รอจนเซ็ง-ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวกว่า3แสนคนที่ตกค้างช่วงอันธพาลการเมืองพันธมิตรยึดสนามบินที่ต้องทนรอด้วยความเซ็งสุดขีด โลกก็รอการดำเนินคดีนี้ผ่านมา 7 เดือนเศษแล้วโดยยังไม่มีการดำเนินคดีใดๆ และอาจกลายเป็นคดีที่ยืดเยื้อไป7ชั่วโคตร หากภายในกลางเดือนนี้ยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดตามที่ตำรวจเลื่อนมาหลายรอบแล้ว
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา สำนักข่าวไทย
1 กรกฎาคม 2552
คาดแจ้งข้อหาพันธมิตรฯปิดสนามบินได้กลางเดือนนี้ หลังอืดมา7เดือนเศษยังไม่ดำเนินคดี
ตำรวจกำลังเร่งสรุปสำนวนคดีกลุ่มพันธมิตรฯ ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง คาดแจ้งข้อหากับคนทำผิดได้ในกลางเดือนกรกฎาคมนี้
พล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว เปิดเผยว่า คณะพนักงานสอบสวนได้รับหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ และพยานหลักฐานเพิ่มเติม จากกรมการขนส่งทางอากาศครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการเร่งสรุปสำนวนคดี ก่อนเตรียมแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่ทำความผิด
ส่วนจะมีแกนนำพันธมิตรฯ คนใดถูกแจ้งข้อกล่าวหาบ้าง ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ และคาดว่าจะมีความชัดเจนกลางเดือนกรกฎาคมนี้
ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวย้ำว่า เมื่อสามารถแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว พนักงานสอบสวนก็จะออกหมายเรียกบุคคลนั้นๆ มารับทราบข้อกล่าวหาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
กฎหมายระบุคนยึดสนามบินและคนหนุนหลังมีโทษหนักประหารชีวิต
เผยไทยลงนามข้อตกลงสากลปราบปรามการยึดสนามบิน ออกกฎหมายรองรับไว้ชัดแจ้ง"ใครทำให้การให้บริการของท่าอากาศยานหยุดชะงักลง โทษหนักถึงประหารชีวิต"
จากการตรวจสอบพบว่า ไทยได้ลงนามในพิธีสารเพื่อการปราบปรามการกระทำรุนแรงอันมิชอบด้วยกฎหมาย ณ ท่าอากาศยาน ซึ่งให้บริการการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ( อ่านรายละเอียด คลิ้กที่นี่ )และมีผลใช้บังคับสำหรับประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้นมา โดยมีข้อตกลงในพิธีสารนี้ที่สำคัญว่า
พิจารณาเห็นว่า การกระทำรุนแรงอันมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นอันตรายหรือน่าจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัย ของบุคคล ณ ท่าอากาศยานซึ่งให้บริการการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือซึ่งเป็นผลร้ายต่อการดำเนินการ อย่างปลอดภัยของท่าอากาศยานนั้น บ่อนทำลายความไว้วางใจของประชาชนแห่งโลกในความปลอดภัย ณ ท่าอากาศยาน เหล่านั้น และรบกวนความปลอดภัยและความเป็นระเบียบในการดำเนินงานการบินพลเรือนของรัฐทั้งปวง
พิจารณาเห็นว่า การที่การกระทำเช่นว่านั้นอุบัติขึ้นเป็นเรื่องน่าห่วงใยอย่างมากต่อชุมชนระหว่างประเทศ และเพื่อความประสงค์ที่จะยับยั้งการกระทำเช่นว่านั้น ย่อมมีความจำเป็นอันรีบด่วนที่จะจัดหามาตรการ อันเหมาะสมเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด
พิจารณาเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องรับเอาข้อบทเพิ่มเติมต่อจากอนุสัญญาว่าด้วยการปราบปราม การกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายต่อความปลอดภัยของการบินพลเรือน ทำที่เมืองมอนตริออล เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๑๔ เพื่อจัดการกับการกระทำรุนแรงอันมิชอบด้วยกฎหมายเหล่านั้น ณ ท่าอากาศยานซึ่งให้บริการการบินพลเรือน ระหว่างประเทศ
ได้ตกลงกันต่อไปนี้
"๑ ทวิ บุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำความผิด หากได้กระทำดังต่อไปนี้อย่างมิชอบด้วยกฎหมายและโดยเจตนา โดยใช้เครื่องมือ วัสดุ หรืออาวุธใด ๆ
(ก) กระทำการอันรุนแรงต่อบุคคล ณ ท่าอากาศยานซึ่งให้บริการการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเหตุให้หรือน่าจะเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสหรือความตาย หรือ
(ข) ทำลาย หรือทำความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยาน ซึ่งให้บริการการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือต่ออากาศยานที่ไม่ได้ให้บริการ ซึ่งจอดอยู่ ณ ท่าอากาศยานนั้น หรือทำให้การบริการของท่าอากาศยานหยุดชะงักลง หากการกระทำนั้นเป็นอันตรายหรือน่าจะเป็นอันตราย ต่อความปลอดภัย ณ ท่าอากาศยานนั้น"
"๒ ทวิ ในทำนองเดียวกัน รัฐภาคีแต่ละรัฐต้องดำเนินมาตรการที่อาจจำเป็นเพื่อกำหนดเขตอำนาจศาล ของตนให้ ครอบคลุมเหนือการกระทำผิด ตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑ วรรค ๑ ทวิ และในข้อ ๑ วรรค ๒ เท่าที่วรรคนั้น เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเหล่านั้น ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดปรากฏตัวในอาณาเขตของรัฐภาคี และรัฐนั้นมิได้ส่งตัวบุคคลนั้นข้ามแดนตามข้อ ๘ ไปให้รัฐที่ระบุไว้ในวรรค ๑ (ก) ของข้อนี้"
สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทยคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2538 (รายละเอียดคลิ้กที่ ลิ้งค์ )ระบุว่า
มาตรา 6 ทวิ(1) ผู้ใด
(1) กระทำการประทุษร้ายผู้อื่นในท่าอากาศยานที่ให้บริการการบินพลเรือนจนเป็นเหตุให้หรือน่าจะเป็นเหตุให้ผู้อื่นนั้นรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตายหรือ
(2) ทำลาย หรือทำให้เสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยานที่ให้บริการการบินพลเรือน หรือต่ออากาศยานที่ไม่อยู่ในระหว่างบริการและอยู่ในท่าอากาศยานนั้น หรือทำให้การให้บริการของท่าอากาศยานหยุดชะงักลง
ทั้งนี้ โดยใช้กลอุปกรณ์ วัตถุ หรืออาวุธใด ๆ และการกระทำนั้นเป็นอันตรายหรือน่าจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของท่าอากาศยานนั้น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี
มาตรา 11(2) ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 หรือมาตรา 6 ทวิ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการ
ลำดับเหตุการณ์7เดือนเศษคดียึดสนามบินโดนดอง
-ค่ำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551พันธมิตรยึดสนามบินสุวรรณภูมิ
-13 มกราคม 2552 พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผบ.ตร.เผยคดีคืบหน้า 70 %จะออกหมายจับพันธมิตรภายใน1เดือน
-13 กุมภาพันธ์ 2552 ครบ1เดือนที่จงรักพูด ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
-18 กุมภาพันธ์ 2552 รัฐบาลย้ายตำรวจคุมคดียึดสนามบินเข้ากรุ พล.ต.อ.จงรักพ้นหน้าที่ในการคุมคดี สุเทพ เทือกฯเข้าคุมเอง
-20 กุมภาพันธ์ 2552 พล.ต.ท.ฉลอง สนใจผบช.ภาค1เผยคดีคืบหน้า80%
-21 เมษายน 2552 พล.ต.ท.ฉลองเผยคืบหน้า95%แล้ว เหตุที่ช้าเพราะเป็นคดีก่อการร้ายโทษถึงประหารชีวิต ส่วนคดีเสื้อแดงจับรวดเร็วเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดผลร้ายขึ้น
-23 เมษายน 2552 อภิสิทธิ์กล่าวต่อที่ประชุมสภาว่า รัฐบาลไม่ได้มี2มาตรฐานระหว่างสีแดงจับเร็ว สีเหลืองจับช้าอย่างที่วิจารณ์กัน ขณะที่จตุพร พรมพันธุ์โต้ตอนนี้มี3มาตรฐานแล้ว คือเสื้อแดงจับไว เสื้อเหลืองออกหมายเรียกก่อนแต่ช้า ส่วนเสื้อสีน้ำเงินของเนวินไม่ทำอะไรเลย แถมรัฐบาลอ้างว่าเป็นอาสาสมัครช่วยรัฐบาลอีก...
27 เมษายน 2552พล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายให้คุมคดีพันธมิตรยึดสนามบิน และคดีพันธมิตรบุกสภาเมื่อ7ตุลาคม2551 เผยว่า คาดว่าไม่เกินเดือนพฤษภาคมจะสรุปสำนวนได้
9 พฤษภาคม 2552พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ปฏิเสธว่าไม่ได้2มาตรฐานกรณีสลายม็อบเสื้อแดงกับเพิกเฉยกรณีเสื้อเหลืองยึดสนามบิน โดยอ้างว่าตอนยึดสนามบิน รัฐบาลมีคำสั่งให้ตำรวจเป็นหลัก ทหารบกเป็นผู้ช่วยอยู่อันดับ3 แต่กรณีเสื้อแดงตอนสงกรานต์นั้น ทหารอยู่เฉยไม่ได้ คนตีกันสองฝ่าย ที่ตีกันระหว่าง “เหลือง-แดง” ผมอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ เราไม่ได้สลายการชุมนุม แต่ทำให้สถานการณ์สงบเรียบร้อย
-25 พฤษภาคม 2552 6เดือนผ่านไป พล.ต.ท.วุฒิเผยว่า เบื้องต้นได้มีการเตรียมแจ้งข้อกล่าวหาตั้งแต่บุกรุกจนถึงข้อหาก่อการร้ายสากล ซึ่งคาดว่าประมาณปลายเดือน พ.ค.จะมีความคืบหน้าในการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่เกี่ยวข้อง
-27 พฤษภาคม 2552 พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า ได้ดูรายงานการประชุมที่ พล.ต.ท.วุฒิมาประชุม ไม่พบว่ามีการตั้งข้อหาก่อการร้ายแต่อย่างใด
3 มิถุนายน 2552พล.ต.ท.วุฒิ อ้างว่าตำรวจทำคดีเต็มที่แล้ว แต่เหตุที่ล่าช้าเนื่องจาก กรมขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคมยังไม่ได้สรุปความเสียหายว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ มายังพนักงานสอบสวน เพื่อใช้ประกอบสำนวนการสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
12 มิถุนายน 2552 ผบ.ตร.ส่งรายงานคดีสำคัญ17คดีให้สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯทราบ ซึ่งใน 17 คดีสำคัญนี้ไม่มีคดียึดสนามบินรวมอยู่ด้วยแต่อย่างใด
1 กรกฎาคม 2552 ผ่านไป218วัน หรือ 7 เดือนเศษ พล.ต.ท.วุฒิเผยว่า ได้รับหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษและพยานหลักฐานเพิ่มจากกรมขนส่งทางอากาศแล้ว จึงคาดว่าจะดำเนินคดีโดยออกหมายเรียกพันธมิตรได้ภ่ยในกลางเดือนกรกฎาคมนี้