บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2551

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 'ลางร้าย' กลียุค

ขณะที่ "รัฐธรรมนูญ 2550" กำลังแผลงอิทธิฤทธิ์เข้าใส่ไปทั่ว

ส่งผลให้ร่างกายภายนอกเกิดแผลพุพอง "ฟอนเฟะ" แม้ไม่บาดลึกเข้าไปถึงเนื้อ "กระดูก" แต่ก็ได้ฝาก "รอยแผลเป็น"ไว้บาดลึกถึง "ขั้วหัวใจ"

อาการเช่นนี้ ไม่เกิดแต่ "พรรคไทยรักไทย" แต่หากได้ลามเลียมาถึง "พรรคชาติไทย" และ "พรรคมัชฌิมาธิปไตย" จนแพร่ขยายเข้าใกล้ "พรรคพลังประชาชน" ขึ้นทุกที...ทุกที

ขณะเดียวกัน "อิทธิฤทธิ์" ที่ว่ากำลังแทรกซึมเข้าไปทำลาย "อวัยวะน้อยใหญ่" ทั่วสรรพางค์ แม้ขณะนี้จะยังไม่เกิด ปฏิกิริยาต่อร่างกายในทันที

แต่หาก "เชื้อร้าย" พ่นพิษพร้อมกันขึ้นเมื่อใด เชื่อแน่ว่า ถึงครานั้นก็อาจจะสายเกินไป... เช่นเดียวกับการต่อสู้ทางการเมือง ที่หาได้เข้าใจว่า จบสิ้นไปแล้ว หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 หลังจากที่มีรัฐบาลผสม 6 พรรคภายใต้การนำของ "พลังประชาชน"

หรือหลังจากที่ รัฐบาลประกาศนโยบายประชานิยม เดินหน้าแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของ "ประชาชน" ในทุกหย่อมหญ้าเป็นที่ตั้ง

เนื่องด้วยเพราะ ได้มีการวาง "กลไก" ทางการเมืองไว้อย่าง รอบคอบ แยบยล แนบเนียน โดย รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกออกแบบไว้อย่างมีนัยสำคัญในทุกรายละเอียดมาตรา

สิ่งที่น่า "จับตา" และกำลังจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง...ในวันนี้

วันที่ 25 มีนาคม เวลา 9.30 น. มีการประชุมเพื่อลงมติเลือก "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" จำนวน 4 คน จากจำนวนผู้ที่สมัครและผ่านการพิจารณา 21 คน

หลังจากที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญนี้ ในมาตรา 300 ระบุ "...ให้มีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 150 วัน นับจากมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร..."

(ซึ่งในกรณี สมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ถอดใจขอถอนตัว เพราะเสียงก่นด่าแรงจนเกินจะรับไหว

จากนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของ ศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้มีตุลาการ 9 คน 5 คนในเบื้องต้น มีที่มาจาก "ผู้พิพากษาศาลฎีกา" ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน และ "ตุลาการศาลปกครองสูงสุด" ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน

ถึงแม้ขณะนี้ ฝ่ายศาลยังไม่มีการประชุมเลือกอย่างเป็นทางการ

แต่การที่กำหนดให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจาสายตรงจาก "ศาล" ถึง 5 คน ย่อมกลายเป็น "เสียงข้างมาก" ในองค์คณะทันที

ส่วนอีก 4 คนที่เหลือมาจากการสรรหา...

โดย คณะกรรมการสรรหา ถูกกำหนดสเปคไว้อย่างรัดกุม ว่า ต้องเลือกผู้ทรงคุณวุฒิใน 2 สาขา สาขาละ 2 คน คือ นิติศาสตร์ และ รัฐศาสตร์ หรือ รัฐประศาสนศาสตร์ เข้ามาเป็น ตุลาการ

โดยกำหนดเสร็จสิ้นตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 206 (1) บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการสรรหาจัดการให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เริ่มการสรรหา คือ วันที่ 6 มีนาคม (เปิดรับสมัครวันที่ 7 - 13 มีนาคม) ก่อนเสนอรายชื่อให้วุฒิสภาพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 30 วัน ตาม มาตรา 206 (2) นั่นก็หมายความว่า "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ชุดใหม่จะคลอดได้ไม่เกินสิ้นเดือนเมษายนนี้

เมื่อพลิกรายชื่อ "ผู้สมัคร" ทั้ง 2 สาขา ก็พอจะมองเห็นภาพว่า "ใคร" อยู่กลุ่มไหน...

ในสาขานิติศาสตร์ มีผู้เสนอ 9 คน อาทิ จรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม วสันต์ สร้ยพิสุทธิ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทรณ์ ภาค 4 ถือเป็นภาพตัวแทนกลุ่มหนึ่ง

ขณะที่ชื่อของ มานิต วิทยาเต็ม - ศักดิ์ เตชาชาญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นภาพตัวแทนของอีกกลุ่มหนึ่ง

ส่วนในสาขารัฐศาสตร์ หรือ รัฐประศาสนศาสตร์ มีผู้สมัคร 13 คน

อาทิชื่อของ วิสุทธิ์ โพธิแท่น อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือแม้แต่ ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

เพียงเท่านี้ ก็พอจะรู้ได้ว่าเป็นภาพ "ตัวแทน" ของฝ่ายไหน...

ยิ่งได้มาพินิจพิเคราะห์ตัว "บุคคล" คณะกรรมการสรรหา 5 คน ประกอบด้วยวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครอง ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ในฐานะตัวแทน ประธานกรรมการองค์กรอิสระ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่ กรรมการสรรหาอีกคนหนึ่งคือ ยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกาศลางานชั่วคราวจากพิษ "ใบแดง" ที่ยังลูกผีลูกคน ที่สำคัญคือ ใช้มติ 2 ต่อ 3 คือ ใช้เพียง 3 คะแนนเสียงของกรรมการสรรหา ดังนั้น แม้จะมีหรือไม่มีเสียงของ "ยงยุทธ" ก็ไร้ความหมาย

เท่านี้ก็ทำให้พอมองเห็น "เค้าลาง" รูปร่างหน้าตาองค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน จะออกมาในรูปแบบใด

และยิ่ง "เป้า" ประสงค์ของ "บุคคล" ที่มาทำหน้าที่ "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

คืออำนาจในการ "ชี้ขาด" ในประเด็นชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว... เสมือนหนึ่งคือการ "ถ่วงดุล" การเมือง

ขณะเดียวกันยังคงก็ไม่ต้องการให้การเมือง "เข้มแข็ง" เกินไป

เช่นนี้แล้ว "ลางร้าย" หรือจะปรากฏขึ้นแล้วในวันนี้...

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker