โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
24 มิถุนายน 2553
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ดร.ประจักษ์ ก้องกรีติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอ "13 ข้อโครงสร้างการเมืองที่บิดเบี้ยว" ที่เวทีการสัมนาที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้
โครงสร้างการเมืองที่บิดเบี้ยว
- ปมปัญหาใหญ่ที่สุดที่เราเผชิญอยู่คือ ปมปัญหาทางการเมืองมากกว่าปมเศรษฐกิจสังคม
- ปมปัญหาทางการเมืองที่ว่า คือ โครงสร้างการเมืองไทยอยู่ในสภาพบิดเบี้ยว
- สภาพบิดเบี้ยวที่ว่าคือ ภาวะที่มีสองศูนย์อำนาจดำรงอยู่คู่กันในระบบการเมือง ศูนย์หนึ่งวางอยู่บนการเลือกตั้ง อีกศูนย์หนึ่งอยู่นอกการเลือกตั้ง เป็นอิสระจากการกำกับตรวจสอบจากประชาชน และขาดการยึดโยงกับประชาชน ซึ่งในทางทฤษฎีการดำรงอยู่ของศูนย์อำนาจอิสระที่พลเมืองกำกับตรวจสอบไม่ได้ จะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ (autonomous power centers) เพราะความพร้อมรับผิด (accountability) ยากที่จะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการใช้อำนาจของศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้งไม่ต้องรับผิดชอบต่อสาธารณะ แต่ชักใย บงการอยู่เบื้องหลังซึ่งยากต่อการรับรู้ของประชาชน ไม่ต้องพูดถึงการตรวจสอบที่ประชาชนจะมีต่อศูนย์อำนาจนั้น
- โดยศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้งมีศักยภาพในการแทรกแซงเข้ามาคุมกลไกรัฐ การจัดทำนโยบาย รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ทำให้ศูนย์อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง (ไม่ว่ามาจากพรรคใด) ไม่สามารถบริหารอำนาจที่ได้อาณัติมาจากประชาชนอย่างอิสระ
- ความพยายามอย่างต่อเนื่องของศูนย์อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ต้องการคงอำนาจของตนเองไว้ในระบบการเมืองไทย โดยไม่ยอมรับความชอบธรรมของระบอบรัฐสภาและกติกาการเลือกตั้ง และดิ้นรนใช้ทุกวิถีทางในการผูกขาดอำนาจของกลุ่มตนไว้ (ซึ่งรวมถึงการใช้ความรุนแรงทางการเมือง) ก่อให้เกิความตึงเครียดทางการเมือง
- ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้งใช้กลไกศาล ทหาร และขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนอนุรักษ์นิยม เป็นเครื่องมือในการกัดกร่อน ต่อต้าน และโจมตีสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากน้้นยังมีการสร้างวาทกรรมชุดหนึ่งเป็นเครื่องมือรองรับอำนาจด้วย
- วาทกรรม "ซื้อเสียงขายสิทธิ" และ "ผู้เลือกตั้งชนบท โง่ จน เจ็บ" ถูกถักทอและเผยแพร่อย่างต่อเนื่องเพื่อทำลายความชอบธรรมของการเลือกตั้ง
- วาทกรรม "การปกครองบ้านเมืองโดยคนดีมีศีลธรรม" ถูกสร้างขึ้นเพื่อค้ำจุนการเมืองแบบชนชั้นนำของศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้ง
- ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้งโจมตีความไม่เป็นประชาธิปไตยและการคอร์รัปชั่นของฝ่ายเลือกตั้ง แต่เป้าหมายที่ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้งต้องการก็ไม่ใช่การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้งเองก็ไม่ปลอดพ้นจากการคอร์รัปชั่นเช่นกัน พวกเขาเพียงต้องการการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจไว้กับตนเองโดยเบียดขับศูนย์อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งให้ออกไปจากเวทีการเมือง
- ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้งได้ปัญญาชน สื่อมวลชน และเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งมาเป็นพันธมิตร เพราะแชร์ร่วมกันเรื่องไม่ไว้ใจอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง
- ความรุนแรงทางการเมืองเป็นผลลัพธ์จากโครงสร้างการเมืองที่บิดเบี้ยวนี้ เพราะสถาบันทางการเมืองในระบอบถูกทำลายความชอบธรรมไปจนหมด บวกกับภาวะศูนย์อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถคุมกลไกรัฐด้านความมั่นคงได้ จึงไม่เหลือช่องทางให้แก้ไขความขัดแย้งได้โดยสงบสันติ
- ตราบใดที่ไม่สามารถทำให้ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้งยอมเข้ามาเล่นภายใต้กติกา (ไม่ว่าจะโดยมาตรการทางการเมือง กฎหมาย ฯลฯ) โครงสร้างการเมืองที่บิดเบี้ยวนี้จะดำรงอยู่ต่อไป
- ตราบใดที่โครงสร้างการเมืองที่บิดเบี้ยวนี้ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงความตึงเครียด ความรุนแรง และวิกฤตการเมืองก็จะดำรงอยู่ในสังคมต่อไป