สังคมไทยแตกแยกทำลายกันมาตั้งแต่ปลายปีพ.ศ.2548 เมื่อนับจนถึงขณะนี้ (เดือนมิถุนายน 2552) เป็นเวลาเกือบสี่ปีแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าสภาพเช่นนี้จะดำเนินไปอีกนานเท่าไหร่ และเรื่องจะลงเอยอย่างไร
นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ว่า เดิมสังคมไทยใช้ระบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เน้นเรื่องความรักชาติและเคารพเชื่อฟังผู้ปกครอง เพื่อให้คนที่มีหลากหลายชาติพันธุ์มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกัน และอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข
แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยเมื่อปีพ.ศ.2475 ระบบเดิมก็เริ่มเกิดปัญหาเมื่อคนระดับล่างถามหาความเป็นธรรม และเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจแก้ไขความทุกข์ยากลำบากของตน
ในช่วงแรกๆปัญหาเหล่านี้ไม่รุนแรง เพราะคนในระดับล่างเคยชินกับการถูกตีกรอบให้เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ไม่กล้าโต้เถียง และไม่เคยถูกฝึกให้แก้ไขปัญหาด้วยตนเอง คนระดับล่างจึงมีพลังอ่อนด้อยเนื่องจากขาดวุฒิภาวะและขาดประสบการณ์ที่จะต่อสู้
จนต่อมาเมื่อคนระดับล่างได้พัฒนาการเรียนรู้มากขึ้น และสังคมมีการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดปัญหามากมาย คนระดับล่างจึงลุกขึ้นใช้สิทธิของตนประท้วงต่อต้านความไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม กล้าเรียกร้องอย่างไม่หวั่นเกรงใดๆ
ดังนั้นถ้าหากยังใช้โครงสร้างแบบเดิมต่อไป ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
อาจารย์เสกสรรค์ ประสริฐกุล ระบุว่า ขณะนี้ยังพอมีทางออก โดยคนระดับบนจะต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และเปิดช่องให้คนระดับล่างมีสิทธิเสรีภาพ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย มีสิทธิปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น และมีการจัดสรรทรัพยากรอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ซึ่งถ้าหากประนีประนอมโอนอ่อนให้แก่กัน ก็จะอยู่ร่วมกันต่อไปได้
โครงสร้างการเมืองการปกครองแบบเก่าเป็นแบบแนวดิ่ง ซึ่งเป็นระบบรวบอำนาจ คนชั้นบนเป็นผู้ปกครอง และเป็นฝ่ายกำหนดให้คนชั้นล่างซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้การปกครอง ทำตามสิ่งที่ตนต้องการ
โครงสร้างแบบนี้เหมาะสมและใช้ได้กับสังคมขนาดเล็ก โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ แต่ตกเป็นเป้าของประเทศอื่นที่ต้องการเข้ามายึดครอง ดังนั้นเมื่อผู้ปกครองมีนโยบายและยุทธวิธีอย่างไร ประชาชนก็ร่วมมือเต็มที่ เพราะรู้ดีว่าถ้าแตกสามัคคีกันจะถูกข้าศึกศัตรูทำลายพินาศสิ้น
แต่เมื่อสังคมขยายใหญ่ขึ้นก็มีปัญหาเพิ่มมากขึ้น คนระดับบนต่อสู้แย่งชิงอำนาจด้วยวิธีการทุกรูปแบบคนร่ำรวยที่มีแค่ 20% มีอิทธิพลครอบงำเศรษฐกิจ ฮุบทรัพย์สินของชาติไปกักตุนมหาศาล แต่คนอีก 80 % ยากจนทุกข์ยาก มีปัญหาเรื่องปากท้องและอนาคตมืดมน
ส่วนในด้านศึกภายนอกก็หนักหน่วงเช่นกัน เพราะเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเศรษฐกิจ บรรดาประเทศใหญ่ได้แผ่ขยายอำนาจอิทธิพลครอบงำประเทศที่อ่อนด้อยกว่า ทุนข้ามชาติล่วงล้ำเข้ามามีอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครอง
คนระดับล่างในสังคมไทยจึงต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตน และปัญหานี้จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง สังคมจากแนวดิ่งมาบ้านกว้าง เพื่อให้คนระดับล่างได้รับความเสมอภาคมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น และได้รับส่วนแบ่งโภคทรัพย์ของชาติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม