บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ปาฐกถา ‘ว.วชิรเมธี’ 12 ปี สภาการหนังสือพิมพ์ : “บทบาทสื่อกับความแตกต่างทางความคิดในสังคม”

ที่มา ประชาไท

4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 วันครบรอบ 12 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้นิมนต์ พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย แสดงปาฐกถาธรรม เรื่อง “บทบาทสื่อกับความแตกต่างทางความคิดในสังคม” โดยมีความดังนี้


0 0 0
เจริญพร ผู้เข้าร่วมเสวนาธรรมวิชาการในวันนี้ทุกท่าน ต้องขออนุโมทนาสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ไว้ ณ โอกาสนี้ที่นิมนต์ให้อาตมาภาพให้มาเป็นผู้ปาฐกถาในวันนี้ การที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้ก่อตั้งมาครบ 12 ปี ถือเป็นเวลาที่ไม่น้อย คงจะผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านวันเวลาผ่านประสบการณ์มามากมาย อาตมาภาพได้อ่านบทสัมภาษณ์ของผู้ใหญ่ในแวดวงหลายท่าน ซึ่งให้สัมภาษณ์ในช่วงหลายวันก่อนที่ผ่านมาแล้วได้เห็นว่าน่าอนุโมทนา เพราะแวดวงสื่อที่มีการตรวจสอบกันเองนั้นเป็นนิมิตหมายว่าเรายังคงมีอนาคต สังคมใดก็ตามที่คนในสังคมนั้นมีการตรวจสอบกันเอง สังคมนั้นเป็นสังคมที่มีอนาคต แต่ถ้าสังคมใดก็ตามปฏิเสธการตรวจสอบกันเองระหว่างคนด้วยกันเองสังคมนั้นกำลังถอยหลังเข้าคลอง

มีคำอยู่คำหนึ่งว่า “แมลงวันอาจจะไม่ตอมแมลงวัน” ถ้าแมลงวันไม่ตอมแมลงวันเมื่อไหร่ก็เสื่อม ในทางพุทธศาสนายกย่องมากเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์การตรวจสอบซึ่งกันและกัน ฉะนั้นในธรรมเนียมของพระถ้าโยมสังเกตให้ดีทุก 15 ค่ำ พระจะลงอุโบสถพร้อมกันแล้วฟังปาติโมกข์ หัวใจของการฟังปาติโมกข์ คือการทบทวนพระวินัย 227 ข้อ จะมีพระรูปหนึ่งขึ้นมานั่งสวดและพระที่เหลือทั้งหมดนั่งฟังทบทวนพระวินัย 227 ว่าเราได้ทำอะไรผิดพลาดไปแล้วบ้าง ถ้าผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ก็มาแสดงอาบัติกัน ถ้าผิดพลาดหนักหนาสาหัสก็ต้องออกจากอาบัติตามกรรมวิธีที่ทรงวางไว้ และโดยวิธีนี้ทำให้องค์กรสงค์ของพระพุทธองค์ เป็นองค์กรเก่าแก่ที่สุดในโลก ในบรรดาองค์กรที่มีอยู่ในโลกทั้งหมดสถาบันสงค์เป็นสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เมื่อก่อตั้งแล้วไม่ต้องยกเลิก ยังคงมีบทบาท ยังคงมีพลัง มาจนกระทั่งทุกวันนี้ เพราะอะไร เพราะพระองค์ทรงวางระบบตรวจสอบกันเองเอาไว้ ฉะนั้น การที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีระบบ มีระเบียบ และมีการตรวจสอบซึ่งกันเองเป็นระยะๆ ถือว่าดำเนินอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่ควรอนุโมทนา

สำหรับหัวข้อปาฐกถาในวันนี้คือ “บทบาทสื่อกับความแตกต่างทางความคิดในสังคม” ถือว่าเป็นหัวข้อที่ค่อนข้างใหญ่มาก จึงแบ่งประเด็นการพูดไว้ 5 ประเด็น

ประเด็นแรก มาดูกันก่อนว่าสภาพสังคมไทยในเวลานี้เป็นอย่างไร โดยจะเล่าผ่านนิทาน

พุทธปรัชญาเรื่องหนึ่ง ซึ่งพระนักปราชญ์ของศรีลังกา หลวงปู่อานันทไมตรี ท่านเขียนเอาไว้ นิทานพุทธปรัชญาเรื่องนี้มีชื่อว่า “หากพระพุทธเจ้ากลับมาจะเกิดอะไรขึ้น” อยากจะลองเชิญชวนทุกท่านฟังให้ดีว่าหากพระพุทธเจ้ากลับมาจะเกิดอะไรขึ้น ท่านเขียนเอาไว้โดยใช้บริบท ศรีลังกา อาตมาขอเปลี่ยนเป็นหากพระพุทธเจ้ากลับมาที่ประเทศไทย จะเกิดอะไรขึ้น

นิทานพุทธปรัชญาเรื่องนี้มีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จกลับไปที่ศรีลังกา ตอนนี้อาตมาขอเปลี่ยนใหม่ว่าเสด็จมาที่ประเทศไทย ในพ.ศ.นี้ พระพุทธองค์เสด็จกลับมาในบุคลิกภาพเป็นพระที่แสนธรรมดาที่สุด ห่มจีวรธรรมดาๆ และมีบาตร 1 ใบ เป็นสมบัติติดตัว เสด็จดำเนินมาตามถนนหนทางไปถึงวัดๆ หนึ่ง พระพุทธองค์เสร็จดำเนินเข้าไปในวัด ได้พบว่าทั้งพระลูกวัด ทั้งเจ้าอาวาส ทั้งญาติโยม กำลังตั้งวงถกเรื่องการเมือง พระพุทธองค์เสด็จดำเนินเข้าไป พระผู้กำลังตั้งวงถกเรื่องการเมืองก็ถามพระพุทธองค์ว่า ท่านสังกัดพรรคไหน ยังไม่ถามเลยว่าเป็นใคร พระพุทธองค์บอกว่าเราตถาคตไม่สังกัดพรรค พระทางวัดก็บอกว่าถ้าไม่สังกัดพรรคนั้นนิมนต์ที่อื่นแล้วกัน ที่นี่เรามีพรรค พรรคไหนต้องคิดกันเอง นี่เป็นเหตุการณ์ที่ศรีลังกา ปรากฏว่าไม่มีใครรู้จักพระพุทธเจ้าเลย เดินเข้าไปไม่ถามชื่อด้วยซ้ำว่าเป็นใคร มาจากไหน แต่พระองค์ไปถามว่าท่านสังกัดพรรคไหน โยมคิดตามให้ดีว่าความผิดพลาดอยู่ตรงไหน

ต่อมาเสด็จดำเนินไปวัดที่สอง ก็เจอสภาพแบบเดียวกัน ทั้งพระทั้งโยมตั้งวงถกกันเสียงดังกว่าวัดแรก พระพุทธองค์เสด็จเข้าไป พระลุกขึ้นยืนถามขอโทษนะครับหลวงพ่อสังกัดนิกายอะไรมิทราบ สยามวงศ์ รามมัญวงศ์ หรือลังกาวงศ์ ถามถึงนิกาย พระพุทธองค์อยู่พ้นนิกายอยู่แล้วจึงบอกว่าเราไม่ได้สังกัดนิกายอะไรเลย พระวัดนั้นมองหัวจรดเท้า แล้วบอกว่าไม่สังกัดนิกายนั้นนิมนต์พักที่วัดอื่นแล้วกัน ที่นี่เรานิกายลังกาวงศ์ ปรากฏว่าคนเหล่านั้นก็ไม่รู้จักพระพุทธองค์ จำต้องเสด็จดำเนินออกจากวัดนั้นไป แล้วไปแต่ละวัดๆ พระองค์ท่านถูกถามเรื่องนี้ตลอด ถามเรื่องพรรคบ้าง ถามเรื่องนิกายบ้าง ถามเรื่องพรรคพระพุทธองค์ก็บอว่าฉันไม่มีพรรค เพราะอะไรท่านไม่เล่นการเมืองอยู่แล้ว ถามเรื่องนิกายพระพุทธองค์ก็บอกว่าฉันไม่มีนิกาย ตกลงพระพุทธองค์วันนั้นทั้งวันไม่ได้พักที่วัดไหนเลยแม้แต่วัดเดียว

วันรุ่งขึ้นเสด็จไปตามถนนหนทางอีกไม่มีใครตักบาตรท่านเลย จนกระทั่งไปเจอชาวบ้านธรรมดาๆ ชาวนาคนหนึ่ง เห็นพระเดินมาแต่ไกล ชาวบ้านคนนี้เห็นบุคลิกภาพท่านสงบจึงเข้าไปกราบ แล้วประนมมือถามว่า หลวงพ่อครับหลวงพ่อดูบุคลิกภาพน่าจะมีอายุพรรษามากนะขอครับ ขอโทษนะครับหลวงพ่อมาจากไหนครับ พระพุทธองค์ก็ตรัส ถ้านับจากวันที่ฉันเกิดมาจนถึงตอนนี้ฉันก็น่าจะมาจากกาลเวลาสัก 2500 ปี ได้แล้วมั้ง ชาวบ้านคนนั้นถามว่าขอโทษนะครับท่านเป็นสัมมาสัมพุทธทาสหรือเปล่า ใช่ เราคือสัมมาสัมพุทธะ โอ..นั้นโยมก็โชคดีเหลือเกิน นิมนต์ไปพักที่บ้านโยมเลยโยมขอถวายมื้อเพล พุทธองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์ โยมได้ถวายมื้อเพล แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับไป หลวงปู่อนันทไมตรี พระนักปราชญ์ชาวศรีลังกาได้เขียนเรื่องนี้ไว้ประมาณ 20 ปี แล้ว สงครามที่ศรีลังกาเพิ่งสงบ แต่ปะทุที่ประเทศไทย

สาระสำคัญของนิทานพุทธปรัชญาเรื่องนี้อยู่ตรงไหน อาตมาคิดว่าอธิบายสภาพของสังคมไทยในเวลานี้ได้เลยตั้งแต่ต้นจนจบ นั่นก็คือสังคมไทยในเวลานี้เป็นสังคมที่สุดโต่ง เลือกข้าง แบ่งฝ่าย แยกขั้ว ชัดเจน อาการเหล่านี้เราเรียกว่าเป็นภาวะยึดติดในลัทธินิยมอุดมการณ์ และความคิดความเห็นความเชื่อมากกว่าความเป็นจริง เหมือนกับพระและชาวบ้านในศรีลังกาที่แม้พระพุทธองค์จะเสด็จมาประทับยืนอยู่ต่อหน้า แต่เขาเหล่านั้นไม่รู้จักพระพุทธเข้าตัวจริง ทั้งๆ ที่เดินไปวัดไหน แห่งหนตำบลไหน ในประเทศนั้นๆ เต็มไปด้วยพระพุทธรูป เต็มไปด้วยเครื่องรางของขลัง คำไปที่คอก็เต็มไปด้วยพระพุทธรูป แต่พระพุทธองค์ตัวจริงมาไม่มีใครรู้จัก

ทำไมเราจึงไม่รู้จักพระพุทธองค์ตัวจริง ก็เพราะเราอยู่กับความเชื่อ สังคมไทยเวลานี้เป็นอย่างนั้น คือเป็นสังคมที่สมาทานความเชื่อมากกว่าความจริง และเจ้าความเชื่อซึ่งไม่ใช่ความจริงนี้เอง คือที่มาของความขัดแย้ง คือที่มาของความสุดโต่ง คือที่มาของการแบ่งขั้วและเลือกข้างมนุษย์นั้นเมื่อสุดโต่ง เมื่อแบ่งขั้ว เมื่อเลือกข้าง ไปแล้ว แน่นอนที่สุดเขาจึงกีดกันตัวเองเอาไว้ในโลกของความเชื่อเท่านั้น ต่อให้ความจริง ก็เหมือนกับพระและก็ชาวบ้านในศรีลังกาที่ แม้พระพุทธองค์จะเสด็จมาประทับยืนอยู่ต่อหน้า แต่เขาเหล่านั้นไม่รู้จักพระพุทธเจ้าตัวจริง ทั้งๆ ที่เดินไปวัดไหนในหนตำบลไหนในตำบลนั้นๆ เต็มไปด้วยพระพุทธรูป เต็มไปด้วยเครื่องรางของขลัง ทั้งๆ ที่คอก็เต็มไปด้วยพระพุทธรูป แต่พระธุดงธ์ตัวจริงมาไม่มีใครรู้จักท่านเลย

ทำไมเราไม่รู้จักพระธุดงธ์ตัวจริง ก็เพราะเราอยู่กับความเชื่อ สังคมไทยเป็นอย่างนั้น คือเป็นสังคมที่สมาทานความเชื่อซะมากกว่าความจริง และก็ความเชื่อที่ไม่ใช่ความจริงนี้เองคือที่มาของความขัดแย้ง คือที่มาของความสุดโต่ง คือที่มาของการแบ่งขั้วและเลือกข้าง มนุษย์นั้นเมื่อสุดโต่ง เมื่อแบ่งขั้ว เมื่อเลือกข้างไปแล้วในที่สุดเขาจะกีดกันตัวเองเอาไว้ในเฉพาะในโลกของความเชื่อเท่านั้น ต่อให้ความจริงเปิดเผยต่อตรงหน้าเขาๆ ก็จะมองไม่ค่อยเห็น นั่นคือสภาพการณ์ของสังคมไทยในเวลานี้

ประการที่สอง แล้วสภาพการณ์ของสื่อในสังคมไทยเป็นอย่างไร อาตมาเองเป็นผู้หนึ่งที่ได้บริโภคสื่อค่อนข้างเยอะ เพราะอะไร เพราะตั้งแต่สมัยอาตมาเองยังไม่บวช ทุกๆ เช้าโยมแม่จะเปิดวิทยุทิ้งเอาไว้ตอนเข้าครัวตั้งแต่ตี 5 เราเป็นลูกชายตื่นขึ้นมาก็เข้าครัวตามโยมแม่ สายๆ 6 โมงก็ฟังข่าวของคุณปรีชา ทรัพย์โสภา ไปโรงเรียนนั้นรู้เรื่องหมดแล้วเหตุการณ์ต่างๆ ของประเทศไทย ในขณะที่เพื่อนๆ เขายังไม่รู้อะไร และก็ไปอ่านหนังสือพิมพ์ที่โรงเรียน ไปที่โรงเรียนเสร็จแล้วก็กลับมาอ่านที่วัดอีกฉบับหนึ่ง ไทยรัฐฉบับเดียวอ่านจนยับขาดพรุน อ่านทั้งหมู่บ้านฉบับเดียว

แต่ด้วยอุปนิสัยที่โยมแม่รับข่าวสารข้อมูลอย่างนี้ แล้วเราก็อ่านมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยอย่างนี้ จนโตขึ้นมาจนถึงปัจจุบันอย่างนี้ก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือพิมพ์เยอะมากทั้งภาษาไทยทั้งภาษาอังกฤษ ถ้าเฉลี่ยก็สัก 7 ฉบับต่อ 1 วัน ไม่นับรายสัปดาห์ รายเดือนอะไรต่างๆ ฉะนั้นตลอดเวลาแบบนี้เราก็ได้บริโภคสื่ออยู่ตลอด เราก็ได้เห็นว่าฉบับเป็นเอียงกระเท่เล่บึ้ง ฉบับไหนสุดโต่งบ้างก็ได้เห็นอยู่ตลอดเวลา แต่นั่นไม่ใช่ภารกิจของอาตมาที่จะไปบอกว่าฉบับไหนเป็นฉบับที่เชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้ อาตมาเชื่อว่าท่านที่อยู่ตรงนี้เป็นผู้มีวิจารณญาณตอบคำถามตรงนั้นได้อยู่แล้ว อยากจะบอกเพียงแต่ว่าอาตมาเองได้อาศัยสื่อพิมพ์เหล่านี้เป็นทั้งห้องสมุด เป็นทั้งครูบาอาจารย์ เป็นทั้งมหาวิทยาลัย เป็นทั้งอาหารสมองประจำวัน เราได้บริโภคสื่ออยู่ตลอดเวลา และเราก็ได้เห็นปัญหาอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน สื่อจำนวนมากเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อสังคม ฉะนั้นสื่อจึงอยู่ในฐานะที่เป็นฐานันดรที่สี่ เมื่อสื่อถูกจัดเป็นฐานนันดรที่สี่นั่นหมายความว่าสถานภาพของสื่อในทางสังคมนั้นไม่ธรรมดา

ทีนี้ถ้าสื่อไม่มีคุณธรรมกำกับ คำถามที่ตามมาก็คือสถานภาพพิเศษของสื่อจะก่อให้เกิดอะไรในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมซึ่งเชื่อมั่นในระบบความคิดความเชื่อและลัทธินิยมและอุดมการณ์มากกว่าเชื่อถือในความจริง สถาบันต่างๆ ในสังคมไทยเวลานี้ถูกเขย่าจนโยกโคลง

อาตมาคิดว่าทุกสถาบัน ปัญญาชนสาธารณะของสังคมไทยเกือบทุกคน ถูกแลกถูกกระแสของความขัดแย้ง อาจจะพูดได้ว่าไม่มียุคไหนสมัยไหนที่ปัญญาชนสาธารณะตั้งแต่รุ่นใหญ่ลงมาจนถึงรุ่นเล็กขัดแย้งกันเหมือนครั้งนี้ รวมทั้งสถาบันสงฆ์ด้วยก็ถูกลากจูงเข้าไป ถูกวังวนของความขัดแย้งด้วยเช่นเดียวกัน จึงไม่ต้องพูดว่าสถาบันหลักต่างๆ นี้ถูกลากจูงเข้าไปสู่ความขัดแย้งในขณะนี้นั้น สถาบันสื่อจะสุดเอี่ยมขนาดไหนในการที่จะพยายามพยุงตัวให้มีความเป็นกลาง และก็มั่นคงในจรรยาบรรณวิชาชีพของตนเอง เพราะอะไร เพราะสื่อใกล้ชิดความขัดแย้งซะยิ่งกว่าชาวบ้าน

ดังนั้นประเด็นที่สามก็คือว่า อันตรายของการตกอยู่ในความคิดของแบบสุดโต่ง แบ่งขั้ว และเลือกข้างนั้นมีมากน้อยเพียงใด สภาพสังคมไทยอย่างที่บอกแล้วในเวลานี้ตกอยู่ท่ามกลางความเชื่อมากกว่าความจริง ตกอยู่ในภาวะสุดโต่ง เลือกข้างและแยกขั้ว และสื่อเป็นผู้ที่ปฏิสัมพันธ์กับภาวะเหล่านี้ตลอดเวลา ประเด็นที่สามที่จะมาชวนคิดก็คือว่า ในสภาวะอย่างนี้อันตรายมันมีมากมีน้อยแค่ไหน

พอดีอาตมาพึ่งเดินทางกลับจากประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 1 เดือนที่อาตมาได้ไปใช้ชีวิตกับท่าน ซีสระฆัง (ชื่อบุคคล) ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในระดับโลกที่ท่านลี้ภัยจากประเทศเวียดนามไปอยู่ที่ฝรั่งเศส และบัดนี้ได้กลายเป็นคนของโลกคนหนึ่งไป เป็นพระมหาเถระผู้นำทางจิตวิญญาณเดียวกันกับดาไลลามะ วันหนึ่งของการปาถกถาธรรมท่านได้พูดถึงสงครามเวียดนาม พูดจากประสบการณ์ตรงของท่านว่า ในสังคมที่คนศรัทธาในความเชื่อมากกว่าความจริง คนชาติเดียวกันเลือกข้างมากกว่าเลือกความเป็นธรรมและความเป็นจริง เวียดนามพบกับความเจ็บปวดขนาดไหน

ในยุคหนึ่งประธานาธิบดีของเวียดนามพยายามที่จะทำให้ประเทศทั้งประเทศเป็น ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอริคและดังนั้นจึงออกพระราชบัญญัติมาห้ามทำพิธีการสำคัญในวันพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาฆบูชา ห้ามชาวพุทธทั้งประเทศจัดงานวิสาฆบูชา และพยายามให้คนทั้งประเทศ คนไหนอยากมีชีวิตรอดเปลี่ยนเป็นคริสเตียน ถ้าไม่เปลี่ยนโยนข้อหาคอมมิวนิสต์ให้ ความขัดแข้งทางความเชื่อคราวนั้นก่อให้เกิดอะไรขึ้นมา พระสงฆ์เผาตัวตายเพื่อเรียกร้องเสรีภาพทางศาสนา และในเวลาต่อมาจากการที่เรียกร้องเสรีภาพทางศาสนารุกรามขึ้นมาเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างคนในชาติเดียวกัน กลุ่มคอมมิวนิสต์ก็ถือห่างเวียดนามฝ่ายหนึ่ง กลุ่มประชาธิปไตยถือห่างเวียดนามฝ่ายหนึ่ง ผลสุดท้ายเคราะห์กรรมตกอยู่กับประชาชน เวียดนามแตก มีความเวียดนามจำนวนมากต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปขอพึ่งประเทศเพื่อนบ้าน

ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถรักกันได้เหมือนเดิมอีกต่อไปเท่านั้น ยังหันกลับมาทำร้ายกันอีกด้วย หมายถึงที่ผ่านมาที่เราได้เห็นการเมืองกำลังเขม่นกัน บุคคลกลุ่มที่ใส่เสื้อต่างสี หรือการใช้อาวุธสงครามยิงเข้าสู่ฝูงคนของกลุ่มคนไทยด้วยกันเอง เค้ารู้สึกไม่ผิดเพราะอะไร เพราะใส่เสื้อไม่เหมือนกันหรอก เห็นได้ว่าการที่เราอยู่กับความเชื่อมั่นเป็นอย่างไร เราเลือกขั้วเลือกข้าง แบ่งฝ่าย เราได้ลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์ซึ่งมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับเราให้ต่ำต้อยด้อยค่าลงขนาดไหน ขนาดเรียกมนุษย์ด้วยกันว่าเป็นแมลงสาป บางทีเรียกมนุษย์ด้วยกันว่าเป็นสุนัข ในสังคมไทยในขณะนี้เราลดค่าของมนุษย์ต่ำลงมาขนดนั้นหรือยัง

อาตมาไม่รู้ว่าเวลานี้เราได้ลดค่าของคนไทยลงมาถึงขนาดไหน รู้แต่ว่าถ้าเรายังมีวิธีคิดในลักษณะสุดโต่ง แบบขั้วเลือกข้างหนึ่ง คนไทยจะถูกลดคุณค่าลงมากขึ้นๆ และวันหนึ่งถ้าไม่มีการแก้ไขอะไรเลย สงครามประสาทระหว่างคนไทยมีสิทธิเกิดขึ้นได้ เพราะรากหญ้าของสงครามไม่ได้อยู่ที่อาวุธสงคราม แต่อยู่ที่ความศรัทธาในความเชื่อมากกว่าความจริง อยู่ที่การรักความเชื่อมากกว่าความจริง อยู่ที่การความเชื่อมากกว่าการเห็นเป็นมนุษย์ด้วยกัน ความเกลียดชังเป็นอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดยิ่งกว่าอาวุธทุกชนิด อุดมการณ์เป็นระเบิดที่ยิ่งกว่าระเบิดปรมาณู เค้าว่าระเบิดปรมาณูลูกหนึ่งนั้นถ้าจุดระเบิดขึ้นมาแล้วก็ทำลายได้ในปริมณฑลหนึ่ง แต่ถ้าเรามีอุดมการณ์ที่ผิดสามารถฆ่าคนได้นับจำนวนไม่ถ้วน

สมมติคุณมีปืนอยู่หนึ่งกระบอก ถ้าคุณยิงคนแม่นก็มีคนตายเท่าจำนวนกระสุน แต่ถ้าคุณมีอุดมการณ์ชุดหนึ่งอยู่ในมือ คุณชักชวนคนที่ฟังคุณ อุดมการณ์ฆ่าคนได้มากมายมหาศาลกว่าปืนหนึ่งกระบอกนับไม่ถ้วน

ฉะนั้นประเทศที่ตกเป็นประเทศของอุดมการณ์หรือตกอยู่ในแหของความคิดต่างๆ มีโอกาสสูงมากที่คนจะลุกฮือขึ้นมาเข่นฆ่าและทำร้ายกันเอง มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งภาวะที่อาตมาพูดมาทั้งหมดนั้น ไม่ใช่ภาวะในอุดมคติแต่เป็นสิ่งที่ครอบลงมาคนไทยเวลานี้ด้วย และเป็นสาเหตุให้สังคมไทยตกลงมาอยู่ก้นเหวความเสื่อมกว่าทุกยุคทุกสมัย ในบรรดาของคนที่ตกอยู่ในข่ายของความคิดทั้งหมดนั้น สื่ออย่างเราทุกคนก็ไม่ได้รับการยกเว้น คำถามต่อมาคือสื่อจะวางตัวอย่างไรในยุคที่สังคมเต็มไปด้วยความแตกต่างกันเช่นนี้ เราจะเลือกข้าง แบ่งฝ่าย เลือกขั้วอย่างเค้าได้ไหม อาตมาอยากเสนอแนะว่าเราจะเข้าข้างคนที่คิดสุดโต่งเพื่ออยู่ร่วมกับคนที่คิดแตกต่างได้คงต้องใช้พุทธธรรมเข้ามาช่วย

เมืองไทยนั้นโชคดีมากที่มีขุมปัญญาทางพุทธศาสนาให้ตักตวงมาใช้ได้ไม่หมดไม่สิ้น บางทีเราก็มองข้ามภูมิปัญญาตรงนี้ไป แล้วเราใช้วิธีปะอุดประเทศไทยด้วยการซ่อมรัฐธรรมนูญ อาตมาคิดว่าเรากำลังตกอยู่ในเขาวงกตของคนเป็นช่างเทคนิคที่ไม่สามารถคนมองเห็นประเทศไทยทั้งระบบได้ เรามองแยกส่วน มองตัดตอน มองแบบจำเพาะเหมือนคนติดเชื้อเอชไอวี คืออาการไหนแสดงขึ้นมาก็รักษาตรงนั้น เหมือนเราเป็นโรคหู หมอดูแต่หู ซึ่งเมื่อคืนทะเลาะกับสามี ปวดท้องหมอก็ตรวจท้อง หมอไม่ได้ถามว่าคุณใช้ชีวิตยังไง คุณเครียดอะไรหรือเปล่า เห็นคนน้ำตาไหลเราก็ประเมินว่าต้องเสียใจ ความคิดของคนเราสุดโต่งไปหมด ตื้นเขิน มองเฉพาะส่วน เฉพาะที่ เราไม่สามารถมองคนให้เห็นคนทั้งระบบ ไม่สามารถมองให้เห็นช้างทั้งตัว ไม่สามารถมองให้เห็นประเทศไทยได้ทั้งประเทศ

การที่เราไม่ประสิทธิภาพที่จะมองอย่างองค์รวม ทำให้เราหลุดเข้าไปสู่การเลือกข้าง เราจะออกจากภาวการณ์เลือกข้างอย่างไรท่ามกลางสังคมที่เลือกไปแล้ว ก็มีวิธีการที่อาตมาจะเสนอคือ ไม่พลัดหลงสู่การเลือกข้างด้วยการวางท่าทีแห่งปัญญาชนที่เป็นกลาง ตรงนี้ขอยกตัวอย่าง ชุมชนนั้นจะมีคนเผยแพร่ศาสนา จนชาวบ้านสับสนว่าศาสนาไหนดีที่สุด จนพระพุทธองค์มาถึงหมู่บ้านนั้น ก็มีชาวบ้านมาเข้าเฝ้าหลายร้อยคน มีคนถามว่า ที่ชุมชนของเรามีศาสดา มีเจ้าลัทธิมาเผยแพร่ศาสนา ต่างคนก็บอกว่าเป็นผู้รู้ ก็เลยจะถามว่า ใครเป็นศาสดาตัวจริง ใครที่บรรลุธรรมจริงๆ บ้าง พระธุดงธ์ตอบว่าใครจะเป็นศาสดาตัวจริงเอาไว้ก่อน อยากให้ฟังก่อนก็กล่าวกามาลสูตร 10 ประการ

1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา (ไม่ได้ฟังด้วยตัวเอง แต่ฟังมาอีกต่อหนึ่ง)
2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา (ตามประเพณีเหมือนเถรส่องบาตร)
3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ (แมงเม้าท์ข่าวลือ)
4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ (ไม่ทำข่าวเจาะอีกต่อไป อ้างกันเป็นทอดๆ จากแหล่งข่าว เหมือนกรณีข่าวเต้าเรื่องประเทศในละตินอเมริกาให้ที่พักพิงแก่อดีตนายกรัฐมนตรี)
5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก (ใช้ตรรกศาสตร์)
6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน
7 อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการคิดตรองตามแนวเหตุผล
8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะสอดคล้องกับทฤษฎีที่มีอยู่แล้ว
9. อย่าปลงใจเชื่อเพราะว่ามองเห็นรูปการว่าน่าจะเป็นไปได้ หมายความว่าเข้าเค้า เช่น เดินออกไปข่างนอก เห็นเมฆทะมึนจึงเดาว่าอีกไม่นานฝนจะต้องตกอย่างแน่นอน หรือ ออกไปต่างจังหวัดเห็นสส.ลงพื้นที่จึงเดาว่า ไม่เกิน 3 เดือน ต้องมีการยุบสภาอย่างแน่นอน ทั้งนี้ในความเป็นจริงอาจจะเป็นคนละเรื่องเลยก็ได้
10. อย่าปลงใจเชื่อเพราะเห็นว่าเป็นครุบา อาจารย์ นับเป็นเรื่องที่สำคัญมาก บางคนอาจจะไม่เชื่อทั้ง 9 ข้อที่ผ่านมา ซึ่งเป็นลักษณะของสังคมไทย

หากไม่ปฏิบัติตามกาลามสูตร 10 แล้ว พลัดหลงเข้าไปสู่การแบ่งเลือกข้างโดยไม่รุ้ตัว เพราะฉะนั้นพระธุดงค์จึงบอกว่าหากเราอยากใช้ปัญญาอย่างเป็นกลาง เป็นอิสระ ใรฐานะสื่อมวลชนของประชาชนอย่างแท้จริง จะต้องสมาทานตามหลักกาลามสูตร 10 อย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่พระธุดงค์ทรงถูกถามนำ แต่ในความเป็นจริง ตำรวจต้องเป็นศูนย์กลางถามนำหรือไม่

อาตมาพบบ่อยมากเมื่อครั้งไปออกรายการโทรทัศน์ พิธีกรเก่งๆ มักถามว่า “พระอาจารย์ครับ ตกลงว่าประเด็นนี้พระอาจารย์ไม่เห็นด้วยใช่ไหมครับ” อาตมาต้องถามว่าอาตมาไปตกลงตั้งแต่เมื่อไหร่ เห็นหรือไม่ว่าเรามีโอกาสสูงมากที่จะถูกถามนำให้ตกหลุมพราง สื่อมวลชน สื่อสิ่งพิมพ์ ต้องไม่ตกหลุมพรางตรงนี้ โดยใช้หลักกาลามสูตร 1-10 ก่อน เพื่อคิดวิเคราะห์ให้ดี พระธุดงค์กล่าวว่า เมื่อ เธอพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วยตัวเองและเห็นว่าสิ่งใดมีคุณ มีโทษ จึงเลิกจึงละเว้น ทั้งนี้เมื่อใครปฏิบัติตามหลักกาลามสูตร 10 มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นคือ “ความเป็นกลางทางปัญญา” ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนต้องมี หากเรามีความเป็นกลางทางปัญญาแล้ว สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราพูดนั้น เราจะถือว่าสิ่งนั้นเกิดจากดุลยพินิจ


“ดุลย” คือความเที่ยงตรง
“พินิจ” คือการวิเคราะห์ วิจารณ์ อย่างลึกซึ้ง
“ดุลยพินิจ” คือการที่เราจะมีทัศนคติที่ มีความเที่ยงและเป็นธรรม โดยอาศัยหลักกาลามสูตรมาเป็นแนวความคิด ในการพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่ไหลมาจากทุกสารทิศ

ประการต่อมาต้องปลูกฝังวิธีคิดแบบ “องค์รวม” คือวิธีคิดที่ทำให้เราสามารถมองทุกสิ่ง ทุกอย่างที่ปฏิสัมพันธ์กับทุกเรื่องราวในลักษณะเชื่อมโยงตลอดสาย ไม่เลือกข้างแบบสุดโต่ง คนส่วนใหญ่เลือกสายเลือกข้าง มีวิธีคิดแบบสุดโต่ง ถ้าไม่ดี ก็ชั่ว แต่ในโลกของความเป็นจริง สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเชื่อมโยงเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่มีอะไรดำรงค์อยู่อย่างเป็นเอกเทศ แม้แต่อาตมาเอง การที่อาตมาเดินทางมาที่นี่ ก็มีเหตุ ปัจจัย การที่ได้มานั้น อาจจะมีใครสักคนที่รู้จักอาตมาเป็นการส่วนตัว โดยประสานงานกับหลายส่วน กว่าจะได้มาจึงเต็มไปด้วยเหตุและปัจจัยหลายๆ อย่าง

หลายวันที่ผ่านมาได้อ่านข่าวดาราสาวท่านหนึ่งขับรถคว่ำแล้วให้สัมภาษณ์ว่าโชคดีมากที่มีตะกรุด นี่เป็นวิธีคิดของคนไทย เป็นวิธีคิดแบบสุดโต่ง เลือกข้าง ตัดตอน เพราะว่าการที่ดาราสาวกล่าวว่า โชคดีที่มีตะกรุด แสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้ให้เกียรติรถที่ตนเองนั่งว่ามีระบบความปลอดภัยดีมาก และไม่ได้สำรวจพื้นที่ตรงนั้นเลยว่าไม่ลึก และไม่มีคลอง และเป็นการไม่ให้เกียรติตนเองว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าเธอเองไม่ได้ประมาทเลย เหตุปัจจัยเหล่านี้คนเราไม่เคยเอามาพิจารณาร่วมเลย

เพราะวิธีคิดแบบสุดโต่งเราจึงมองไม่เห็นช้างทั้งตัว เวลาเราคิดวินิจฉัย หรือพิจารณาใครก็ตาม เราจึงไม่ให้ความเป็นธรรมกับสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้อง เป็นธรรมและเป็นจริงตามที่สิ่งเหล่านั้นดำรงค์อยู่อย่างเป็นจริง แท้ที่จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ดำรงค์อยู่ในลักษณะสัมพัทธ์ โดยเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งโลก

อาตมามีชาแก้วนี้อยู่ในมือ พิจารณาด้วยการมองตามเหตุตามผล ในท่วงทำนองของศาสนา จะเห็นว่าในน้ำชาประกอบด้วยสิ่งที่ไม่ใช่ชาตั้งมาก มีก้อนเลือดอยู่ในน้ำชานี้ มีหยาดเหงื่อในน้ำชานี้ มีสารเคมีในน้ำชานี้ มีชาวเขาชาวดอย มีพ่อค้าคนกลาง คนทำบรรจุภัณฑ์ นักการตลาดหรืออาจจะมีสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในน้ำชานี้ และในที่สุดก็มีคนซื้อชานี้จากร้านค้า แล้วนำมาถวายพระ ดังนั้นหากเราคิดแบบมองสิ่งต่างๆ ตามเหตุปัจจัย เราจะสามารถมองเห็นช้างทั้งตัว และไม่วินิจฉัยอะไรตื้นๆ แต่เวลานี้ใครมองสักอย่างหนึ่ง จะฟังธง หากใครเลวจะเลวบริสุทธิ์ หากใครดีก็ดีแบบหาที่ติไม่ได้เลย

สื่อจะมีวิธีคิดอย่างนี้ไม่ได้ สื่อคิดแบบนี้เมื่อไหร่ ความเป็นกลางทางปัญญาได้สูญเสียไปแล้วเรียบร้อย เพราะฉะนั้นสื่อต้องมีวิธีคิดในลักษณะเชื่อมโยง มองสิ่งต่างๆ ตามเหตุปัจจัย แล้วจึงจะได้ปัญญาที่แท้จริงมา หากไม่มองสิ่งต่างๆ ตามเหตุและปัจจัย เราจะได้ปัญญาแบบกระท่อนกระแท่น แบ่งเป็นเสื้อ เป็นส่วน และเมื่อวิจารณ์สิ่งใดเราก็จะนำเสนอแต่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ตื้นเขิน เป็นเศษ เสี้ยว ส่วน ตื้นๆ และเราก็ไปยัดเยียดความผิดให้ใครสักคนที่เราได้เห็นเขาเพียงบางแง่มุมเท่านั้นเอง

ประการต่อมา สื่อต้องทั้งอคติ 4 ใจแคบ 5 และหลักธรรมาธิปไตย 1

อคติ 4 คือ ลำเอียง 4 ประการ คือ 1. ลำเอียงเพราะรัก หากเป็นพวกเดียวกันก็เชียร์ 2. ลำเอียงเพราะชัง หากเกลียดใครก็จะเขียนในแง่ลบลงในคอลัมน์ของฉัน 3. ลำเอียงเพราะไม่รู้ข้อมูลครบถ้วน คือการวิจารณ์ไปโดยที่เห็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกไปได้รับความเสียหายเรียบร้อยแล้ว 4. ถ้าเราลำเอียงเพราะกลัว เช่น เห็นว่าเป็นผู้มีอิทธิพล จึงไม่กล้านำเสนอ หรือไม่เข้าไปยุ่งดีกว่า ทั้ง 4 ประการนี้ปัญญาเราทำงานไม่เป็นกลางทันที ทำให้ประชาชนมีโลกทัศน์ที่ผิดเพราะมีปัญหาที่ไม่เป็นกลาง

นอกจากนี้สื่อต้องออกจากเสน่ห์ทั้ง 5 คือ ออกจากความใจแคบ ซึ่งมี 5 ประการคือ 1. ใจแคบเพราะหวงแผ่นดิน แผนที่ 2. ใจแคบเพราะหวงตระกูลวงศ์ พงษ์เผ่า 3. ใจแคบเพราะหวงผลประโยชน์ 4. ใจแคบเพราะชนชั้นวรรณะ สีผิว 5. ใจแคบเพราะหวงปัญญาและวิทยาการ ซึ่งสื่อต้องออกจากความใจแคบทั้ง 5 ประการนี้ให้ได้ มิเช่นนั้นจะทำหน้าที่ด้วยความลำเอียงอีก

และในการตัดสินใจสื่อต้องถือหลักธรรมาธิปไตย คือความถูกต้อง ความจริง ประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่คือ ธรรมาธิปไตย การตัดสินใจมี 3 ลักษณะคือ 1. อัตตาธิปไตย คือ ตัดสินใจตามใจฉัน ฉันเชื่ออย่างนี้ ตัดสินใจอย่างนี้ จะเขียนอย่างนี้ 2. โลกาธิปไตย คือเขียนเชียร์ใครก็ได้ เพื่อให้ถูกใจเป็นใช้ได้ แต่ในทางพุทธศาสนา บอกว่าต้องถือหลักธรรมาธิปไตย โดยเอาความจริง เอาความถูกต้อง เอาความ เอาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าเข้าเกณฑ์นี้แล้วให้ตัดสินใจนำเสนอข้อมูลข่าวสารนี้ไปตามนั้น เราจึงจะมีปัญญาเป็นกลาง

สรุปด้วยข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้เอาไว้ให้กับสื่อมวลชนเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์เอาไปพิจารณา นี่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ เป็นเพียงแค่ข้อคิดความเห็นของผู้ที่บริโภคสื่อเป็นประจำเพียงคนเดียวเท่านั้น

ประการที่หนึ่งสื่อต้องก้าวออกจากความเชื่อมาอยู่กับความจริง กล่าวคือ มีอุปนิสัยของนักวิจัยมืออาชีพที่ต้องการค้นหาความจริงสูงสุดโดยที่ไม่ตั้งข้อสรุปล่วงหน้า แต่ใช้วิธีสืบค้นหาข่าวและรายงานข่าวที่มีหลักฐานข้อมูลหนักแน่นเป็นแก่นสารอย่างตรงไปตรงมา เพื่อส่งต่อความจริงสุดท้ายให้ถึงมือประชาชนทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ
สอง สื่อต้องมีวิธีคิดในแบบอิทัปปัจจยตา หรือเรียนรู้ที่จะมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งในลักษณะ “สิ่งนี้มี – สิ่งนี้จึงมี , หรือ “สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน” ซึ่งจะทำให้สื่อสามารถก้าวข้ามวิธีคิดแบบสุดโต่ง แยกขั้ว เลือกข้าง ถูกผิด ดีชั่ว เหลือง แดง ได้อย่างแยบคาย

ประการที่ 3 สื่อต้องเป็นทั้งสื่อมวลชนผู้ยึดโยงอยู่กับอุดมคติอันดีงาม เชื่อมั่นศรัทธาในฐานข้อมูลที่เป็นความจริง ไม่ขายศักดิ์ศรีให้กับประโยชน์โสตถิผลเฉพาะหน้า และขณะเดียวกันต้องเป็นทั้งวิญญูชน ผู้สามารถรักษาจรรยาวิชาชีพของสื่อเอาไว้ได้อย่างขาวสะอาดในทุกกาลเทศะ สามารถเป็นประภาคารทางปัญญาให้กับสังคมทั้งในยามปกติและยามวิกฤตได้อย่างน่าเชื่อถือ คือต้องเป็นทั้งสื่อมวลชนและวิญญูชน

สี่ สื่อต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม เห็นแก่ความจริง มากกว่าเห็นแก่ความเชื่อ ต้องเห็นแก่ประโยชน์โสตถิผลของประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวมมากกว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ต้องเห็นแก่หลักการมากกว่าเห็นแก่ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล

สื่อต้องถือหลักต่อบุคคลด้วยเมตตา ต่อปัญหาด้วยปัญญา อันนี้สำคัญมาก ต่อบุคคลต้องด้วยปัญญา ต่อปัญหาด้วยปัญญา และแม้ปฏิบัติกิจข้อนี้ก็คือ ต่อบุคคลด้วยอะไรดี ด้วยเมตตา และก็ต่อปัญหาก็ด้วยปัญญาอีก เลยไม่มีการแก้ปัญหาถึงจุดสิ้นสุดเสียที

ฉะนั้นสื่อต้องถือหลักต่อบุคคลด้วยปัญญา ต่อปัญหาด้วยปัญญา นั่นคือการให้เกียรติแหล่งข่าวด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของเขาเหมือนกับที่เราให้เกียรติตนเอง

แต่ต่อปัญหาต้องใช้ปัญญาเจาะลึกให้ถึงที่สุด ก่อนอื่นต้องมีเครือข่ายกัลยาณมิตรที่สามารถตรวจสอบ ท้วงติง วิพากษ์วิจารณ์ตนเองได้อย่างบริสุทธิ์ใจ และต้องมีใจกว้างพร้อมที่จะรับฟังเสียงจากกัลยาณมิตรผู้ปรารถนาดีต่อวงการของตนเองอยู่เสมอ

และสื่อต้องเรียนรู้ที่จะเจริญสติอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ไม่อหังการ ทะนงตน ว่าเป็นฐานันดรที่สี่ มีอภิสิทธิ์เหมือนคนอื่น แท้ที่จริงสื่อต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เราคือข้าช่วงใช้ของประชาชนผู้ต่ำต้อย ผู้เฝ้าคอยสดับเสียงแห่งความทุกข์ยาก เสียงแห่งความอยุติธรรมของประชาชน เสียงแห่งความฉ้อฉลในยศ ทรัพย์ อำนาจ ของผู้นำรัฐ แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาเปิดเผยเพื่อแสวงหาวิธีสร้างสรรค์พัฒนาสังคมที่อุดมสันติสุขร่วมกัน

ทั้งหมดนี้ก็คือข้อเสนอจากอาตมาเพื่อร่วมกันชี้พินิจพิจารณ์ทั้งหลาย โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่พวกเราทุกท่านทุกคนสังกัดอยู่ และก็ยึดติดถือมั่นว่ามันเป็นวิชาชีพที่สุจริต และเป็นวิชาชีพที่อันเป็นตัวถ่วงดุลอันสำคัญอย่างสูงยิ่งกว่า ไม่น้อยไปกว่าสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันรัฐสภา สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันทางการเมือง หรือแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ในการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ถ้าสื่อได้สูญเสียความเป็นกลางทางปัญญาและสื่อไม่มีอิสรภาพเมื่อไหร่นั้นก็เท่ากับว่าสดมภ์หลักของประชาธิปไตยได้สูญเสียไปแล้วหนึ่งสดมภ์

ฉะนั้น จึงมีคำกล่าวว่าอิสรภาพของสื่อก็คืออิสรภาพของประชาชน เพราะแท้ที่จริงสื่อก็คือประชาชน ประชาชนก็คือสื่อ เพราะฉะนั้นในเวลาอันจำกัดนี้ อาตมาก็คิดว่าคงได้ใช้เวลามาเต็มที่หลังจากที่จะนำเสนอข้อคิดความเห็นในส่วนของอาตมาให้แก่ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อโดยทั่วหน้ากัน ในท้ายที่สุดนี้หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เหมาะไม่ควรอาตมาก็ขออภัยด้วยที่ได้เผลอแสดงทัศนะที่ตื้นเขินออกไป แต่สิ่งใดก็ตามที่เป็นความดีงามล้ำเลิศอาตมาขอนำสิ่งนั้นมาร่วมอนุโมทนาสาธุกับทุกท่านทุกคนผู้ดำรงวิชาชีพสื่อให้มีแต่ความร่วมเย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้ากันทุกท่านทุกคนด้วยเถิด

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker