โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
29 มิถุนายน 2552
เราต้องระวังคนที่พูดว่า “ทำยังไงก็ได้เพื่อเป้าหมาย” เพราะยุทธศาสตร์ของการเพิ่มอำนาจประชาชน เพื่อสังคมที่เท่าเทียม และประชาธิปไตยแท้ ย่อมขัดแย้งกับยุทธวิธีประเภทที่ขอความเมตตาจากผู้มีอำนาจเบื้องบน
เมื่อไม่นานมานี้มีคนเสื้อแดงเขียนอีเมล์มาถามผมว่าคิดอย่างไรกับประเด็นดังต่อไปนี้....
“เริ่มกังวลค่ะว่าโดยสถานการณ์ว่าจะมีการประนีประนอมกันได้ระหว่างทักษิณกับอำมาตย์ เพราะคนมีอำนาจก็น่าจะเห็นประเด็นนี้เหมือนกันว่า หากเคลียร์กันได้ สถานการณ์น่าจะอ่อนลงมากเหมือนกัน คนอย่างทักษิณหากเคลียร์ใจกันแล้ว และกลับมา เค้าจะเป็น สฤษดิ์คนที่สองได้เลยหรือไม่คะ และเราจะต้องเหนื่อยกันสองเด้งเลยทีเดียว
ก็เลยเริ่มคิดกันว่าเราจะเตรียมแผนรองรับกันไงดีอะค่ะ??
อีกประเด็นก็คือรู้สึกว่าบางส่วนของเสื้อแดงคาดหวังว่าทักษิณจะมาเป็นผู้นำซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยในความคิดส่วนตัว”
ผมเชื่อว่าคำถามนี้อยู่ในใจคนเสื้อแดงจำนวนมาก และเราควรร่วมกันคิดร่วมกันตอบ...... สำหรับผม ผมคิดว่า..เราต้องสู้ต่อไปเพื่อประชาธิปไตยแท้ ไม่ใช่มาประนีประนอมหรือถวาย ฎีกา... เพราะอะไร?
เราต้องเข้าใจว่าอำนาจอำมาตย์เป็นอำนาจนอกกรอบรัฐธรรมนูญ มีทั้งทหาร ศาล ข้าราชการ สื่อ ผู้มีอิทธิพลในองค์กรที่เกี่ยวกับพระราชวัง และยังมีมวลชนคนชั้นกลางล้าหลังอนุรักษ์นิยมอีกด้วย ดังนั้น
1. การต่อสู้จะต้องเป็นการรุกสู้เกินขอบเขตของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญปี ๔๐ หรือการพยายามหาชัยชนะในการเลือกตั้ง เรารู้ดีว่าชัยชนะในการเลือกตั้งมันสำคัญ แต่มันไม่เพียงพอที่จะยกอำนาจให้ประชาชน และปฏิรูปให้มีประชาธิปไตยแท้ กรณีการยึดสนามบิน และการเลือกปฏิบัติของทหารและศาล โดยไม่ฟังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่เราจำได้ และชี้ให้เห็นข้อจำกัดทางอำนาจของรัฐสภาเมื่อเผชิญหน้ากับอำมาตย์
2. สิ่งที่คนเสื้อแดงจำนวนมากต้องการ ไม่ใช่แค่การกลับมาของประชาธิปไตยรัฐสภาในรูปแบบก่อน ๑๙ กันยา หรือการอภัยโทษกับนักการเมือง ไทยรักไทย สิ่งที่คนเสื้อแดงจำนวนมากต้องการ คือประชาธิปไตยแท้ ที่ทหาร วัง องคมนตรี ศาล ฯลฯ แทรกแซงไม่ได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องการคือ สังคมที่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สาเหตุที่พลเมืองจำนวนมากรักทักษิณ ก็เพราะเขาเริ่มสร้างระบบสวัสดิการ และเริ่มลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจนผ่านนโยบายประชานิยม
การต่อสู้ของเราจะเป็นการต่อสู้ที่ใช้เวลา และที่สำคัญคือต้อง ใช้ความกล้าหาญทางความคิด ที่จะพัฒนาเป้าหมายให้ก้าวหน้า
ในสภาพเช่นนี้... แกนนำพรรคเพื่อไทย หรือ ไทยรักไทย เก่า อาจไม่พร้อมที่จะไปไกลกว่ารัฐธรรมนูญปี๔๐ การหากินกับผลงานเก่า หรือการอภัยโทษนักการเมือง เขาอาจไม่พร้อมที่จะสู้เต็มที่กับอำมาตย์ และไม่พร้อมที่จะปฏิรูปสังคมอย่างถอนรากถอนโคนจนเราได้ประชาธิปไตยแท้ ดังนั้นเราเริ่มเห็นการเสนอเรื่องถวายฎีกา การหาทางประนีประนอม
และการไม่เสนออะไรใหม่ๆ เช่นรัฐสวัสดิการ มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้คนตกงานในปัจจุบัน หรือข้อเสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาในภาคใต้ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถูกสะท้อนในคำพูดของทักษิณและแกนนำเสื้อแดงบางคน
ในเรื่องว่าทักษิณจะกลับมาหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ แต่ถ้ามีการประนีประนอมกับอำมาตย์ ฝ่ายอำมาตย์คงไม่อยากให้กลับมาเป็นนายกฯ และถ้าเป็นนายกฯ ก็คงต้องการลดอำนาจและอิทธิพล
ทักษิณจะเป็น “สฤษดิ์ที่สอง” หรือไม่? ก็ตอบยาก สฤษดิ์ไม่เคยผ่านการเลือกตั้งเหมือนทักษิณ และโดยรวมประวัติศาสตร์ไม่เคยซ้ำรอยร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำถามนี้คือ ถ้ามีการประนีประนอมระหว่างทักษิณกับอำมาตย์ ปัญหาคดีหมิ่นเดชานุภาพคงยังไม่ถูกแก้ ปัญหาที่เราไม่มีประชาธิปไตยแท้ก็คงไม่ถูกแก้ และการเดินหน้าไปสู่รัฐสวัสดิการแห่งความเท่าเทียมคงเป็นไปได้ยาก เรานั่งเฉยรอให้ทักษิณกลับมาไม่ได้ และนี่คือสาเหตุที่เราต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการประนีประนอมล่วงหน้า โดยการจัดตั้งในหมู่คนเสื้อแดงเอง
เพื่อให้เราสามารถอิสระจากแกนนำซีกที่จะประนีประนอม และเพื่อให้เราควบคุมผู้นำของเราอีกด้วย เราจะต้องไม่ถูกลากลงเหวโดยพวกนี้ หรือปล่อยให้เขาปราบหรืออย่างน้อยสลาย การทำงานของพวกเราเสื้อแดงที่ต้องการประชาธิปไตยแท้ ผมหวังว่าแกนนำเสื้อแดงจะไม่ประนีประนอมหักหลังประชาชน แต่เราต้องใช้ปัญญาจากโลกจริงเพื่อพร้อมจะมองโลกในแง่ร้ายด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำใจ เข้าใจล่วงหน้า คือ การสิ้นชีวิตของคนคนหนึ่ง จะไม่เปิดทางไปสู่ประชาธิปไตยแท้อย่างง่ายๆหรืออัตโนมัติ เพราะอำมาตย์ประกอบไปด้วยหมู่คณะหลายคน ที่มีผลประโยชน์มากมาย ซึ่งเขาจะพยายามปกป้องโดยการยืดเวลา การเปลี่ยนแปลงหรืองานศพ หรือการแปลงมนุษย์ที่สิ้นชีวิตไปเป็นเทวดาในสวรรค์ ซึ่งแปลว่าเราต้องสู้ตอนนี้ ไม่ใช่รอให้อำนาจตกจากฟ้าสู่มือเรา “ตามธรรมชาติ” ประเด็นนี้ผมจะขยายความในบทความเดือนธันวาคม
“ยุทธศาสตร์” เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดพร้อมกับเป้าหมายปลายทางว่าเราต้องการสังคมแบบไหน และ “ยุทธวิธี” เป็นแนวทางต่อสู้เฉพาะหน้า เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
เราต้องระวังคนที่พูดว่า “ทำยังไงก็ได้เพื่อเป้าหมาย” เพราะยุทธศาสตร์ของการเพิ่มอำนาจประชาชนเพื่อสังคมที่เท่าเทียม และประชาธิปไตยแท้ ย่อมขัดแย้งกับยุทธวิธีประเภทที่ขอความเมตตาจากผู้มีอำนาจเบื้องบน
เราได้รับคำเตือนแล้ว เพราะตัวอย่างของการอ้างยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือข้อเสนอโดยแกนนำพันธมิตรฯ ว่า “ต้องทำแนวร่วมกับศักดินาในการต่อสู้กับนายทุน เพื่อประชาธิปไตย” เพราะสิ่งที่ได้มาจริงๆ ครั้งนั้นคืออำมาตย์