บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ก้าวให้พ้นการเมืองแห่งความรู้สึก

ที่มา ประชาไท

แรกเริ่มในการขยับก้าวให้พ้นการเมืองแห่งความรู้สึกนั้นก็ต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า การเมืองแห่งความรู้สึก คืออะไร การเมืองแห่งความรู้สึกในที่นี้ หมายถึง การใช้ความรู้สึกที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองส่วนตนสร้างเป็นกรอบวิจารณญาณในการตัดสินใจหรือเลือกที่จะคิด เชื่อ และปฏิบัติการทางการเมืองออกไปตามที่ตนรู้สึก และในหลายครั้งเจ้าความรู้สึกนี้เองก็แรงกล้าจนทำให้เราเลือกที่จะไม่สนใจหลักการหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆไปเสียก็ได้ หากเราคิดว่าหลักการเหล่านั้นขัดหรือแย้งกับการตัดสินใจของเรา อาทิ เรารู้สึกว่านักการเมืองทั้งหมดหรือส่วนใหญ่เป็นคนน่าสงสัยไม่น่าไว้วางใจควรที่จะหาวิธีมาจำกัดขอบเขตอำนาจของนักการเมืองเหล่านั้นเสียโดยเฉพาะนักการเมืองที่เราตราหน้าว่ามาจากการซื้อเสียงชาวบ้านตาสีตาสาที่ไม่รู้เรื่องทางการเมืองเอาเสียเลย เราก็อาจจะรับข้อเสนอที่ให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีสัดส่วนในสภาน้อยลง แล้วให้มีการแต่งตั้งบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามามีสัดส่วนในสภาเพื่อคัดง้างกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง (ซึ่งหากพิจารณาจะเห็นว่าข้อเสนอนี้ขัดกับหลักความเสมอภาคทางการเมืองเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากได้มีการสถาปนาคนกลุ่มหนึ่งเข้ามามีอำนาจทัดเทียมกับตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง) หรือ ในกรณีที่มีข้อสงสัยต่อนักการเมืองผู้ได้รับความนิยมจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศว่าผู้นำคนนั้นมีการใช้อำนาจไปในทางมิชอบหรือไม่ ก็จะมีกลุ่มที่ชื่นชมในตัวผู้นำคนนั้นเป็นอย่างยิ่งเลือกที่จะไม่สนใจความบกพร่องของผู้นำคนนั้นเพราะคิดว่าส่วนอื่นที่เขาดีนั้นได้ตอบสนองความปรารถนาของตนที่รอคอยจะได้ผู้นำที่เอาทรัพยากรส่วนกลางระดับชาติมาจัดสรรให้กับตนอย่างที่ไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนเคยทำให้เห็นเป็นรูปธรรมมาก่อน แม้ความบกพร่องของผู้นำคนนั้นจะมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบอันละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรงถึงขั้นทำให้ผู้บริสุทธิ์นับพันคนตายไปก็ตาม แต่ก็หาได้มาลบเลือนความนิยมชมชอบของกลุ่มผู้สนับสนุนที่มีต่อตัวผู้นำคนนั้นไม่

ความรู้สึกทางการเมืองอันแรงกล้าจนอยู่เหนือเหตุผลและหลักการเหล่านี้ล้วนมีอานุภาพรุนแรงและสามารถแผ่อิทธิพลเหนือผู้คนในสังคมได้อย่างกว้างขวาง หากผู้คนในสังคมไม่มีภูมิคุ้มกันทางการเมืองที่ทำให้สามารถแยกแยะได้ว่า ข้อเสนอทางการเมือง คำปลุกเร้าทางการเมือง หรือบทบาททางการเมืองที่บุคคลต่างๆแสดงออกนั้น ตั้งอยู่บนหลักการหรือฐานความคิดใด มีสิ่งที่เป็นความเท็จ ความลวง หรือแม้กระทั่งขัดหลักการพื้นฐานในการอยู่ร่วมกัน เช่น ความเสมอภาคของบุคคลในสังคม การเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือไม่ หากผู้คนในสังคมมิอาจแยกแยะได้ก็เป็นการง่ายที่กลุ่มบุคคลใดจะสร้างข้อมูล หรือคำอธิบายบิดเบือนขึ้นมาเพื่อชักจูงให้มวลชน คิด เชื่อ และทำ ตามที่กลุ่มนำขบวนการต้องการ เพราะต้องไม่ลืมว่าสังคมไทยได้เคยผ่านเหตุการณ์ที่คนในสังคมมีความรู้สึกทางการเมืองแรงกล้าจนสามารถใช้กำลังเข้าฆ่าฟันผู้อื่นซึ่งมีความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกับตนจนทำให้เกิดสงครามกลางเมืองกินระยะเวลาหลายปีและมีเพื่อนร่วมชาติบาดเจ็บล้มตายไปอีกนับไม่ถ้วน จากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ดังนั้นข้อสรุปที่เกิดขึ้นในอารยะสังคมทั้งหลายก็คือ เมื่อมีความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย มันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้คนที่คิดต่างหันมาเห็นตามทันที และเราก็ไม่สามารถทำให้เกิดความเห็นเชิงเดี่ยวอย่างเดียว เพราะฉะนั้นสังคมจึงต้องแสวงหากระบวนการทำให้คนที่เห็นต่างกันพออยู่ร่วมกันได้ และสามารถหาแนวทางในการตัดสินใจเพื่อเดินไปข้างหน้าได้ ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจรูปแบบใดก็ตาม เช่น ประชาพิจารณ์ ประชามติ หรือเลือกตั้ง แต่หลักการพื้นฐาน คือ ต้องอยู่บนการเปิดโอกาสให้ทุกคนใช้สิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันโดยปราศจากวิธีการที่รุนแรงป่าเถื่อนเพื่อคงไว้ซึ่งภารดรภาพในสังคม
เมื่อนำเรื่อง การเมืองแห่งความรู้สึก มาปรับเข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นช่วง 3-4 ปี หลังมานี้จะเห็นได้ว่า สังคมไทยได้อยู่ในช่วงเขย่าขวดสังคมครั้งใหญ่ที่ตอนนี้ก็ยังไม่ตกตะกอน ฝุ่นควันแห่งความขัดแย้งยังฟุ้งกระจายบดบังวิสัยทัศน์ของคนในสังคมจนมิอาจแยกแยะได้ว่าสิ่งใด ลับ ลวง พราง บ้างนั้น หากเราตัดสินใจอยู่บนความรู้สึกที่แรงกล้าบ้าบิ่น การกระทำที่ตามมาก็อาจรุนแรงจนทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันจนบาดเจ็บล้มตายซึ่งจะเป็นบ่อเกิดแห่งความแค้นที่ยากจะถอดถอนออกจากหัวใจของแต่ละฝ่ายได้ อันจะทำให้ความขัดแย้งยืดเยื้อและฝังลึกลงในความรู้สึกของคู่ขัดแย้งมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจะเป็นการเสียหายประการใดเล่าหากเราจะเลือกวิถีทางแห่งสันติในการขับเคลื่อนขบวนการทางการเมืองในช่วงระยะเวลาที่ความขัดแย้งแหลมคมเช่นเวลานี้ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ขออธิบายให้เห็นถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเมืองแห่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นดังตัวอย่างที่จะยกมาให้เห็นต่อไปนี้ แล้วจึงจะนำเสนอแนวทางในการก้าวให้พ้นการเมืองแห่งความรู้สึกในช่วงท้าย
ตัวอย่างที่จะยกมาให้เห็นถึงการถกเถียงในประเด็นการเมืองแห่งความรู้สึก คือ ข้อสันนิษฐานที่เกิดจากปรากฏการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า เหตุใดการเคลื่อนไหวของขบวนการ(โดยเฉพาะหลังข้อเสนอ นายกพระราชทานตามมาตรา 7เป็นต้นมา) จึงมีสัดส่วนของผู้เข้าร่วมเป็นสุภาพสตรีสูงวัยเป็นจำนวนมาก และเหตุใดจึงมีสุภาพสตรีที่เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงมีอัตราส่วนที่มากขึ้น จนกลายเป็นมวลชนส่วนใหญ่ของขบวนการ ถึงขนาดแกนนำและกิจกรรมบนเวทีได้มีการสื่อสารไปถึงคนกลุ่มดังกล่าวเป็นการเฉพาะ เช่น แม่ยก แม่ฉันแม่แก กิจกรรมบันเทิง และการพูดจาออดอ้อน ไม่ต่างอะไรกับมหรสพต่างๆที่มีแม่ยกเป็นผู้สนับสนุนหลัก (ข้อสังเกตอีกประการขบวนการ นปก./นปช. ก็มีสุภาพสตรีเข้าร่วมเคลื่อนไหวไม่น้อยเช่นกัน แต่ก็น้อยกว่าที่ปรากฏในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถึงกับมีการเหน็บแนมกันว่า นี่เป็นการปะทะกันระหว่างขบวนการต่างชนชั้นเพราะข้างพันธมิตรมักจะนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้เข้าร่วมเป็นชนชั้นกลางผิวพรรณหน้าตาขาวสะอาด แต่งกายสวยงาม ส่วนภาพของคนที่เข้าร่วมกลุ่ม นปก./นปช. จะมีลักษณะเกร็นกร้าน เปื้อนหยาดเหงื่อ เป็นลักษณะของกลุ่มรากหญ้าและผู้ใช้แรงงาน ที่มักถูกทำซ้ำภาพลักษณ์ในสื่อกระแสหลักของสังคมไทย) จากข้อสันนิษฐานถึงสัดส่วนสุภาพสตรีในขบวนการทางการเมืองดังกล่าว ได้มีผู้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของสัดส่วนสุภาพสตรีที่เพิ่มขึ้นกับปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสนใจ ปัจจัยที่ทำให้มีสุภาพสตรีตื่นตัวเข้าร่วมขบวนการทางการเมืองโดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรก็ด้วยปัจจัยภายนอกหลักๆ 3 ประการ คือ สื่อ โลกาภิวัฒน์ และเพศสภาพ (Gender)
ปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนไป ได้แก่ สื่อ โลกาภิวัฒน์ และเพศสภาพ
1. สื่อ สื่อในยุคโลกาภิวัฒน์ได้ส่งผ่านข้อมูลทางการเมืองในปริมาณมหาศาลและรวดเร็วไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศได้อย่างฉับไว(Real-Time) จึงทำให้กลุ่มสุภาพสตรีซึ่งแต่เดิมไม่ได้ร่วมเสวนาในวงสนทนาปัญหาการเมืองในพื้นที่สาธารณะต่างๆ อาทิ สภากาแฟ สมาคม หรือวงสนทนาปัญหาบ้านเมืองต่างๆ แต่ปัจจุบันได้มีระบบสื่อสารใหม่(New-Media)ที่เข้าถึงได้ง่ายเพียงแค่บอกรับสมาชิกเคเบิ้ล หรือสั่งซื้อจานดาวเทียมก็สามารถเข้าถึงสื่อการเมืองเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย ไม่ต่างจากรายการเรียลลิตี้โชว์บันเทิง แต่นี่กลายเป็นรับชมรายการเรียลลิตี้การเมือง 24 ชม./วัน แทน การได้รับรู้ข้อมูลและถูกปลุกเร้าทางการเมืองโดยตรงซ้ำๆ จนกลายเป็นความรู้สึกอันแรงกล้านี้เองทำให้มวลชนประเภทแฟนพันธุ์แท้ต้องแสดงออกในรูปแบบการเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะโดยตรง หรือทางอ้อม(อุดหนุนเงินทุน) แต่ต้องระลึกอยู่เสมอว่ารายการเรียลลิตี้ต่างๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของมายาที่เสมือนจริง ข้อมูลต่างๆถูกควบคุมโดยกลุ่มผู้จัดทำรายการ มีการเลือกสรร และพิจารณาก่อนแล้วจึงจะปล่อยให้ออกสู่การรับชมของผู้ชม หากประชาชนมิอาจใช้วิจารณญาณในการรับชมรายการก็อาจจะเกิดการสับสนระหว่างโลกมายาที่มีข้อมูลเชิงเดี่ยวด้านเดียว กับ โลกแห่งความเป็นจริงซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายมากกว่าข้อมูลที่ผู้ผู้จัดทำรายการเสนอในรายการ
2. โลกาภิวัฒน์ ได้ปลุกให้กลุ่มสตรีที่อยู่อาศัยหรือทำงานที่บ้านแต่เป็นผู้กุมกำลังอำนาจทางเศรษฐกิจไว้สามารถส่งกำลังทุนผ่านช่องทางต่างๆได้ง่ายขึ้น เช่น ATM บัญชีธนาคาร โทรศัพท์ SMS ที่สามารถเอื้อให้ส่งกำลังทรัพย์ และเสบียงกรังต่างๆไปสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นโดยที่ไม่ต้องผละจากงานบ้านหรืองานประจำที่ต้องรับผิดชอบอยู่ ต่างจากแต่เดิมที่การเข้าร่วมขบวนการทางการเมืองนั้นต้องหอบพาร่างกายเข้ามาร่วมกิจกรรมจนอาจต้องผละจากภาระงานต่างๆที่รับผิดชอบอยู่
3. เพศสภาพ ข้อสังเกตที่สำคัญต่อขบวนการพันธมิตรฯ เหตุใดจึงมีสุภาพสตรีวัยกลางคนเข้าร่วมเคลื่อนไหวอย่างจริงจังต่อเนื่องเป็นสัดส่วนมากถึงเพียงนี้ หากมองย้อนไปในอดีตงานภาระหน้าที่หลักของสุภาพสตรีในสังคมไทยจะเป็นงานที่เกี่ยวเนื่องกับการอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนแม้เป็นผู้หญิงทำงานก็มักเป็นงานที่ทำอยู่กับบ้านพร้อมกับดูแลครอบครัวไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งงานเหล่านี้ถูกมองข้ามถึงคุณค่าไปจนทำให้หยาดเหงื่อของผู้หญิงถูกทำให้เบาบางไป ต่างจากงานของผู้ชายที่ออกไปเผชิญโลกกว้างแสวงหาอำนาจความมั่งคั่งจากภายนอกกลับเข้ามาในบ้าน หรือเปลี่ยนแปลงสังคม ปกป้องชาติบ้านเมืองซึ่งจะได้รับการชื่นชมและให้คุณค่ามากกว่า ปัจจุบันการเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มสุภาพสตรีทำให้บทบาทของสตรีในสังคมไทยเปลี่ยนไป จึงถือเป็นครั้งแรกที่ทำให้สตรีเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในประเทศชาติ มีส่วนร่วมในการปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์(ตามนิยามความรักชาติไทยแบบอนุรักษ์) เกิดความภาคภูมิใจ ฮึกเหิม จนกลายเป็นความรู้สึกแรงกล้าในการเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าคนกลุ่มอื่นๆในขบวนการได้ปลีกตัวออกไปจากขบวนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯไปเป็นจำนวนมากนับแต่การเรียกร้องวิธีการเอาชนะระบอบทักษิณด้วยวิธีการนอกครรลองประชาธิปไตย อาทิ การขอนายกพระราชทานตาม ม.7 การสนับสนุนการรัฐประหาร หรือการใช้กำลังมวลชนเข้ายึดสถานที่สาธารณประโยชน์ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรสะท้อนให้เห็นความรู้สึกอันแรงกล้าทางการเมืองแต่มุ่งผลสำเร็จไปที่เป้าหมายมาก่อน จนหลายๆวิธีการมีลักษณะก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและส่วนรวม สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงขาดประสบการณ์ทางการเมืองจนทำให้เกิดความรู้สึกร่วมไปกับพล็อตที่แกนนำชี้นำ(การปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นสิ่งสูงค่าเกินกว่าชีวิตของคนที่มีอุดมการณ์อย่างอื่น) จนการเคลื่อนไหวของขบวนการมุ่งไปสู่เป้าหมายโดยมิได้คำนึงถึงวิธีการที่ถูกครรลองโดยหวังว่าเมื่อได้ชัยชนะจากการเคลื่อนไหวของขบวนการแล้วสังคมจะดีขึ้นดุจพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้เนื่องจากสังคมประชาธิปไตยที่มีประชาชนมีความแตกต่างหลากหลายกว่า 70 ล้านคน เราไม่อาจปิดปากหรือทำลายฝั่งตรงข้ามให้หายไปจากสังคมจนหมดเกลี้ยง นอกจากนี้ความอ่อนประสบการณ์ทางการเมืองก็ยังทำให้ไม่สามารถแยกข้อมูลและวาทกรรมทางการเมืองของแกนนำขบวนการได้ออกว่าอันใดจริงอันใดเท็จ อันใดปลุกเร้าเกินจริง หรือมีวิธีการที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ผิดครรลองประชาธิปไตย
ประสบการณ์ทางการเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้าง ความรู้สึกทางการเมืองของบุคคล ดังนั้นหากขาดประสบการณ์ทางการเมืองไปเสียแล้วย่อมเป็นการง่ายที่อาจจะถูกด้านมืดเข้าครอบงำแม้จะมีอุดมการณ์ที่บริสุทธิ์ก็ตาม การขาดประสบการณ์ทางการเมืองมิได้สะท้อนว่าคนในสังคมโง่แต่กำเนิด แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยขาดกระบวนการสั่งสมประสบการณ์เมืองให้กับพลเมืองเป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นทางตรง คือ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยมากมาตั้งแต่อดีตทำให้ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมคิดตัดสินใจทางการเมือง จนทำให้เกิดความไม่พร้อมเมื่อต้องลงสู่สนามการเมืองจริงในห้วงเวลาปัจจุบัน หรือขาดประสบการณ์ทางการเมืองทางอ้อม คือ การศึกษาที่เป็นนวัตกรรมของมนุษย์ที่ได้ทำการเก็บสั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองของบรรพบุรุษออกเป็นหลักการและทฤษฎีที่ได้รับการพัฒนาจากนักปราชญ์ผู้เคี่ยวกรำประสบการณ์ทางการเมืองมานับศตวรรษ เนื่องจากความรู้ทางการเมืองการปกครองของสังคมไทยอยู่ภายใต้การครอบงำของกลุ่มอำนาจทางการเมืองไทยที่ยัดเยียดความรู้ทางการเมืองผ่าน ระบบการศึกษา และสื่อกระแสหลักที่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองเรื่อยมา
ข้อสรุปที่ได้จากกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพันธมิตรฯ คือ มีกลุ่มคนในสังคมไทยที่ตื่นตัวเพราะการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอก(สื่อ โลกาภิวัฒน์ เพศสภาพ) แต่ไม่อาจใช้วิจารณญาณได้เกินกว่าความรู้สึกเพราะขาดประสบการณ์ทางการเมือง (จากการขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองนับแต่อดีต และถูกครอบงำการศึกษาและสื่อจากกลุ่มอิทธิพลทางการเมือง) ปัญหาจึงน่าจะอยู่ที่ “ความรู้สึกทางการเมือง” ที่กลายมาเป็นวิจารณญาณในทางการเมืองของคนในสังคมเสียมากกว่า ที่เราต้องพิจารณาแล้วหาทางก้าวพ้นให้ได้ เพราะความรู้สึกทางการเมืองนี้เองที่ครอบงำวิจารณญาณของผู้คนในสังคมไทยโดยที่มิได้จำกัดวงอยู่แต่เพียงกลุ่มสตรีเท่านั้นแต่ขยายไปยังคนหลากหลายกลุ่มในสังคมที่ล้วนอยู่ภายใต้ระบบการครอบงำเราให้เหลือเพียงความรู้สึกที่ผ่านการทำซ้ำ แต่ไม่สามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณตามหลักการและเหตุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ส่วนแนวทางในการก้าวให้พ้น “การเมืองแห่งความรู้สึก” กรุณาติดตามในบทความชิ้นต่อไป เรื่อง “ประชาธิปไตยศึกษา กับ การก้าวให้พ้นการเมืองแห่งความรู้สึก”)

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker