การชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ‘คนไม่เปรม’ ที่แต่งดำ เมื่อ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ในวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 89 ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และครบรอบ 1 ปี กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีและทำเนียบรัฐบาล หากสังเกตให้ดีจะพบว่างานนี้แรง...ในแนวทางขับไล่อำมาตย์อยู่เช่นเดิม แม้ว่าแกนนำ นปช. อย่างวีระ จตุพร ณัฐวุฒิ จะหันไปในประเด็นขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์แล้ว
หากสังเกตให้ดีจะพบว่างานนี้เล็ก...ไม่เหมือนที่ผ่านๆ มา เวทีปราศรัยไม่ใหญ่โตนัก เครื่องเสียงก็จำกัดไม่ก้องกังวานเหมือนครั้งก่อนๆ
เบื้องหลังเวทีนั้นอาจยิ่งทำให้นักข่าวงุนงงเพราะเต็มไปด้วยคนไม่คุ้นหน้าคุ้นตา จะพอคุ้นบ้างก็เพียง สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, จรัล ดิษฐาอภิชัย,สมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเวทีจัดขึ้นโดยการผนึกกำลังของกลุ่มคนเสื้อแดงกลุ่มเล็กๆ ที่เพิ่งเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ประกอบด้วยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย แดงนนทบุรี แดงตากสิน แดงนครปฐม สมัชชาสังคมก้าวหน้า เครือข่ายศิลปิน ฯลฯ
“ถ้าเราไม่จัดอะไรเลย คนก็จะลืมไปหมดว่าวันนี้มีนัยสำคัญยังไง” วันเพ็ญ หญิงวัยกลางคน/คนชนชั้นกลาง/คุณแม่ลูกสาม/แกนหลักกลุ่มแดงตากสินบอก
กลุ่มของเธอเพิ่งก่อตัวไม่นาน จากการที่มาชุมนุมกันเมื่อเดือนเมษายนแล้วเจอคนละแวกเดียวกันหลายคนทำให้เริ่มเกาะกลุ่มกันได้ และจัดกิจกรรมใหญ่เปิดตัวกลุ่มครั้งแรกเมื่อ 25 ก.ค. ที่อนุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่
“นปช.ใหญ่เขาจะจัดอะไรก็ไปร่วม แต่เราก็มีกิจกรรรมแบบของเราด้วย เรามันแดงชาวบ้าน บางทีเราก็เคลื่อนในประเด็นที่เขาอาจไม่สะดวกจะเคลื่อน อย่างหลังถวายฎีกาเขาก็ไม่เคลื่อนเรื่องอำมาตย์กันอีก”
“การต่อสู้กับระบอบอำมาตย์ที่แข็งแกร่งมากมันไม่ได้ทำได้ในวันสองวัน แล้วประชาชนเสื้อแดงก็หลากหลายมาก เราต้องพยายามรวมกลุ่ม แล้วหาแนวร่วม ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกาะกันเองแต่กลุ่มเสื้อแดงอย่างเดียว คนที่อินในประเด็นเศรษฐกิจก็เคลื่อนไหวได้ แล้วเราก็พยายามชวนเขาถามต่อว่าปัญหาเศรษฐกิจนี้ปัจจัยหลักมันมาจากอะไร มาจากรัฐประหาร คมช. และรัฐบาลที่อุ้มสมกันมาใช่ไหม เราเดินตามประเด็นและแนวทางต่างๆ แต่หลายกระแสเดินมารวมที่ถนนเส้นเดียวกันได้”
“ที่สำคัญคือการยกระดับความคิดมวลชน”
สุ้มเสียง แนวคิดเกี่ยวกับมวลชนแบบนี้ออกจะคุ้นหู เมื่อซักไซ้ไล่เรียงจึงรู้ว่า เธออยู่ในขบวนการนักศึกษาสมัย 6 ตุลา 19 และเกือบได้เข้าป่ากับเขาด้วยเหมือนกัน
“ตอนนั้นอยู่ มศ.5 พี่กำลังจะไปอยู่แล้ว แต่อารมณ์คิดถึงบ้านเลยกลับบ้านก่อน แล้วโดนพ่อล็อกไว้เลย ออกไม่ได้”
ไม่เพียงเท่านั้น การก้าวขึ้นมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงการเคลื่อนไหวของเธอก็ไม่เป็นไปอย่างคาด
“ตั้งแต่รัฐประหารเราก็ไม่เอาอยู่แล้ว มันอยู่ในสายเลือด แต่เราก็ไม่ได้มาร่วมอะไรกับเสื้อแดงเค้า มาวนๆ ดูที่สนามหลวงบ้าง เพราะเราได้ยินเรื่องทักษิณมาเยอะเลยมาดูข้อมูลอื่นๆ จากนั้นเราก็เห็นสองมาตรฐานที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนมันไม่ไหว”
“เราคุยกับผู้คน สงสัยเหมือนกันไอ้ที่เขาว่าจ้างมา มาดูเอง เห็นเอง ชาวบ้านเค้าก้าวหน้า ทุ่มเท ต้องยอมรับเค้าจริงๆ” วันเพ็ญเล่าถึงปฏิบัติการทางเมืองตั้งแต่ครั้งยังเป็นเพียงผู้สังเกตุการณ์ กระทั่งถึงจุดหักเหบางหตุการณ์ที่ทำให้เธอแน่ใจ เหมือนที่คนจำนวนไม่น้อยประสบอาการที่พวกเขานิยามว่า “ตาสว่าง”
เธอทำหน้าที่ประสานงานกับกลุ่มย่อยของย่อยอีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มบางพลัด พุทธมณฑล บางบอน เพื่อมาแลกเปลี่ยนและระดมความคิด ระดมเงินทุนในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นผู้คน โดยเฉพาะคนประเภทที่เธอเรียกว่า “คนหน้าจอ” ซึ่งแสดงความเห็นสนับสนุนแนวทางของคนเสื้อแดงอยู่ในโลกไซเบอร์
“เราออกมาเดินถนนแล้ว เราก็ต้องกระตุ้นให้เขาพร้อมออกมาเดินบนถนนเดียวกัน” วันเพ็ญว่า
“อย่างงานวันนี้ก็ประชุมกันสามรอบ รอบแรกคุยคอนเซ็ปท์ รอบสองแจกงาน รอบสามก็เช็คลิสต์ ลูกๆ มันก็บ่นจะตาย กลับบ้านไม่เจอแม่ เดี๋ยวประชุมอีกแล้ว กิจกรรมก็เยอะนะ แต่ก่อนออกมาเราก็ทำกับข้าวไว้ให้เค้าก่อนแล้ว กลับมาดึกดื่น หกโมงตื่นไปส่งลูกอีกแล้ว”
เมื่อถามถึงเรื่องทุนรอน เธอตอบตรงไปตรงมา ชัดถ้อยชัดคำ “ลงขันกันสิ ขอนักการเมืองบ้าง ได้มาเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีทางพอ นี่ก็ออกค่ากับข้าวไปห้าหกพัน ยังไม่รู้จะได้กลับมามั่งมั้ย แต่ถือว่าเราทำด้วยใจ ไม่เป็นไร”
“คนลงแรงก็เยอะ นี่พี่คนหนึ่งก็มาช่วยหุงข้าว เขาเป็นแม่ค้าธรรมดา หนังสือไม่ได้เรียนด้วยซ้ำ ใครชอบว่าคนรากหญ้าโง่ ไม่เลย แล้วเขาก็มีลักษณะที่ไม่ปิดตัวเองด้วย มาชุมนุม เขาก็ได้ยกระดับแนวคิด ข้อมูล การชุมนุมมันทำหน้าที่นี้ เราถึงต้องพยายามจัดกิจกรรม”
“ในกลุ่มก็มีคนหลากหลายที่ช่วยกันทำงาน เราอาจถนัดคิดโครงการ เสนอไอเดีย ก็ทำไป แต่ถ้าไม่มีเขา ไม่มีมวลชนมันก็เดินไปไม่ได้ นี่พี่เค้ารับหุงข้าวให้เป็นร้อยกล่อง เตาถ่านด้วย โคตรเก่งเลย”
แปลกไปกว่าอาการอดรนทนไม่ได้จนต้องลุกมาเอ็กเซอร์ไซส์ทางการเมืองของเธอ ยังมีปรากฏการณ์ที่เธอนิยามว่า “เหมือนสายน้ำไหลกลับมาเจอกันใหม่”
ระหว่างพยายามรวบรวมเครือข่ายคนเสื้อแดงกันในระดับหมู่บ้านและประสานกับเขตอื่นๆ เธอก็เจอกับแกนนำแดงนนทบุรี - “ชิน”
“ตอนแรกคนอื่นแนะนำชื่อมา เราก็ไม่รู้จัก พอเจอหน้า เค้าเข้ามาตบหัวเลย ไม่ได้เจอกันน้านนนน รุ่นพี่เราเอง แต่เค้าเข้าป่า”
ชิน วัย 50 กว่าปีที่ยังดูหนุ่มแน่นประกอบธุรกิจด้านอินเตอร์เน็ต เขาเริ่มต้นหากลุ่มจากอินเตอร์เน็ตนั้นเอง จากคนคอเดียวกันในกระดานสนทนาต่างๆ ก็เกิดไอเดียทำร้านกาแฟเสื้อแดงเพื่อหาจุดนัดพบแลกเปลี่ยนกัน ในครั้งแรกมีคนมาร่วมวงคุย 9 คน
“จุดเริ่มต้นเราเหมือนกัน เราเห็นการเคลื่อนไหวของทักษิณมาตั้งแต่ชนะการเลือกตั้ง เราเชื่อในระบอบประชาธิปไตย ไม่คิดเลยว่าจะเกิดวงจรของระบอบอำมาตย์ในประเทศอีก ทักษิณอาจไม่ถูกด้านวิธีการบ้าง แต่ถูกต้องในหลักการ”
จากนั้นชินก็เริ่มหาทางรวบรวมคนคอเดียวกันทั้งหลายเป็นกลุ่มก้อน แต่เขามีมุมมองในการสร้างเครือข่ายที่ต่างออกไปโดยพยายามให้เกิดกลุ่มย่อยมากที่สุด ทำงานประสานกัน แต่ไม่รวมศูนย์เป็นกลุ่มใหญ่
“คนเสื้อแดงก็เหมือนพี่น้อง ถ้าอยู่บ้านเดียวกันก็ชอบทะเลาะกัน แต่ถ้านานๆ เจอกันที โคตรจะรักกัน แดงนนทบุรีไม่ใช่องค์กร แต่ทำหน้าที่เป็นตัวประสาน กลุ่มย่อยต่างๆ กลุ่มบ้านบัวทอง พฤกษา3 ตะวันฉาย แล้วก็อีกหลายที่มาประชุมกัน เวลาจะทำงานร่วมกันก็ชวนแกนๆ มาคุยกัน ต่างคนต่างใหญ่ แบบนี้ความขัดแย้งไม่เกิด”
“เราอยากให้การทำงานลักษณะนี้ขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ด้วย” ชินกล่าว
กลุ่มแดงนนทบุรีก็เพิ่งก่อตัวไม่นาน และเพิ่งเปิดเว็บไซต์ www.d-nontaburi.org อย่างไม่เป็นทางการไปเมื่อ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา และมีการติดต่อให้ทักษิณโฟนอินเข้ามาคุยกับประชาชนกลุ่มย่อยด้วย
“วันนั้นท่านทักษิณโฟนอินเข้ามาด้วย เป็นครั้งแรกที่เขาคุยกับมวลชนระดับย่อยมาก คนรู้ก็กระจายข่าวกันสู่แคมฟอกซ์กันใหญ่”
เขายังระบุถึงวิธีการสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจด้วย นั่นคือ การรับสมัครสมาชิก และมีการประสานกับร้านค้าในจังหวัดนนทบุรีเพื่อสร้างส่วนลดให้กับสมาชิก
“เรากำลังทำระบบที่ให้เอาบัตรสมาชิกไปใช้เป็นส่วนลดได้ ตามร้านที่เข้าร่วม ตอนนี้ก็มีหลายร้าน ทั้งร้านวัสดุก่อสร้าง ร้านปริ๊นท์สกรีน เราทำแบบเอเอสทีวีไม่ได้ แต่เราก็พยายามช่วยเหลือกัน แล้วก็กะจะมีการแจ้งรายจ่าย รายรับของกลุ่มในเว็บด้วย”
สำหรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนั้น ชินกล่าวว่า กลุ่มย่อยๆ นี้ต้องเดินหน้าไปพร้อมกับ นปช. แม้จะคิดต่างบ้างในรายละเอียด แต่ก็มีแนวทางใหญ่ร่วมกัน ไม่แตกแยก
เมื่อถามถึงประวัติในช่วงเป็นนักศึกษา ชินบอกว่าเขาอยู่ชมรมเชียร์ และออกจะเป็นแนวสายลมแสงแดดด้วยซ้ำ กระทั่งเกิดการปราบปรามนักศึกษาครั้งใหญ่ เขาตัดสินใจเข้าไปใช้ชีวิตในป่าในเขตงานสุราษฎร์ฯ แม้ไม่ได้มีพื้นฐานเป็นซ้ายจ๋า เขาก็ได้เรียนรู้วิธีการมองโลก และวิธีคิดหลายๆ อย่างซึ่งยังคงนำมาใช้อยู่ในปัจจุบัน
เขาวิเคราะห์ว่าขบวนการคนเสื้อแดงขณะนี้อยู่ในระหว่างสะสมปริมาณเพื่อก้าวไปสู่คุณภาพ และการเคลื่อนไหวของเขาก็จะไม่ใจร้อนขณะเดียวกันก็ไม่เฉื่อยเนือย ต้องค่อยๆ บ่มเพาะรอจนภาววิสัยพร้อม เขาเชื่อด้วยว่าการให้การศึกษาประชาชนไปเรื่อยๆ จะทำให้หลีกเลี่ยงการต่อสู้ทางการเมืองที่สูญเสียเลือดเนื้อได้ แม้ในห้วงยามแห่งการเปลี่ยนผ่านก็ตาม
“ที่เราต้องทำคือ การวิเคราะห์สถานการณ์ให้ละเอียดในการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมแต่ละครั้งเท่านั้นเอง เราก็ไม่อยากสูญเสีย มันมากพอแล้ว”
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของคนหลังเวทีหน้าแปลกๆ (=ใหม่ๆ) ที่ไม่มีใครรู้จัก และกำลังมีปฏิบัติการทางการเมืองที่น่าจับตา.