกลางวันเท่านั้น บ่ายก็ต้องอีกอย่างหนึ่ง เรื่องรบกันผมถือว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดามากๆ สำหรับชาวบ้านอย่างผม

เมื่อถามว่ากลัวไหม คำตอบคือ ไม่กลัว เพราะว่าบริเวณที่มีการสู้รบห่างจากหมู่บ้านภูมิซรอลประมาณ 8-10 กม. ระยะห่างนี้ ถือว่าไกลแล้วสำหรับคนชายแดน

เนื่องจากเป็นหมู่บ้านชายแดน ตั้งอยู่ใกล้กับเขาพระวิหาร เมื่อเกิดการสู้รบกันทุกครั้ง ชาวบ้านแห่งนี้จะได้รับความเดือดร้อนทุกคราว ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย พุทธสุภาษิตนี้ ชาวบ้านภูมิซรอล ซึ้งใจเป็นอย่างดี เห็นได้จากหลุมหลบภัยที่มีทั้งที่บ้านและโรงเรียน

บ้านที่อยู่ชายแดน จะมีหลุมหลบภัยกันทุกหมู่บ้าน ยิ่งหมู่-บ้านที่อยู่ติดชายแดนอย่างภูมิซรอล จะมีความจำเป็นอย่างมาก

อาจารย์รุ่งอโณทัย อ้อมแก้ว อาจารย์โรงเรียนศรีรัตนวิทยา อำเภอกันทรลักษ์ ผู้มีประสบการณ์ใช้หลุมหลบภัยมาตั้งแต่วัยเยาว์บอกถึงความจำเป็น

และอธิบายต่อว่า การสร้างหลุมหลบภัย ปกติผู้นำหมู่บ้านเช่น ผู้ใหญ่บ้านจะเป็นผู้มีประสบการณ์ใช้หลุมหลบภัยมาตั้งแต่วัยเยาว์ บอกถึงความจำเป็นของหลุมหลบภัย

และอธิบายต่อว่า การสร้างหลุมหลบภัย ปกติผู้นำหมู่บ้าน เช่น ผู้ใหญ่บ้านจะเป็นผู้นำในการขุด อาจจะเกณฑ์ลูกบ้านมาช่วยกันขุดเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน

หลุมหลบภัยสมัยก่อน เขาจะขุดลงดินลงไป แล้วเอาท่อนไม้ใหญ่ๆ แข็งแรงวางไว้ด้านบนแล้วเอาดินกลบด้านบนอีกทีหนึ่ง สมัยก่อนถ้าได้หลุมหลบภัยแบบนี้ถือว่ามั่นคง แข็งแรง มั่นใจได้

ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นหลุมที่ทำด้วยปูนซีเมนต์

การสร้างหลุมหลบภัย อาจารย์บอกว่าหมู่บ้านชายแดนแต่ละหมู่บ้านจะมี มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความจำเป็นต้องใช้ นอกจากจะหมู่หลุมของหมู่บ้านซึ่งเป็นหลุมใหญ่แล้ว ยังมีหลุมของชาวบ้านเองอีกด้วย อาจจะเป็น 3 ครอบครัวต่อ 1 หลุมก็มี

อาจารย์บอกด้วยว่า เมื่อมีเหตุการณ์สู้รบ ผู้ใหญ่บ้านจะแจ้งมา ให้ชาวบ้านลงไปในหลุมหลบภัยแต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวจะรู้กันเองว่า บ้านของตนเองจะวิ่งไปหลบภัยในหลุมไหน

สำหรับที่หมู่บ้านภูมิซรอล เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 เมื่อเวลามีชุดปฏิบัติการกวาดล้างทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม นำรถบัสคัสเตอร์ และรถโบซีน่า ซึ่งเป็นรถกำจัดวัตถุระเบิด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เก็บกู้ระเบิดมาช่วยเหลือชาวบ้าน และก่อสร้างหลุมหลบภัย

ส่วนความเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่ เมื่อไม่นานมานี้ คณาจารย์ ของโรงเรียนบ้านภูมิซรอล ได้พาชาวบ้านและนักเรียนนับร้อยออกมาทำความสะอาดหลุมหลบภัยที่ทำจากท่อปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่

หลุมนี้เคยใช้หลบภัยมาตั้งแต่สมัยสงครามเขมร 3 ฝ่าย

ส่วนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสาธงชัย นายบุญมี บัวต้น เจ้าของพื้นที่บอกว่า เรื่องการรักษาความปลอดภัย ในเขตของตนมีการดูแลเป็นปกติอยู่แล้ว ส่วนที่หมู่บ้านภูมิซรอล เดี๋ยวนี้มีเจ้าหน้าที่อส. และทหารเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีอะไรครับ

ส่วนเหตุการณ์ที่ผ่านมา มีหนักมากในช่วง พ.ศ. 2522-2523 เหตุการณ์สู้รบกันระหว่างเขมรแดง และผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มีลูกปืนใหญ่ตกลงมา หลังจากนั้นแม้จะมีการปะทะกันบ้าง

ชาวบ้านภูมิซรอลต้องทำมาหากินอย่างปกติวิสัย เหมือนชาวบ้านทั่วไป เมื่อมีการปะทะกัน ไม่ว่าจะเป็นอาวุธหรือถ้อยคำ

เมื่อสถานการณ์ชายแดนตึงเครียด ก็ย่อมสะเทือนต่อวิถีชีวิตอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง.

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker