บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หน่วยงานความมั่นคง

ที่มา มติชน

บทนำมติชน



เหล่าครูบาอาจารย์หรือนักวิชาการในสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกกำลังถูกตั้งคำถามว่า ในภาวะที่บ้านเมืองเผชิญกับ "วิกฤตที่ยิ่งกว่าที่สุดในโลก" ซึ่งดำเนินมาครบ 4 ปี (เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2549 จนถึงปลายปี 2552) บุคคลเหล่านี้กลับมิได้ทำอะไรให้สมกับการเป็นผู้มีภูมิปัญญาอันสูงส่ง เปี่ยมล้นไปด้วยองค์ความรู้ เพื่อให้ "สติ" กับสังคมโดยเฉพาะผู้มีอำนาจ ขณะเดียวกันก็เลือกข้างหรืออยู่เฉยๆ ตรงกลาง ประเภท "นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น" จึงไม่มีการเสนอแนะทางออก ไม่เคลื่อนไหว ผลักดันเพื่อให้สังคมไทยก้าวข้ามให้พ้นจากความหายนะ ล่มจม จากปัญหาความขัดแย้ง แตกแยก นอกจากนักวิชาการที่สังคมไม่อาจคาดหวังอะไรได้อีกแล้ว บรรดาเหล่าข้าราชการในหน่วยงานด้านความมั่นคงก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรถูกตั้งคำถามว่าได้ทำอะไรบ้างเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง

พูดถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง ประชาชนและสื่อมวลชนจะรับรู้เมื่อมีการเรียกประชุมผู้นำหน่วยงานโดยนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปัญหาต่างๆ อันประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น ผู้เข้าประชุมมีทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ

หากประเด็นที่นำมาพิจารณาในที่ประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง เป็นปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติจริงๆ อาทิ การก่อการร้ายสากล อาชญากรรมข้ามชาติ การแบ่งแยกดินแดน การก่อวินาศกรรม ข้อพิพาทกับต่างชาติ ฯลฯ โดยหลักการพิจารณา หน่วยงานที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงจะต้องรู้ข้อเท็จจริงและผลการศึกษาวิจัย พร้อมข้อเสนอแนะในทางนโยบาย ยุทธศาสตร์หรือแผนงานที่เป็นวิชาการให้ที่ประชุมรับทราบก่อนจะวิเคราะห์วิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุด แต่ดูเหมือนว่าการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ผ่านๆ มาตกอยู่ในสภาพที่ฝ่ายการเมืองเป็นผู้กำหนดและสั่งการให้ข้าราชการประจำด้านความมั่นคงนำไปปฏิบัติ โดยไม่มีนโยบาย ไม่มียุทธศาสตร์ไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่าสิ่งที่ฝ่ายการเมืองสั่งการนั้นจะสร้างความมั่นคงให้กับชาติได้จริงหรือ หรือจะสร้างปัญหาให้หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น

ต้องยอมรับว่า "วิกฤตศรัทธา" สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณตั้งแต่ต้นปี 2549เรื่อยมา และจบลงด้วยกองทัพเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นับเนื่องมาถึงปัจจุบัน ความขัดแย้ง แตกแยกของคนไทยไปไกลเกินกว่าจะเรียกได้ว่า "วิกฤตที่สุดในโลก" แทบทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้โดยไม่แก้ไขให้ถูกจุดและไม่ทันการณ์ การเกิดสงครามกลางเมืองที่คนไทยฆ่ากันเอง ย่อมมิอาจหลีกเลี่ยงได้

นักการเมืองนั้นมองนักการเมืองอีกฝ่ายเป็นศัตรู ดังกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง อภิปรายในการตอบกระทู้ในสภาผู้แทนฯเมื่อวันที่ 26พฤศจิกายน ว่าจำเป็นต้องใช้เครื่องบินรบเอฟ 5 ออกปฏิบัติการมิให้เครื่องบินที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั่งอยู่ได้ล่วงล้ำเข้ามาในน่านฟ้าไทยเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นบุคคลที่มีพฤติการณ์กระทบต่อความมั่นคง ในขณะที่ข้าราชการประจำในสังกัดกองทัพอากาศก็พร้อมปฏิบัติตามคำสั่ง สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ก็คือ เมื่อคนเสื้อแดงรับรู้ย่อมเกิดความรู้สึกโกรธแค้นและอยากทำร้ายนักการเมืองที่เป็นอริกับ พ.ต.ท.ทักษิณ

ประเทศไทยในยามนี้ตกอยู่ในหลุมดำแห่งวิกฤตความขัดแย้งแตกแยก โดยเริ่มจากยอดสุดคือพรรคการเมืองลงมาถึงชาวบ้านในระดับรากหญ้า โดยแบ่งออกเป็นสีเหลือง สีแดง การชุมนุมประท้วง การขับไล่ ฯลฯ ล้วนเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หน่วยงานของรัฐย่อมรู้ดีว่าพรรคการเมืองนั้นผลัดเปลี่ยนกันเข้ามามีอำนาจ เป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน ดังนั้น หน่วยงานด้านความมั่นคงซึ่งเป็นข้าราชการประจำควรจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไรในฐานะผู้ปฏิบัติจึงจะทำให้ประเทศมีความมั่นคง ทั้งนี้ ต้องแยกให้ออกว่ารัฐบาล (พรรคการเมืองที่มีอำนาจ) กับประเทศชาตินั้นเป็นคนละส่วนกัน หากแยกไม่ออก ไม่เพียงแต่แก้ปัญหาไม่ได้ หากยังจะเป็นการทำลายความมั่นคงของรัฐโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker