บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สัมภาษณ์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล : ว่าด้วยความพอดีของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ที่มา ประชาไท

28 สิงหาคมนี้จะเป็นวันตัดสินคดีของผู้ต้องหาในคดีที่เรียกกันว่า ‘คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ อีกหนึ่งคดี นั่นคือ กรณีของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เราได้ยินข่าวคราวเรื่องนี้กันค่อนข้างถี่ และมีคนทั่วๆ ไปถูกจำคุกแล้วหลายราย ไม่ว่าจะเป็น บุญยืน ประเสริฐยิ่ง ดาวไฮปาร์กสนามหลวงที่เป็นแม่ค้าขายของเก่าและหมอดู, สุวิชา ท่าค้อ พ่อลูกสาม นักท่องโลกไซเบอร์ หรือกระทั่งคนที่ไม่เกี่ยวพันกับการเมืองไทยอย่างแฮรี่ นิโคไลดส์ นักเขียนชาวออสเตรเลีย ยังไม่นับรวมนักการเมืองหรือคนใหญ่คนโตอีกหลายคนที่โดนข้อกล่าวหานี้ แต่พวกเขาไม่ได้ถูกจับกุมคุมขัง และมีระยะพิจารณาคดีที่ยาวนานกว่า

ปรากฏการณ์นี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักในสังคมไทย โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่จัดได้ว่าเราอยู่ในโลกสมัยใหม่ โลกทุนนิยมสามานย์ โลกประชาธิปไตย ฯลฯ และเมื่อมันเกิดขึ้นก็มักไม่มีใครอยากเพ่งมองหรือพูดถึงกันมากนัก แม้มีความพยายามผลักดันการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาที่ซ่อนอยู่บ้างเป็นระลอก
ในจังหวะที่คลื่นแห่งการถกเถียงอภิปรายเรื่องนี้กำลังจะค่อยๆ เงียบหาย และเชื่อว่าจะสงัดมากขึ้นหลังคดีดารณี ‘ประชาไท’ จึงชวนคุยกับ ‘ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพิจารณากันตามหลักวิชาอีกครั้ง
0 0 0
อาจารย์มองปรากฏการณ์การขยายตัวของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปัจจุบันอย่างไร
ขออนุญาตพูดถึงสถานะของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในระบบกฎหมายไทยก่อน แต่ก่อนจะถึงตรงนั้น ต้องขอบอกว่า เรามีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่ คือมาตรา 326 ‘ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามในประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท โทษคือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี’
นี่เป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่จะไม่ถูกใส่ความ แม้ว่าประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพในการพูดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 แต่ขอบเขตของการใช้สิทธิเสรีภาพอยู่ที่มาตรา 28 นั่นคือ บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ฉะนั้น จึงเป็นคำตอบว่า ประชาชนมีเสรีภาพในการพูด แล้วกฎหมายหมิ่นประมาทมาจำกัดเสรีภาพได้อย่างไร พูดอีกแบบก็คือ มีเสรีภาพเท่าที่ไม่ไปใส่ความคนอื่น
ฉะนั้น โดยหลักทั่วไปเรามีตรงนี้อยู่แล้ว แต่ระบบกฎหมายไทยตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรื่องของประมุขของประเทศรวมถึงสมเด็จพระราชินีและรัชทายาท ซึ่งเห็นกันว่าเป็นสถานะซึ่งควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ เลยมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้นมา
ความพิเศษของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือ 1.มีโทษมากกว่า 2.ไม่มีข้อยกเว้น คือ ถ้าเป็นหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป จะมีข้อยกเว้น 2 ประการ คือ 1) มาตรา 329 ถ้าเป็นความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ไม่ผิด 2) มาตรา 330 ถ้าแม้ไม่เข้า 329 ถ้าพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่พูดไปนั้นเป็นความจริง ก็ไม่ต้องรับโทษถึงแม้ผิด ซึ่งข้อยกเว้นลักษณะนี้ไม่มีอยู่ในการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ในแง่ของโทษ ขอเล่าย้อนหลังว่า แต่เดิมในสมัยรัตนโกสินทร์ ‘พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118’ นั้น มีมาตราหนึ่งเกี่ยวกับพระมหากษตริย์ คือมาตรา 4 บอกว่า ‘หมิ่นประมาทต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ดำรงสยามพุทธมณฑล ฤาสมเด็จพระอัครมเหสี ฤาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ดี โดยการกล่าวเจรจาด้วยปาก ฤาเขียนด้วยลายลักษณ์อักษร หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่เปิดเผยที่ในชุมชนทั้งหลาย ด้วยกาย วาจา อันมิบังควร ซึ่งแลเห็นได้ชัดว่าเป็นการหมิ่นประมาทแท้ ท่านว่าผู้นั้นกระทำผิด และให้จำคุกไม่เกินกว่า 3 ปี’
ฉบับต่อมา เพียง 9 ปีให้หลัง ก็มีกฎหมายลักษณะอาญา รศ.127 ออกมา เพิ่มโทษเป็นจำคุก 7 ปี ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตย ก็ประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 มาตรา 112 นี่คือประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในมาตรานี้ โทษตอนต้น คือจำคุกไม่เกิน 7 ปี ไม่มีขั้นต่ำ นั่นหมายถึงว่า ขั้นต่ำแค่วันเดียวก็ได้
เมื่อมีการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อตุลาคม 2519 ก็มีการออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง (ปร.) ฉบับที่ 41 เพิ่มโทษขั้นต่ำเป็น 3 ปี ขั้นสูงเป็น 15 ปี
ปัญหาคือ แต่เดิมขั้นต่ำไม่มี วันเดียว หนึ่งเดือน สองเดือน ก็ได้ แต่ปัจจุบันขั้นต่ำกลายเป็น 3 ปี ซึ่งนี่มันรุนแรงมาก นอกจากนี้ขั้นสูงก็ไปถึง 15 ปี การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดเมื่อมีการยึดอำนาจเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 และเรายังใช้มาจนถึงปัจจุบัน
กฎหมายทั่วไปมีลักษณะการบังคับขั้นต่ำไหม การกำหนดขั้นต่ำมีความหมายอย่างไร
บางเรื่องก็เขียนแค่ขั้นสูงไว้ แต่บางเรื่องก็เขียนขั้นต่ำไว้ด้วย โดยหลักแล้วส่วนใหญ่เราจะมีแต่ขั้นสูง เพื่อเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้ เพื่อความเป็นธรรมว่าควรลงโทษเท่าไร แม้กระทั่งรอลงอาญา ศาลก็ยังทำได้ โดยสรุปก็คือ กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดา ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเรื่องจริง หรือติชมด้วยความสุจริตใจก็ไม่ถือเป็นความผิด แต่ถ้าผิดขึ้นมาโทษก็ไม่เกิน 1 ปี แต่ถ้าเป็นสื่อมวลชนจะกลายเป็นไม่เกิน 2 ปี เพราะเผยแพร่ออกไป
ว่าง่ายๆ ว่า ขั้นต่ำของเราตอนสมัยประชาธิปไตย เป็นขั้นสูงสุดของสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันประหลาดมาก น่าจะมีปัญหาบางอย่างเรื่องของโทษ
มีบางแนวคิดที่เสนอให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไป เพราะมีกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปอยู่แล้ว
อันนี้ผมว่า การคงกฎหมายนี้ไว้ก็พอฟังได้ ลำพังกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ใช่ปัญหาในตัวของมันเอง ในประเทศอื่นๆ ที่มีพระมหากษัตริย์ เขาก็มีตรงนี้เอาไว้ เพียงแต่โทษเขาไม่สูง แต่ของเราโทษมันสูงเกินไป
ประการที่สอง โดยเหตุที่ประเทศไทย ตำรวจค่อนข้างพันกับการเมืองมาก จะอยู่จะไปขึ้นอยู่ที่การเมืองเยอะ และตำรวจทำหน้าที่เป็นต้นทางของการดำเนินคดีที่เป็นความผิดต่อรัฐ มันเลยเกินปัญหาขึ้นมา เนื่องจากอาจถูกแทรกแซงได้มาก กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลยถูกนำมาใช้ในทางการเมืองเยอะ
อีกทั้งเรื่องนี้เป็นความผิดต่อแผ่นดิน ใครก็ฟ้องร้องได้ ความจริงระบบแบบนี้ก็พอไปได้กับระบบของตำรวจที่เป็นมืออาชีพ และเป็นอิสระ เพราะตำรวจเป็นต้นทางของการดำเนินคดี แต่โดยโครงสร้างของประเทศไทยดันไปผูกกับฝ่ายการเมืองเยอะ ประธานคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติก็เป็นนายกรัฐมนตรี
การเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เราต้องเข้าใจว่า ถึงยกเลิกตรงนี้ไป ก็ยังหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไม่ได้ เพราะยังมีมาตรา 326 อยู่ดี อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่าการมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นปัญหา แต่ปัญหาคือ โทษมันแรงไป และกระบวนการในการฟ้องร้องมีปัญหา
ที่ผ่านมามีกรณีที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพจริงๆ แต่หลายเรื่องก็ไม่น่าจะถึงขั้นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านทรงเคยมีพระราชดำรัสออกมาว่า เอะอะๆ ก็หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เดือดร้อนพระองค์ ต้องมาคอยอภัยโทษให้ ผมคิดว่าเรื่องนี้คงต้องพิจารณาดู คงต้องไปแก้ในวิธีพิจารณาความอาญาว่า ถ้าเกิดเป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผู้เสียหายที่จะแจ้งความดำเนินคดีเป็นสำนักราชเลขาธิการได้ไหม เพราะจะได้มีการกรองชั้นหนึ่ง
ข้อยกเว้นในกฎหมายหมิ่นประมาทมีเจตนารมณ์อย่างไร
ข้อยกเว้น 2 ประการนั้น คือประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไม่มีเสรีภาพในการพูดโกหก แต่ถ้าพูดจริงต่อให้ทำให้คนนั้นเสียชื่อเสียงก็ไม่ผิด เพียงแต่คนพูดต้องพิสูจน์นะ ภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับคนพูด แต่มันก็แฟร์เพราะในเมื่อคุณทำให้เขาเสียชื่อเสียง อย่างไรก็ตาม มันมีข้อยกเว้นของยกเว้น กฎหมายไม่เปิดให้พิสูจน์นะ ถ้าเรื่องนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ความแตกต่างกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ตรงที่ว่าการตีความ “ผู้ใดหมิ่นประมาท” อันนี้คือหมิ่นประมาทเดียวกันกับมาตรา 326 ไม่มีข้อสงสัย “การแสดงความอาฆาตมาดร้าย” อันนี้ก็ยังพอเข้าใจได้ แต่ “ดูหมิ่น” อันนี้อาจมีปัญหาในการตีความ เพราะความหมายมันกว้าง และโดยเหตุที่ไม่มีข้อยกเว้น ต่อให้พูดเรื่องจริงก็ผิด อันนี้พูดในทางวิชาการ เพราะเราไม่ได้มีการยกเว้นเอาไว้
ในการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 สามารถไม่ให้ประกันตัว หรือการพิจารณาคดีโดยปิดลับได้หรือไม่
ต้องเข้าใจว่า เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาต้องเป็นหลักเดียวกันไม่ว่าจะเป็นความผิดมาตราใดก็แล้วแต่ แต่ก็พอเข้าใจศาลได้ว่า ศาลซึ่งทำงานในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ จึงอาจจะรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับบทบาทหน้าที่ของเขาในแง่ของการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
แต่เราปกป้องด้วยวิธีนี้ไม่ได้ เพราะยิ่งไปเพิ่มโทษ ยิ่งไปจับโดยที่บางทีไม่ได้ผิดถึงขั้นนั้น ไม่ให้ประกันตัว หรือทำอะไรที่หนักเข้าไป การต่อต้านก็จะยิ่งมากขึ้น ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องดี
วิธีการทำให้สถาบันพระมหาษัตริย์อยู่ได้ในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่วิธีนี้ ดูตัวอย่างในยุโรป นั่นคือความยั่งยืนของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องให้สถาบันนี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ด้วยความที่ประชาชนรักจึงช่วยกันปกป้อง ไม่ใช่ใช้ politic of fear ใช้ความกลัว ใช้โทษแรง พอโทษแรงมาก คนที่เขารู้สึกว่าไม่เป็นธรรมก็จะต่อต้าน เปิดเผยไม่ได้ก็ใต้ดินทางเว็บไซต์ เว็บบอร์ดต่างๆ พอแรงขึ้นปุ๊บ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ยิ่งจับมากขึ้นๆ ๆ ๆ คนต่อต้านก็ต่อต้านมากขึ้นๆ ๆ ๆ สุดท้ายแล้วด้วยการกระทำของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองแบบนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้รับผล ปัญหามันไม่เกิดกับคนจับแต่มันเกิดกับสถานบัน ยิ่งจับมากคนก็รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมมาก ผมว่าใช้ให้เหมาะ พอดีๆ มันก็จะไม่เกิดปัญหาเหมือนในปัจจุบัน
ประเทศไทยโดยการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 เราเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาตั้งแต่ต้น คำปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งประกาศใช้ 3 วันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีใจความดังนี้ “โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะเจริญขึ้น และโดยที่ทรงที่ยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎรจึงทรงพิจารณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติดังมาตราต่อไปนี้ มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” นี่คือการตกลงกันระหว่างผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจแต่เดิม ว่าเราจะเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทรงยินยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
ฉะนั้น ในแง่ของการจะมีโทษที่รุนแรงไปกว่าแม้กระทั่งยุคนั้น ผมว่าเป็นเรื่องประหลาด และการปราบปรามนั้นก็เข้าใจว่าคนทำเขาก็ทำด้วยความจงรักภักดี ด้วยความรักพระเจ้าอยู่หัว แต่ต้องเข้าใจในมุมกลับด้วยว่า มันทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นระหว่างประชาชนส่วนหนึ่งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะเกิดมากขึ้นได้ ยิ่งทำแรงมากเท่าไร ความรู้สึกไม่เป็นธรรมก็ยิ่งมาก และปัญหาที่กระทบกับสถาบันก็ยิ่งมาก นโยบายแบบนี้ไม่ดีเลย เพราะเกิดผลเสียกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง
ส่วนเรื่องการห้ามประกันตัว ศาลทำผิดไหม ไม่ผิด เพราะนี่เป็นอำนาจของศาล แต่ผมเสนอว่า ให้ทำพอดีๆ เพราะถ้าทำเกินไป ผลเสียอาจตกกับสถาบันพระมหากษัตริย์
หลักอย่าง The King can do no wrong เท่ากับไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ไหม หรือในระบอบประชาธิปไตยจะวิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยสุจริตได้อย่างไร
ตามประมวลกฎหมายอาญา แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่มีข้อยกเว้นเป็นการเฉพาะเหมือนกับหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา แต่ผมคิดว่า ถ้าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยสุจริต โดยไม่เป็นการดูหมิ่น เราย่อมพูดถึงได้เหมือนสถาบันต่างๆ ในสังคม
มันไม่ได้แปลว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะแตะต้องไม่ได้ อันนี้ก็สุดโต่ง แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติในมาตรา 8 ว่า ‘องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ก็ตาม’
การฟ้องร้องก็ชัดเจนว่าคืออะไร ส่วนการละเมิดกับกล่าวหาก็คล้ายๆ กัน จะไปล่วงละเมิดไม่ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นจะพูดถึงไม่ได้เลย แต่เป็นเรื่องของ ‘พูดอย่างไร’ ต่างหากในทางซึ่งไม่ละเมิด ไม่ดูหมิ่น
ในต่างประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ดูเหมือนจะมีทิศทางในการจัดการที่เบากว่านี้
กฎหมายหมิ่นต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นแค่โทษปรับ เป็นทิศทางที่หลายๆ ประเทศยกเลิกโทษจำคุกไป เพราะถือว่าเป็นเรื่องบุคคลกับบุคคล ไม่น่าจะถือว่าร้ายแรงขั้นจำคุก อย่างไรก็ตาม เรื่องหมิ่นประมาทก็จำเป็นต้องมี เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน เป็นหน้าที่ของรัฐอย่างหนึ่ง เพราะเราก็ต้องมีชีวิตอยู่ในสังคมที่เรารู้สึกปลอดภัย ไม่ถูกใครทำร้าย แต่โทษต้องเหมาะสม
โทษจำคุก มีความหมายในทางนิติปรัชญาอย่างไร
ทฤษฎีอาชญากรรมและการลงทัณฑ์ก็พูดถึงว่า จำคุกเพื่ออะไร อันแรกคือ คนนี้เป็นภัยต่อสังคม และการอยู่ร่วมกัน ความผาสุกของคนในสังคม จึงเอาตัวมากักขังไว้ ถ้าเผ่นพล่านไปแล้วจะก่อความเดือดร้อน
อันที่สองคือ เป็นการล้างแค้น ความผิดของคุณต้องได้รับการชำระ เช่น ไปฆ่าใครตาย คุณก็ต้องตายด้วย ล้างแค้นให้ญาติพี่น้องคนที่เขาตาย
อันที่สาม เป็นทฤษฎีระยะหลังมา คือ เอาคนคนนั้นมากล่อมเกลาให้กลับเป็นคนดี และเมื่อเป็นคนดีก็จะคืนคนดีสู่สังคม อันที่สี่ เพื่อเป็นการบังคับใช้กติกาว่าถ้าใครทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ เพื่อให้คนอื่นไม่ทำผิดแบบนี้
ในต่างประเทศก็มีอะไรน่าสนใจ หลายประเทศก็ไม่เอาขังคุก แต่ติดกำไรที่ไปไหนเจ้าหน้าที่รัฐรู้หมด เหมือนที่ติดกับปลาโลมาอะไรแบบนั้น แนวทางเรื่องการจำคุกมีอยู่ทุกประเทศ โดยเรื่องจำคุกกับความผิดหมิ่นประมาทมันแรงไปไหมก็เริ่มถกเถียงและปรับกันในหลายประเทศ
เป็นเพราะในต่างประเทศเขายึดถือหลักเรื่องสิทธิเสรีภาพใช่ไหม
เพราะคนเขาเป็นผู้ใหญ่ รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ สังคมมีวุฒิภาวะมากขึ้น มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นพร้อมๆ กับวุฒิภาวะที่มากขึ้นด้วย

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker