วานนี้ (22 ก.ค.2552) เวลา 09.30 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 6/2552 ประจำเดือนกรกฎาคม ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมพิจารณาและมีมติเห็นชอบให้รับคดีความผิดทางอาญาไว้เป็นคดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ใน 5 เรื่องดังนี้
เรื่องที่ 1 คดีความผิดทางอาญา กรณีกลุ่มบุคคลร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ให้ราคาผิดไปจากภาวะปกติของตลาด มีข้อเท็จจริงโดยสรุปกล่าวคือ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( กลต.) ได้ส่งรายชื่อบุคคลต้องสงสัยว่ามีพฤติการณ์ในการสร้างราคาหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ให้ราคาผิดไปจากภาวะปกติของตลาด (ปั่นหุ้น) ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 243 และมาตรา 308
จากการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษพบกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งมีพฤติการณ์ร่วมกันซื้อขายหลักทรัพย์ในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะการสร้างราคาหลักทรัพย์ให้บุคคลอื่นเข้าใจว่ามีราคาสูง มีการยักยอกทรัพย์ของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการกำกับหลักทรัพย์ฯ และหลบเลี่ยงภาษีอากร ระหว่าง พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.255 1 มีวงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์โดยรวม และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ จึงมีมติให้รับเป็นคดีพิเศษ
เรื่องที่ 2 คดีความผิดทางอาญา กรณีกลุ่มบุคคลร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการหลอกลวงให้โอนเงินผ่านเครื่องเบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) มีข้อเท็จจริงโดยสรุปกล่าวคือ ตามที่มีข่าวปรากฏต่อสื่อมวลชนถึงกลุ่มมิจฉาชีพที่ฉ้อโกงประชาชนด้วยการโทรศัพท์ติดต่ออ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร และหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินผ่านเครื่องเบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) เพื่อชำระภาษี นั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ส่งเจ้าหน้าที่แฝงตัวไปอยู่ในกลุ่มผู้กระทำผิดระหว่างห้วงเดือนมิถุนายน 2552 จนสามารถสืบหาพยานหลักฐานพอที่จะดำเนินคดีกับคนร้ายได้ การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนในวงกว้าง จึงมีมติให้รับเป็นคดีพิเศษ
เรื่องที่ 3 คดีความผิดทางอาญา ที่เป็นความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
เรื่องที่ 4 คดีความผิดทางอาญา กรณีคดีฆาตกรรมนายประวิทย์ สัตวุธ ที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ มีข้อเท็จจริงโดยสรุปคือ ญาติของนายประวิทย์ สัตวุธ ผู้เสียชีวิต ได้ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ตรวจสอบการเสียชีวิตของประวิทย์ สัตวุธ ซึ่งแขวนคอตายที่บริเวณสระกุดน้ำกิน ซึ่งเป็นสวนสาธารณะ ในเขตอำเภออำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2547 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศสงครามปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยแจ้งว่าผู้ตายมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ เกรงว่าจะถูกฆาตกรรมอำพราง
จากการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษพบว่าก่อนเสียชีวิต นายประวิทย์ฯ เป็นผู้ต้องสงสัยว่าทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ภายหลังได้ปล่อยตัวไป และมีการเรียกตัวให้มารับสิ่งของ ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธิ์ก่อนจะหายตัวไปและมีผู้พบศพ จึงมีเหตุสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวอาจเป็นคดีความผิดทางอาญาและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เกี่ยวข้อง จึงมีผลต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินคดีอาญาโดยเจ้าพนักงานตำรวจ มีความซับซ้อน ประกอบกับเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน จึงมีมติรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ
เรื่องที่ 5 คดีความผิดทางอาญา กรณีกรมสรรพากรขอให้ดำเนินคดีอาญา กิจการ ร่วมค้า บริษัทพรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เพท เอ็นจิเนียส์อิงค์ และบริษัท ล็อควูด แอนดรูส์ นิว แนมอิงค์ (กิจการร่วมค้า พีอี-เพท/แลน) กรณีหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มีข้อเท็จจริงโดยสรุปกล่าวคือกรมสรรพากรขอให้ดำเนินคดีอาญาได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินคดีอาญากับกิจการร่วมค้า บริษัทพรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เพท เอ็นจิเนียส์อิงค์ และบริษัท ล็อควูด แอนดรูส์ นิว แนมอิงค์ (กิจการร่วมค้า พีอี-เพท/แลน) กรณีหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร ระหว่าง พ.ศ. 2544 ถึง พ.ศ.2545 มูลค่าความเสียหาย กว่า 200 ล้านบาท