สำนักข่าวบลูมเบิร์กของสหรัฐอเมริการายงานการให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้วภายหลังจากที่ประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหารเป็นเวลานานถึง 17 เดือนโดยระบุว่า แผนการปฏิวัติรัฐประหารครั้งใหม่จะประสบความล้มเหลว
‘ผมไม่ได้รู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับการพูดถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหาร' นายสมัครกล่าวต่อบรรดาผู้สื่อข่าว และเสริมว่า เขามั่นใจว่าแผนการดังกล่าวนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากตนและพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกติดต่อกันอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม นายกฯปฏิเสธให้รายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มผู้ไม่หวังดีดังกล่าวที่พยายามบั่นทอนความมั่นคงของรัฐบาล โดยที่ผ่านมานายกฯ ได้รับใบปลิวที่ลงชื่อบรรดาผู้วางแผนรัฐประหารไว้ด้วย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานต่อว่า นายสมัคร กลายเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (พปช.) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการก่อตั้ง และรวมตัวกันจากบรรดากลุ่มผู้สนับสนุนที่ยังคงจงรักภักดีต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯที่ถูกยึดอำนาจโดยกองทัพจากการปฏิวัติรัฐประหารโดยปราศจากการนองเลือดเมื่อวันที่ 19 กันยายน ปี 2549 ที่ผ่านมา ขณะที่พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งเข้าร่วมในการปฏิวัติรัฐประหารในครั้งนั้นเคยกล่าวถึงการยึดอำนาจรัฐบาลอีกครั้งก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า ‘เป็นเรื่องน่าขันที่สุด'
สำนักข่าวบลูมเบิร์กยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ประเทศไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดเป็นอับดับที่ 2 ในกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนได้ผ่านเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารมาแล้ว 18 ครั้งนับตั้งแต่ที่มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเมื่อปี 2475 หรือเมื่อ 76 ปีมาแล้ว
บลูมเบิร์กยังอ้างความเห็นของนายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเงื่อนไขทั้งทางการเมืองและทางสังคมที่จะนำไปสู่การก่อรัฐประหารเหมือนเมื่อก่อนหน้าที่จะเกิดการยึดอำนาจครั้งหลังสุดเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีความเคลื่อนไหวจนเป็นที่น่าสังเกตของทหารมานานหลายเดือนแล้ว
นอกจากนี้ บลูมเบิร์กยังอ้างความเห็นของนายสมัครที่กล่าวย้ำถึงแผนการของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะแก้ไขกฏหมายรัฐธรรมฉบับปัจจุบัน ซึ่งอนุญาตให้ทำการยุบพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ถ้าหากบรรดากรรมการบริหารของพรรคการเมืองใดก็ตามทำผิดกฏหมายเลือกตั้ง ขณะที่รัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกร่างโดยองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยกองทัพภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจเมื่อปี 2549
ก่อนหน้านี้ ศาลฏีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีมติรับรับฟ้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.ให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฏร และอดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนเนื่องจากกระทำความผิดตามกฏหมายเลือกตั้ง
อนึ่ง การออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารครั้งใหม่ของนายกฯสมัครส่งผลให้ค่าเงินบาททั้งในประเทศ และต่างประเทศอ่อนค่าลงเล็กน้อยใกล้แตะระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนต่างรู้สึกวิตกกังวลต่อเรื่องดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี หลังจากที่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งการชี้แจงอย่างละเอียดมากขึ้น และโอกาสที่แทบเป็นไปไม่ได้ในการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ค่าเงินบาทกลับมาทรงตัวเหมือนเดิม
จาก hi-thaksin