ถ้าถือตามที่หลายคนเคยประเมินว่ารัฐบาลชุดนี้ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ น่าจะเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราว เข้ามาจัดระเบียบการเมือง
เพื่อรอเวลายุบสภาช่วงปลายปี
4 เดือนจากนี้จึงน่าจะเป็นช่วงโค้งสุดท้าย ที่รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเครื่องผลงานในทุกด้าน ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชน เพื่อแปรเป็นคะแนนเสียงสนับสนุน
ให้ได้กลับมาเป็นฝ่ายกุมอำนาจอีกครั้งหลังเลือกตั้งครั้งหน้า
สิ่งที่เป็นสัญญาณเตือนว่ารัฐบาลต้องใช้ความพยายามอย่างหนักกว่าในช่วง 7 เดือนแรกของการเข้ามาบริหารประเทศ คือผลสำรวจของโพลบางสำนัก
ที่พบว่าคะแนนนิยมในตัวผู้นำรัฐบาลกำลังลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย จากร้อยละ 50.6 เมื่อเดือนมี.ค. หล่นมาอยู่ร้อยละ 32.9 ในปลายเดือนก.ค.
นักวิเคราะห์นำผลโพลดังกล่าวมาแยกแยะหาสาเหตุ กระทั่งได้ข้อสรุปออกมาตรงกันว่าเป็นเพราะรัฐบาลไม่มีผลงาน หรืออาจจะมีแต่ไม่ชัดเจนพอที่ประชาชนจะรู้สึกได้
ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามจะรีดเค้นมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อประคับประคอง และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้
แต่เอาเข้าจริงประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรดีขึ้นอย่างที่รัฐบาลป่าวประกาศ
ความชะล่าใจต่อการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ทั้งยังกระทบต่อเนื่องไปถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอีกด้วย
อย่างไรก็ตามประเด็นที่สร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลและบรรดาพรรคร่วม
อีกอย่างก็คือความตกต่ำของกระแสในตัวผู้นำรัฐบาล สวนกับคะแนนความนิยมของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
นับจากชัยชนะศึกเลือกตั้งซ่อมพื้นที่สกลนครและศรีสะเกษของพรรคเพื่อไทย ซึ่งกลายมาเป็นแรงผลักดันในการล่ารายชื่อถวายฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดง รวมถึงการจัดงานแซยิดอย่างใหญ่โตเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับการล่ารายชื่อถวายฎีกานั้น ถึงจะมีแนวต้านจำนวนมากไม่ว่ากลุ่มองคมนตรี นักวิชาการ ส.ว. พรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ
แต่ไม่สามารถหยุดยั้งความฮึกเหิมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ได้จัดชุมนุมใหญ่ท้องสนามหลวง วาระปิดบัญชีการรวบรวมรายชื่อ ที่คาดว่าอาจได้มากถึง 3 ล้านรายชื่อ
มองลึกลงไปในกลุ่มแนวต้าน เน้นหนักไปที่พรรคภูมิใจไทยซึ่งใช้กลไกกระทรวงมหาดไทยที่อยู่ในความดูแล ไปลากเอากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ไปจนถึงกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊กออกมารวมตัวเคลื่อนไหว
ตลอดจนการสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทั่วประเทศ ตั้งโต๊ะให้ประชาชนที่ร่วมลงชื่อถวายฎีกาไปแล้ว มาลงชื่อขอถอนตัวนั้น
แง่มุมหนึ่งกลับเป็นการสร้างความเสียหายให้กับรัฐบาลโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เพราะแทนที่หน่วยงานรัฐจะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย แต่กรณีนี้กลับทำตัวเป็นคู่กรณี ปั่นกระแสเผชิญหน้า สร้างความแตกแยก แบ่งประชาชนเป็นฝักเป็นฝ่าย
ซ้ำเติมความขัดแย้งเสียเอง
ในจังหวะที่รัฐบาลถูกมรสุมเศรษฐกิจ-การเมืองภายนอกซัดกระหน่ำจนแทบโงหัวไม่ขึ้น ปรากฏว่ายังได้เกิดปัญหาการเมืองขัดแย้งในขั้วเดียวกันเอง
องค์ประกอบรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ผสมปนเปไปด้วย"หุ้นส่วนอำนาจ"หลากสี ทั้งสีเขียว สีน้ำเงิน สีเหลือง เมื่อบริหารประเทศได้ระยะหนึ่ง จึงเกิดปัญหาขัดขากันเองขึ้นมา
ต่างฝ่ายต่างแสดงตัวเป็นเจ้าบุญนายคุณ ออกมาทวงถามค่าตอบแทนกันอย่างเปิดเผย ไม่ว่าในรูปแบบการขอความช่วยเหลือในเรื่องคดีความ การจัดสรรงบประมาณ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ตำรวจ ฯลฯ
ช่วงแรกดูเหมือนนายอภิสิทธิ์ จะบริหารจัดการปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ดี
แต่ระยะหลังมานี้โดยเฉพาะในคดียิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ที่บานปลายกลายเป็นปัญหาการเมือง มีการเรียกร้องให้ปลดผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอย่างไร้เหตุผล
การคลายปมของนายกฯ ต่อกรณีดังกล่าวกำลังถูกจับตามอง ว่าจะนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์กับฝ่ายกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ อย่างไร
เช่นเดียวกับความขัดแย้งกันเองในระดับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่เริ่มแตกตัวและกลับมารวมกันเป็นกลุ่มใหม่ แม้แต่หัวหน้าพรรคก็เริ่มตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมา
ถือเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งหากนายกฯ จะฟังแต่คนใกล้ชิดในกลุ่มของตนเอง
และอาจเกิดความเสียหลายอย่างใหญ่หลวงตามมา ถ้าหากบุคคลใกล้ชิดเหล่านั้นชี้นำนายกฯ จนออกนอกลู่นอกทาง ด้วยความไม่เคยชินกับการใช้อำนาจ
นอกจากนี้แล้วในโอกาสที่สภาเปิดเทอมใหม่
รัฐบาลมีการบ้านที่ต้องทำอีกมาก ไม่ว่าการผ่านกฎหมายสำคัญอย่างเช่นพ.ร.ก.ภาษีน้ำมัน พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้าน พ.ร.บ.งบประมาณฯวาระ 2-3
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นเร่งด่วน ที่รัฐบาลรับ"เผือกร้อน"มาจากคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จะเป็นไปตามความเชื่อที่ว่า ทุกครั้งที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมาหรือไม่ เป็นเรื่องที่สังคมต้องตามดูกันต่อไป
นอกจากนี้ยังมีกรณีส.ส.ถือหุ้นต้องห้าม ที่อาจทำให้ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมกันครั้งใหญ่ ปัญหาโครงการชุมชนพอเพียงที่เริ่มส่งกลิ่นทุจริต
เหล่านี้คือบททดสอบสำคัญของนายอภิสิทธิ์
ว่าจะกอบกู้ความเป็นตัวของตัวเองกลับคืนมาได้หรือไม่