บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2552

5ธันวา100ปีชาตกาล:ขุนพลภูพานยังไร้อนุสาวรีย์

ที่มา Thai E-News


ข้าพเจ้าเป็นคนไทย ข้าพเจ้าเป็นไทแก่ตัวเอง ข้าพเจ้าเป็นราษฎรไทย ราษฎรสยาม ทั้งข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชาอันหนึ่ง


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
2 ธันวาคม 2552

ปฏิทิน 100 ปีชาตกาลขุนพลภูพาน:วีรบุรุษที่ยังไร้อนุสาวรีย์

-5 ธันวาคม 2452 เตียง ศิริขันธ์ เกิดที่จังหวัดสกลนคร หากมีชีวิตถึงวันนี้จะอายุครบ 100 ปี
-พ.ศ.2473 จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
-พ.ศ.2477 ถูกจับกุมข้อหาคอมมิวนิสต์ ขณะเป็นครูที่อุดรธานี
-7พ.ย.2480เป็นส.ส.สมัยแรก และเป็นต่อมาอีก5สมัย
-8ธ.ค.2484วันญี่ปุ่นบุกยึดไทย นายเตียงเข้าพบปรีดี พนมยงค์ขอให้ตั้งขบวนการเสรีไทย
-ปฏิบัติงานเสรีไทยใช้รหัสชื่อ"พลูโต"เป็นหัวหน้าเสรีไทยภาคอีสานจนถึงวันประกาศสันติภาพ16ส.ค.2488
-31ส.ค.2488 เป็นรัฐมนตรีครั้งแรก
-9 มิ.ย. 2489 เกิดกรณีร.8สวรรคต นายปรีดี พนมยงค์ลาออก
-8 พ.ย.2490 เกิดรัฐประหารยึดอำนาจ กลุ่มนายปรีดีถูกขจัดออกจากอำนาจ
-26ก.พ.2492 นายปรีดีพยายามยึดอำนาจคืนแต่พ่ายแพ้กลายเป็นกบฎวังหลวง
-4 มี.ค.2492 อดีต4รัฐมนตรีสายปรีดีถูกสังหารโหดที่บางเขนคือดร.ทองเปลว ชลภูมิ,ถวิล อุดล,จำลอง ดาวเรือง,ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ แต่ครูเตียงรอด
-12 ธ.ค.2495 ครูเตียงถูกพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์เชิญไปพบและหายสาบสูญ หลายปีต่อมาถูกเปิดเผยว่าโดนฆ่ารัดคอและเผาที่กาญจนบุรี เมื่อ14 ธ.ค.2495 เสียชีวิตในวัยเพียง 43 ปี
-วันนี้ ชาวสกลนครกำลังระดมทุนราว3ล้านบาทเพื่อสร้างอนุสาวรีย์เชิดชูเกียรติขุนพลภูพานให้ทันวันชาตกาล 100 ปี 5 ธันวาคม2552
-5 ธันวาคม 2552 ยังไม่สามารถเปิดอนุสาวรีย์ได้เนื่องจากมีข้ออุปสรรคหลายประการ


วีรบุรุษ"พลูโต"100ปีที่ยังไร้อนุสาวรีย์

*บริเวณวนอุทยานที่จะสร้างอนุสาวรีย์ขุนพลภูพาน เตียง ศิริขันธ์(พลูโต)แต่ปีนี้ครบรอบ100ปีชาตกาล ก็ยังไม่ได้ลงมือสร้าง


"สำนึกในบุญคุณของนายเตียงที่มีต่อชาวจังหวัดสกลนคร ชาวภาคอีสาน และต่อประเทศไทยนั้นมากล้น เพราะท่านเคยเสียสละอุทิศตัวให้กับงานกอบกู้ชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 ซึ่งไทยถูกญี่ปุ่นยึดครอง จนสามารถทำให้ไทยมีอิสรภาพต่อมาได้ทุกวันนี้ แต่มาถึงทุกวันนี้คนรุ่นหลังๆก็คงจำนายเตียงไม่ได้แล้ว เลยอยากสร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้รำลึกนึกถึง"คุณวิเชียร วงศ์กาฬสินธ์ นายกสมาคมข้าราชการบำนาญ จังหวัดสกลนครกล่าว

อย่างไรก็ดีหลังจากเริ่มตั้ง"กองทุนก่อสร้างอนุสาวรีย์ขุนพลเตียง ศิริขันธ์(พลูโต)"ผ่านไป 3 ปีมาถึงปีนี้ ซึ่งครบรอบ 100 ปีชาตกาลของขุนพลภูพาน ผู้มีฉายาชื่อรหัสกู้ชาติ"พลูโต"ยังไม่ประสบความสำเร็จดังหวัง

ประการแรก การประสานงานกับหัวหน้าส่วนราชการสะดุดหยุดลงเรื่อย ตามการเปลี่ยนตัวผู้ว่าราชการจังหวัดที่ย้ายกันถี่ 6เดือนไม่ถึงปีย้ายแล้ว ทำให้การประสานงานสะดุดลง

ประการต่อมา กรมศิลปากรไม่อนุมัติแบบที่คณะกรรมการกองทุนฯเสนอไป โดยล่าสุดตีกลับมาเป็นรูปนั่งบนขอนไม้แทนแบบยืนที่ออกแบบไว้เดิม

ประการสุดท้าย คนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเป็นข้าราชการบำนาญที่เคยมีสำนึกร่วมกันในบุญคุณของครูเตียงต่อประเทศเป็นหลัก ส่วนคนชั้นหลังอาจลืมเลือนวีรกรรมของวีรบุรุษผู้นี้ หรือถูกทำให้ลืม เพราะคณะกรรมการกองทุนฯได้ติดต่อประสานงานขอรับการสนับสนุนทุนไปทั้งส.ส. ส.ว. สมาคมชาวสกลนครในกรุงเทพฯ โรงเรียนเก่าที่อุดรธานีที่ครูเตียงเคยสอน ตอนนี้ได้เงินทุนมาประเดิมเพียง6แสนบาท จากที่ต้องใช้ทุนทั้งสิ้น 3 ล้านบาท

"ในเมื่อ100ปีชาตกาลของท่านทำไม่ทัน ก็ต้องพยายามกันต่อไป ไหนๆก็รอมานานแล้ว ก็รอแบบกรมศิลป์อนุมัติมาคงได้ฤกษ์สร้างเสียที"คุณวิเชียรกล่าว

ประชาชนคนไทยที่รักชาติรักประชาธิปไตย สำนึกในวีรกรรมของครูเตียง อยากร่วมสร้างอนุสารีย์ของ"พลูโต"เชิญบริจาคได้ที่

กองทุนก่อสร้างอนุสาวรีย์ขุนพลเตียง ศิริขันธ์(พลูโต)
ธนาคารกรุงไทย สาขาเจริญเมือง สกลนคร
เลขที่บัญชี 442-0-01485-7

สอบถามเพิ่มเติมที่คุณวิเชียร วงศ์กาฬสินธุ์ 042-711915


วีรประวัติของ"พลูโต"ขุนพลภูพาน

*เตียง ศิริขันธ์ กับคณะพรรคเสรีไทยกู้ชาติบนเทือกเขาภูพานยุคสงครามโลกครั้งที่2


เตียง ศิริขันธ์ เป็นชาวสกลนคร เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2452 หรือเมื่อ 100 ปีมาแล้ว ที่บ้านคุ้มวัดสระเกศ ถ.มรรคาลัย ต.สะพานหิน ปัจจุบัน เป็นต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร เป็นบุตรคนที่ 6 ของ ขุนนิเทศพานิช (บุดดี ศิริขันธ์) และนางอัม มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 9 คน

จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนิสิตรุ่นแรกของคณะ และได้รับการบรรจุเป็นครูครั้งแรกที่โรงเรียนมัธยมหอวัง ในปี 2472 นายเตียงเป็นเด็กที่มีการศึกษาสูงมากตามมาตรฐานของภาคอีสานในขณะนั้น

จากการปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 ครูเตียง ก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจในแนวคิดประชาธิปไตย เมื่อได้ศึกษาแนวความคิดเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ก็ศรัทธาในแนวคิดของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอย่างมาก

ในระหว่างรับราชการครูเตียงได้ร่วมกับนายสหัส กาญจนะพังคะ เพื่อนที่คณะอักษรศาสตร์ เขียนหนังสือคู่มือครู หรือชุดวิชาครู 5 เล่ม เป็นหนังสือชุดคู่มือครูชุดแรกๆ ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงการครูในสมัยนั้น เพราะเป็นหนังสือช่วยในการสอน และใช้ในการสอบเพื่อยกระดับวิทยฐานะ

ต่อมาในเดือนก.ค. 2478 ครูเตียงถูกจับกุมพร้อมกับครูอีก 3 คน คือ ครูปั่น แก้วมาตย์ ครูสุทัศน์ สุวรรณรัตน์ และครูญวง เอี่ยมศิลา ในข้อหาว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าจะฝักใฝ่คอมมิวนิสต์และเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในโรงเรียน ถูกขังอยู่ราว 2 เดือน ศาลยกฟ้อง มีเพียงครูญวงคนเดียวที่ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี

จากนั้นครูเตียงตัดสินใจลาออกจากราชการในปี 2479 และมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร ในงานเขียนของเขาในระยะนี้ ได้แสดงให้เห็นชัดถึงแนวความคิดแบบประชาธิปไตย ดังที่ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์ วันที่ 9 ก.ค. 2479 ว่า

ข้าพเจ้าเป็นคนไทย ข้าพเจ้าเป็นไทแก่ตัวเอง ข้าพเจ้าเป็นราษฎรไทย ราษฎรสยาม ทั้งข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชาอันหนึ่ง


ต่อมาได้สมัครเป็นผู้แทนราษฎรจ.สกลนคร ได้รับเลือกเป็นส.ส.สมัยแรกทันที เมื่อพ.ย.2480 และกลายเป็น ส.ส.ภาคอีสานชั้นแนวหน้า ระหว่างทำหน้าที่ส.ส. ได้ตั้งกลุ่มร่วมกับส.ส.อีสาน และส.ส.ภาคอื่น กลายเป็นกลุ่ม ส.ส.ที่มีบทบาทนำในสภา ในการต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชน

เตียง ศิริขันธ์ ได้พบกับน.ส.นิวาศน์ พิชิตรณการ บุตรีของร.อ.นาถ และนางเวศ พิชิตรณการ ซึ่งเป็นญาติของจอมพลผิน ชุณหะวัณ และได้สมรสกันในพ.ศ.2482 มีบุตรชายคนเดียวคือ นายวิฑูรย์ ศิริขันธ์

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทยในเดือนธ.ค. 2484 ซึ่งเป็นการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา เตียง ศิริขันธ์ ได้ร่วมกับ จำกัด พลางกูร ก่อตั้ง คณะกู้ชาติ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยแห่งชาติ และคัดค้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น


ต่อมานายเตียง ร่วมกับกลุ่มส.ส.ฝ่ายก้าวหน้า ได้เข้าไปชักชวนนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการในเวลานั้นให้ตั้งขบวนการเสรีไทยใต้ดินขึ้น เพื่อหาทางต่อต้านญี่ปุ่น โดยมีนายปรีดีเป็นหัวหน้าเสรีไทย ใช้ชื่อรหัส"รูธ"

นายปรีดีได้ตั้งให้นายเตียงเป็นหัวหน้าใหญ่ของเสรีไทย ภาคอีสาน รหัส พลูโต เพื่อทำการฝึกกองกำลังลับต่อต้านญี่ปุ่นที่เขตเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร กองกำลังเสรีไทยสายอีสาน กลายเป็นกำลังที่สำคัญที่สุดของฝ่ายเสรีไทย แต่ยังไม่ทันที่จะได้สู้รบกับญี่ปุ่นอย่างจริงจัง สงครามก็ยุติลง หลังสหรัฐฯทิ้งระเบิดปรมาณูในฮิโรชิมา และนางาซากิ

หลังสงคราม เตียง ศิริขันธ์ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรก ในรัฐบาลรักษาการของนายทวี บุณยเกตุ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2488 โดยเป็นรัฐมนตรีลอย และได้ร่วมกับส.ส.ฝ่ายก้าวหน้าตั้งพรรคสหชีพขึ้น

ในวันที่ 8 พ.ย. 2490 คณะรัฐประหารที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ได้ยึดอำนาจล้มล้างรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และโค่นอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์ ด้วย และเชิญให้พรรคประชาธิปัตย์มาตั้งรัฐบาลขัดตาทัพ

สำหรับนายเตียง เมื่อได้ข่าวการรัฐประหารก็ได้หลบขึ้นสู่เทือกเขาภูพาน และเตรียมจัดตั้งกำลังต่อต้านคณะรัฐประหาร แต่ปรากฏว่านายปรีดีที่ลี้ภัยไปยังสิงคโปร์ได้ออกอากาศทางวิทยุ ห้ามพลพรรคเสรีไทยไม่ให้ต่อสู้กับคณะรัฐประหาร เพราะไม่ต้องการให้คนไทยฆ่ากันเอง นายเตียงจึงยุติการจัดตั้งกองกำลัง แต่ยังคงหลบอยู่บนภูพาน

ทางรัฐบาลได้สั่งให้พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการ มาตามล่าจับกุม แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น นายเตียงจึงได้สมญาจากหนังสือพิมพ์ว่า ขุนพลภูพาน

ต่อมาหลวงพิชิตธุรการได้ใช้วิธีการคุกคามชาวบ้านเพื่อให้บอกที่ซ่อนของนายเตียง จึงก่อให้เกิดความเดือดร้อนอย่างมาก นอกจากนี้ ยังจับครูครอง จันดาวงศ์ และมิตรของนายเตียงอีก 15 คน เพื่อสร้างแรงกดดัน นายเตียงจึงตัดสินใจมอบตัวต่อทางการในเดือนมี.ค. 2491 และทั้งหมดก็ถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน ในที่สุดศาลก็ตัดสินยกฟ้องคดีกบฏแบ่งแยกดินแดน ทำให้นายเตียง และพรรคพวกเป็นอิสระ

ในระหว่างนี้ นายเตียงได้สมัครส.ส.ในการเลือกตั้งเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2492 และได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง จากนั้นในการเลือกตั้งวันที่ 26 ก.พ. 2495 เตียง ศิริขันธ์ ได้รวบรวมอดีตส.ส.ฝ่ายสหชีพและแนวรัฐธรรมนูญ ตั้งเป็นกลุ่มสหไทย ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ 20 ที่นั่งจากจำนวน 123 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพ.ย. 2495 รัฐบาลได้กวาดล้างจับกุมฝ่ายค้านจำนวนมากในข้อหากบฏ ที่เรียกกันต่อมาว่า กบฏสันติภาพ และได้ออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นงานกลุ่มที่ถูกจับกุม มีรัฐมนตรีอีสานถึง 4 คนที่ถูกสังหารจากการกวาดล้างครั้งนี้

ขณะนั้นนายเตียงเป็นส.ส. ในคณะกรรมการนิติบัญญัติฝ่ายรัฐบาล เตียง ศิริขันธ์ ได้ถูกตำรวจตามตัวออกจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2495 จากนั้นก็หายสาบสูญไปไม่ปรากฏตัวอีกเลย

จากหลักฐานต่อมาปรากฏว่า เตียง ศิริขันธ์ ถูกสังหารเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2495 พร้อม เล็ก บุนนาค ผ่อง เขียววิจิตร สง่า ประจักษ์วงศ์ และชาญ บุนนาค เสรีไทยที่สำคัญอีกคน รวม 5 คน โดยศพถูกนำไปเผาทิ้งที่ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

นายเตียงได้ฉายาว่า ขุนพลภูพาน คือเป็นทั้งแม่ทัพใหญ่ในการฝึกหัดเสรีไทยนับพันคนหลายรุ่น มีอัธยาศัยไมตรีเป็นที่ไว้วางใจของชาวสกลนคร ความเด็ดเดี่ยวอุดมคติที่ต่อสู้กับนักการเมืองที่มีอิทธิพลทำให้เขาถูกยัดเยียดข้อหาฉกรรจ์ในสมัยนั้น และถูกสังหารในที่สุด



เตียงเคยแปลงานของฌัง ฌาคส์ รุสโซ เล่มหนึ่งชื่อ"เอมีล"เป็นหนังสือที่ลือลั่นของรุสโซ่ด้านการศึกษา นอกไปจาก"สัญญาประชาคม"ที่โลกรู้จักดี

หนังสือเล่มนี้รุสโซ่ลังเลใจอยู่ 12 ปี จึงได้หยิบปากกาขึ้นเขียนหนังสือเอมีล หรือเรื่องการศึกษา บรรจุถ้อยความ 5 บรรพด้วยกัน ซึ่งรุสโซ่ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี เมื่อหนังสือเป็นเล่มขึ้นแล้ว ข้อความเกี่ยวกับศาสนาที่บรรจุอยู่ในหนังสือ ทำให้รุสโซหวั่นเกรงว่าจะทำให้เขาต้องถูกจับ จนต้องหนีเอาตัวรอด ซ่อนกายอยู่นอกประเทศพักหนึ่ง

เตียงซึ่งเป็นอักษรศาสตร์บัณฑิต จุฬาฯ ในฐานะผู้แปลบอกไว้ในความนำในการแปลว่า

“.. บัดนี้ข้าพเจ้ากำลังนึกถึงตัวเองอยูแม้ว่าโฉมหน้าบรรพที่ 2 ของเอมีลจะได้เป็นพากษ์ไทยโดยเรียบร้อยแล้วก็ตาม มันอาจจะไม่โผล่ออกสู่บรรณโลก เพราะผู้แปลอาจหลบหน้าหนีเอาตัวรอด ด้วยทนต่อคำของท่านผู้อ่านที่ไม่ปราถนาจะให้ความเมตตาปราณีแก่ผู้แปลไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามการปักใจของข้าพเจ้าเป็นอันว่าจะไม่ยอมถอน. ท่านรุสโซ สอนข้าพเจ้าไว้เช่นนั้น “เป็นคนต้องทำตามคำพูด”....


เตียงไม่ได้หนีไปไหน ระหว่างที่เผด็จการกำลังปกครองประเทศ และอุทิศตัวตามอุดมคติเพื่อความเสมอหน้ากันของราษฎรไทยที่เขาบูชา จนวาระสุดท้าย

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker