บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552

12 ขวบวิทยุชุมชนไทย จากนี้จะไปไหน ใครกำหนด

ที่มา ประชาไท


เรียบเรียงจาก “รายงานการศึกษาการบริหารจัดการคลื่นความถี่วิทยุชุมชน”โดย สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(ธันวาคม 2551)
“ฟังเสียงคุ้ยเคยของเพื่อนบ้านผ่านคลื่นระหว่างทำงานตกค่ำกลับจากไร่นา กินข้าวปลาแล้วเดินเข้าห้องส่งเล็กๆ ครอบหูฟังปากขยับส่งเสียงทักทายเพื่อนบ้านบ้าง หัวข้อพูดคุยหลากหลาย มีทั้งเรื่องปากท้องศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น นโยบายรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนแบบแผนการจัดรายการไม่ต้องมากเท่าความจริงใจใสซื่อค่าตอบแทนเป็นรอยยิ้ม ดีเจอาสาทำงานด้วยใจ วัยไม่เกี่ยง…”
ภาพเช่นนี้หากพูดเมื่อสักสิบห้าปีก่อนคงถูกหัวเราะเยาะว่าฝันกลางวัน เพราะนับแต่มีวิทยุในประเทศไทยมาหลายทศวรรษ คนที่มีสิทธิจัดรายการ กำหนดรูปแบบเนื้อหาและเป็นเจ้าของสถานีกระจายเสียงวิทยุนั้น คือหน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจที่ได้รับสัมปทานสิทธิจากรัฐเท่านั้น สำหรับประชาชนเป็นได้เพียงผู้ฟังเท่านั้น
แต่วันนี้ภาพนี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว และไม่ได้เกิดขึ้นที่เดียว หากแต่เกิดขึ้นมากกว่าร้อยแห่งกระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศ
นี่คือภาพของ “วิทยุชุมชน” สถานีวิทยุที่เป็นของชุมชน จัดการโดยชุมชน เพื่อประโยชน์ชุมชนเอง ที่จะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง สื่อสาร บอกเล่าเรื่องราวและปัญหาขอคนเล็กคนน้อยในระดับชุมชน เพื่อสร้างสมดุลของเสียงในสังคมให้ปรากฏเป็นจริงในฐานะ “สื่อภาคประชาชน”
I. สิบสองปี บนเส้นทางวิบาก
“วิทยุชุมชน” เป็นหนึ่งในผลิตผลที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสังคมไทยได้รับจากรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยมีเจตนาให้เกิดการปฏิรูปสื่อ กระจายอำนาจในการสื่อสารที่เคยอยู่แต่ในมือของรัฐและทุนส่วน กลาง สู่ประชาชนคนเล็กคนน้อยในชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสื่อสาร สามารถใช้สื่อเพื่อบอกเล่าเรื่องราวปัญหาของตนและชุมชนที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสังคม สร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
ความยากลำบากของวิทยุชุมชนไทยเรียกได้ว่าเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนปฏิสนธิเลยก็ว่าได้ คือตั้งแต่การผลักดันให้มีการบรรจุเนื้อหาของวิทยุชนชนเข้าไปในร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการหัวก้าวหน้าด้านสื่อสารมวลชน อุปสรรคต่างๆ ถาโถมต่อเนื่องถึงปัจจุบันกว่าที่จะมีการยอมรับกว้างขวางว่า วิทยุชุมชนของจริงนั้นต้องเป็นสถานีวิทยุของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ใช้รูปแบบอาสาสมัครในการดำเนินการ ไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ และดำเนินการโดยปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำทั้งจากรัฐ ทุนและนักการเมืองในทุกระดับ
ความลำบากที่เกิดขึ้นรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงพัฒนาการของวิทยุชุมชนไทย ซึ่งแบ่งได้เป็น 5 ช่วงคือ ช่วงเรียนรู้และเตรียมการ ช่วงทดลองออกอากาศจริง และช่วงถูกวิทยุชุมชนมีโฆษณาแย่งชิงพื้นที่ ช่วงถูกกล่าวหา “รบกวนวิทยุการบิน” และช่วงถูกกล่าวหาเป็น “วิทยุเถื่อน” ช่วงที่ 1 เรียนรู้และเตรียมการ (2540-2544)
ช่วงสี่ปีแรกเป็นยุคเรียนรู้การดำเนินการวิทยุชุมชนของกลุ่มประชาชนที่มีความพร้อม ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากความสำเร็จในการผลักดันให้รัฐธรรมนูญ 2540 มีมาตรา 40 ระบุให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะของชาติ ซึ่งต้องจัดสรรเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเพิ่มช่องทางการส่งเสียง-สื่อสารจากภาคประชาชน เพื่อสร้างสมดุลของเสียงในสังคม
ทำให้ต่อมาในปี 2543 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมาตรา 26 ให้หลักประกันในการเข้าถึงและได้ใช้คลื่นความถี่ของประชาชนว่าต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
เป็นช่วงที่องค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการหัวก้าวหน้าด้านสื่อสารมวลชนพยายามกระจายความรู้เรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งดำเนินการฝึกอบรมด้านการดำเนินการวิทยุชุมชนให้แก่ชาวบ้าน 145 ชุมชนทั่วประเทศ ผ่านโครงการนำร่องทดลองจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน โดยการสนับสนุนด้านการเงินของสำนักงานกองทุนเพื่อสังคม โดยเนื้อหาการฝึกอบรมรวมถึงการบริการจัดการสถานี การผลิตรายการและความรู้ด้านเทคนิคพื้นฐานที่จำเป็น
ช่วงนี้เป็นช่วงลองผิดลองถูกเพื่อหาลักษณะพึงประสงค์ด้านเทคนิคของวิทยุชุมชนไทย บนหลักการที่เห็นร่วมกันว่า ลักษณะดังกล่าวต้องสอดคล้องกับการเข้ามามีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างเป็นจริง และไม่เป็นภาระจนเกินไป เพราะวิทยุชุมชนดำเนินการโดยไม่มีโฆษณา ผู้จัดรายการเป็นระบบอาสาสมัครไม่มีค่าตอบแทน
เพื่อทดลองหาลักษณะพึงประสงค์ดังกล่าวอย่างเป็นระบบ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้จัดทำโครงการนำร่องขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ มีการทดลองออกอากาศเพื่อหาระยะรัศมีการส่ง ขนาดเครื่องส่ง ความสูงของเสาส่ง ทิศทางสายอากาศ สังเกตการฟุ้งของเครื่องส่ง การทับซ้อนคลื่นอื่น
และได้ข้อสรุปว่าลักษณะพึงประสงค์ด้านเทคนิคที่เหมาะสมคือ เครื่องส่งขนาดไม่เกิน 30 วัตต์ เสาสายอากาศสูงไม่เกิน 30 เมตร ซึ่งจะทำให้รัศมีการกระจายเสียงอยู่ระหว่าง 10-15 กิโลเมตร ซึ่งต่อมาเรียกว่าหลักการ 30-30-15
หลังจากได้ลักษณะพึงประสงค์ทางเทคนิค ก็เป็นช่วงทดลองหาคลื่นความถี่ที่ว่างในพื้นที่ โดยใช้หลักการนำคลื่นความถี่มาใช้ซ้ำโดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าต้องไม่ก่อให้เกิดการรบกวนการออกอากาศของสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ในพื้นที่นั้น ๆ โดยเริ่มด้วยการตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่ในแต่ละพื้นที่แล้วหาความถี่ที่ว่าง
เมื่อได้ความถี่ ก็เป็นการดำเนินการติดตั้งเครื่องส่งและสายอากาศสำหรับความถี่นั้น เครื่องส่งยุคแรกนี้ไม่สามารถปรับความถี่ได้โดยตรงจากหน้าเครื่อง ต้องใช้ช่างผู้ชำนาญดำเนินการ จากนั้นก็เป็นการทดลองออกอากาศ ตรวจสอบระยะกระจายเสียงจริง ตรวจสอบความชัดเจนของเสียง ตรวจสอบการรบกวนการใช้คลื่นวิทยุและโทรทัศน์กระแสหลักที่ใช้คลื่นอยู่ก่อนแล้ว กรณีที่พบปัญหาจะมีการรายงานให้คณะกรรมการวิทยุชุมชนรับทราบและดำเนินการแก้ไข
ช่วงที่ 2 ทดลองออกอากาศจริง (2544-2545)หลังเรียนรู้และเตรียมการมาเนิ่นนานหลายปี วิทยุชุมชนภาคประชาชนได้มีการทดลองออกอากาศจริงในปลายปี 2544 โดยเริ่มที่สิงห์บุรีและกาญจนบุรีเป็นสถานีแรกๆ เป็นการออกอากาศโดยไม่มีกฎหมายรองรับ เนื่องจากกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ต้องจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นมีปัญหา และศาลปกครองมีวินิจฉัยว่าเป็นกระบวนการสรรหาโดยมิชอบ ทำให้เกิดช่วงสูญญากาศขาดหน่วยงานตามกฎหมายสำหรับดำเนินการวิทยุชุมชนขึ้น
อย่างไรก็ตามได้มีสถานีวิทยุชุมชนภาคประชาชนจำนวนหนึ่งทยอยตัดสินใจทดลองออกอากาศจริงโดยไม่รอการจัดตั้ง กสช.
หลังออกอากาศได้ 3 เดือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2545 ก็มีการสั่งระงับการออกอากาศโดยกองงานกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กกช.) กรมประชาสัมพันธ์ ไปยังสถานีวิทยุชุมชนเพื่อนช่วยเพื่อน จ.สิงห์บุรีและสถานีเสียงชุมชน จ. กาญจนบุรี โดยอ้างว่าขัดกฎหมายวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 นำไปสู่การรวมตัวของเครือข่ายวิทยุชุมชน 7 อนุภูมิภาคทั่วประเทศเรียกร้องให้มีการใช้สิทธิการสื่อสารของภาคประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
มีการเคลื่อนไหวต่อสู้ผ่านกลไกตามรัฐธรรมนูญ ทั้งผ่านองค์กรอิสระต่างๆ คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอื่นๆ จนในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ตัดสินใจมีมติในวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 ยอมรับว่า “หากจะห้ามภาคประชาชนดำเนินการวิทยุชุมชนก็อาจเป็นการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ” และมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานประสานจัดทำร่างหลักเกณฑ์และมาตรการชั่วคราวในการดำเนินการวิทยุชุมชน
หลังมีมติดังกล่าว เครือข่ายวิทยุชุมชนตัดสินใจรวมตัวกันเป็น “สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ” ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมจัดทำร่างหลักเกณฑ์ชั่วคราวฯ กับสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี และได้เสนอหลักการ 30-30-15 เป็นลักษณะพึงประสงค์ทางเทคนิคในร่างหลักเกณฑ์ชั่วคราวฯ ทั้งนี้มีการตกลงกันว่าการออกอากาศชั่วคราวจะยุติทันที่ที่เกิดองค์กรอิสระ กสช.
ช่วงนี้ความพยายามของภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคการเมืองที่จะช่วงชิงการดำเนินการวิทยุชุมชนภาคประชาชน สองครั้งสำคัญ คือกรณีวิทยุ อบต. และกรณีวิทยุชุมชนมีโฆษณา
กรณีแรก รัฐบาลมีแนวคิดจะยกวิทยุชุมชนให้เป็น “ของขวัญปีใหม่” แก่องค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งถูกคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มปฏิรูปสื่อ ด้วยเหตุผลว่า อบต.เป็นเพียงองค์กรหนึ่งในชุมชน ไม่ใช่ทั้งหมดของชุมชน และการยกวิทยุชุมชนให้ อบต.ดำเนินการเสี่ยงมากที่จะถูกรัฐและฝ่ายการเมืองแทรกแซงครอบงำผ่านกลไกของมหาดไทย ในที่สุดรัฐบาลตัดสินใจล้มเลิกแนวคิดนี้ไป
กรณีที่สอง ได้เกิดปรากฎการณ์วิทยุชุมชนมีโฆษณาขึ้นในหลายพื้นที่โดยการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐบางหน่วยงาน ภาคธุรกิจและกลุ่มการเมืองท้องถิ่น รวมถึงการเกิดวิทยุชมชน “หลังบ้านนักการเมืองท้องถิ่น” เป็นปรากฎการณ์การช่วงชิงที่เกิดขึ้นในระยะที่วิทยุชุมชนได้รับการยอมรับให้มีการดำเนินการกว้างขวางมากขึ้นแล้ว โดยสัดส่วนวิทยุชุมชนมีโฆษณานั้นคิดเป็นครึ่งต่อครึ่ง (250 สถานีจากทั้งหมด 500 สถานีวิทยุชุมชนขณะนั้น) เมื่อเทียบกับสถานีวิทยุชุมชนภาคประชาชนภายใต้สมาพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติและสถานีวิทยุชุมชนอิสระ
นับเป็นช่วงสองปีที่มีเหตุการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์วิทยุชุมชนไทย
ช่วงที่ 3 ถูกวิทยุมีโฆษณาแย่งชิงพื้นที่ (2546-2548)
เป็นช่วงที่การดำเนินการวิทยุชุมชนถูกท้าทายอย่างหนักจากการเข้ามามีบทบาทของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเข้ามาผลักดันวิทยุชุมชนสามารถมีโฆษณาได้
หลังจากมติคณะรัฐมนตรี 16 ก.ค. 2545 มติ ครม.ฉบับแรกที่ยืนยันสิทธิการดำเนินการวิทยุชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และมอบหมายให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีประสานการจัดทำหลักเกณฑ์และมาตรการชั่วคราวในการดำเนินการวิทยุชุมชน ครม.ก็ได้มีมติฉบับที่สองในวันที่ 24 มิ.ย.2546 ให้กรมประชาสัมพันธ์เข้ามารับช่วงทำหน้าที่ประสานดังกล่าวแทนสำนักปลัดฯ เป็นเหตุให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทมากที่สุดในการดำเนินการวิทยุชุมชนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ประกอบกับการขาดนโยบายรัฐที่ไม่มีการสร้างความเข้าใจเรื่องวิทยุชุมชนให้แก่สังคม และการขาดมาตรการบริหารจัดการคลื่นความถี่เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิการสื่อสารได้ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ทำให้กรมประชาสัมพันธ์สามารถฉวยโอกาสตีความนิยาม “วิทยุชุมชน” เสียใหม่อันทำให้สถานีวิทยุชุมชนสามารถมีโฆษณาได้ ซึ่งขัดกับหลักการวิทยุชุมชนอย่างสิ้นเชิง
ร่างมาตรการและหลักเกณฑ์ชั่วคราวฯ ฉบับกรมประชาสัมพันธ์ออกมาในเดือนพฤศจิกายน 2547 ได้ประกาศดำเนินการโครงการจุดเตรียมความพร้อมทดลองออกอากาศวิทยุชุมชน โดยสามารถมีโฆษณาได้ชั่วโมงละ 6 นาที แต่ต้องมาขึ้นทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์เท่านั้น ส่งผลให้ผู้มาขึ้นทะเบียนจำนวนมากมาขึ้นทะเบียนด้วยความมุ่งหวังผลประโยชน์เชิงธุรกิจเสียมากกว่า โดยไม่มีความเข้าใจในหลักการวิทยุชุมชนอย่างแท้จริง นับเป็นจุดหักเหครั้งใหญ่ของการดำเนินการวิทยุชุมชนไทย
ส่งผลให้จำนวนสถานีวิทยุภายใต้ชื่อสถานีวิทยุชุมชนเพิ่มขึ้นจาก 500 สถานีเป็นกว่า 2,000 สถานีภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือนหลังโครงการเริ่ม (ม.ค. 2548) และพุ่งเป็น 3,000 สถานีภายใน 4 เดือน (มี.ค. 2548)
ขณะที่วิทยุชุมชนภายใต้เครือข่ายสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติแทบไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้มีโฆษณา และต้องการต่อสู้เชิงหลักการในเรื่องนี้
การเกิดขึ้นของสถานีวิทยุชุมชนสายพันธุ์โฆษณา สร้างความปั่นป่วนแก่การดำเนินการวิทยุชุมชนโดยภาพรวม เพราะสถานีเกิดใหม่เหล่านี้ไม่คำนึงถึงขนาดกำลังส่งของเครื่องส่งและพื้นที่ออกอากาศ ส่งผลให้เกิดปัญหาความถี่ทับซ้อน ความถี่แทรก และการรบกวนการใช้ความถี่ของข่ายการสื่อสารอื่นๆ มาจวบปัจจุบัน
การใช้เครื่องส่งกำลังส่งสูงมากของสถานีวิทยุเกิดใหม่ ทำให้สถานีวิทยุชุมชนที่ดำเนินการโดยการโดยภาคประชาชนประสบปัญหาผู้ฟังไม่สามารถรับฟังรายการได้ มีการเรียกร้องให้เพิ่มความสูงสายอากาศให้มากกว่าหลักการ 30-30-15 ที่เคยเห็นร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรับฟังรายการได้ ซึ่งหลายสถานีฯ ก็ตัดสินใจทำตามข้อเรียกร้องเพื่อรักษาฐานคนฟังและพื้นที่ออกอากาศเอาไว้
อย่างไรก็ตามก็ไม่มีสามารถแก้ปัญหาได้หมด จากการสำรวจในปี 2550 พบว่าสถานีวิทยุภาคประชาชนกลุ่มตัวอย่างราวร้อยละ 79.8 ยังคงมีปัญญาคลื่นทับ คลื่นแทรกในหลายลักษณะโดยเฉพาะสถานีในเขตเมืองใหญ่ ทั้งปัญหาใช้คลื่นความถี่ทับกันหรือใกล้เคียงกันมากเกินไป พื้นที่สถานีใกล้กันมากไป ซึ่งราวร้อยละ 61.7 ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ท่ามกลางปัญหาดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 6 สิงหาคม 2548 ผ่อนผันให้วิทยุชุมชนสามารถดำเนินการได้ โดยมีเงื่อนไขทางเทคนิคต้องมีกำลังส่งไม่เกิน 30 วัตต์ เสาสูงไม่เกิน 30 เมตรและมีโฆษณาได้ไม่เกิน 6 นาทีต่อชั่วโมง นับเป็นการปลุกกระแสวิทยุชุมชนแบบมีโฆษณาให้กลับมาเพื่องฟูอีกรอบ
ช่วงที่ 4 ถูกกล่าวหา “รบกวนวิทยุการบิน” (2548-2549)
วิทยุชุมชนถูกกล่าวว่าว่า “รบกวนความถี่วิทยุคมนาคมและวิทยุการบิน” ตั้งแต่ต้นปี 2548 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากเกิดในช่วงที่หลายสถานีวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างหนัก รวมถึงสถานีวิทยุชุมชนคนรักประชาธิปไตยที่วิพากษ์วิจารณ์กรณีสนามบินหนองงูเห่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาการรบกวนความถี่นี้ค่อนข้างถูกมองว่าผูกโยงกับปัญหาการเมืองเพื่อแทรกแซงและควบคุมวิทยุชมชนมากกว่า ที่สำคัญกลับไม่มีการดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจังเท่าที่ควร
จากสถิติบริษัทวิทยุการบินประเทศไทย จำกัดซึ่งมีการตรวจสอบภายหลัง พบว่ามีการรบกวนความถี่วิทยุการบินจริงและมากถึง 1,163 ครั้งโดย 17 สถานีในช่วงเจ็ดเดือนปี 2548 (พ.ค.-ธ.ค.) และ 1,159 ครั้งโดย 10 สถานีในช่วง 12 เดือนของปี 2549 ส่วนในปี 2550 มีการรบกวนโดย 10 สถานี
ทั้งนี้มีการดำเนินการทางกฎหมายเฉพาะกรณีที่เป็นปัญหารุนแรง มีผู้แจ้งและพยานหลักฐานชัดเจน โดยเป็นการปรับที่สำนักงาน กทช. 1 คดี อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน 31 คดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง 3 คดี อยู่ในชั้นศาล 7 คดี และศาลพิพากษาแล้วรวม 23 คดี
ข้อสังเกตประการสำคัญคือสถานีวิทยุที่พบว่าก่อให้เกิดปัญหารบกวนวิทยุการบินเหล่านั้น เป็นวิทยุชุมชนแบบที่มีโฆษณาทั้งสิ้น และเมื่อสำรวจข้อมูลย้อนหลังก่อนการเกิดวิทยุชุมชนแบบมีโฆษณา ซึ่งการทดลองออกอากาศเป็นของสถานีวิทยุชุมชนภาคประชาชน (ที่ยึดหลักการ “ของ-โดย-เพื่อชุมชน”) ทั้งสิ้นนั้น ไม่พบว่ามีการร้องเรียนเรื่องการรบกวนวิทยุการบินเลย
อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหา “วิทยุชุมชนรบกวนคลื่นวิทยุการบิน” ได้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดของสังคมต่อการดำเนินการวิทยุชุมชนภาคประชาชนอย่างสูง
ช่วงที่ 5 ถูกกล่าวหาเป็น “วิทยุเถื่อน” (2549-2552)
ปลายปี 2548 สำนักงานกิจการโทรคมนาคมได้กล่าวหาว่า “วิทยุชุมชนเป็นวิทยุเถื่อน” มีการออกเอกสารไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้องต่างๆ เช่นปลัดกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ ขอความร่วมมือให้หน่วยงานในสังกัดระดับพื้นที่ “ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือสนับสนุน” การดำเนินการวิทยุชุมชน
ส่งผลให้ความเชื่อถือของคนในชุมชนต่อวิทยุชุมชนลดลง เช่นเดียวกับความร่วมมือและการสนับสนุนด้านต่างๆ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่เคยหนุนช่วยด้านเทคนิคในการดำเนินการ ไม่สามารถช่วยต่อได้ เพราะเป็นโทษทางวินัยร้ายแรง
การกล่าวหานี้ส่งกระทบอย่างหนักต่อการการดำเนินการวิทยุชุมชนในระดับพื้นที่ ชาวบ้านไม่สามารถพึ่งนักเทคนิคในท้องถิ่นได้ ต้องแก้ปัญหาทางเทคนิคด้วยตัวเอง บ้างโดนแอบอ้าง ซ่อมแซมอุปกรณ์ในราคาแพง โดนหลอกขายอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นในราคาสูงเกินจริงมาก สร้างภาระทางการเงินแก่หลายสถานีในระดับรุนแรง มีหนี้สิน หลายครั้งเกิดผลกระทบรุนแรง อาทิ กรณีช่างไม่ชำนาญเพียงพอเข้ามาแก้ปัญหาทางเทคนิคแล้วทำให้เกิดการรบกวนความถี่อื่นโดยไม่เจตนา
จากการสำรวจในปี 2550 พบว่าร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่างสถานีวิทยุชุมชนภาคประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนบุคคลากรที่มีความรู้และทักษะด้านเทคนิคพื้นฐาน ส่งผลให้หลายสถานีต้องหยุดดำเนินการเพราะขาดงบประมาณซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เสีย

II. รัฐ เทคนิคและความพร้อมชุมชนสามปัจจัยสำคัญ อุปสรรคใหญ่ที่รอการฟันฝ่า
ปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่ส่งผลต่อการดำเนินการวิทยุชุมชนในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาคือ ปัจจัยด้านนโยบายรัฐบาล ปัจจัยด้านเทคนิค และปัจจัยความพร้อมชุมชนด้านเทคนิค โดยแต่ละปัจจัยส่งผลในระดับและขนาดแตกต่างกันดังนี้ ประการแรก ปัจจัยด้านนโยบายรัฐบาลนโยบายรัฐบาลที่ส่งผลต่อการดำเนินการวิทยุชุมชนอย่างมีนัยสำคัญสามารถจำแนกออกเป็น 4 นโยบายคือ มาตรการ “เมื่อห้ามไม่ได้ก็ไม่ส่งเสริม (วิทยุชุมชนภาคประชาชน)” การอนุญาตให้วิทยุชุมชนมีโฆษณาได้ การละเลย/ไม่กำกับดูแลอย่างจริงจังต่อวิทยุชุมชนที่มีโฆษณา และความย้อนแย้งในนโยบายรัฐ
นโยบายเหล่านี้คือต้นตอของการเกิดปรากฎการณ์ “สงครามแย่งชิงคลื่นความถี่วิทยุชุมชน”
การขาดองค์กรอิสระเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการประกอบการวิทยุกระจายเสียงทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ดังที่รัฐธรรมนูญกำหนด ประกอบกับความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาลในการปฏิรูปสื่อในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อปัญหาสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาดแก่ทั้งภาคสังคม โดยเฉพาะภาคธุรกิจ
ส่งผลให้วิทยุชุมชนไทยแยกเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะผู้ประกอบการ คือ วิทยุชุมชน(ภาคประชาชน) วิทยุ(ชุมชน)ที่มีโฆษณา และวิทยุท้องถิ่นไทย
วิทยุชุมชน (ภาคประชาชน) คือกลุ่มสถานีวิทยุที่ชุมชนเป็นเจ้าของ บริหารจัดการและไม่แสวงกำไร ชุมชนในที่นี้หมายถึงทั้งกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และกลุ่มคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจและสังคมเดียวกันโดยการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและช่วยเหลือกันและกัน กลุ่มนี้มีสมาชิกประมาณ 200 สถานี
วิทยุ (ชุมชน)ที่มีโฆษณา คือกลุ่มสถานีวิทยุที่เกิดจากโครงการจุดปฏิบัติการเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชนของกรมประชาสัมพันธ์ (พ.ย.2547- ม.ค.2549) ซึ่งใช้ชื่อวิทยุชุมชน แต่ดำเนินการแบบธุรกิจ โดยคนในท้องถิ่นหรือบริษัทลูกข่ายของธุรกิจในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่ มีโฆษณาได้ไม่เกิน 6 นาทีต่อชั่วโมง กลุ่มนี้มีจำนวนมากที่สุดราว 4,000-5,000 สถานี
วิทยุท้องถิ่นไทย คือกลุ่มสถานีวิทยุท้องถิ่นเชิงพาณิชย์ เกิดขึ้นจากโครงการจุดปฏิบัติการเตรียมความพร้อมฯ ของกรมประชาสัมพันธ์เช่นเดียวกับกลุ่มที่สอง แต่แตกต่างที่เป็นการรวมตัวกันของนักวิชาชีพ นักจัดรายการวิทยุรายย่อยในท้องถิ่นซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถขอรับใบอนุญาตดำเนินการวิทยุได้ในทางปฏิบัติ (ต้องดำเนินการผ่านเอกชนที่ผูกขาดสัมปทาน ทำให้ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในการดำเนินการและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเสมอมา) กลุ่มนี้มีโฆษณาได้เช่นกัน ต่อมากลุ่มนี้ได้รับข้อมูลและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิทยุชุมชน ยอมแยกตัวออกมาจากชื่อ “วิทยุชุมชน” ชัดเจน และเรียกตัวเองว่า “เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย” และพัฒนาเป็น “สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย” ในปัจจุบัน มีสมาชิกประมาณ 300 สถานี
ทิศทางนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมาคืออนุญาตให้วิทยุชุมชนทุกกลุ่มดำเนินการได้ท่ามกลางความสับสนคลุมเครือ และละเลยที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องหลักการวิทยุชุมชน
หากย้อนดูนโยบายรัฐที่ผ่านมาด้านวิทยุชุมชน มีเพียงมติ ครม. 16 ก.ค.2545 เท่านั้นที่สอดคล้องกับการปฏิรูปสื่อ คือรองรับสิทธิภาคประชาชนในการดำเนินการวิทยุชุมชน โดยระบุว่า “หากจะห้ามมิให้ภาคประชาชนดำเนินการวิทยุชุมชน ก็อาจเป็นการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ”
นอกนั้น ล้วนเป็นนโยบายที่สร้างความสับสน ก่อปัญหาให้กับการดำเนินการวิทยุชุมชนของภาคประชาชนทั้งสิ้น โดยเฉพาะนโยบายอนุญาตให้มีโฆษณาซึ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเข้ามาแย่งคลื่นความถี่ของภาคประชาชนอย่างแยบยล ดังจะเห็นได้จากจำนวนวิทยุชุมชนแบบมีโฆษณาที่เพิ่มขึ้นจาก 250 สถานี เพิ่มเป็น 3,000 สถานีภายในระยะเวลาเพียงสี่เดือน ปัจจุบันคาดว่าจะมากถึง 6,000-7,000 สถานี ขณะที่สถานีวิทยุชุมชน (ภาคประชาชน) ซึ่งยึดมั่นและดำเนินการตามหลักการวิทยุชุมชนที่แท้จริงนันกลับมีจำนวนลดลงจากเดิมที่มีจำนวนพอๆ กับวิทยุที่มีโฆษณาในระยะแรกคือราว 250 สถานี เหลือเพียง 145 สถานีจากการสำรวจในปี 2550
การละเลย/ไม่กำกับดูแลการดำเนินการวิทยุชุมชนที่มีโฆษณาอย่างจริงจังของภาครัฐ ทำให้เกิดสภาวะไร้ระเบียบ สถานีวิทยุชุมชนที่มีโฆษณา (ซึ่งมีกลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองท้องถิ่นหนุนหลัง) แหกกฎ 30-30-15 ใช้เครื่องส่งที่มีกำลังส่งสูงเกินกำหนด สร้างปัญหาคลื่นทับซ้อนแก่วิทยุชุมชนภาคประชาชนที่ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด
ความย้อนแย้งในนโยบายรัฐ ปรากฏชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาคือแม้รัฐบาลจะอนุญาตให้มีวิทยุชุมชน แต่กลับปล่อยให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องออกมากกล่าวหาวิทยุชุมชนด้วยข้อหาฉกรรจ์ว่า “รบกวนคลื่นวิทยุการบิน” และ “เป็นวิทยุเถื่อน” (ตามด้วยการสั่งปิดสถานี) อันเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของวิทยุภาคประชาชนและเบียดขับให้กลุ่มที่ดำเนินการวิทยุชุมชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกลุ่มนี้ตกอยู่ในสภาพ “เสียงที่ไร้เสียง” ในสงครามแย่งชิง/ยึดคลื่นความถี่โดยวิทยุที่มีโฆษณา โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขาดองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และการขาดความชัดเจนของนโยบายรัฐซึ่งที่ผ่านมาฝากทิศทางไว้อย่างสะเปะสะปะกับหน่วยงานรัฐบางหน่วยงาน ประการที่สอง ปัจจัยด้านเทคนิคปัจจัยด้านเทคนิคที่สำคัญ 3 ประการที่ส่งผลมากต่อการดำเนินการวิทยุชุมชนที่ผ่านมาคือ ปัญหาคลื่นความถี่ทับซ้อน ปัญหาคลื่นแทรก และปัญหาคลื่นเบียด
ปัญหาคลื่นความถี่ทับซ้อน เกิดจากการตั้งสถานีใหม่ในพื้นที่เดียวกัน ใช้เลขคลื่น(ความถี่)เดียวกัน แต่สถานีใหม่ใช้กำลังส่งสูงกว่ามาก ทำให้ผู้ฟังไม่สามารถรับฟังได้ ยกเว้นเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่รอบที่ตั้งสถานี
ปัญหาคลื่นแทรก เกิดจากการตั้งสถานีใหม่ในพื้นที่ติดกัน ใช้ความถี่คลื่นเดียวกัน ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ระหว่างสองสถานีได้ยินเสียงสองสถานีพร้อมกันเมื่อหมุนฟังคลื่นดังกล่าว ทำให้ระยะการกระจายเสียงของสถานีเดิมลดลง ซึ่งปัญหาจะมากขึ้นไปอีกหากกำลังส่งของสองสถานีต่างกันมากๆ เช่น 30 วัตต์กับ 1000 วัตต์ อาจทำให้เกิดปัญหาลักษณะเดียวกันกับคลื่นความถี่ทับซ้อนได้ ปัญหาคลื่นแทรกนี้อาจเกิดได้กับกรณีสองสถานีที่มีอยู่แล้วแต่ใช้คลื่นเดียวกัน แล้วสถานีใดสถานีหนึ่งเพิ่มกำลังส่ง
ปัญหาคลื่นเบียด เกิดจากการเกิดสถานีใหม่ในพื้นที่เดียวกัน ใช้ความถี่คลื่นติดกัน (เช่น FM 99.75 กับ FM 100 เป็นต้น) และสถานีใหม่ใช้กำลังส่งสูงกว่าสถานีที่มีอยู่ก่อนมากจนเกิดการแพร่คลื่นความถี่นอกแถบ (Out-of-band emission) (หรือเป็นสถานีที่ดำเนินการอยู่เดิม แต่เพิ่มกำลังส่ง) ทำให้เกิดเขตอับสัญญาณเสียง คือผู้ฟังไม่สามารถหมุนหาสถานีที่มีอยู่เดิมซึ่งกำลังส่งต่ำกว่ามากได้เจอ หรือเจอแต่เสียงเบามากจนแทบไม่ได้ยิน ในกรณีที่กำลังส่งของสองสถานีในกรณีนี้ไม่ต่างกันมาก ปัญหาจะเกิดในลักษณะคลื่นแทรกแทน
ปัญหาทั้งสามประการนี้เป็นผลต่อเนื่องจากปัจจัยทางการเมืองที่รัฐบาลปล่อยให้สภาพคลุมเครือ สับสนในการตีความนิยามวิทยุชุมชนในทางปฏิบัติและอนุญาตให้มีโฆษณาดังได้อธิบายไปแล้ว
การเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีปริมาณมากของวิทยุชุมชนแบบมีโฆษณาโดยไม่มีการควบคุมจริงจังและขาดหลักเกณฑ์ ทำให้เกิดสภาพ “แย่งชิงคลื่นความถี่” จากวิทยุชุมชนภาคประชาชนที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้วโดยปริยายในทางปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดสภาพปัญหาทางเทคนิคทั้งสามนี้อย่างหนักหน่วงเป็นวงกว้างทั่วประเทศ
บางกรณีปัญหาคลื่นความถี่ทับซ้อนเกิดในช่วงที่สถานีวิทยุชุมชนเดิมต้องยุติการออกอากาศชั่วคราวเพื่อนำเครื่องส่งไปซ่อม กลับมาออกอากาศอีกทีพบว่ามีสถานีแบบมีโฆษณาใช้คลื่นไปแล้ว เช่นกรณีวิทยุชุมชนคนบ้านเรา จ.สงขลา
วิทยุชุมชนภาคประชาชนจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาคลื่นแทรกและคลื่นเบียด ทำให้ผู้ฟังหมุนหาคลื่นไม่เจอ หรือเจอก็รับฟังได้ไม่ชัดเจนเบามาก มีเสียงแทรก เสียงซ่า จนเกิดเป็นประโยคประชดเปรียบเทียบว่า “วิทยุชุมชนภาคประชาชนของแท้ต้องหมุนหาคลื่นไม่ค่อยเจอ ถึงหมุนเจอก็ฟังไม่ค่อยได้ยิน เป็นเสียงค่อยๆ เหมือนเสียงของชาวบ้านที่ดังสู้เสียงของนายทุนไม่ได้”
วิทยุชุมชนภาคประชาชนพยายามดิ้นรนแก้ปัญหาเองด้วยการเจรจากับเจ้าของสถานีใหม่ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นกลุ่มทุนหรือกลุ่มการเมืองท้องถิ่น เพื่อชี้แจงและขอให้มีการแก้ปัญหา แต่ส่วนใหญ่การเจรจามักไม่ได้ผล ยกเว้นบางกรณีที่ชุมชนเข้มแข็งจริงๆ หรือมีคนกลางไกล่เกลี่ยที่เป็นที่เกรงใจ บางสถานีตัดสินใจย้ายไปใช้ความถี่คลื่นใหม่ดังกรณีวิทยุชุมชนคนสันป่าตอง จ.เชียงใหม่
ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้สถานีวิทยุชุมชนภาคประชาชนจำนวนหนึ่งตัดสินใจเพิ่มกำลังส่งเพื่อรักษาพื้นที่ออกอากาศและผู้ฟัง ตามคำเรียกร้องของผู้ฟัง โดยมีการระดมทุนภายในชุมชน แต่ก็ทำให้ปัญหาด้านการเงินตามมาเพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงขึ้นตาม เนื่องจากเครื่องส่งที่มีกำลังส่งที่สูงขึ้นเครื่องจะร้อนง่ายต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศในห้องส่ง ที่สำคัญสถานีวิทยุธุรกิจที่มีโฆษณาก็มักจะเพิ่มกำลังส่งที่สูงขึ้นไปอีก ทำให้ปัญหาการรับฟังยังคงอยู่เช่นเดิม บางสถานีสถานการณ์การเงินวิกฤตมากหลังจากพยายามเพิ่มกำลังส่งจนเกิดภาวะหนี้สินถึงขั้นต้องตัดสินใจเปลี่ยนไปรับโฆษณาเพื่อหารายได้มาใช้หนี้ดังกรณีวิทยุชุมชนน้ำโสม จ.อุดรธานี
สถานีวิทยุชุมชนภาคประชาชนจำนวนมากจึงต้องตัดสินใจหยุดเพิ่มกำลังส่ง ปล่อยให้การออกอากาศเป็นไปตามมีตามเกิด ผู้ฟังลดลงตามลำดับ ส่งผลให้จำนวนอาสาสมัครที่ช่วยจัดรายการลดลงตามเนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะมีคนฟังมากน้อยเพียงไร เกิดเป็นสภาวะ “มีสถานีก็เหมือนไม่มี”
ในที่สุดหลายสถานีตัดสินใจยุติการออกอากาศ บ้างเป็นการชั่วคราวรอจนกว่าจะมีนโยบายชัดเจนค่อยทำต่อ บางสถานียุติเป็นการถาวรเพราะรู้สึกอ่อนล้า ท้อถอยหลังความพยายามต่อเนื่องยาวนาน
นอกจากปัญหาคลื่นความถี่ทับซ้อน / แทรก / เบียด ดังกล่าวข้างต้น ปัญหาด้านเทคนิคเกี่ยวกับคลื่นความถี่ที่พบบ่อยในการดำเนินการวิทยุชุมชนคือ ปัญหาคลื่นฟุ้ง คลื่นวิ่ง และปัญหาคลื่นไม่พึงประสงค์
คลื่นฟุ้ง เกิดจากการแพร่ฮาร์โมนิกเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ก่อให้เกิดการรบกวนการรับชมโทรทัศน์หรือข่ายการสื่อสารอื่นๆ ในพื้นที่
คลื่นวิ่ง เกิดจากเครื่องส่งผลิตความถี่พร้อมกันหลายความถี่เป็นแถบกว้าง ทำให้ผู้ฟังไม่สามารถรับฟังสถานีวิทยุอื่นๆ ได้ตามปกติ ยกเว้นสถานีที่ก่อปัญหาเพียงสถานีเดียว
คลื่นไม่พึงประสงค์ รบกวนข่ายสื่อสารอื่น เกิดจากการผสมหรือแทรกกันของความถี่ 2 ความถี่จากสถานีวิทยุ 2 แห่งที่ออกอากาศพร้อมกัน
นอกจากนี้ยังพบปัญหาด้านเทคนิคอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่โดยตรงและมักพบบ่อยครั้งเช่น การลดลงของกำลังส่งเครื่องส่งสัญญาณ เป็นต้น
ปัญหาด้านเทคนิคเหล่านี้มักเกิดจากความผิดพลาดในการเชื่อมต่อระบบส่งทำให้กำลังที่ส่งออกไปย้อนกลับมาที่เครื่องส่งและชุดผลิตความถี่ ระบบไฟฟ้าในพื้นที่ไม่ได้มาตรฐาน อุปกรณ์กรองความถี่ ชุดผลิตความถี่หรืออุปกรณ์ขยายกำลังส่งไม่ได้มาตรฐานหรือเสื่อมสภาพ การทำงานของเครื่องส่งติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกิดความร้อนสูงกว่าปกติจนชุดผลิตความถี่ทำงานผิดพลาด หรือระยะห่างของสถานีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งล้วนไม่ได้เป็นความตั้งใจให้เกิดขึ้นของชุมชน
ประการที่สาม ปัจจัยความพร้อมชุมชนด้านเทคนิค
ข้อจำกัดหรือความไม่พร้อมของชุมชนที่ดำเนินการวิทยุชุมชนที่ผ่านมาสามารถแบ่งได้ออกเป็น 5 ประการคือ การขาดความรู้ความเข้าใจด้านเทคนิค ขาดช่างเทคนิคผู้ชำนาญ ขาดการตรวจสอบซ่อมบำรุง ขาดอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานและอุปกรณ์ตรวจวัดที่จำเป็น และการมีข้อจำกัดของสภาพพื้นที่
เนื่องจากการดำเนินการวิทยุชุมชนเป็นเรื่องใหม่สำหรับชุมชนและต้องการความรู้ความเข้าใจเชิงเทคนิคระดับหนึ่งซึ่งทำให้ยากสำหรับชาวบ้านในชุมชนที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ถึงระดับใช้งานได้ภายในระยะเวลารวดเร็ว ทำให้ปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจด้านเทคนิคเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของการดำเนินการวิทยุชุมชนในเกือบทุกพื้นที่
ตัวอย่างเช่น หลายชุมชนเข้าใจว่าช่างวิทยุโทรทัศน์ทั่วไปสามารถซ่อมเครื่องส่งได้ หรือคิดว่าตัวเองสามารถซ่อมเครื่องเองได้ จึงดำเนินการซ่อมตามความเข้าใจที่ผิด ซึ่งส่วนใหญ่ทำให้อุปกรณ์เสียหายมากขึ้นไปอีก หรือเคยมีกรณีบางสถานีทำทาวเวอร์หักเพราะดึงสลิงฐานแคบเกินไปและไม่ได้ลงดิน กรณีไม่ได้ต่อสายดินของอุปกรณ์ในห้องส่งหรือต่อไม่ลึกพอ ระยะสายล่อฟ้าสูงไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาพื้นฐานทางเทคนิคเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายพื้นที่ด้วยการขาดความรู้ความเข้าใจของชุมชนที่ดำเนินการวิทยุชุมชน
ทางออกที่ผ่านมาส่วนใหญ่พึ่งพาช่างเทคนิคซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นสำคัญ
แต่หลังจากรัฐบาลได้กล่าวหาว่าวิทยุชุมชนเป็นวิทยุเถื่อน และมีหนังสือไม่ให้หน่วยงานในพื้นที่ให้การสนับสนุนการดำเนินการ ส่งผลให้สถานีวิทยุชุมชนต้องหันไปพึ่งช่างเทคนิคที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ซึ่งจำนวนมากขาดความรู้ความชำนาญที่เพียงพอ เปิดโอกาสให้ช่างในบางพื้นที่ฉวยคิดค่าใช้จ่ายในราคาที่สูงเกินจริง เลี้ยงไข้ หลอกขายอุปกรณ์หรือสับเปลี่ยนเอาอุปกรณ์ดีๆ ไป
การขาดความรู้ความเข้าใจทางเทคนิคและการขาดช่างผู้ชำนาญการดังกล่าว ยังส่งผลให้อุปกรณ์การส่งที่สำคัญที่จัดซื้อเช่นเครื่องส่ง สายอากาศ ชุดผลิตความถี่ สายนำสัญญาณ ฯลฯ ไม่ได้มาตรฐาน เพราะขาดการตรวจสอบที่ละเอียดถี่ถ้วนโดยผู้ชำนาญการและขาดการทดลองผ่านอุปกรณ์ตรวจวัดและรับฟังจริงในพื้นที่ก่อนรับมอบ
นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้ไม่มีการตรวจสอบซ่อมบำรุงอุปกรณ์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอดังที่ควรดำเนินการ
ด้านข้อจำกัดในพื้นที่เช่นประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ไม่ดีพอ เกิดไฟตก ไฟกระชาก ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องส่งและอุปกรณ์ หรือข้อจำกัดเชิงสภาพภูมิศาสตร์เช่นเป็นภูเขาสูงทำให้รัศมีการกระจายเสียงน้อยกว่าปกติ การสะท้อนของคลื่นเมื่อส่งสัญญาณผ่านช่องเขา การเสื่อมสภาพของอุปกรณ์จากไอเกลือและความร้อนในพื้นที่ที่เป็นทะเล เป็นต้น
ข้อจำกัดและความไม่พร้อมทั้งหมดนี้สามารถส่งผลทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินการวิทยุชุมชนในทางปฏิบัติได้หลากหลาย ดังนี้
• สายสัญญาณที่เชื่อมระหว่างเครื่องส่งและสายอากาศหรือแผงเกิดหลุดหรือขาด ก่อให้เกิดปัญหาคลื่นฟุ้ง รบกวนคลื่นวิทยุ โทรทัศน์และวิทยุคมนาคม และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องลดลงตามลำดับจนเสียในที่สุด หากไม่การแก้ไขอย่างทันท่วงที
• ตัวผลิตความถี่เสื่อมหรืออากาศร้อนจนทำให้การทำงานของตัวผลิตความถี่ผิดพลาด ทำให้เกิดปัญญาคลื่นวิ่ง ชาวบ้านไม่สามารถรับฟังสถานีอื่นๆ ได้นอกจากสถานีที่ก่อปัญหาเพียงคลื่นเดียว
• อุปกรณ์กรองคลื่นความถี่เสื่อม / ไม่ได้มาตรฐานทำให้เกิดการส่งสัญญาณคลื่นความถี่มูลฐานหรือฮาร์มอนิกที่ 2 ออกมาเกินมาตรฐาน ก่อปัญหารบกวนการรับสัญญาณโทรทัศน์ในพื้นที่
• การผสมสัญญาณเสียงเกินกำหนด ซึ่งนอกจากจะทำให้เสียงแตกแล้วอาจทำให้เกิดสัญญาณรบกวนความถี่อื่นนอกเหนือจากความถี่สถานี ไปรบกวนสัญญาณวิทยุ โทรทัศน์หรือข่ายการสื่อสารอื่น (มักเกิดกับวิทยุชุมชนที่ประสบปัญหาคลื่นความถี่ทับซ้อน / แทรก / เบียด แล้วพยายามสู้ด้วยการเพิ่มกำลังส่งให้สูงขึ้น โดยไม่เข้าใจว่าจะเกิดการผสมสัญญาณเสียงเกินกำหนดได้)
• การผสมคลื่นความถี่ในอากาศ ซึ่งเกิดคลื่นรบกวนไปรบกวนคลื่นความถี่อื่นๆ ขึ้นเมื่อเปิดสองสถานีพร้อมกัน โดยที่หากเปิดทีละสถานีจะไม่เกิด
• ปัญหาการทับซ้อนของคลื่นความถี่จากการกำหนดช่องความถี่ในการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็มระหว่างประเทศไม่ตรงกัน มักพบในพื้นที่ชายแดน เช่นไทย-มาเลเซีย ไทย-ลาว เป็นต้น
• ปัญหาการออกอากาศและการรับฟังที่เกิดจากการใช้ความถี่ไม่ตรงกับแผนความถี่วิทยุเอฟเอ็มในประเทศไทย เช่นกรณีวิทยุชุมชนสันป่าตอง จ. เชียงใหม่
• ปัญหาคลื่นเบียดที่เกิดกับจังหวัดเล็กที่อยู่ติดกับจังหวัดใหญ่ เช่นลำพูน-เชียงใหม่ จังหวัดปริมณฑล-กรุงเทพฯ
• การเกิดการแพร่ของคลื่นรบกวนจากสถานีที่ใช้เครื่องส่งและอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นระยะเวลานาน

III. บทเรียนและข้อเสนอ
บทเรียนจากพื้นที่
ท่ามกลางข้อจำกัดและปัจจัยความไม่พร้อมต่างๆ ดังกล่าว มีวิทยุชุมชนจำนวนหนึ่งที่ประสบปัญหาคลื่นความถี่ทับซ้อน / แทรก / เบียด และพยายามแก้ปัญหาในระดับพื้นที่จนประสบความสำเร็จอย่างน่าประทับใจ และน่าเรียนรู้เป็นบทเรียนสำหรับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ที่จังหวัดอุดรธานี วิทยุชุมชนคนฮักถิ่น อ.ประจักษ์ศิลปะคม ประสบปัญหาเครื่องส่งเสียจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ จึงตัดสินใจระดมทุนในชุมชนนานหลายเดือนเพื่อซื้อเครื่องส่งใหม่จนสำเร็จ แต่พอจะออกอากาศอีกครั้งพบว่าความถี่คลื่นที่เคยใช้ถูกสถานีอื่นใช้ไปแล้ว คณะกรรมการสถานีจึงระดมสมองกันและสรุปว่าจะส่งตัวแทนไปเจรจากับเจ้าของสถานีดังกล่าว ชี้แจงข้อเท็จจริง และการเจรจาก็ประสบความสำเร็จ สถานีดังกล่าวยอมย้ายไปใช้ความถี่อื่นแทนในที่สุด ทั้งนี้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเกิดจากปัจจัยสามประการคือ ชุมชนคนฮักถิ่นมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง สถานีวิทยุที่มาใช้คลื่นเป็นสมาชิกในเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท) ซึ่งมีข้อตกลงภายในเครือข่ายว่าจะไม่ใช้คลื่นทับซ้อนความถี่วิทยุชุมชนที่ดำเนินการมาก่อนแล้ว และสถานีดังกล่าวเองก็ไม่ได้มีเจตนาจะยึดคลื่นของวิทยุชุมชนคนฮักถิ่น
กรณีวิทยุชุมชนในจังหวัดมหาสารคามซึ่งประสบปัญหาสงครามการแย่งชิงคลื่นความถี่ ทำให้เกิดปัญหาคลื่นความถี่ทับซ้อน / แทรก / เบียด เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดเล็งเห็นวิกฤตที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงออกระเบียบให้ทุกสถานีไปขึ้นทะเบียนพร้อมระบุข้อมูลลักษณะทางเทคนิคของแต่ละสถานีไว้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับกำกับดูแลป้องกันการรบกวนการออกอากาศของแต่ละสถานี ด้วยการกำกับดูแลที่เข้มงวดทำให้มหาสารคามแทบไม่มีปัญหาร้องเรียนเรื่องคลื่นความถี่ทับซ้อนกันอีกเลย
ที่กาฬสินธุ์ วิทยุชุมชนกุฉินารายณ์ประสบปัญหากำลังส่งของเครื่องส่งตก และเครื่องเสียเป็นครั้งคราวเช่นเดียวกับสถานีอื่นๆ คณะกรรมการสถานีฯ ได้ตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากวิทยาลัยอาชีวะในพื้นที่ให้เข้ามาช่วยดูแลเครื่องส่งและอุปกรณ์หากเกิดปัญหา ทำให้สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้พร้อมกับเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับพื้นที่ด้วย
จากทั้งสามกรณีจะเห็นว่ามีลักษณะร่วมกันหนึ่งอย่างคือ เป็นความพยายามแก้ปัญหาท่ามกลางข้อจำกัด และใช้ทรัพยากรและต้นทุนทางสังคมในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ได้ยึดติดกับสถานการณ์ระดับประเทศที่ยังไม่ลงตัวด้านกฎเกณฑ์การกำกับดูแลวิทยุชุมชน
บทเรียนจากต่างแดน
ข้อสังเกต 6 ประการที่น่าสนใจจากประสบการณ์การดำเนินการวิทยุชุมชนในแคนาดา สเปน สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น มีดังนี้
1. การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจริงจังในระดับพื้นที่สามารถป้องกันการเกิดปัญหาคลื่นความถี่ทับซ้อนได้ (แคนาดา สเปน อเมริกาและญี่ปุ่น)
2. ภาครัฐมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาและหนุนช่วยกันเองทั้งภายในและข้ามกลุ่ม (แคนาดา)
3. การกำกับดูแลสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยกลไกดูแลกันเองในระดับรัฐ (สเปน)
4. การกำหนดเงื่อนไขให้สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านเทคนิคการดำเนินการวิทยุชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม (อเมริกา แคนาดา)
5. การมีหน่วยงานให้ความรู้ความเข้าใจและแก้ไขปัญหาด้านเทคนิคโดยเฉพาะ (อเมริกา แคนาดา)
6. รัฐบาลมีบทบาทสนับสนุนอุปกรณ์และเทคนิค (สเปน)
การดำเนินการวิทยุชุมชนในต่างประเทศ
หัวข้อ
แคนาดา
สเปน
สหรัฐ
ญี่ปุ่น
อายุใบอนุญาต

5 ปีต่ออายุได้ 5 ครั้ง
8 ปี

กำลังส่ง
ขึ้นกับเขตบริการที่ ต้องการจะครอบคลุม, ตำแหน่งที่ตั้งของสถานี และการดำเนินการวิทยุ หลัก/วิทยุชุมชนที่มีอยู่แล้วในพื้นที่
ขึ้นกับขนาดและลักษณะทางกายภาพชุมชนเป็นหลัก
10 วัตต์ หรือ 100 วัตต์เท่านั้น
ไม่เกิน 20 วัตต์ (สามารถตั้งสถานีทวนสัญญาณได้หากออกอากาศได้ไม่ครอบคลุมพื้นที่ชุมชน)
กองทุนวิทยุชุมชน
มีกองทุนเพื่อพัฒนาและสนับสนุนการดำเนินการสถานีวิทยุในแนวชุมชนอย่างยั่งยืน
มีการสนับสนุนด้านเทคนิค อุปกรณ์ และมีโครงการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์


แหล่งรายได้/ การโฆษณา
-ค่าเล่าเรียนนักศึกษา
-เงินบริจาค
-สปอนเซอร์
การกล่าวรายชื่อผู้สนับสนุนรายได้ (ห้ามโฆษณา)
ห้ามแสวงหากำไรทางธุรกิจ
ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์ด้านธุรกิจ
รูปแบบรายการ
-ข่าว/สารคดี 25%
-เพลง 35% (รวมถึงเพลงนอกกระแสนิยมทั่วไป)

ควรนำเสนอเรื่องราวชุมชน และเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตอย่างหลากหลาย
-ต้องมีรายการเกี่ยวกับชุมชน50%
-รายการทั้งหมดต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
บทลงโทษ

มีบทลงโทษสำหรับวิทยุชุมชนที่ไม่ได้มาตรฐาน


ข้อสังเกต
-มีหน่วยงาน Industry Canada กำกับดูแลด้านเทคนิค
-มีช่วงทดลองก่อนออกอากาศจริง ระยะเวลาใบอนุญาตชั่วคราว 3 ปี กำลังส่ง 5 วัตต์
-อยู่ระหว่างร่างบทบัญญัติว่าด้วยวิทยุชุมชน
-มีคณะกรรมการระดับชาติและระดับรัฐดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่
-ต้องออกอากาศไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
-คณะกรรมการต้องมีภูมิลำเนาห่างจากสถานีไม่เกิน 10 กิโลเมตร
-ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิลทีวีอยู่แล้ว ไม่สามารถขอรับใบอนุญาตวิทยุชุมชน
คณะกรรมการต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณารายการที่จะออกอากาศ
11 ข้อเสนอจากภาครัฐ
ที่ผ่านมา หลังจากการผลักดันเรียกร้องต่อเนื่องโดยเฉพาะจากภาคประชาสังคม คณะรัฐมนตรีได้มีมติมติจัดทำร่างมาตรการและหลักเกณฑ์และมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการวิทยุชุมชนเมื่อ 16 ก.ค. 2545 โดยให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการ ซึ่งก็ไม่มีความคืบหน้าจนต่อมาภาระนี้ได้ถูกส่งต่อให้กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการแทน (มติ ครม. 24 มิ.ย. 2546)
กรมประชาสัมพันธ์ได้ทดลองใช้คลื่นความถี่ซ้ำ คือใช้ความถี่คลื่นเดียวกันในพื้นที่ต่างกัน โดยมีเงื่อนไขว่าการออกอากาศจะไม่เกิดการรบกวนกัน จากการทดลองกับสถานีวิทยุในเครือข่ายของกรมฯ เอง พบว่าสามารถจัดให้มีการดำเนินการวิทยุชุมชนตามหลักเกณฑ์ทางเทคนิค 30-30-15 ได้ทั้งสิ้น1,551 สถานี
ต่อมาหลังจากเกิดปัญหาการรบกวนคลื่นรุนแรง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจสำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมเพื่อศึกษามาตรฐานสากลและยกร่างมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับเครื่องสงวิทยุคมนาคมโดยภาพรวม ซึ่งได้มีข้อกำหนดสำหรับวิทยุชุมชนมีสาระสำคัญ 11 ข้อ ดังนี้
• ให้ใช้ความถี่ช่วง 87.5-108 เมกะเฮิร์ซ โดยแบ่งแต่ละช่องห่างกัน 250 กิโลเฮิร์ซ ได้ 81 ช่องความถี่
• กำลังเครื่องส่งต้องไม่เกิน 30 วัตต์ (ไม่ระบุชนิดและกำลังขยายสายอากาศ)
• การแพร่แปลกปลอมต้องไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดในระเบียบว่าด้วยการกำหนดลักษณะพึงประสงค์ทางเทคนิคสำหรับสถานีวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2520 ซึ่งระบุว่าการแพร่แปลกปลอมรวมถึงการแพร่ฮาร์มอนิก (การสร้างความถี่ที่มีค่าทวีคูณจากความถี่ที่กำหนดซึ่งมักเกิดจากเครื่องส่งไม่ได้มาตรฐาน) และการแพร่พาราซิติก (ความถี่แปลกปลอมที่แพร่จากเครื่องส่งวิทยุในย่านความถี่ 87.5-108 เมกะเฮิร์ซ เกิดจากชุดขยายสัญญาณของเครื่องส่งทำงานไม่ถูกต้อง
• การแพร่นอกแถบต้องไม่เกินข้อกำหนด คือการใช้งานคลื่นความถี่หลักช่วง 100 กิโลเฮิร์ซต้องมีความกว้างแถบคลื่นจำเป็นไม่เกิน 200 กิโลเฮิร์ซ
• ค่าความผิดพลาดทางความถี่ต้องไม่เกินข้อกำหนด คือค่าความแตกต่างระหว่างความถี่คลื่นพาห์ขณะมี - ไม่มีการมอดูเลตกับความถี่ที่ระบุของเครื่องส่งต้องมีค่าความผิดพลาดมาก/น้อยไม่เกิน 2 กิโลเฮิร์ซ
• ค่าเบี่ยงเบนความถี่ ต้องไม่เกินข้อกำหนด คือค่าแตกต่างมากที่สุด (ขณะไม่มีการมอดูเลต) ระหว่างความถี่ขณะใดขณะหนึ่งกับความถี่คลื่นพาห์ ต้องมาก / น้อย ไม่เกิน 75 กิโลเฮิร์ซ (ที่การผสมสัญญาณ 100% แถบความถี่จำเป็น 100 กิโลเฮิร์ซ)
• ซิงโครนัสแอมพลิจูดมอดูเลต (การเปลี่ยนแปลงแรงดันสูงสุดของส่วนประกอบกระแสสลับที่ปรากฏทางด้านออกของเครื่องส่ง เมื่อมีการมอดูเลตที่ส่งให้เกิดการกระเพื่อมของคลื่นพาห์คล้ายกับการมอดูเลตแอมพลิจูด ซึ่งมักเกิดจากอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าไม่เรียบ มีการกระเพื่อม) ต้องไม่เกินร้อยละ 2
• ความปลอดภัยทั่วไปต้องเป็นไปตามข้อกำหนด
• ความปลอดภัยด้านไฟฟ้าต้องเป็นไปตามข้อกำหนด
• ความปลอดภัยด้านการใช้เครื่องวิทยุคมนาคมต่อสุขภาพมนุษย์ต้องเป็นไปตามข้อกำหนด
• วิธีการทดสอบต้องเป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและวิธีการทดสอบ อุปกรณ์เครื่องส่งวิทยุได้รับการรับรองมาตรฐานด้านการป้องกันการรบกวนและความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าหรือผลิตในประเทศ (ปัจจุบันยังไม่มีการควบคุมมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับเครื่องที่ผลิตภายในประเทศ ทำให้การส่งวิทยุชุมชนมีการรบกวนสูง โดยเฉพาะการรบกวนที่เกิดจากการผสมคลื่นความถี่ของเครื่องส่งที่ออกอากาศมากกว่า 2 ความถี่ขึ้นไป เกิดความถี่ใหม่ที่อาจมีระดับความแรงมากว่าระดับสัญญาณที่ต้องการ มักเกิดจากการแยกสัญญาณของเครื่องที่ไม่เพียงพอ)
4 ข้อเสนอจากภาคประชาชน
ภาคประชาชนสนับสนุนหลักการนำคลื่นความถี่มาใช้ซ้ำสำหรับการดำเนินการวิทยุชุมชน ดังที่ได้ยืนยืนมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มการผลักดันวิทยุชุมชนผ่านสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (2544) เช่นเดียวกับการยืนยันให้วิทยุชุมชนมีรูปแบบตามนิยาม ของ-โดย-เพื่อชุมชน
จากประสบการณ์ทดลองปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่มากกว่า 7 ปี ภาคประชาชนจังเสนอแนวทางการบริหารจัดการคลื่นความถี่ การแก้ไขปัญหาคลื่นความถี่ทับซ้อนและลักษณะพึงประสงค์ด้านเทคนิค 4 ข้อดังนี้
• ข้อกำหนดทางเทคนิคสำหรับการดำเนินการและกำหนดพื้นที่ออกอากาศของวิทยุชุมชนควรกำหนดให้สอดคล้องกับขนาดและความหนาแน่นของชุมชน รวมถึงระยะทางที่คนในชุมชนจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้จริง โดยเสนอให้รัศมีพื้นที่ออกอากาศอยู่ระหว่าง 10-15 กิโลเมตร และสามารถยืดหยุ่นมากหรือน้อยกว่าได้ขึ้นกับสภาพพื้นที่ แต่ต้องไม่เกินรัศมี 20 กิโลเมตร
• การกำหนดลักษณะพึงประสงค์ทางเทคนิคของเครื่องส่งและสายอากาศควรมีความยืดหยุ่นโดยพิจารณาบริบทและลักษณะทางกายภาพของชุมชนประกอบ โดยเสนอให้ข้อกำหนดกำลังของเครื่องส่งอยู่ระหว่าง 30-100 วัตต์แทนที่จะยึด 30 วัตต์หนาแน่นเช่นที่ผ่านมา (อันทำให้เกิดปัญหาความเข้มสัญญาณเสียงไม่สูงมากพอที่จะรับฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลายพื้นที่ที่ลักษณะทางกายภาพไม่เอื้อเช่นพื้นที่ภูเขา) ส่วนข้อกำหนดลักษณะสายอากาศให้สามารถยืดหยุ่นได้มากกว่าข้อกำหนดที่เป็นอยู่โดยให้สอดคล้องกับเครื่องส่งและสภาพพื้นที่ เช่นบางพื้นที่อาจต้องมีความสูงสายอากาศถึง 45 เมตรแทนที่จะเป็น 30 เมตรตามข้อกำหนดที่เป็นอยู่จึงจะสามารถออกอากาศได้ดีตามพื้นที่กำหนด รูปแบบสายอากาศควรส่งสัญญาณได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน เกณฑ์ขยายสายอากาศควรอยู่ในระดับ 4 เดซิเบลและยืดหยุ่นได้ตามกำลังส่งของเครื่องส่ง (กำลังส่งต่ำควรสามารถขยายได้มากกว่าเพื่อให้การรับฟังชัดเจน) อย่างไรก็ตามต้องมีวงจรลดทอนกำลังคลื่นฮาร์มอนิกที่สองและอุปกรณ์
• จำกัดกำลังคลื่นความถี่แปลกปลอมอื่นๆ ประกอบด้วยสำหรับการพิจารณาลักษณะฯ ทั้งหมด
• การบริหารจัดการคลื่นความถี่และการกำหนดระยะห่างระหว่างสถานีควรป้องกันการรบกวนการส่งสัญญาณกันเองโดยยึดหลัก 5 ข้อคือ1) ไม่ใช้คลื่นความถี่ของสถานีวิทยุหลักในพื้นที่ 2) หลีกเลี่ยงการใช้ย่านความถี่ที่จะทำให้เกิดฮาร์โมนิกที่สองตรงกับย่านความถี่ของสถานีโทรทัศน์ในพื้นที่ 3) ใช้คลื่นความถี่แบบสลับฟันปลาในพื้นที่ติดกัน 4)หากจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ซ้ำในพื้นที่ติดกันที่เป็นที่ราบให้ทั้งสองสถานีมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 3 เท่าของรัศมีการออกอากาศ 5) ป้องกันการเกิดคลื่นไม่พึงประสงค์โดยการกำหนดระยะห่างระหว่างสถานีและความหนาแน่นการใช้คลื่นความถี่ในพื้นที่ให้เหมาะสม
• กำหนดย่านคลื่นความถี่เฉพาะ (Zoning) สำหรับวิทยุชุมชน เพื่อป้องกันการเกิดเขตอับสัญญาณเสียงอันเนื่องมาจากการใช้กำลังส่งของเครื่องส่งที่ต่างกัน และควรจัดให้มีความถี่ที่เป็นเสมือนเขตกันชนระหว่างความถี่วิทยุชุมชนและความถี่วิทยุหลักเพื่อป้องกันการรบกวนซึ่งกันและกันในทางปฏิบัติ
IV. อนาคตที่กำหนดได้
แม้ว่าที่ผ่านมาการดำเนินการวิทยุชุมชนในประเทศไทยจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า สะเปะสะปะ และเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่หลังจากประสบการณ์และความพยายาม 12 ปีที่ผ่านมาได้มอบบทเรียนและการเรียนรู้แก่ทั้งสังคมไทยและผู้เกี่ยวข้องในระดับหนึ่งซึ่งเป็นระดับที่สำคัญและเพียงพอที่จะเดินต่ออย่างมีทิศทาง หากมีการจัดการที่ดีและเป็นระบบมากพอ ที่สำคัญต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนวิทยุชุมชนให้สัมฤทธิผลในทิศทางที่เหมาะสม
จากบทเรียนในและต่างประเทศ รวมทั้งข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆ แนวทางที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่และปัญหาด้านเทคนิคอื่นๆ ซึ่งเป็นปัญหาการดำเนินการวิทยุชุมชนในประเทศไทยปัจจุบัน ควรประกอบด้วย 7 แนวทางดังนี้
1. ระหว่างรอการจัดตั้งองค์กรอิสระซึ่งจะมีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ทั้งประเทศ คลื่นความถี่สำหรับวิทยุชุมชนควรได้รับการจัดสรรจากคลื่นความถี่ของวิทยุหลักที่นำมาใช้ซ้ำในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่ให้เกิดการรบกวนกัน2. แยกวิทยุชุมชนออกจากวิทยุที่มีโฆษณา และระบุให้ชัดเจนว่าวิทยุชุมชนต้องอยู่บนหลักการมาจากองค์กรหลากหลายในชุมชน รวมตัวกันเพื่อดำเนินการสื่อบริการสาธารณะระดับชุมชนและไม่แสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ ในกรณีที่ภาคประชาชนไม่พร้อมภาครัฐควรให้การสนับสนุนในการสร้างความพร้อม3. กำกับดูแลการดำเนินการวิทยุชุมชนอย่างจริงจัง ตามหลักเกณฑ์มาตรการการดำเนินการที่พิจารณาปัจจัยบริบทและลักษณะกายภาพของพื้นที่ประกอบ4. ภาครัฐมีบทบาทในการจัดการองค์ความรู้และสนับสนุนด้านเทคนิคแก่การดำเนินการวิทยุชุมชน รวมทั้งการสร้างความเข้าใจ การหนุนช่วยเครื่องมืออุปกรณ์ การฝึกอบรมสร้างทักษะความชำนาญด้านเทคนิค รวมถึงการรวมตัวกันของบุคลากรด้านเทคนิคในพื้นที่เพื่อหนุนช่วยการทำงานกันและกัน5. สร้างความเข้าใจในหลักการและบทบาทวิทยุชุมชนในฐานะ “สื่อสาธารณะในระดับชุมชน” แก่สาธารณชน โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น6. ศึกษาความเป็นไปได้ถึงรูปแบบการบริหารจัดการคลื่นความถี่ประเทศ ในการทำให้มีวิทยุชุมชนภาคประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของคลื่นความถี่ทั้งหมด (ตามกฎหมายกำหนด)7. เปิดพื้นที่ให้วิทยุท้องถิ่นเชิงพาณิชย์มีสิทธิประกอบกิจการอย่างเสรี มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
แนวทางทั้ง 7 นี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับการดำเนินการของภาคส่วน 3 ภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญคือ หน่วยงานกำกับดูแล สถาบันการศึกษาและเครือข่ายวิทยุชุมชน และข้อเสนอบทบาทสำหรับแต่ละภาคส่วนมีดังนี้
ข้อเสนอต่อหน่วยงานกำกับดูแลในระยะเฉพาะหน้าช่วงที่ยังไม่มีองค์กรอิสระ หน่วยงานกำกับดูแลซึ่งรวมถึง กทช. และคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ ควรมีบทบาทสำคัญ 8 ประการดังนี้
1. นำคลื่นความถี่วิทยุหลักมาใช้ซ้ำสำหรับดำเนินการวิทยุชุมชน โดยไม่ให้เกิดการรบกวนสถานีหลักที่มีอยู่เดิมและสถานีวิทยุชุมชนภาคประชาชน2. แยกประเภทวิทยุที่มีโฆษณาออกจากวิทยุชุมชนและยืนยันหลักการพื้นฐานวิทยุชุมชนว่าดำเนินการโดยกลุ่มหลากหลายในชุมชน เป้าหมายเพื่อดำเนินการสื่อบริการสาธารณะระดับชุมชนและไม่แสวงผลกำไรทางธุรกิจ รวมทั้งดำเนินการสนับสนุนสร้างความพร้อมภาคประชาชนหากกรณีภาคประชาชนยังไม่พร้อม3. กำกับดูแลให้มีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์มาตรการที่กำหนด (โดยพิจารณาบริบทและลักษณะกายภาพพื้นที่) อย่างจริงจังเพื่อป้องกันปัญหาคลื่นรบกวนซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ผ่านมา4. ส่งเสริมการรวมตัวของกลุ่มวิทยุชุมชนเพื่อกำกับดูแลกันเองในระดับพื้นที่ (ตามมาตรา 39 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551) โดยมีคณะทำงานพหุภาคีระดับชาติที่ประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ กำกับดูแลในภาพรวม5. เป็นเจ้าภาพจัดเวทีให้ความรู้ ฝึกอบรมทักษะด้านเทคนิคให้เครือข่ายวิทยุชุมชน พร้อมให้การสนับสนุนด้านเทคนิคอื่นๆ ที่จำเป็น6. ร่วมกับเครือข่ายวิทยุชุมชนสร้างความเข้าใจในเรื่องหลักการและบทบาทวิทยุชุมชนในฐานะ “สื่อสาธารณะในระดับชุมชน” แก่สาธารณชน สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง7. สนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และการสนับสนุนด้านเทคนิคสำหรับการดำเนินการวิทยุชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน8. ยืดหยุ่นมาตรการลงโทษจากส่งฟ้องดำเนินคดีเป็นเปรียบเทียบปรับ (ตามความเสียหายจริง) แก่สถานีวิทยุชุมชนที่มีการรบกวนความถี่การสื่อสารอื่นโดยไม่มีเจตนา ทั้งนี้ควรมีการตักเตือนก่อนดำเนินการลงโทษ และให้ความสนับสนุนช่วยเหลือด้านเทคนิคในการปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องส่ง (ต้นเหตุการเกิดการรบกวนคลื่น) ด้วย
ข้อเสนอระยะยาว
1. จัดให้มีการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสม ของการบริหารจัดการคลื่นความถี่ที่มีการดำเนินการวิทยุชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ตามที่กฎหมายกำหนด2. จัดตั้งคณะกรรมการอิสระด้านวิทยุชุมชน เพื่อทำงานร่วมกับองค์กรอิสระด้านกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่วิทยุชุมชน รวมถึงการรวมกลุ่ม การกำกับดูแลกันเองในระดับพื้นที่ ภาคและระดับชาติ ตลอดจนส่งเสริมให้วิทยุชุมชนมีบทบาทสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนโดยรวม3. จัดตั้งกองทุนส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาด้านเทคนิคเพื่อการดำเนินการวิทยุชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน
ข้อเสนอต่อสถาบันการศึกษา1. จัดเวทีให้ความรู้และฝึกอบรมด้านเทคนิค เนื้อหารายการและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแก่เครือข่ายวิทยุชุมชนอย่างต่อเนื่อง2. สร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเครือข่ายวิทยุชุมชนและสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านวิทยุชุมชนและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการวิทยุชุมชน3. ผลักดันหลักสูตรการเรียนการสอนและการฝึกอบรมด้านวิทยุชุมชนในสถาบันการศึกษาทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
ข้อเสนอต่อเครือข่ายวิทยุชุมชน
ข้อเสนอเฉพาะหน้า
1. จัดโครงสร้างสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติให้ชัดเจน2. ดำเนินการขอใบอนุญาตชั่วคราว
ข้อเสนอระยะยาว1. จัดทำแผนแม่บท หลักเกณฑ์ จรรยาบรรณด้านเทคนิคและอื่นๆ สำหรับการดำเนินการวิทยุชุมชน2. จัดทำคู่มือด้านเทคนิคและอื่นๆ สำหรับการดำเนินการวิทยุชุมชน3. จัดทำฐานข้อมูลด้านเทคนิครายสถานี4. พัฒนาบุคลากร / อาสาสมัครวิทยุชุมชนในด้านเทคนิคและอื่นๆ ที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง5. จัดตั้งคณะทะงานเพื่อติดตาม สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการวิทยุชุมชน6. จัดตั้งกองทุนสนับสนุนและพัฒนาการดำเนินการวิทยุชุมชน7. สร้างเครือข่ายพันธมิตรสนับสนุนด้านเทคนิคในพื้นที่
………………………………………………………….
หมายเหตุบทความชิ้นนี้เรียบเรียงจาก “รายงานการศึกษาการบริหารจัดการคลื่นความถี่วิทยุชุมชน”โดย สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (ธันวาคม 2551)
คณะวิจัย: มนตรี อิ่มเอก วีระพล เจริญธรรม สันทนา ธรรมสโรช พท.ปฏิยุทธ ทรายทอง ดร.วัฒนา บันเทิงสุข ธรรมนิตย์ สุริยะรังสี พรพิพัฒน์ วัดอักษร วิชาญ อุ่นอก ศิริพล สัจจพันธ์ สาวิทย์ แก้วหวาน ดร.ประวิทย์ ชุมชู และนันทพร เตชะประเสริฐสกุล

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker