คำอธิบายแบบคลาสสิกเกี่ยวกับการเมืองไทยคือ การเมืองเป็นเรื่องของ “อำนาจ/เงิน/โง่” กล่าวคือ การเมืองเป็นเรื่องการแสวงหาอำนาจ โดยการใช้เงินซื้อ ส.ส. ซื้อพรรคการเมือง ซื้อเสียง พูดให้ตรงคือใช้เงินซื้ออำนาจ และใช้อำนาจแสวงหาเงินผ่านการคอรัปชั่นหลากรูปแบบ ดังที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เรียกว่า “ธนกิจการเมือง” หรือ“การเมืองของเงิน โดยเงิน และเพื่อเงิน”
มีคำอธิบายต่อว่า การเมืองในรูปแบบเงินซื้ออำนาจและอำนาจเพื่อเงินดังกล่าว มีความสัมพันธ์เชิงตรรกะกับ “โง่” คือ เพราะประชาชนโง่ ไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร ไม่รู้คุณค่าของสิทธิ์/เสียงของตนเอง ขาดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารรอบด้านและเชิงลึก รู้ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง จึงยอมขายสิทธิ์ขายเสียง ยอมตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่จ่ายเงินคล่อง หรือให้ความอุปถัมภ์ในด้านต่างๆ
ต้องยอมรับว่าคำอธิบายดังกล่าว สะท้อนข้อเท็จจริงและความเชื่อของสังคมไทยอยู่มาก ดังที่มีประชาชนจำนวนไม่น้อยในการเมืองยุคใหม่ (รวมทั้ง เอ็นจีโอ นักวิชาการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย สื่อมวลชน) ให้การยอมรับ (หรือไม่สนใจตั้งคำถามกับ) การสร้างวาทกรรม “รัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลคอร์รัปชั่น” เช่น รัฐบาลบุฟเฟ่ต์คาบิเนต ของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐบาลโคตรานุวัตร ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น
เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้เชี่ยวชาญระดับที่ปรึกษาอธิการบดีคนหนึ่งวิเคราะห์การเมืองให้ผมฟังว่า “คุณรู้ไหมว่าวิกฤตการเมืองทุกวันนี้ สาเหตุมันมาจากเงินตัวเดียวเท่านั้น ทีนี้เงินเนี่ยมันผ่าน input-process-output ชาวบ้านรากหญ้าเขาไม่รู้ว่า input ของเงินมันผิด มันโกงมา แล้วเอามาใส่ process ให้ที่ผิดเป็นถูก เช่นผ่านนโยบายประชานิยม แล้วก็เป็น output ที่ชาวบ้านพึงพอใจ... ถ้าชาวบ้านรากหญ้ารู้ input ของเงินที่ผิด ประเทศก็จะไม่วิกฤตอย่างทุกวันนี้”
ไม่รู้ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์มองสาเหตุวิกฤตการเมืองว่ามาจาก “เงินตัวเดียว” หรือไม่ จึงทุ่มเงินลงไปในนโยบาย “ดับเบิ้ลประชานิยม” แต่ถ้า “เงินตัวเดียว” คือปัจจัยหลักจริง เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ให้เงินชาวบ้านมากกว่า พรรคประชาธิปัตย์หรือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย่อมได้รับความนิยมจากคนรากหญ้ามากกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ
แต่ทำไมความจริงจึงไม่เป็นเช่นนั้น?
แสดงว่าทฤษฎี “ธนกิจการเมือง” ใช้อธิบายความเป็นจริงของการเมืองปัจจุบันไม่ได้ หรือ ไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงที่สำคัญใช่หรือไม่? โปรดสังเกตข้อความข้างล่างนี้
“วิธีคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงที่น่าสนใจก็คือ การวางสถานภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังสะท้อนจากการเตรียมจัดงานวันเกิดครบรอบ 60 ปี ที่จะกระทำกันทั่วประเทศ และเคยคิดที่จะจัด ณ ท้องสนามหลวง วิธีคิดเช่นนี้สะท้อนถึงความรู้สึกจงรักภักดี และการให้ความสำคัญแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆ ไม่เคยได้รับมาก่อน”
(ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ผู้จัดการออนไลน์,12/07/2552)
จะเห็นได้ว่า แม้แต่นักวิชาการฟากเสื้อเหลืองก็ยอมรับว่าคนเสื้อแดง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านรากหญ้า) ศรัทธาต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างชนิดที่ว่า “ผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆ ไม่เคยได้รับมาก่อน” น่าเสียดายก็ตรงที่ฝ่ายเสื้อเหลืองด่วนสรุปว่าศรัทธามาจาก “เงินตัวเดียว”
เพียงแค่ใช้สามัญสำนึกง่ายๆ แม้เราจะยอมรับว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการตัดสินแพ้-ชนะในการเลือกตั้ง (ทุกระดับ) ในสังคมไทย แต่ก็ไม่อาจสรุปได้ว่า “ศรัทธาซื้อได้ด้วยเงิน” เพราะถ้าสรุปเช่นนี้ได้ ก็ต้องสรุปต่อไปว่าชาวบ้านโง่บริสุทธิ์ถึงโง่บัดซบ (ซึ่งก็คงจะมีแต่คนที่โง่เกินบัดซบเท่านั้นที่จะสรุปหรือเชื่อข้อสรุปเช่นนี้)
ประเด็นคือ ถ้าเราออกมาจากกรอบการอธิบายการเมืองแบบ “อำนาจ/เงิน/โง่” เราจะเห็นความจริงอีกด้านว่า ปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านศรัทธาต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ สะท้อนความคิดทางการเมืองที่ก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่นักการเมืองที่ขายภาพ “คนดี” แต่เป็นนักการเมืองที่ขายภาพ “คนทำงาน” นักบริหารมืออาชีพ คิดนอกกรอบ ทำงานเชิงรุก ขายนโยบาย สร้างความหวังให้แก่ประชาชนด้วยคำพูดง่ายๆ เช่น “อีก 4 ปีประเทศไทยไม่มีคนจน” แล้วก็เอาความหวังนั้นแปรเป็น “สัญญาประชาคม” ผ่านนโยบายต่างๆ
การที่ประชาชนรากหญ้าหลุดพ้นจากการฝากความหวังไว้กับการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเรื่อง “คนดี” แล้วมาสนใจ “นักทำงาน” ให้ความสำคัญนโยบายและพันธะสัญญาที่เป็นไปได้ของนักการเมืองและพรรคการเมือง ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้าของความคิดทางการเมืองของชาวบ้านรากหญ้าอย่างสำคัญ ซึ่งความก้าวหน้าดังกล่าวนี้ต้องถือเป็นเครดิตของ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านรากหญ้าหรือคนเสื้อแดงจะมี “ความรู้สึกจงรักภักดี และการให้ความสำคัญแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆ ไม่เคยได้รับมาก่อน” ดังที่ชัยอนันต์ ตั้งข้อสังเกต
แต่จะอย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าการเมืองที่ผูกติดอยู่กับตัวบุคคลจะเป็นทางออกของสังคมไทยปัจจุบัน คนเสื้อแดงย่อมมีสิทธิ์ต่อสู้เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับความเป็นธรรม (เช่น โดยการถวายฎีกา ฯลฯ) แต่ก็ต้องเปิดใจรับข้อผิดพลาดของ พ.ต.ท.ทักษิณด้วยเช่นกัน เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด กรณีกรือเซะ ตากใบ หรือข้อกล่าวหาทุจริตอื่นๆ ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (ที่ไม่ใช่สองมาตรฐาน)
สิ่งที่คนเสื้อแดงต้องเดินหน้าต่อคือ การประกาศจุดยืนแห่งความก้าวหน้าของความคิดทางการเมือง โดยยืนยันความต้องการนักการเมืองที่เป็น “นักทำงาน” (ซึ่งหมายความว่านักการเมืองที่จะได้รับความศรัทธาจากประชาชนในอนาคตจะต้องเป็นนักทำงานไม่น้อยกว่าหรือต้องมากกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ) ต้องการนโยบายและสัญญาประชาคมที่เป็นไปได้ในการสร้างสังคมใหม่ที่มีความเป็นธรรมหรือรัฐสวัสดิการ ซึ่งจุดยืนดังกล่าวจะต้องเป็นจุดยืนที่ควบคู่ไปกับการปฏิเสธรัฐประหารทุกรูปแบบดังที่ยืนยันตลอดมา
ซึ่งแน่นอนว่าคนเสื้อแดงจะต้องใช้เวลาและพลังงานมากขึ้น ในการแสดงออกทุกรูปแบบเพื่อยืนยันจุดยืนหรืออุดมการณ์ดังกล่าว เพื่อให้สาธารณะได้ประจักษ์ว่าการเมืองของคนเสื้อแดงได้ก้าวพ้นจากกรอบทัศนะ “อำนาจ/เงิน/โง่” มาเป็นการเมืองที่เน้นประสิทธิภาพ ความเป็นธรรม และอำนาจของประชาชนที่จับต้องได้