การล่าหนึ่งล้านรายชื่อเพื่อถวายฎีกาของคนเสื้อแดง กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง เพราะมีคนบางกลุ่มในซีกรัฐบาลและผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ มองว่าเรื่องนี้มีภาพลวงอันซับซ้อนปรากฏอยู่ภายใน จึงพยายามออกมาแสดงบทบาทเพื่อสกัดกั้นการถวายฎีกา ด้วยเหตุผลง่ายๆว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ความร้อนแรงของเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่จำนวนลายเซ็นว่ามีสามล้านหรือห้าล้านรายชื่อ แต่กลับไปอยู่ที่ประเด็นการคัดค้านการถวายฎีกา ว่าทำไมต้องทำกันใหญ่โต คัดค้านด้วยเหตุผลอะไรกันแน่
ความจริงการที่คนในชาตินับล้านคน พร้อมใจกันลงชื่อเพื่อกระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ ในมุมมองดั้งเดิม ซึ่งมองจากผู้มีอำนาจรัฐออกไป ก็อาจมองได้ว่าประชาชนเหล่านี้กำลังหลงผิด หรือถูกชักชวนไปในทางที่ไม่เหมาะสม ซึ่งก็ย่อมมองได้และมีการมองในทำนองนี้เสมอมา แต่ในเวลาเดียวกัน เรื่องเดียวกันนี้ ก็มีมุมมองอื่นให้มองได้เช่นกัน เช่นมองว่าคนเหล่านี้เขามีความรู้สึกนึกคิดกับสังคมนี้อย่างไร โดยเฉพาะความรู้สึกนึกคิดต่อกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย มุมมองด้านนี้เป็นมุมมองที่ประชาชน มองไปที่กลไกการทำงานของภาครัฐ ภาษาวิชาการเรียกว่ามองแบบ outside in ซึ่งในการจัดการภาครัฐสมัยใหม่ถือว่าเป็นมุมมองสำคัญ ที่มีผลต่อความอยู่รอดและความสำเร็จขององค์กรมากยิ่งกว่ามุมมองดั้งเดิม ซึ่งเต็มไปด้วยอคติลำเอียงของคนทำงาน
สำหรับในกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมา แม้องค์กรที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลในองค์กรได้พยายามอธิบายให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทุกฝ่ายได้เป็นอย่างดี คนในกระบวนการยุติธรรมทุกคนล้วนเป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรมเหนือกว่าปุถุชนธรรมดา มีความเก่ง ความกล้า และไม่โกง แต่นั่นก็เป็นเพียงการประเมินตนเองเท่านั้น แต่ในสายตาประชาชน การเคลื่อนไหวของคนจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นนี้ เป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้มองเห็นภาพเดียวกันกับคนในกระบวนการยุติธรรม พวกเขาขาดความเชื่อมั่นในระบบที่มีอยู่ ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา พวกเขาเหล่านั้นไม่เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมที่มีจะสามารถสร้างความยุติธรรมให้บังเกิดในบ้านเมืองนี้ได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลจากสวนดุสิตโพลล์ เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2552 ที่พบว่าประชาชนร้อยละ 58.69 เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า”กระบวนการยุติธรรมของไทยมีสองมาตราฐาน” ประชาชนร้อยละ 41.86ไม่เชื่อมั่นว่าการดำเนินคดีกับพันธมิตรประชาธิปไตยหรือกลุ่มเสื้อเหลือง จะมีการตัดสินด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส มีประชาชนเพียงร้อยละ 27.91 เท่านั้นที่ยังมีความเชื่อมั่นเช่นนั้นอยู่ กรณีของกลุ่มเสื้อแดง ประชาชนก็มีความเห็นไปในทำนองเดียวกัน แน่นอนคงมีคนที่ไม่ยอมรับอีกหลายคน ที่พยายามโต้เถียงว่าไม่เป็นความจริงและอาจประณามประชาชนที่มีความเชื่อแบบนั้นอีกนานัประการ แต่ก็คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะเรื่องนี้เป็นความคิดความเชื่อของคน ที่ห้ามปรามกันไม่ได้ ในโลกปัจจุบันรัฐจะไปบีบบังคับให้ประชาชนทุกคนต้องคิดเหมือนกับคนในกระบวนการยุติธรรม คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เราต้องยอมรับความจริงว่าคนในสังคมทุกวันนี้เขามองสิ่งที่เห็น แตกต่างจากไปจากสิ่งที่คนของรัฐกำหนดให้เขาเห็น
การล่ารายชื่อในครั้งนี้จึงเป็นภาพหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความตกต่ำของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย จริงอยู่ในบางห้วงเวลาองค์กรบางองค์กรหรือบางสถาบัน เช่น ตำรวจ ฝ่ายปกครอง อาจเผชิญกับความตกต่ำด้านความน่าเชื่อถืออยู่บ้าง แต่กระบวนการยุติธรรมโดยรวมก็ไม่ได้สั่นคลอนแต่อย่างใด เพราะประชาชนยังเชื่อมั่นต่อระบบศาลยุติธรรม ประชาชนยอมรับร่วมกันว่าการพิจารณาของศาลจะเป็นจุดสิ้นสุดของความขัดแย้งทั้งปวงที่เกิดขึ้น ศาลสุดท้ายตัดสินอย่างไรก็ยอมรับกันตามนั้น เรียกว่าประชาชนเชื่อฟังศาลยุติธรรมโดยดุษฎี ทั้งนี้เพราะศาลมีภาพลักษณ์ของความเป็นกลางและความยุติธรรม ศาลสามารถชี้แจงข้อกฎหมายได้อย่างแม่นยำ หมดจดไร้ข้อกังขา ศาลสามารถเทียบเคียงการตัดสินกับแบบแผนประเพณีที่เคยปฏิบัติหรือตัดสินกันมาได้อย่างชัดเจนทุกประเด็น แต่ไม่กี่ปีมานี้คนในสังคมเริ่มมองเห็นว่าจุดแข็งของกระบวนการยุติธรรมที่มีแต่เดิมกำลังเสื่อมถอยลงไป คดีความหลายคดีโดยเฉพาะคดีทางการเมือง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถชี้แจงข้อกฎหมายให้กระจ่างชัดได้ บางคดีก็ดูจะใช้กฎหมายเกินกว่าที่ปรากฏในลายลักษณ์อักษร ต้องอ้างอิงไปถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย บางเรื่องแทนที่จะใช้ตัวบทกฎหมายในการพิจารณา กลับใช้ถ้อยคำในพจนานุกรมมาเป็นเกณฑ์ หรือบางคดี นิติกรรมหลักเป็นเรื่องที่ชอบตามกฎหมาย แต่การเซ็นชื่อรับรองผู้ทำนิติกรรมนั้น กลายเป็นความผิดใหญ่โต หรือแม้แต่คดีหมิ่นประมาทคนอื่น สามารถนำถ้อยคำหมิ่นประมาทของพระสงฆ์หรือบุคคลชั้นสูงมาล้มล้างความผิดได้ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในแบบแผนปกติของกระบวนการยุติธรรม จึงไม่สามารถทำให้เกิดความกระจ่างชัดแก่ประชาชนทุกคนได้ บางครั้งยังกลายเป็นตลกร้ายที่คนในสังคมส่วนหนึ่งรับกันไม่ได้ ความเสื่อมจึงบังเกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบในวันนี้
“ความยุติธรรม” แม้บางคนบอกว่ากินไม่ได้แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญ เป็นหัวใจที่ผลักดันให้มนุษย์ต้องมาอยู่รวมกันเป็นสังคม มาสร้างกฎสร้างกติกาให้คนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม เมื่อคนในสังคมเริ่มรู้สึกว่าความยุติธรรมกำลังหายไปจากสังคม ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่พวกเขาจะต้องเคลื่อนไหวทางใดทางหนึ่งเพื่อแสวงหาความยุติธรรมกลับคืนมา การล่ารายชื่อที่ทำกันก็เป็นทางหนึ่งที่น่าจะทำได้และอาจจะดีกว่าหนทางอื่นๆอีกหลายทาง การปล่อยให้คนในสังคมเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่มีความยุติธรรมในสังคมเป็นสิ่งที่ไม่ดี คาร์ล มาร์กซ์(Karl Marx)นักทฤษฎีสังคมต้นตำรับลัทธิมาร์กซิสต์ บอกว่า ความอยุติธรรม(การขูดรีดแรงงาน)จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินได้ เรื่องนี้เป็นจริงในทุกสังคมทุกยุคสมัย สังคมไทยก็เคยเผชิญกับวิกฤติการณ์ความขัดแย้งรุนแรงอันเนื่องมาจากความไม่ยุติธรรมมาแล้วในยุคสมัยที่เผชิญกับภัยคอมมูนิสต์เมื่อ 30 -40 ปีที่แล้ว ความขัดแย้งในครั้งนั้นไม่ถึงกับทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน แต่ก็ทำให้คนไทยต้องจับอาวุธมาเข่นฆ่ากันเอง จนเลือดไทยต้องท่วมนองแผ่นดิน ผู้คนต้องล้มตายกันนับไม่ถ้วนก็เพราะคนไทยกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าสังคมไม่มีความยุติธรรม ยุคนั้นการเป็นคอมมิวนิสต์ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองจึงมีบทบาททั้งในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม คอยตัดสินว่าใครเป็นคอมมิวนิสต์บ้าง และในเวลาเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นผู้ปราบปรามคอมมิวนิสต์ด้วย จึงทำให้เกิดกรณีถังแดง หรือการตัดสินคดีความแบบศาลเตี้ยอยู่บ่อยครั้ง จนชาวบ้านจำนวนมากอดทนไม่ไหว ต้องจับอาวุธหันหน้ามาสู้รบกับรัฐบาลของตนเองอยู่นานหลายปี บทเรียนราคาแพงเช่นนี้ คนไทยไม่น่าจะลืมเสียง่ายๆ
เพราะฉะนั้นการมองปรากฏการณ์ล่าชื่อถวายฎีกา จึงเป็นเรื่องที่ต้องมองกันอย่างระมัดระวัง ต้องมองด้วยความเข้าอกเข้าใจ มองให้เห็นความเป็นคนไทยปรากฏอยู่ในทุกฝ่าย การล่ารายชื่อถวายฎีกาไม่ได้เป็นปัญหาสำคัญ แต่อย่าหลงคิดกันมากมายจะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาได้ เรื่องนี้เป็นเพียงอาการของปัญหาที่แสดงออกมาให้เห็น แต่ปัญหาที่แท้จริงคือคนไทยส่วนหนึ่งไม่เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมที่อยู่จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้จริง คล้ายคลึงกับเหตุการณ์เมื่อ30-40ปีที่แล้ว การแก้ไขปัญหาก็ต้องไปแก้ไขความคิดความเชื่อของคนเหล่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะใช้อำนาจรัฐไปบีบบังคับให้เกิดขึ้นได้ การแก้ไขต้องเริ่มต้นด้วยการกระทำให้เห็นจริงว่า”ความยุติธรรม”ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย องค์กร สถาบันหรือบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต้องเลิกหลงคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายธรรมะที่ถูกส่งมาปราบปรามฝ่ายอธรรม หรืออย่าหลงคิดว่ากระบวนการยุติธรรมจะกลายเป็น ”ตุลาการภิวัฒน์”เข้ามาแก้ไขการเมืองไทยให้เข้าไปอยู่ในกรอบอุดมคติได้ในชั่วพริบตา เพราะการหลงคิดเช่นนั้นจะทำให้สังคมไทยต้องสูญเสียที่พึ่งสุดท้ายในการผ่อนปรนความขัดแย้งของประชาชนไป กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาลต้องกลับไปเป็นศาลแบบเดิมๆเหมือนศาลรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรา ทำหน้าที่อย่างเป็นปรนัย (objectivity) ไม่มีความรู้สึกหรืออารมณ์ร่วมในความขัดแย้ง ตัดสินคดีความไปตามตัวบทกฎหมายที่มี สามารถอธิบายข้อโต้แย้งได้อย่างมีเหตุผล ชัดเจน หมดจดไร้ข้อกังขาใดๆและไม่ขัดแย้งกับแบบแผนประเพณีที่เคยปฏิบัติ ประชาชนก็คงไม่จำเป็นต้องออกมาล่ารายชื่อเพื่อถวายฎีกาอีกต่อไป แต่หากไม่มีการแก้ไขใดๆหรือแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆความขัดแย้งก็จะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาจถึงขั้นต้องต่อสู้กันในทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะและสถาปนาความยุติธรรมขึ้นมาใหม่ซึ่งเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงจะไม่เห็นด้วยวิธีการนี้เพราะมันทำให้สังคมต้องสูญเสียโอกาสและทรัพยากรอย่างมโหฬารเหมือนสภาพที่เห็นอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ทุกวันนี้