บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

"ทักษิณ" ไม่ได้ ไทยไม่สงบ

ที่มา ไทยรัฐ
Pic_20380

ผ่ากระบวนการ "สมานฉันท์" จากนับหนึ่งถึงขั้นสุดท้าย

รับกลับมาอยู่ในมือแล้ว หลังจากให้การบ้านไปทำนาน 45 วัน

ล่าสุด นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ได้ส่งรายงานข้อสรุปผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯให้แก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการไปสู่กระบวนการที่คาดหวังว่าจะทำให้เกิดความปรองดอง สมานฉันท์ขึ้นในประเทศ

โดยงานนี้ นายดิเรกได้เน้นย้ำว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ทำงานโดยยึดหลักที่ว่า ความเป็นธรรมไม่มี ความสามัคคีในชาติเกิดขึ้นไม่ได้

จึงพยายามที่จะทำให้ความขัดแย้งในบ้านเมืองลดน้อยลง โดยมีข้อเสนอ 2 แนวทาง คือ ระยะสั้นและระยะยาว

ในระยะสั้นได้เสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ส่วนระยะยาวเห็นควรให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.3 ขึ้นมา เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

โดยอยากให้รัฐบาลและรัฐสภา ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรม

ในขณะที่นายกฯอภิสิทธิ์ ระบุถึงการนำผลสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯไปสู่ภาคปฏิบัติว่า

ได้ปรึกษากับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ว่าจะนำผลสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเปิดสมัยประชุมตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้

โดยจะทำคู่ขนานไปกับฝ่ายบริหารที่จะนำผลสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯเข้าไปหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

แต่ยอมรับว่า เรื่องนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่าง แม้เพียง 1-2 ประเด็นก็สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งได้

การทำงานของฝ่ายบริหารและรัฐสภาจะต้องคำนึงถึงความ ละเอียดอ่อนและทำให้ดีที่สุด เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป

ยืนยันว่ารัฐบาลมีเจตนาแน่วแน่ที่จะให้การเมืองเข้าสู่ ระบบ เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย และเป็นการปฏิรูปการเมืองภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข

ออกอาการ แบ่งรับแบ่งสู้

ไม่ฟันธงว่าจะสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามผลสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯได้ทุกเรื่องทุกประเด็นหรือไม่

เพราะในส่วนผสมของสังคมที่หลากหลาย มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กับแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ

สำหรับการบ้านของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่ต้องหาแนวทางเพื่อคลี่คลายปัญหาวิกฤติทางการเมือง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ

เป็นผลมาจากการที่สังคมเกิดความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรง เกิดปัญหาเสื้อเหลือง เสื้อแดง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย พวกมึง พวกกู

ฝ่ายหนึ่งต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในขณะที่อีกฝ่ายศรัทธาชื่นชอบ

เกิดเหตุเผชิญหน้า ปะทะห้ำหั่นกันหลายครั้งหลายหน

จนกระทั่งมาถึงเหตุการณ์ม็อบเสื้อแดงบุกล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา และก่อเหตุจลาจลกลางกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลสงกรานต์

รัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน ใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ ยุติการจลาจล สลายการชุมนุมของม็อบเสื้อแดง

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา และภาคส่วนต่างๆในสังคม มองเห็นตรงกันว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ความแตกแยกดำเนินต่อไป บ้านเมืองจะเกิดกลียุค แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ

เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย

ควรที่จะหาคนกลางมาร่วมปรึกษาหาทางออก เพื่อคลี่คลายวิกฤติการเมืองของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ในห้วงที่รัฐบาลขอเปิดประชุมรัฐสภาชี้แจง เหตุการณ์จลาจลช่วงสงกรานต์ และรับฟังข้อเสนอแนะ จาก ส.ส.และ ส.ว.

นายกฯอภิสิทธิ์ได้ประกาศกลางที่ประชุมถึงแนวทางในการคลี่คลายวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง

โดยให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมตัวแทนวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา

พิจารณาประเด็นในการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องความไม่เป็นธรรมและความไม่เป็นประชาธิปไตย ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
จนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการ สมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐ-ธรรมนูญ

ที่มีกรรมการมาจากทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน วุฒิสภา และตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมพิจารณาหาทางคลี่คลาย ความขัดแย้งทางการเมือง

หาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรมนักการเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมาย สร้างความปรองดองสมานฉันท์
ยุติปัญหาวิกฤติความแตกแยกในประเทศ

มาถึงวันนี้ การบ้านที่นายกฯอภิสิทธิ์ตั้งโจทย์ให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯไปทำนั้น เสร็จเรียบร้อยแล้ว

โดยเฉพาะในประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คณะ

กรรมการสมานฉันท์ฯมีข้อสรุปออกมาชัดเจนว่า

ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น คือ

1. มาตรา 237 ยกเลิกการยุบพรรคและการเพิกถอนสิทธิ หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค โดยให้เพิกถอนสิทธิเฉพาะตัวผู้สมัคร ส.ส. ที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

2. มาตรา 93-98 ที่มาของ ส.ส. ให้กลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 คือใช้ระบบแบ่งเขต เขตละคน และระบบบัญชีรายชื่อ

3. มาตรา 111-121 ที่มาของ ส.ว. ให้ใช้ตามรัฐ-ธรรมนูญปี 2540 คือให้มาจากการเลือกตั้ง

4. มาตรา 190 การทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ให้กำหนดประเภทหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

5. มาตรา 265 ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ อาทิ เป็นเลขานุการหรือที่ปรึกษารัฐมนตรีได้

6. มาตรา 266 การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของ ส.ส.และ ส.ว. ให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาของประชาชนผ่านส่วนราชการได้

ส่วนในระยะยาวให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เข้ามาแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อไป

แน่นอน คณะกรรมการสมานฉันท์ฯมีความมุ่งหวังว่าแนวทางเหล่านี้จะทำให้เกิดความปรองดอง ยุติปัญหา ความขัดแย้งในบ้านเมือง

และการดำเนินการในช่วงต่อไปก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและรัฐสภา ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่การจะเดินไปสู่จุดที่เป็นความมุ่งหวังในการทำให้ บ้านเมืองเกิดความสมานฉันท์ จะสำเร็จลุล่วงหรือไม่ จะทำให้คนไทยหันกลับมาปรองดองกันได้หรือเปล่า

ยังมีปัจจัยอื่นเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งมีทั้งปัจจัย ภายใน และปัจจัยภายนอก

ปัจจัยภายใน ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาลที่ประกอบด้วยพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา

ส่วนปัจจัยภายนอก ได้แก่ กลุ่มพลังมวลชน ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง รวมไปถึงบุคคลที่เป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งนั่นก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ

ความปรองดอง ความสมานฉันท์ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายทุกภาคส่วนเห็นพ้องในประเด็นใหญ่ๆร่วมกัน

ที่สำคัญ คงไม่มีฝ่ายไหนได้ตามที่ตัวเองต้องการทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ถ้าทุกฝ่ายยึดกติกาในระบอบประชาธิปไตย ยึดเสียงส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ ก็จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าไปได้

อย่างไรก็ตาม แค่เริ่มต้นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯชงประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมา ก็เริ่มมีเสียงค้านกระหึ่มขึ้นมา

ไล่ตั้งแต่กลุ่ม 40 ส.ว.ออกมา ประกาศคัดค้านการแก้ไขรัฐ-ธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น โดยชี้ ว่าเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ ของนักการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้นำไปสู่ความสมานฉันท์

แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งครั้งใหม่ อาทิ มาตรา 237 ยกเลิกโทษยุบพรรคและตัดสิทธิหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค ถือเป็นการนิรโทษ-กรรมซ่อนรูป

แถมยังสอดไส้ออกกฎหมายปรองดองที่มีเนื้อหายกเลิกความผิดของนักการเมือง

ในขณะที่ ส.ว.ฝ่ายที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ออกมาแย้งว่า เป็นการแก้ไขสิ่งที่ไม่เป็นธรรมให้เกิดความเป็นธรรม เพราะต้องยอมรับว่า กติกาบางอย่างทำให้

นักการเมืองรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้นตอของความขัดแย้งทั้งหลาย

นอกจากนี้ในฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเอง ทางพรรคแกนนำอย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขระบบเขตเลือกตั้งจากแบ่งเขตเรียงเบอร์ มาเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว

รวมไปถึงการยกเลิกโทษตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค และการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักการ เมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 ในขณะที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆที่มีชนักติดหลัง ต้องการให้แก้ไข

ปมขัดแย้งเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องที่ต้องเจรจาต่อรองกัน เพื่อหาจุดลงตัว

ซึ่งทีมของเราเชื่อว่า ด้วยความจำเป็นที่ต้องกอดคอร่วมรัฐบาลกันต่อไป จะสามารถทำให้เจรจาต่อรองกันได้

แต่สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสมประโยชน์ ของ "ทักษิณ" ที่เป็นหัวหน้าใหญ่ของพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดง

โดยเฉพาะเป้าหมายที่ต้องการได้รับการนิรโทษ-กรรม กลับประเทศไทยโดยไม่ต้องรับโทษอาญา และขอขุมทรัพย์คืน

ถ้ายังไม่ได้อย่างที่ต้องการ ความสมานฉันท์และความสงบ ก็ไม่เกิด.

"ทีมการเมือง"

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker