“อณัญญา ตั้งใจตรง” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ที่ติดตามภารกิจของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอด กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (จีเอ็มเอส) ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม 2551 รายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. นายสมัคร ได้หารือทวิภาคีกับนายฮารุฮิโกะ คูโรดะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) โดยนายกรัฐมนตรี ได้เสนอการพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศจีเอ็มเอส ทั้ง 6 ประเทศ ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงกันแล้วจะทำให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยแต่ละประเทศ จะเป็นจุดศูนย์กลางที่นักท่องเที่ยวสามารถเช่ารถยนต์ขับผ่านแต่ละประเทศได้สะดวกมากขึ้น
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังโรงแรมดอนจัน พาเลซ โดยมีนายบัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรีลาว ให้การต้อนรับ เพื่อเข้าร่วมประชุมระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกจีเอ็มเอส ประธานเอดีบี และเยาวชนจีเอ็มเอส ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกับผู้นำเยาวชนที่คัดเลือกจากทุกประเทศ ประเทศละ 6 คน ทั้งนี้ มีการสะท้อนมุมมองของเยาวชนที่มีต่อผู้นำจีเอ็มเอส นอกจากนี้ เยาวชนจะได้เดินทางสำรวจเส้นทางตามแนวพื้นที่ที่ประเทศจีเอ็มเอสจะกระทำร่วมกัน ใน 3 เส้นทาง คือ 1.แนวเขตพื้นที่จากเหนือถึงใต้ จากประเทศจีน ลาว มาไทย 2.แนวเขตพื้นที่จากตะวันออกไปยังตะวันตก คือ เวียดนาม ลาว ไทย และแนวเขตพื้นที่ใต้ คือ กัมพูชาเวียดนาม และลาว
ในโอกาสนี้ ผู้นำจีนได้รับสารจากเยาวชนจีเอ็มเอส ที่แสดงความขอบคุณในการดำเนินโครงการนี้ และเห็นว่า การที่เยาวชน 6 ประเทศสมาชิกจีเอ็มเอส ได้อยู่ร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งมีความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกัน จึงมีข้อเสนอแนะถึงผู้นำจีเอ็มเอส 3 ข้อ คือ การเพิ่มความเชื่อมต่อระหว่างกัน โดยขอให้เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายคมนาคมระหว่างกันให้เข้มแข็งขึ้น สนับสนุนระบบการสื่อสารเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้เยาวชนสามารถเชื่อมโยงกันได้ง่าย การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก เพื่อให้เยาวชนพัฒนาทางการศึกษา มีการฝึกฝนทักษะต่างๆในตลาดแรงงาน ตลอดจนดูแลด้านสาธารณสุขให้เยาวชนและการเพิ่มจิตสำนึกในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม สนับสนุนส่งเสริมค่านิยมทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ
ต่อมาผู้นำประเทศสมาชิกจีเอ็มเอส ได้กล่าวถ้อยแถลงสั้น ๆ ต่อเยาวชน โดยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ขอบคุณ เอดีบี ที่ร่วมสนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาเยาวชนในภูมิภาคให้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น และหวังว่าความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะมีมากขึ้น เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญและเชื่อว่า รัฐบาล 6 ประเทศ จะได้ประโยชน์จากเยาวชนเหล่านี้ที่จะเข้ามาทำงานแทนคนรุ่นเก่าต่อไป อย่างไรก็ตามใน กทม.มีมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ซึ่งแต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องส่งเยาวชนไปศึกษาที่ยุโรป หรืออเมริกา แต่สามารถส่งมาศึกษาในประเทศไทยได้ พร้อมกันนี้ ได้เสนอว่า ในภูมิภาคจีเอ็มเอส น่าจะมีภาษากลางที่ใช้ร่วมกัน และสามารถสื่อสารให้เกิดความเข้าใจได้ โดยขอให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง.-สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-03-30 18:53:41