โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ยะลา มีเนื้อที่ 11 ไร่เศษ เปิดการเรียนการสอน 2 ภาควิชา คือ ภาควิชาสามัญ ตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 และภาควิชาศาสนา ตั้งแต่ชั้นอิสลามศึกษาปีที่ 1-10 ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 5,200 คน บุคลากรทางการศึกษาจำนวน 494 คน โดยมี นายรอซี เบ็ญสุหลง นักบริหารชุดใหม่และเป็นครูใหญ่คนปัจจุบัน
“ตอนนี้สภาพจิตใจของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนดีขึ้นมาก เพราะนับตั้งแต่ปี 2550 ยังไม่เคยมีเด็กนักเรียนในโรงเรียนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความไม่สงบเลย โดยส่วนใหญ่ผู้ก่อความไม่สงบที่จับได้จะเป็นศิษย์เก่า ซึ่งทางโรงเรียนจะไม่เข้าไปยุ่ง เพราะถือว่าพ้นสภาพการเป็นนักเรียนแล้ว” นางแวรอเมาะ เจะดาแม ผู้ช่วยครูใหญ่ฝ่ายวิชาการ เล่าถึงสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นางแวรอเมาะ ผู้ช่วยครูใหญ่ทีมบริหารชุดเก่าและชุดใหม่ เป็นผู้ที่ทราบเรื่องราวมากที่สุด ย้อนอดีตให้ฟังถึงชนวนหลักที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิเข้าสู่วงจรเป็นโรงเรียนที่มีส่วนร่วมการก่อความไม่สงบในพื้นที่ว่า จากเหตุการณ์ที่กรือเซะ ปลายปี 2547 ได้มีเยาวชนของโรงเรียนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย หลังจากนั้นไม่นานครูใหญ่ฝ่ายบริหาร 5 คน ถูกออกหมายจับว่าเป็นแกนนำก่อความไม่สงบ รวมถึงอุสตาซเข้าไปมีส่วนด้วย โดยมีผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีดำประมาณร้อยละ 70
“สถานการณ์ตอนนั้นต้องยอมรับว่าจำนวนบุคลากรทั้งหมดของโรงเรียนทำงานด้วยใจ แต่ก็อยู่บนความกลัว กลัวว่าจะถูกจับในข้อหาการมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งครูสอนศาสนาจะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ และอยู่ในลักษณะการเหวี่ยงแห เช่น มีฝ่ายความมั่นคงไปเยี่ยม และเชิญตัวไปสอบถามบ่อยครั้ง”
เมื่อโรงเรียนได้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่มาแทนชุดเก่า จึงแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คอยประสานงานกับฝ่ายความมั่นคง เพื่อนำบุคลกรที่ทางการแจ้งชื่อมาไปให้ด้วยตนเอง
“ครูบางคนโดนเอาตัวไป 15-30 วัน บางคน 4 เดือน จึงกลายเป็นปัญหาว่าครู 1 คนที่รับผิดชอบเด็ก 10 ห้องๆ หนึ่ง 45 คน เท่ากับว่าเด็ก 450 คน ไม่ได้เรียนเลยวันนั้น ทางโรงเรียนจึงแสดงความรับผิดชอบ คือ เมื่อทางราชการสงสัยใคร ต้องการใคร เราก็จะพาตัวไปให้ ซึ่งทุกคนจะได้รับการปล่อยตัวทุกครั้ง แต่คนที่มีส่วนร่วมจริงๆ ทางโรงเรียนก็จะไม่ปกป้อง ปล่อยให้เป็นเรื่องของกฎหมายไป ตรงนี้จึงเป็นคำตอบได้อย่างชัดเจนว่าทำไมในขณะที่สถานการณ์เลวร้ายมาก เด็กเราไม่หาย ครูก็ยังอยู่” ผู้ช่วยครูใหญ่กล่าว
เธอเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ปลายปี 2548 มีครูถูกยิงเดือนละหนึ่งคน ตอนนี้รวมแล้ว 8 คนที่เสียชีวิต ถือว่ามากที่สุดในจำนวนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าในขณะที่โรงเรียนถูกมองว่าเป็นแหล่งสอนให้เบี่ยงเบน ผิดเพี้ยน แต่บุคลากรของโรงเรียนก็ยังถูกยิงเสียชีวิต และยังไม่นับรวมถึงอีก 40-50 คนที่โดนหมายจับหรือถูกเชิญตัวไป
“ถ้าวันนี้ครูถูกยิงเสียชีวิตหน้าโรงเรียน พรุ่งนี้ก็เปิดสอนตามปกติ ไม่เคยแม้สักครั้งที่จะประกาศปิดตามสถานการณ์ แต่ก็ทำให้คนนอกที่ไม่เข้าใจมองว่า ใช่สิก็โรงเรียนเป็นแหล่งคนทำ จะกลัวอะไร กลายเป็นว่าโรงเรียนเป็นทั้งผู้ถูกกระทำสารพัด อยากบอกว่า 2 ปีที่ผ่านมาทุกคนจึงอยู่ด้วยใจจริงๆ
ครูไม่ได้จะโทษสังคมที่มองมาทั้งหมด เพราะเราเองก็ยอมรับในความบกพร่องในการรับบุคลากรเข้าทำงาน ไม่ได้มานั่งศึกษาภูมิหลังแต่ละคน เพราะไม่ใช่ผู้ที่จะไปสอบสวนใคร เราเพียงแค่ดูวุฒิการศึกษาว่าคุณจบอะไรมา ตรงตามที่เราต้องการหรือไม่ เท่านั้นเอง ส่วนนักเรียนแต่ละปีเพิ่มขึ้นมาก เราเลยไม่ได้เข้มงวดกวดขันเหมือนอย่างที่ผ่านมา อีกอย่างเป็นโรงเรียนเอกชน ฉะนั้นการมีนักเรียนจำนวนมาก ก็เท่ากับความอยู่รอดของโรงเรียน”
ครูแวรอเมาะ ยังบอกอีกว่า ก่อนเกิดเหตุปี 2547 เด็กต่างจังหวัดมีอยู่ 300-400 คน ปี 2548 ลดเหลือแค่ 10 คน ปีนี้แม้จะมีคนเริ่มทยอยเข้ามาเรียน แต่ก็ถือว่าลดลงมาก ซึ่งเด็กบางคนที่มาเรียนเพราะผู้ปกครองเคยเป็นศิษย์เก่า เชื่อมั่นต่อระบบการเรียนการสอนของโรงเรียน เขาจะมีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้วว่าโรงเรียนให้อะไรแก่เขาไปบ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่โรงเรียนถูกมองสารพัดนั้น จริงหรือไม่จริงเขาสามารถตอบได้ จึงกลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ยังมีเด็กต่างจังหวัดเข้ามาเรียน
“ยอมรับว่าเด็กมีความหวาดระแวง กลัวถูกหว่านแหไปด้วย จึงเป็นเหตุให้เด็กต่างจังหวัดลดลง แต่ถ้าเทียบสถิติยังนับว่าเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีนักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เป็นอันดับหนึ่ง คือจบไปอย่างน้อยร้อยละ 90 เด็กสอบเอ็นทรานส์ได้หมด จึงเป็นส่วนหนึ่งที่เด็กต่างจังหวัดกล้าที่จะลงมาเรียน”
ผลของการไม่ค่อยเปิดตัวและเชิญบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน ทำให้ครูและโรงเรียนถูกสังคมภายนอกมองมาอย่างไม่เข้าใจ
“ในกิจกรรมกีฬาสี ปัจฉิมนิเทศ หรือเข้าค่าย ก็จะเชิญแค่ผู้นำชุมชน โดยมีครูใหญ่เป็นคนเปิด ทำให้สังคมภายนอกไม่เข้าใจว่าเรากำลังทำกิจกรรมอะไรกันอยู่ หรือมีคำถามว่า ทำไมต้องมีภาคกลางคืนด้วย รวมตัวทำอะไรกันหรือเปล่า
เมื่อสังคมภายนอกไม่เข้าใจกัน ตอนหลังจึงได้เปลี่ยนรูปแบบด้วยการเชิญผู้ว่าฯ หรือปลัดมาเป็นประธานเปิดงาน เป็นการเปิดตัวเอง ซึ่งทำให้ภาพพจน์ของโรงเรียนดีขึ้นมาก”
จากข่าวที่ปรากฏตามสื่อในปัจจุบัน ทำให้สังคมภายนอกมองว่าเป็นโรงเรียนที่สอนให้นักเรียนเป็นโจรเสียส่วนใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่บอกว่า เรื่องนี้ทุกคนมีสิทธิ์คิด มันเกินความสามารถที่จะไปปรามความรู้สึกเหล่านั้นได้ ซึ่งครูทุกคนในโรงเรียนทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ร้อยทั้งร้อยไม่มีครูคนไหนที่อยากจะให้ลูกศิษย์ตัวเองเป็นคนไม่ดี
“มีบ่อยครั้งเมื่อไปติดต่อสถานที่ราชการ จะได้รับความอคติจากเจ้าหน้าที่ หรือบางทีไปสัมมนา มีคนมาถามว่าสอนอย่างไรให้เด็กเป็นโจร ฟังแล้วรู้สึกน้อยใจนะ เพราะ 52 ปีที่ก่อตั้งโรงเรียนมา ผลิตนักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่า โดยยึดมั่นต่อวิชาชีพครู และมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เด็กที่เรียนปอเนาะมีความรู้เท่าทันสังคม อ่านออกและเขียนหนังสือได้ ซึ่งนอกจากเราจะเสริมความรู้ด้านศาสนาแล้ว นอกเหนือกว่านั้นคือ เขาสามารถที่จะเอาความรู้ไปประกอบอาชีพได้
ในคนจำนวนหมู่มาก ย่อมหนีปัญหานี้ไม่พ้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกหน่วยงานย่อมมีคนที่ออกนอกลู่นอกทาง ตอนนี้เราจึงมีระบบดูแลนักเรียนเพิ่มด้วยการส่งเสริมนักเรียนที่เรียนดีอยู่แล้วให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น และแก้ไขนักเรียนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มาสายบ่อย ก้าวร้าว ด้วยการเอามาคุยถึงปัญหาที่มีคืออะไร วิธีนี้ช่วยได้เยอะมาก” ครูแวรอเมาะ กล่าวเสมือนระบายความรู้สึกและกล่าวทิ้งท้ายว่า
“ปัจจุบันครูโรงเรียนธรรมฯ ต้องดำเนินวิชาชีพครูเป็นสองเท่า คือทำอย่างไรให้หน้าที่ของตัวเองที่ดีอยู่แล้วให้ดีต่อไป ยกระดับนักเรียนให้มีประสิทธิภาพ และประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน จึงอยากให้สังคมดูผลงานด้านการศึกษา มากกว่าไปตัดสินกับการกระทำของกลุ่มแค่ส่วนน้อยที่ไม่ถึง 2% เพราะวิสัยทัศน์ของโรงเรียนดูแล้วไม่มีสักข้อใดที่บ่งบอกว่าทุกคนจะต้องนำมาซึ่งเอกราชของรัฐมลายู”
“ครูหญิง” หรือ น.ส.จิรภา แซ่จู ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ย้ำถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนครูมุสลิมด้วยกันว่า แม้จะดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร แต่ครูทุกคนก็อยู่ด้วยความเข้าใจ ช่วยเหลือกัน ไม่มีปัญหาอะไร และทุกครั้งที่ออกจากบ้านจะมาสอนหนังสือก็รู้สึกปกติ ไม่ได้หวาดระแวงมากมาย ยิ่งเห็นครูโรงเรียนด้วยกันโดนทำร้าย ยิ่งไม่คิดจะย้ายออก เพราะว่าสอนมากว่า 10 ปี เกิดความผูกพัน จึงตั้งใจที่จะยังคงทำหน้าที่ครูที่นี่ต่อไป
“สื่อมีส่วนนะที่นำเสนอว่าเป็นเด็กโรงเรียนธรรมฯ ก่อเหตุ เพราะคนที่ไม่รู้ความจริงเมื่อเขาดูข่าว เขาก็จะเชื่อตรงนั้น แต่จริงๆ แล้วเป็นเด็กที่เรียนจบไปซะมากกว่า ปัจจุบันไม่ได้เกี่ยวกับสถานศึกษาเลย ซึ่งครูสอนมา 11 ปีที่นี่รู้ดีว่าโรงเรียนไม่มีระบบสอนให้นักเรียนเป็นแนวร่วมแน่นอน” ครูจิรภา กล่าวย้ำ
ขณะที่ นายรุสกี เจ๊ะแอ หรือน้องรุสกี หนุ่มน้อยในพื้นที่ และเป็นนักเรียนที่ผ่านสอบการคัดเลือกเข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) หาดใหญ่ กล่าวว่า ดีใจที่ร่วมเป็นหนึ่งในโครงการผลิตแพทย์เพื่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นคนแรกในหมู่บ้านที่สอบติดแพทย์ ซึ่งคาดหวังไว้ว่าเรียนจบแพทย์เมื่อไร ตั้งใจจะมาพัฒนาบ้านเกิดแน่นอน ส่วนที่สังคมภายนอกมองว่าที่นี่เป็นโรงเรียนสอนให้เด็กเป็นแนวร่วม มองว่านั่นเป็นแค่ส่วนน้อย แต่สำหรับตนแล้วนอกจากความสำเร็จที่เป็นตัววัดในวันนี้ เรื่องของหลักการศาสนาที่มุสลิมทุกคนจะต้องเรียนรู้ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน คือสิ่งที่ตนได้เรียนรู้ตลอด 6 ปีที่อยู่ที่นี่ ไม่ใช่เป็นแหล่งที่สอนให้เด็กเป็นแนวร่วมอย่างที่ทุกคนเข้าใจกัน
“ผมดีใจที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน และภูมิใจที่ทำความฝันของตัวเองเป็นจริง ซึ่งช่วงแรกๆ ที่เกิดเหตุการณ์ คนที่บ้านอยากให้ย้ายเหมือนกัน แต่ผมดึงดันที่จะเรียนที่นี่ให้ได้ เพราะผมเชื่อมั่นต่อสถานศึกษาว่าไม่ได้เป็นอย่างที่เขากล่าวหา เสียใจเหมือนกันที่เขามองว่าเป็นโรงเรียนสอนให้เด็กเป็นโจร” น้องรุสกี พูดถึงความรู้สึกลึกๆ ซึ่งว่าที่นายแพทย์ในอนาคตยังกล่าวทิ้งท้ายให้สังคมภายนอกได้รับรู้อีกว่า
“ตั้งแต่เรียน ม.1-6 ไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่ครูจะสอนให้มีแนวคิดที่ผิดเพี้ยน หากเป็นโรงเรียนที่สอนให้เด็กเป็นโจรจริง ผมจะสอบติดแพทย์ได้อย่างไร? แล้วรุ่นพี่ที่จบไปตั้งมากมายต่างก็ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานกันทุกคน จึงอยากให้สังคมภายนอกอย่าเพิ่งด่วนสรุปกับแค่ไม่กี่คนที่เขาหลงผิดไป”
สำหรับสาวน้อยที่มาจาก จ.สงขลา น้องคาน่า หรือ น.ส.คารีน่า แหอุ มีความรู้สึกไม่ต่างกับน้องรุสกีเลย เธอเอ่ยให้ฟังว่า เสียใจที่ผู้คนภายนอกมองแบบนั้น เพราะว่าทุกคนยังคงใช้ชีวิตและทำหน้าที่ของตนเองตามปกติ จึงอยากให้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตในโรงเรียน จะได้รู้ชัดแจ้งว่าเป็นอย่างไร และการที่คน 3 จังหวัดนี้สื่อสารภาษามลายู ตนมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก แต่กลับดีใจที่เห็นเขายังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของตนไว้ได้
“ที่เลือกเรียนที่นี่เพราะมั่นใจว่าไม่มีอะไรแอบแฝง ยิ่งตลอด 6 ปีที่ได้มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันกับเพื่อนๆ และครู ทำให้น้องยิ่งภูมิใจมากว่าระบบการศึกษาที่นี่ เด็กจบไปแล้วสามารถสอบเอ็นทรานส์ติดหลากหลายคณะ ซึ่งไม่ได้ด้อยไปกว่าโรงเรียนอื่นๆ เลย แม้สังคมภายนอกจะมองว่าเป็นโรงเรียนที่ไม่ค่อยดีก็ตาม”
เธอยังบอกอีกว่า หลังจากเรียนจบที่นี่แล้ว อยากจะสานฝันของตนเองต่อ ด้วยการสอบเข้า มอ.ปัตตานี คณะศึกษาศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ซึ่งตนอยากขอบคุณครูทุกคนที่ทำให้ตนประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งในวันนี้
หนึ่งในศิษย์เก่าที่ประสบผลสำเร็จในการประกอบธุรกิจส่วนตัว จำหน่ายเสื้อผ้ามลายูชาย-หญิง นางตียา หะยีเจ๊ะมิง วัย 46 ปี เจ้าของร้านตียาเราะห์ชื่อดังใน จ.ยะลา กับฮิญาบสีส้มบนศีรษะ ขับใบหน้าเธอให้ดูสว่างขึ้น พูดคุยด้วยรอยยิ้มเมื่อถามถึงความรู้สึกลึกๆ ที่สังคมเขามองโรงเรียนแห่งนี้ โดยเธอมองภาพรวมว่า การที่โรงเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยนั้น ความเป็นไปได้มีน้อยมาก เชื่อว่าเป็นแค่บางคนเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะหากเป็นแหล่งสอนให้เด็กเป็นโจรจริง ชาวบ้านคงไม่ส่งลูกหลานตัวเองเรียนแน่นอน แต่เราจะโทษสังคมภายนอกก็ไม่ได้ เพราะภาพที่ออกมากลุ่มที่ก่อเหตุคือศิษย์เก่าของโรงเรียนจริงๆ
“อุสตาซและเด็กนักเรียนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุในพื้นที่ ก๊ะไม่เชื่อหรอกนะว่าเป็นนโยบายของโรงเรียน เป็นที่ตัวบุคคลมากกว่า ถ้าเป็นนโยบายของโรงเรียน ป่านนี้คงถูกรัฐบาลสั่งปิดไปแล้ว
ก๊ะเป็นคนนครศรีธรรมราช มาเรียนยะลาปี 2518 ใช้ชีวิตอยู่ยะลา 23 ปีแล้ว ส่วนเพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนจบไปต่างก็ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน ยังไม่นับรวมถึงรุ่นน้องแต่ละรุ่นที่จบไปแล้วมีงานดีๆ ทำเช่นกัน ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วหรือการที่สังคมไปตัดสินว่าโรงเรียนนี้สอนเด็กให้เป็นแนวร่วม คนที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องจริงๆ พลอยเดือดร้อนไปด้วย” เจ้าของร้านตียาเราะห์ กล่าวแสดงความเห็น
โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิจะยังคงก้าวต่อไป โดยกำลังของคนรุ่นใหม่ที่สานต่อกันไปไม่ขาดสาย เสมือนสายน้ำปัตตานีที่ทอดยาวต่อเนื่อง เพื่ออนาคตที่ดีของเยาวชนมุสลิม เป็นหน่วยหนึ่งของสังคม ประเทศชาติ ที่จะร่วมพัฒนาการศึกษาให้เจริญก้าวหน้า และอยู่คู่เมืองยะลาตราบนานเท่านาน...
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา